เป็นเวลาสองปีกว่าๆ ที่เราต้องทำงานที่บ้าน ไม่ได้ออกไปใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น แต่แล้ววันเวลาที่ต้องเว้นระยะห่างเหล่านั้นก็ดูจะคลี่คลายกลับกลายเป็นความปกติ เห็นได้จากชาวต่างชาติจำนวนหลายล้านคนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย ไหนจะอีเวนต์ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิตกัน
อย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงปลายปีนี้ ก็คงเป็นขบวนคอนเสิร์ตที่หลั่งไหลมาจัดในไทยแบบไม่ให้พักเก็บเงินกันเลย ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปช่วงเวลาก่อนหน้าที่โรคระบาดจะมาเยือน กรุงเทพฯ ก็เรียกได้ว่าเป็นเมืองดนตรีที่มีการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศให้ผู้คนได้เลือกชมกันอย่างไม่ขาดสาย ในเดือนเดือนหนึ่งอาจมีมากกว่าสิบงานด้วยซ้ำไป
‘เบนซ์-จิรศักดิ์ จุลมณี’ นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเป็นผู้ที่คลุกคลีกับการเล่นดนตรีตั้งแต่สมัยเรียน มีผลงานเพลงของตัวเองและมีงานแสดงในสถานที่ต่างๆ รวมถึงได้เห็นการทำงานของทีมผู้จัดงานดนตรี
ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจและเกิดเป็นการตั้งคำถามในใจของเขาว่า “ในยุคสมัยที่ศิลปินกับผู้ฟังเข้าถึงกันง่ายขึ้น ทำไมสถานที่สำหรับการแสดงดนตรีในไทยยังมีน้อย ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่มีพื้นที่ในการแสดงออกมากกว่า”
เพื่อตอบคำถามข้อนั้น เบนซ์ได้ศึกษารวบรวมข้อมูล โดยใช้ความรู้ในสิ่งที่เรียนและความสนใจในเรื่องดนตรี ทำธีสิสที่มีชื่อว่า ‘NODE OF MUSIC CITY’ เพื่อหวังสร้างเมืองดนตรีให้เกิดขึ้นจริง
NODE OF MUSIC CITY
NODE OF MUSIC CITY คือการสร้างเมืองดนตรีที่เชื่อมถึงกันเป็นจุดต่อจุด โดยโปรเจกต์นี้เลือก ‘เจริญกรุง’ หนึ่งในย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพและเหมาะควรต่อการจัดงานดนตรี เพราะมีทั้งร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ และพื้นที่ต่างๆ ที่มักจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนสำคัญคือ เจริญกรุงมีอาคารและสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังได้รับการพัฒนาให้เป็นย่านที่ผู้คนเดินเท้าท่องเที่ยวไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ได้
เบนซ์มองว่า หากจัดสรรพื้นที่สาธารณะในเจริญกรุงให้เอื้อต่อการแสดงออกทางดนตรีได้อย่างทั่วถึง จะทำให้ย่านเศรษฐกิจแห่งนี้มีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนในเมืองได้มากกว่าเดิม
NODE OF MUSIC CITY มีแนวคิดการออกแบบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
MUSIC PARK
“พื้นที่สาธารณะในบ้านเรา บางที่ไม่สามารถให้ผู้คนใช้งานได้จริงๆ”
จากการได้ไปสำรวจบริเวณด้านล่างของสะพานตากสิน พบว่ามีสวนสาธารณะติดริมแม่น้ำอยู่ เบนซ์จึงออกแบบให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุด A-NODE หรือส่วนที่เรียกว่า MUSIC PARK โดยจัดการปรับปรุงพื้นที่เดิมของสวนสาธารณะให้คนเข้าไปเล่นดนตรีได้ และยังใช้งานพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ดังเดิม
“สร้างพื้นที่ใช้สอยและเพิ่มฟังก์ชันเข้าไป ยกระดับพื้นที่ให้เป็นสองชั้น ที่นั่งด้านล่างจะมีพื้นด้านบนเป็นหลังคาที่ช่วยบังแสงแดด เพื่อจัดกิจกรรมทางดนตรีด้านล่างได้ ส่วนด้านบนเป็นที่นั่งและออกแบบลานกว้างให้ผู้คนได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
“นอกจากนี้ยังสร้างลู่วิ่ง เส้นทางปั่นจักรยาน รวมถึงเติมต้นไม้แทรกเข้าไป เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวที่ปกคลุมให้ร่มเงาเสมือนเราออกแบบเวทีจัดงานคอนเสิร์ต แต่ที่จริงแล้วเป็นเวทีคอนเสิร์ตที่สวนสาธารณะ ซึ่งยังทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม” เบนซ์เล่าไอเดียส่วนแรกให้เราฟัง
