USB:coffeeLAB ซอยเอกมัย 21 - Urban Creature

USB:coffeeLAB แค่ได้ยินชื่อครั้งแรก เราก็เกิดความสงสัยว่า ร้านกาแฟเกี่ยวอะไรกับ USB และห้องทดลอง แถมยังจินตนาการไปต่างๆ นานาว่าร้านนี้จะเป็น Co-working Space ให้มาเสียบ USB ได้ หรือจะมาในธีมห้องทดลองที่ทุกคนในร้านใส่เสื้อกาวน์ เสิร์ฟเครื่องดื่มมาในแก้วบีกเกอร์หรือเปล่า

ทันทีที่เดินทางมาถึงร้าน ภาพที่เห็นตรงหน้ากลับตรงข้ามกับสิ่งที่เราคิดมาทั้งหมด ตั้งแต่ทางขึ้นที่เป็นบันไดวนเหล็ก ไปจนถึงภายในร้านที่เป็นพื้นปูนเปลือยซึ่งยังคงร่องรอยการกั้นห้องเอาไว้ เก้าอี้ที่ไม่เหมือนกันสักตัวเดียว โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร และ เกด-พิมพ์ชนก น้อยสุวรรณ สองดีไซเนอร์จาก P/S/D หรือ Party/Space/Design บริษัทที่ออกแบบคาเฟ่ดังๆ มาแล้วมากมาย 

เรากล่าวทักทายหลังจากเข้ามาในร้านแล้วลองไล่สายตาไปรอบๆ ร้าน มองทะลุผนังกระจกออกไปเห็นต้นไม้น้อยใหญ่ด้านนอก ร้านรวงต่างๆ ไปจนถึงผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในซอยเอกมัย 21 หลังจากนั้นไม่นานโตหัวเรือใหญ่แห่ง P/S/D ก็เริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของร้านให้เราฟังระหว่างชักชวนเดินดูพื้นที่ พร้อมหามุมนั่งคุยในร้านไปพลางๆ 

“เราอยากทำตรงนี้ให้เป็นเหมือนพี่น้องกับ P/S/D ก็เลยกลายเป็น USB อยากใช้ชื่อที่ไม่ต้องหาความหมายของมัน เคยพยายามหาความหมายแล้วมันไม่สวย เอาเป็นว่า USB มันคือตัวแฟลชไดรฟ์ที่พร้อมจะ Install อะไรเข้าไปก็ได้

“จริงๆ แล้วสองปีให้หลังมานี้ P/S/D ทำคาเฟ่เยอะมาก ฉะนั้น เวลาเราทำคาเฟ่ เราจะรู้สึกเหมือนวิ่งอยู่บนขอบเหวเสมอ เพราะมันคือความกดดันในการทำร้านหนึ่งร้านให้ไม่เหมือนใคร และเป็นตัวตนลูกค้าที่สุดผ่านการออกแบบที่เขาไม่คิดว่านี่คือตัวตนของเขา มันกลายเป็นว่าเราต้องการพื้นที่สำหรับคุยงานกับลูกค้า ให้เขาได้เห็นการทดลองของเรา การตกแต่งภายในร้าน พื้นเปลือยเป็นอย่างไร ระบบน้ำในบาร์ แอร์ที่เป็นระบบ Built-in หรือแม้แต่โครงสร้างที่เราเปลือยหลังคา ที่นี่เลยกลายเป็นเหมือนห้องทดลองก่อนที่เราจะไปทำงานให้ลูกค้า”

ร้านกาแฟของนักออกแบบ

หากเดินเข้าไปในร้านโดยที่ไม่ได้สังเกตอะไรมากมาย ที่นี่ก็จะเป็นเพียงอีกหนึ่งร้านที่เกิดขึ้นใหม่ในย่านเอกมัยที่เต็มไปด้วยคาเฟ่ แต่หากลองหันซ้าย หันขวาสักนิด ทุกคนก็จะได้เห็นดีเทลบางอย่างที่เจ้าของร้านทั้งสองคนแอบซ่อน DNA ของ P/S/D ไว้ตามจุดต่างๆ ที่มักจะใช้วัสดุใหม่ๆ แล้วนำเสนอความเป็นตัวเองของมันออกมา เช่น Crystal Brick ที่ไม่สามารถผลิตได้ในไทย ถูกนำเข้ามาเพื่อประกอบเป็นเคาน์เตอร์บาร์ หินอ่อนราคาถูกมาทำเป็นส่วนด้านบนของบาร์ โดยขัดให้เห็นผิวสัมผัสต่างกันไป สังกะสีที่นำมากรุอัดสีพิเศษให้เป็นสีโทนกลาง เพื่อนำมาเป็นผนังของบาร์แถมยังทำหน้าที่เป็นตัวกันเสียงได้อีกด้วย กระจกบานใหญ่รับแสงธรรมชาติได้เต็มๆ พื้นปูนเปลือยที่ทิ้งร่องรอยการกั้นห้องเมื่อครั้งเป็นสถานพยาบาลเก่า หรือแม้แต่บันไดวนเหล็กทางขึ้นที่ไร้ราวจับที่มีขนาดลูกตั้ง 17.5 ซม. และลูกนอนกว้าง 35 ซม. ที่โตเชื่อว่าเป็นขนาดของบันไดที่เดินได้สบายที่สุด และเฟอร์นิเจอร์ด้านในที่แต่ละตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกัน

