“Utilize The Unutilized Space” ทำพื้นที่ที่ไม่มีใครเหลียวแล ให้กลายเป็นที่รักของคนในชุมชน - Urban Creature

Utilize The Unutilized Space ใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้
เปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนในเมืองใหญ่ ให้กลายเป็นลานกีฬาสาธารณะที่ดีต่อใจ ใช้งานได้จริง

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผู้คนมักจะเดินทางด้วยรถส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ และใช้เวลาบนท้องถนนไม่ต่ำว่าชั่วโมงต่อวัน ถนนและทางด่วนเพิ่มขึ้นมากมาย แต่กลับเป็นการลดจำนวนพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งให้น้อยลง ทางด่วนเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างปัญหาด้วยการแยกพื้นที่ระหว่างเขตต่างๆในเมืองบริเวณด้านล่าง และปล่อยทิ้งให้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

…..พื้นที่ใต้ทางด่วนย่านอุรุพงศ์ ใจกลางกรุงเทพฯ เดิมเคยเป็นชุมชน 5 แห่ง คือชุมชนคลองส้มป่อย ชุมชนบ้านครัวต่างๆ ทั้งครัวไทย และครัวตะวันตก การพัฒนาทางด่วนแบ่งแยกทั้ง 5 ชุมชนออกจากกัน พื้นที่ 22,400 ตารางเมตร ถูกปล่อยทิ้งให้เป็นพื้นที่รกร้างและไม่มีประโยชน์ แต่ก็ยังคงเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนที่อยู่ในระแวกใกล้เคียง ให้ได้มาทำความรู้จักกัน เด็กๆได้ใช้พื้นที่นี้ในการออกกำลังกาย รวมไปถึงผู้ใหญ่ในชุมชนอีกด้วย ทั้งเล่นกีฬาฟุตซอล ต่อยมวย เต้นแอโรบิกและอื่นๆ บางครั้งก็ใช้สถานที่แห่งนี้จัดการแข่งขันกีฬาระหว่างชุมชน เป็นการสร้างความสามัคคีและลดปัญหาระหว่างชุมชนได้

“แต่นั่นก็ยังไม่สิ่งที่ตอบโจทย์หัวใจของคนในชุมชนเท่าที่ควร เด็กน้อยและผู้ใหญ่หลายๆคน ต่างบอกว่า อยากปรับปรุงที่นี่ให้ดีขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่”

การออกแบบที่ตรงใจ

…..จากเสียงเล็กๆของคนในชุมชน ทำให้ได้เห็นปัญหาและเห็นคุณค่าของสถานที่แห่งนี้อย่างแท้จริง จนทำให้เกิดเป็นโครงการ “ลานกีฬาพัฒน์2” ขึ้นมา พื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วน รกร้างไม่มีประโยชน์เดิม ถูกแปลงโฉมเพิ่มคุณค่าให้มีประโยชน์ มีความหมายต่อชุมชนและเมือง โดยเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวและกิจกรรมทางสังคมในบริเวณเดิมที่ถูกทิ้งร้าง จับจองเป็นที่จอดรถและทิ้งขยะ เพื่อให้ชุมชนร่วมกันดูแลพื้นที่สวนสาธารณะอย่างทั่วถึง เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง ไม่ปล่อยให้เกิดจุดบอด หรือจุดเสี่ยงอันตราย


…..โดยกลุ่มนักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจาก Shma SoEn เห็นว่าการออกแบบอย่างเหมาะสมสามารถพัฒนาศักยภาพของพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นลานกีฬาที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ และทาง Shma SoEn เองได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างสุดกำลัง เพื่อปรับปรุงพื้นที่ลานกีฬาแห่งนี้ให้เกิดคุณค่าสูงสุด

