ระหว่างทางเดินมายังจุดหมายปลายทางของวันนี้ เราสังเกตว่าไมตรีจิตต์เป็นย่านหนึ่งที่เมื่อก่อนเคยคึกคักไปด้วยผู้คน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งร้านในย่านนี้ตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งนักท่องเที่ยวจากสถานีรถไฟกรุงเทพ ไปจนถึงเหล่าศาสนิกชนในคริสตจักรไมตรีจิตและศาลเจ้าชิดเซี้ยม้า
ขณะที่กำลังไม่แน่ใจว่าตึกแถวตรงหน้าใช่สถานที่นัดหมายหรือเปล่า วิทิต จันทามฤต หรือ ปิ่น เจ้าของ Vacilando Bookshop ร้านหนังสือภาพถ่ายที่เพิ่งย้ายมาเปิดใหม่ในซอยไมตรีจิตต์ก็เปิดประตูร้านออกมาทักทายเราพอดี
เติบโตบนพื้นที่ใหม่
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณกำลังสงสัยว่า เหตุผลอะไรทำให้ปิ่นพาร้าน Vacilando Bookshop มาตั้งอยู่กลางซอยไมตรีจิตต์ เพราะเราเองก็สงสัยเหมือนกัน ทั้งที่เมื่อก่อนเขามีหน้าร้านอยู่บางจาก แต่ด้วยเหตุจำเป็นจึงทำให้ตัดสินใจย้ายหน้าร้านมาที่ตึก ‘อะไรอะไร’ นี้ ซึ่งนอกจากจะมีร้านหนังสือภาพถ่ายของเขาตั้งอยู่ชั้น 2 แล้ว ด้านล่างยังเปิดเป็นร้านกาแฟและขายต้นไม้ด้วย
“ตึกที่เราอยู่ชื่อว่าอะไร อะไร (หัวเราะ) ใครๆ ก็ถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าที่ไหนนะ จริงๆ แล้วความหมายของมันคือ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มันเป็นอะไรก็ได้มารวมอยู่ที่นี่ โดยไม่มีข้อจำกัด อย่างเมื่อก่อนมีคณะละคร For WhaT theatre มาแสดง เขาก็ใช้พื้นที่ที่เหลือตรงนี้สร้างเป็นโรงละครโรงเล็ก บางสัปดาห์ก็จะมีเวิร์กช็อปของ Fashion Revolution ข้างบน คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่มันหลากหลายมาก มันเลยย้อนกลับไปที่ความหมายของชื่อตึก”
อย่างที่เราบอกไปตอนแรกว่าตลอดทางเดินมาที่ร้าน เราที่สังเกตว่าซอยไมตรีจิตต์แห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย ปิ่นเองก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกันแม้จะเพิ่งเปิดร้านได้ไม่นาน ทั้งชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองที่รอรับลูกๆ หรือนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดก็ผลัดกันแวะเวียนมาหาเขาที่ร้านอยู่เสมอ
“เราเห็นตั้งแต่คุณลุงข้างบ้านที่ไม่รู้ว่าทำอาชีพอะไรแต่ชอบมาชวนเราคุยทุกเช้า ไม่ได้ซื้อหนังสือหรอกนะ บางทีก็เอาพระมาให้ดู แวะมาชวนคุยบ้าง อย่างเพื่อนๆ ที่มาเปิดร้านแถวนี้ก็แวะเวียนมาหา ทั้งคนที่ทำร้านกาแฟ ทำร้านล้างรูป หรือเพื่อนที่บ้านอยู่ในย่านนี้อยู่แล้ว เราก็กลายมาเป็นเพื่อนบ้านกัน มันก็เป็นประสบการณ์ใหม่ของเราเหมือนกัน”
นอกจากเราจะเดินทางมาที่ร้านสะดวกขึ้น เพราะที่ตั้งร้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟกรุงเทพและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเยาวราช นักท่องเที่ยวก็มักจะเข้ามาทักทายร้านหนังสือแห่งนี้อยู่บ่อยๆ
“นักท่องเที่ยวทั้งจากต่างชาติ และต่างจังหวัดส่วนใหญ่เขาเลือกมาอยู่เยาวราช เพราะเดินทางสะดวก มีของกินเยอะ แถมเป็นที่ท่องเที่ยวในตัวด้วย บ้างก็แวะมาชะโงกๆ แวบไป แวบมา อยู่หน้าร้านในวันที่ร้านไม่เปิด เจ้าของร้านอย่างเราก็ใจอ่อนแหละ (หัวเราะ) เราก็ยอมเปิดให้ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะกลับมาอีกเมื่อไหร่