“โต๊ะ เก้าอี้ที่นี่จริงๆ มีเจ้าของทุกตัวนะ (หัวเราะ) เพราะสุดท้ายมันจะไปอยู่ในร้านสักร้านอยู่แล้ว เราเคยให้โจทย์กับบริษัทผลิตเก้าอี้ไปว่า เราขอเก้าอี้หนึ่งตัวที่แยกชิ้นส่วน แล้วนำมาประกอบใหม่เป็นเก้าอี้อีกตัวหนึ่งที่มีรูปร่างไม่ซ้ำเดิมได้ เพื่อให้ใช้ได้กับทุกร้านที่เราออกแบบ เราเลยลองมาใช้ในร้านนี้ก่อน นอกจากเก้าอี้แบรนด์อื่นๆ แล้ว เรายังมีเก้าอี้ที่เราดีไซน์เองด้วย คือตัวที่เป็นอะคริลิกซึ่งไม่มีขายที่ไหน มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น และยังมีอีกหลายตัวที่เราออกแบบอยู่ในห้องนี้ด้วย แต่ขอเก็บเป็นความลับเอาไว้ให้ลูกค้ารู้เอง”

โตแอบเผยความลับออกมาให้เราได้ไปสังเกตกันต่อ โดยช่วงเดือนแรกที่ชื่อของ USB:coffeeLAB กลายเป็นที่รู้จัก เราประหลาดใจที่ร้านนี้เป็นระบบกินก่อน จ่ายทีหลัง ราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในรสชาติของลูกค้า เราไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้มาก่อน ‘เกด’ หนึ่งในดีไซเนอร์ผู้ร่วมขบวนการสร้าง USB:coffeeLAB แห่งนี้ เล่าให้เราฟังว่า 

“ช่วงนั้นร้านยังไม่มีบาริสต้าประจำ เป็นดีไซเนอร์ทำกันเองทั้งหมด ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาทำไม่ทันบ้าง ลูกค้าลืมจ่ายเงินบ้าง เนื่องจากทุกคนยุ่งมากจนไม่สามารถดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง เราเลยเปลี่ยนมาเป็นระบบเดียวกันกับร้านอื่นๆ ดีกว่า”

ดูเหมือนว่าห้องนี้จะไม่ใช่แค่ห้องทดลองออกแบบงานให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่คงเป็นห้องที่ทำให้พวกเขาได้ทดลองเป็นเจ้าของร้านกาแฟเองด้วย

สถานที่ที่รวมทุกความชอบ

เป็นเจ้าของร้านกาแฟก็คงชอบดื่มกาแฟสินะ นี่คือเสียงในหัวของคนที่ไม่ถูกจริตกับกาแฟอย่างเรา เพราะแค่ชอบดื่มอย่างเดียว คงไม่พอสำหรับการมาบริหารร้านของตัวเองแน่ๆ ยิ่งทำเลที่ตั้งสุดฮอตอย่างเอกมัย ย่านที่มีคาเฟ่อยู่เต็มไปหมดแล้วล่ะก็คงเป็นเรื่องท้าทายอยู่ไม่น้อย

“เมื่อก่อนเราดื่มแต่กาแฟนม ไม่ดื่มกาแฟดำเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่อร่อย แต่พอมาอยู่ที่นี่ เราได้ลองเมล็ดใหม่ๆ มากขึ้น ได้รู้ว่ากาแฟมันมีรสชาติซับซ้อนที่เราไม่คิดว่ามันจะมาอยู่ในกาแฟได้ด้วย ตอนแรกจากดื่ม Espresso Bar อย่างเดียวก็มาลอง Speed Bar” เกดเล่าถึงมุมมองของตัวเอง ก่อนหน้าที่เธอจะมาเป็นส่วนหนึ่งของร้านนี้

“อย่างที่บอกร้านกาแฟดีๆ ในย่านเอกมัยเยอะมาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่บาริสต้าที่เชี่ยวชาญ เราคือนักออกแบบ แต่เราเป็นคนชอบดื่มกาแฟ ฉะนั้น ทุกอย่างที่เราเลือกให้มันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา คุณก็จะได้กินของดีในมุมที่เราอยากนำเสนอมากกว่า ซึ่งเราโอเค” โตเล่าเสริมถึงความชื่นชอบกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ

นอกเหนือจากกาแฟแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โตหลงใหลไม่แพ้กันก็คือ เสียงเพลง เขาเชื่อว่าการที่ร้านร้านหนึ่งจะมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้าได้ ดีไซเนอร์ควรออกแบบเพลงให้เหมาะกับร้านด้วย เราจึงค่อยๆ คลายความสงสัยว่าทำไมในร้านนี้ถึงมี Turntable ตั้งอยู่ด้วย เมื่อ Spotify เริ่มเล่นเพลงซ้ำ เขาก็จะเดินไปมิกซ์เพลงเอง 