MUSIC ROAD
หลังจากลงพื้นที่ไปทดลองใช้เมืองในหลายๆ รูปแบบ เบนซ์มองว่าสองฟากฝั่งของถนนเจริญกรุงมีตึกเก่าและอาคารที่มีเสน่ห์ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่จำนวนไม่น้อย เขาเลือกหยิบสถาปัตยกรรมเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้เป็นจุดพักและทำร้านขายของ ผู้คนจะได้แวะซื้อสินค้า ดูดนตรี ชมนิทรรศการ หรือกระทั่งจัดให้มีการปิดถนนทั้งเส้นในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อทำถนนคนเดิน
ส่วนพื้นที่ด้านหน้าอาคารใช้เปิดโอกาสให้ดนตรีเปิดหมวก หรือดนตรีจากนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนศิลปินอิสระได้มาปล่อยของกันอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ในบางอาคารที่มีพื้นที่หลายชั้นก็ออกแบบให้มีกิจกรรมต่างๆ ได้อีก เพื่อเป็นการใช้พื้นที่ตัวอาคารอย่างสุดคุ้ม
ด้วยเหตุนี้ MUSIC ROAD จะมี NODE เล็กๆ หลายๆ จุดเชื่อมต่อกันเป็นถนนที่มีแต่เสียงดนตรีไปตลอดทั้งสาย ทำให้ย่านสร้างสรรค์มีชีวิตชีวา จนนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นตามมาในอนาคต
“ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัด เพื่อหวังดึงดูดผู้คน เพราะถ้าแยกหรือกระจายพื้นที่ให้เกิดหลายๆ จุดในย่านเดียวกัน มันก็น่าจะเชื่อมโยงผู้คนได้”
MUSIC HALL
เส้นทางจากสวนสาธารณะใน A-NODE นำมาสู่ MUSIC ROAD ถนนดนตรีที่มี NODE เล็กๆ มากมายหลายจุดให้ผู้คนได้เดินชม แวะพัก นั่งเล่น ฟังดนตรีตลอดสาย เพื่อพามายังจุดสุดท้าย B-NODE ที่กำหนดให้เป็นอาคารสัญลักษณ์ของเมืองดนตรีนั่นคือ MUSIC HALL พื้นที่สำหรับชมดนตรีอย่างจริงจัง
ไอเดียหลักๆ ของตัวอาคารมิวสิกฮอลล์นี้เป็นการออกแบบสร้างอาคารให้มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ตกแต่งฟาซาดหรือเปลือกอาคารด้วยพื้นผิวแบบดิจิทัล เสมือนจอ LED ที่ครอบอาคารไว้ คล้ายเป็นกล่องดนตรีที่สาดแสงออกมาเพิ่มสีสันให้เอกลักษณ์เมืองดนตรีย่านเจริญกรุง
เบนซ์อธิบายว่า มิวสิกฮอลล์หลังนี้แบ่งเป็นสองชั้น โดยพื้นที่การแสดงอยู่ที่ด้านบน ส่วนชั้นล่างจะสร้างให้ทางขึ้นมีลักษณะเป็นขั้นบันได เพื่อให้เอื้อต่อการแสดงดนตรีเล็กๆ ด้านหน้าอาคาร รวมถึงใช้เป็นจุดนัดพบ ที่นั่งเล่น และทำกิจกรรมต่างๆ
“พอสามส่วนนี้ประสานกัน เกิดเป็นซีนดนตรีบนถนนเส้นเล็กๆ แห่งนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับดนตรีจะเกิดขึ้นตามมามากมาย ยิ่งทำให้มีแรงกระเพื่อมต่อดนตรีในหลายๆ จุด จนกลายเป็นเมืองดนตรีได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ในเชิงธุรกิจ เพราะทั้งย่านได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง โดยมีดนตรีเป็นตัวชูโรง ช่วยให้ผู้คนใช้พื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมหรือทำธุรกิจของตัวเองที่เกี่ยวกับดนตรีได้ และสุดท้ายถ้ามันเกิดซีนดนตรีที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ย่านนั้นก็จะเกิดการพัฒนา”
ถึงแม้ NODE OF MUSIC CITY เป็นธีสิสที่เบนซ์ทำก่อนที่โควิด-19 จะมาเยือนและทำให้ทั้งเมืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่เมื่อมาถึงวันนี้ที่ทุกอย่างเริ่มกลับมาดำเนินต่อไปได้ เราในฐานะคนชอบดนตรี ก็หวังว่าไอเดียโปรเจกต์ NODE OF MUSIC CITY ที่อยากทำให้ย่านเจริญกรุงรุ่งเรืองจนเป็นเมืองดนตรี จะเกิดขึ้นจริงได้ในสักวัน
เพราะมันคงดีไม่น้อยถ้าเสียงเพลงที่ก้องกังวานไปทั้งเมือง จะมาจากแหล่งเสียงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินมืออาชีพ ศิลปินหน้าใหม่ หรือแค่คนทั่วไปที่มีใจรักในดนตรี