…..จึงตั้งใจออกแบบลานกีฬาพัฒน์ให้เป็น “ลานบ้านที่ทุกคนสามารถมาใช้ได้” โดยพื้นที่การใช้งานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เป็น Active Node และ Passive โดยพื้นที่ Active เป็นพื้นที่พื้นแข็งเดิม ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ลานกีฬา พื้นที่ Node เป็นพื้นที่ตรงกลาง ปรับเปลี่ยนเป็นจุดนัดพบ และ พื้นที่ Passive เป็นบริเวณที่รกร้างเก่า ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สวน
…..และพื้นที่ใต้ทางด่วนส่วนที่เป็นเสาตอม่อของทางด่วน มีการเพิ่มฟังก์ชัน ระบบแสงสว่างและม้านั่งเข้าไป และปลูกต้นไม้รอบนอกเพื่อกรองมลพิษจากภายนอก ทั้งมลภาวะทางเสียงและฝุ่นควันต่างๆจากเครื่องยนต์นั่นเอง

ลานกีฬาที่มีชีวิต

…..“การออกแบบนี้ เพื่อประชาชนจริงๆ เพื่อสังคมชาวชุมชน ไม่ใช่ทำเป็นลานกีฬาที่ไม่มีชีวิตจิตใจ อันนี้ใส่ชีวิตจิตใจของคนเข้าไปด้วย” ประธานชุมชนบ้านครัวตะวันตกกล่าว
…..การออกแบบในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการออกแบบในเรื่องโครงสร้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะคอนเสปของลานกีฬาพัฒน์คือ ต้องการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่เข้าต้องการ และเข้ามาบริหารพื้นที่หลังจากนั้น

…..ก่อนที่จะได้มีการเริ่มโครงการ ทางผู้ริเริ่มและสนับสนุนโครงการ ได้มีการจัดเป็นการเวิร์คช็อป โดยการให้ประชาชนในชุมชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ลงมือเขียนในสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความอบอุ่นและความสุขได้ไม่น้อย จะเห็นได้ว่า ชาวบ้าน มีพลังและกำลังใจอย่างมาก และยังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อสร้างลานกีฬาศูนย์รวมแห่งนี้ ให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
…..ดังนั้น ผลงาน “ลานกีฬาพัฒน์ 2” จึงถือเป็นการร่วมมือกันด้วยหัวใจ ไม่ใช่เพียงการสร้างของกลุ่มคนที่ต้องการสร้างเท่านั้น แต่เป็นการสร้างเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

เป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป

…..โครงการนี้เป็นความคิดริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยคำนึงถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือการมีสุขภาพและความคิดที่ดีโดยใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและให้อำนาจและประชาชนในชุมชน
โดยตัวโครงการที่เกิดขึ้น เป็นการร่วมมือกันกับชุมชน, กลุ่มนักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจาก Shma SoEn, สำนักราชเลขาธิการ, ลานกีฬาพัฒน์, สถาบันอาศรมศิลป์ และ สสส. ถือเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ที่เป็นจริงได้ และใช้งานได้จริง


…..ถือเป็นตัวอย่างที่ดี และควรจะเกิดการทำซ้ำและทำอีก เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนให้มีคุณค่า และไม่ควรจบอยู่เพียงเท่านี้ ควรขับเคลื่อนพลังตรงนี้ เพื่อพัฒนาสถานที่อื่นๆต่อไป
…..จากโครงการ “ลานกีฬาพัฒนา 2” ที่ทำให้เราได้ซึมซับความสุขกันไปแล้ว และกำลังจะเปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการในอีกไม่ช้า เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งต่างๆในเมืองต่อไป และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปก็คือ “การสอบถามความคิดเห็นผู้ใช้จริง”

 


โครงการลานกีฬาพัฒน์พื้นที่อุรุพงษ์ พระราม6
โดย สำนักราชเลขาธิการ
สถาบันอาศรมศิลป์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภูมิสถาปนิก Shma Soen
ถ่ายภาพ Panoramic Studio ,
อนงค์นาฏ จึงมงคลสวัสดิ์

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.