ว่าแล้วโตก็เดินไปที่ Turntable แล้วเริ่มมิกซ์เพลง Day 1 ของ Honne ให้มีจังหวะสนุกขึ้นและแปลกหูกว่าที่เคยได้ยิน นั่นทำให้เราได้เข้าใจว่า USB coffee LAB แห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นร้านกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรวมกันของไลฟ์สไตล์ ความชอบบางอย่างที่มีงานออกแบบและกาแฟมาเกี่ยวไว้ด้วยกัน

เมนูที่แตกต่างแต่ลงตัว

ทุกครั้งที่ไป Hopping ตามคาเฟ่ต่างๆ เรามักจะถามเสมอว่าเมนูแนะนำของที่ร้านคืออะไร เพราะเราเชื่อว่าแต่ละร้านจะมีสิ่งที่อยากนำเสนอให้ลูกค้าอย่างแน่นอน

“จริงๆ เรามีสูตร Dirty ที่เป็นของเราเอง โดยปกติ Dirty เขาจะใส่ครีม ซึ่งพอเราเห็นกรรมวิธีแล้ว เราคิดว่ามันไม่น่าจะดีกับท้องไส้เท่าไร พออายุเยอะมากๆ อาหารมันไม่ค่อยย่อย (หัวเราะ) เราเลยทำ Dirty ในรูปแบบไม่ใส่ครีม แต่ใส่นมที่แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืนแทน ด้านบนเป็นกาแฟสกัดนานกว่าปกติ ให้สัมผัสที่ต่างจาก Dirty ของที่อื่น” โตแนะนำเมนูที่สมัยนี้มีแทบทุกร้าน แต่วิธีทำของเขากลับต่างออกไป

นอกจากนี้ยังมีเมนูที่ทั้งสองคนคิดขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่ดื่มนมและกาแฟ นั่นก็คือ Amber Peace Tea เครื่องดื่มผสมโซดากลิ่นพีชหอมๆ ดื่มแล้วสดชื่นจากเกด ส่วนของโตก็คือ Roselle Root Beer น้ำกระเจี๊ยบผสมรูทเบียร์ที่ดูจากส่วนผสมเหมือนจะไม่เข้ากัน แต่รสชาติกลับลงตัวซะอย่างนั้น

การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

ทั้งสองยังคงย้ำกับเราว่าที่นี่คือห้องทดลองงานของพวกเขา แน่นอนว่าการทำอะไรใหม่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองอย่างไม่ได้มีศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย


“การออกแบบร้านกาแฟ หลักๆ เราต้องเอาใจเจ้าของร้านว่าเขาต้องการแบบไหน ซึ่งเราดึงมาจากคนคนเดียว แต่พอมาลองทำกาแฟมันเป็นงานบริการ เราจะเจอคนแบบไหนก็ไม่รู้ ต้องรับให้ได้ทุกสถานการณ์ และพยายามเดาใจว่าเขาชอบอะไร ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น จากตอนแรกในการออกแบบร้านกาแฟเรามองแค่เจ้าของร้าน แต่ตอนนี้เรามองไปถึงลูกค้าของเขาด้วย” เกดพูดพร้อมรอยยิ้ม

“คือเราเหมือนได้ทำธีสิสของวงการทำร้านกาแฟ บางครั้งเราเห็นแค่ทฤษฎีที่เราตั้งขึ้นเอง แต่พอทำร้านของเราเอง มันมีหลายทฤษฎีมากที่เราไม่คิดว่ามันจะจริง จนเราได้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคบางอย่าง ตอนนี้มันเหมือนเราเรียนจบแล้ว ทำธีสิสเสร็จแล้ว ต่อจากนี้เราคงเข้าใจวงการกาแฟมากขึ้น เข้าใจมนุษย์มากขึ้น นึกถึงใจเขาใจเรามากขึ้น” โตพูดเสริมต่อ

หลังจากบทสนทนากับโตและเกดผู้ที่เป็นทั้งดีไซเนอร์และเจ้าของร้านกาแฟจบลง ทำให้เราแอบคิดว่า ถ้าเราได้มีห้องทดลองสักห้องหนึ่งเป็นของตัวเอง ลองผิดลองถูกในห้องนั้นได้ มันก็คงจะทำให้เราได้เห็นบางสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ได้เปลี่ยนความเชื่อแบบเดิมๆ ที่เราเชื่อ โดยที่ยังไม่เคยหาความจริง ถ้ามีใครสักคนอยากให้เราแนะนำสถานที่ที่จะจุดประกายไอเดียอะไรสักอย่างให้ตัวเอง USB:coffeeLAB คงเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งนั้นอย่างแน่นอน


l USB:coffeeLAB
ที่ตั้ง : ซอยเอกมัย 21 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
เวลาเปิด-ปิด : 09.00 – 18.00 น.

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.