“นอกจากในย่านๆ รอบร้านแล้ว ถนนเจริญกรุงก็น่าสนใจนะ มันยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครอยู่ เคยอ่านเจอมาว่าสมัยก่อนถนนสายนี้คือหนึ่งในถนนเก่าแก่และมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนโบราณอยู่ เรียกว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่หลงเหลืออยู่ในไทยเลยแหละ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่เราจะเคยเห็นย่านนี้จะถูกใช้เป็นฉากในภาพยนตร์หลายเรื่อง”
ความตื่นเต้นของปิ่นกับบรรยากาศของผู้คนและย่านรอบๆ ร้าน Vacilando Bookshop กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ การันตีจากมุมมองของอดีตผู้จัดการสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เล่าให้ฟังด้วยแววตาที่เป็นประกาย
ร้านหนังสือภาพถ่าย โลกที่อยากให้ลองเปิดใจสัมผัส
ถ้าให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้าน Vacilando Bookshop ปิ่นบอกกับเราว่าคงจะต้องเท้าความไกลนิดหนึ่ง เพราะร้านหนังสือภาพถ่ายแห่งนี้ก็เปิดมาเข้าปีที่ 4 เป็นที่เรียบร้อย จากอาชีพเดิมที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีโอกาสแวะเวียนเข้าไปหาหนังสือในร้านหนังสือมือสองและเริ่มสะสมมาตั้งแต่ปี 2014
“หนังสือช่วงแรกที่เราเลือกสะสมก็เป็นมือสองหมดเลย ตามเก็บจากร้าน ตามเก็บจากงานสัปดาห์หนังสือ ตามเก็บจากร้านออนไลน์บ้าง รู้สึกว่าหนังสือดีๆ มันไม่ควรอยู่ในร้านหนังสือมือสองว่ะ มันควรจะไปอยู่ที่อื่นเพราะมันเป็นหนังสือที่ดี จนมีหนังสืออยู่จำนวนหนึ่ง เราถึงได้สานฝันต่อเป็นร้านหนังสืออิสระในแบบที่เป็นเรา”
สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่าร้านหนังสืออิสระ เราขออธิบายคำนี้อย่างง่ายๆ ว่า ร้านหนังสืออิสระคือร้านที่เลือกขายหนังสือเฉพาะทางที่เจ้าของร้านแต่ละร้านชอบ ซึ่งแตกต่างจากร้านหนังสือขนาดใหญ่ในห้างที่มีตัวเลือกให้ซื้อเยอะกว่า
นอกจากการเปิดหน้าร้านแล้วปิ่นยังค้นพบวิธีขายผ่านโลกออนไลน์อย่าง Instagram ที่เน้นโพสต์รูปตัวอย่างหนังสือและคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับผลงานในแต่ละเล่มอย่างน่าสนใจ ยิ่งทำให้คนอ่านเข้าใจหนังสือมากกว่าดูภาพปก แถมยังเป็นตัวช่วยให้คนตัดสินใจก่อนซื้อได้ด้วย เรารู้สึกว่า Instragram นี่แหละเป็นประตูที่ทำให้หนังสือของเขาเข้าใกล้คนหลากหลายมากขึ้น
“ตอนแรกไม่มั่นใจเลยว่าถ้ามันอยู่บนเฟซบุ๊กแล้วหนังสือมันจะขายตัวเองได้ไหม หรือเราจะต้องโปรโมตแค่ไหน ระบบหลังบ้านซื้อขายยังไงเราก็ไม่ถนัดเลย เลยตัดสินใจหนีไปอยู่บน Instagram เราคิดว่าทางนี้แหละที่เราถนัดที่สุด”
สารภาพว่าเราเองก็เข้าไปส่อง Instagram ของร้าน Vacilando เพื่อหาหนังสือที่น่าสนใจแล้วก็แอบเสียสตางค์ให้เป็นประจำเหมือนกัน
นอกจากใช้ Instagram ของร้าน Vacilando Bookshop เป็นหน้าร้านออนไลน์แล้ว พื้นที่ตรงนี้ยังกลายเป็นโลกใบใหม่ที่พาให้เขาไปรู้จักกับร้านหนังสือภาพถ่ายมากขึ้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนหนังสือจากเพื่อนๆ ในต่างประเทศด้วย อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ
“มุมมองของเราเปลี่ยนไปตลอด สังเกตได้จากช่วงหลังๆ เห็นเราเลือกหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติ ต้นไม้ ค่อนข้างเยอะใช่ไหม นั่นก็มาจากเพื่อนที่อยู่อินโดนีเซียแนะนำมาว่า ลองดูสำนักพิมพ์นี้สิ เขามีหนังสือที่เราน่าจะชอบนะ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการแนะนำแลกเปลี่ยนกันแบบนี้เรื่อยๆ มันทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวเวลาเราอยู่บนโลกออนไลน์เพราะมีเพื่อนที่เป็นคอเดียวกันนี่แหละ (หัวเราะ)”
หลังจากคุยกันไปสักพัก เรารู้สึกว่าวงการหนังสืออิสระในไทยมันเปลี่ยนไปแล้วจากเมื่อก่อน ถ้าลองเปรียบเทียบง่ายๆ มันเหมือนเวลาเราไปต่างประเทศแล้วอยากกินข้าวหน้าเนื้อ เราก็จะค้นหาคำว่า ข้าวหน้าเนื้อ เพื่อตามรอยไป ร้านหนังสืออิสระก็เป็นแบบนั้นมีลูกค้าหลายคนเริ่มต้นจากการค้นหาคำว่า ร้านหนังสือ ร้านหนังสืออิสระ แล้วเดินเข้ามาที่ร้านเหมือนกัน
“จริงๆ ประเทศไทยเป็นที่เที่ยวยอดฮิตนะ ยิ่งกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองหลักที่นักท่องเที่ยวต้องแวะก่อนที่จะเปลี่ยนเครื่องไป ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย หรือที่อื่นๆ บางทีมีวันว่างเหลือก่อนบินกลับ เขาจะแวะเข้ามา มีทั้งนักท่องเที่ยว คนจากสำนักพิมพ์ญี่ปุ่น สำนักพิมพ์อินเดีย เวลามาเที่ยวเมืองไทยเขาจะแวะมาหาบ่อยๆ
“พอเขามาหาเรา ก็เกิดการเจรจาธุรกิจเกิดขึ้น เช่น เราสนใจหนังสือแบบนี้ คุณมีไหม ส่งมาให้หน่อย พอมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง มันก็เกิดสาม สี่ ห้า ต่อไปเรื่อยๆ”
มาถึงตรงนี้สำหรับปิ่น Instagram คงเป็นเหมือนประตูที่เปิดให้คนที่สนใจ และอาจไม่ได้สนใจ Vacilando Bookshop ตั้งแต่แรก มีโอกาสเข้ามาทำความรู้จักกันแม้จะอยู่ที่ไหนของโลกก็ตาม
Read books, Buy books, Buy local
ขณะนั่งคุยกัน เราสะดุดตากับโปสเตอร์สีขาวพิมพ์ตัวอักษร ‘Read Books, Buy Books, Buy Local’ ที่แปะอยู่บนผนังของร้าน ได้คำตอบว่าประโยคที่เห็นเป็นการเคลื่อนไหวหนึ่งของสำนักพิมพ์ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้ว
“จุดเริ่มต้นมันมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างมันถูกหยุดเอาไว้กับที่ ร้านหนังสืออิสระเหล่านี้เลยรู้สึกว่า ถ้าคนอยู่บ้านแล้วซื้อของออนไลน์กันหมด ร้านหนังสืออิสระที่เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมันจะตายไป มันเลยกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ถ่ายทอดออกมาจากคนในวงการหนังสืออิสระ
“ลูกค้าคนหนึ่งเรียกเราว่า Book Tender สมมติว่าคุณชอบหนังสือสไตล์นี้ อีกหลายสัปดาห์ถัดมา เราจะบอกว่ามีหนังสือประเภทนี้มาอีกแล้วนะ สนใจไหม หรือบางทีลูกค้าก็เป็นฝ่ายถามเราเองเหมือนกันว่า มีหนังสือแนวนี้มาอีกไหม ร้านหนังสืออิสระเลยให้ความรู้สึกเป็นเหมือนร้านชำแถวบ้านที่สามารถทักทายกันได้ เราว่ามันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระต่างออกไป”
พอลองคิดตามก็จริงอย่างที่ปิ่นบอก เพราะทุกครั้งที่เรามีโอกาสแวะไปร้านหนังสืออิสระ ไม่มีสักครั้งที่ไม่ได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน ถ้าไม่ได้ถามหาหนังสือของนักเขียนในดวงใจ ก็ไม่พ้นขอให้ที่ร้านช่วยแนะนำหนังสือน่าอ่านให้สักเล่ม
“มันก็เหมือนกับโปสเตอร์ตัวนั้นแหละ ‘Read books, Buy books, Buy local’ ไม่อย่างนั้นทุกคนจะต้องกลับไปที่ร้านใหญ่กันหมด ร้านหนังสืออิสระก็จะตายไปจากชุมชนเรื่อยๆ ซึ่งจุดเด่นของเราที่ต่างไปอีกเลเวลคือเราทำให้ Vacilando Bookshop เป็นร้านหนังสืออิสระแต่เฉพาะทางไปเลย ด้วยการเป็นร้านหนังสือภาพถ่าย ที่พร้อมจะสร้างบทสนทนาน่ารักๆ ให้กับทุกคนที่เข้ามา”
บทสนทนาที่เกิดจากหนังสือ
เราใช้เวลาก่อนจะเริ่มพูดคุยกันเดินดูหนังสือภาพถ่ายในร้านไปบ้างแล้ว ยอมรับว่ามีหลายเล่มที่พลิกไปพลิกมาก็ยังไม่เข้าใจว่าคือหนังสืออะไร จนปิ่นเดินเข้ามาอธิบายพื้นเพของสภาพสังคมที่ช่างภาพแต่ละคนอยู่ในขณะถ่ายภาพภายในเล่มให้ฟัง ทำให้เราอดทึ่งไม่ได้ว่าหนังสือเล่มเดียว จะหยิบยกประเด็นในเล่มมาคุยกันได้มากมายขนาดนี้เชียวเหรอ
“คุณอาจจะมาคุยว่าหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้เป็นอย่างไร มีงานแบบนี้ผมเคยเห็นมีช่างภาพคนไหนถ่ายงานคล้ายๆ แบบนี้บ้าง บางทีช่างภาพเข้ามาคุยกับเราว่าถ่ายงานแบบนี้อยู่ อยากจะพัฒนาแต่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี อยากให้ช่วยดูให้หน่อย เราโอเคมากเลยนะ เพราะเราถือว่าตัวเองไม่ได้สวมหมวกใบเดียวที่เป็นพ่อค้า เรายังเป็นคนให้คำปรึกษาได้ด้วย เพราะในทางกลับกัน เราก็อยากเป็นคนที่เดินไปคุยกับร้านอื่นๆ ในวันที่เราอยากหาความรู้บ้างเหมือนกัน”
เราสัมผัสได้ว่าเขาตั้งใจจะทำให้ร้านหนังสืออิสระอย่าง Vacilando Bookshop เป็นร้านหนังสือที่พูดคุยกับผู้คนได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนที่แวะเวียนเข้ามารู้สึกถึงอะไรบางอย่าง และได้อะไรกลับไปโดยไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือ
“สิ่งที่เราดีใจมากคือในระยะเวลาเดือนกว่าที่เปิดมา เวลามีคนเข้ามาในร้านปุ๊บ อีกคนหนึ่งก็เข้ามาทักว่า เอ้า ไม่ได้เจอกันนานเลย คือที่นี่มันไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ขายของแล้ว แต่มันเป็นพื้นที่ให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองสนใจกัน ที่สำคัญหนังสือในร้านเองก็สร้างบทสนทนา สร้างคำถามกับคนที่เข้ามาเปิดมันดูด้วย นี่คือเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระที่ใครๆ ก็คุยกับเจ้าของร้านได้ ถามราคาต่อราคาก็ได้ แต่อย่าต่อเยอะ (หัวเราะ)” ปิ่นทิ้งท้าย
หลังจากบทสนทนา เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและย่าน ที่เชื่อมต่อกันด้วยร้าน Vacilando Bookshop ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมร้านหนังสืออิสระแห่งนี้อยู่ร่วมกับย่านและชุมชนซอยไมตรีจิตต์ได้อย่างไม่เคอะเขิน จนเราอยากติดตามต่อไปว่าในอนาคต Vacilando Bookshop ในตึกอะไรอะไรแห่งนี้ จะสร้างสรรค์ความเป็นไปได้อะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับชุมชนได้อีกบ้าง
ปัจจุบัน Vacilando Bookshop ได้ปิดหน้าร้านแบบไม่มีกำหนด ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของปิ่น แต่ระหว่างนี้ถ้าใครสนใจอุดหนุนหนังสือเล่มไหน ยังสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ในช่องทางอินสตาแกรม vacilando bookshop