URBAN EYES : A Little Big Moments With “Louis Sketcher” - Urban Creature

เปิดบทสัมภาษณ์ Louis Sketcher หรือ หลุยส์ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา คนวาดเมืองผ่านสองตา และสองมือกับเครื่องเขียนมากมายที่สะบัดปลายพู่กันผ่านสีน้ำลงสู่ผลงานการสเก็ตช์ภาพ

แน่วแน่ในสิ่งที่รัก คุณหลุยส์จึงผันตัวจากสถาปนิกสู่ ‘นักวาดภาพ Urban Sketch’

สั่งสมประสบการณ์จนกลายเป็นนิทรรศการภาพวาดลายเส้นและสีน้ำที่ถ่ายทอดบรรยากาศของย่านเก่าเมืองกรุง และชุมชนที่มีเอกลักษณ์ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านมุมมองของผู้ชายตัวเล็กๆ ที่หลงใหลในสถาปัตยกรรมแสงสลัวกับเงามืดและจังหวะชีวิตในชุมชนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์กับบรรยากาศอ้อยอิ่งของการเดินเล่นสำรวจเมือง


UC : ทำไมถึงเลือกเรียนสถาปัตยกรรมไทย
Louis : เป็นเด็กสายวิทย์ที่ชอบวาดรูป คิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับคณะที่การใช้วาดรูป และไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์เยอะมากเกินไป เพราะวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะนี่ไม่เอาเลยก็กลายเป็นที่มาทำให้อยากเรียนสถาปัตย์ด้วยความรู้ตอนนั้น แต่จริงๆ แล้วไม่รู้เลยว่าสถาปัตย์ไทยเรียนแล้วจบไปเป็นอะไร แต่ลึกๆ แล้วชอบวิชาพวกสังคม หรืออะไรที่มีความเป็นไทยอยู่แล้วก็เลยคิดว่าภาควิชานี้โอเคแล้วก็โชคดีที่เข้าไปเรียนแล้วดันชอบ เพราะบางคนส่วนใหญ่เข้ามาแล้วไม่ชอบไม่เหมือนกับที่คิดไว้ หรือบางคนหลงกับดักตอนติว

แต่สำหรับเราตอนติววาดรูปที่ DEC (คณะมัณฑนศิลป์) มหาวิทยาลัยศิลปากร คือสนุกมากซึ่งเรารู้สึกเลยว่าถ้าเราได้ไปเรียนสบายชัวร์แต่สภาพพี่ติวเป็นศพทุกคนเลยนะ 5555555 ซึ่งพี่ๆ ทุกคนพูดว่าตอนเรียนมันหนักมากเราเองก็ยังไม่เชื่อนะ พอได้ไปเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมจุฬาฯ เราชอบสังคมในคณะ ชอบสิ่งที่เรียนมันมีความสุขก็ไม่ทุกข์ทรมานอะไรจนเรียนจบก็ไปเป็นสถาปนิกได้ 2 ปี ก็รู้สึกว่าอยากออกมาทำอย่างอื่นตอนนั้นเราเลือกทำตามหัวใจมากกว่า

UC : แล้วการเรียนเอกนี้ให้อะไรกับตัวเองบ้าง
Louis : มันทำให้เราเป็นคนละเอียดมั้งมันมีประโยชน์กับการออกมาวาดรูปมาก เพราะเราเรียนของที่ยากที่สุดไปแล้วซึ่งในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทยสอนให้เขียนแบบ ออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเป็นหลัก ได้เรียนรู้วิธีการเขียน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ของวัด ของศาลา ของบ้านไทย ทำให้เราได้เรียนของที่นับว่ายากที่สุดในการใช้มือเขียนอย่าง นาคสะดุ้ง ถ้าเราไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง

นอกจากเรื่องของการเขียนแล้วก็ได้รู้เรื่องคุณค่าของงานช่างที่กว่าจะผ่านการคิดการทำมามันมีคุณค่าในตัวของมันถ้ามองเห็นคุณค่าของ เมือง สถาปัตย์ และงานศิลปกรรม และอีกอย่างหนึ่งคือสถาปัตยกรรมประยุกต์ เช่น การออกแบบรีสอร์ท หรืออาคารที่นำเอาความเป็นไทยมาใช้ซึ่งพอเราเรียนของยากมาเวลาเรามองตึกเราก็คิดว่ามันจะไปยากอะไรจะไปยากกว่าโบสถ์ได้ไงทำให้การออกมาวาดรูปเราไม่กลัวอะไรเลย

UC : รูปแรกที่เริ่มสเก็ตช์คือที่ไหน
Louis : รูปแรกที่วาดในสถานที่จริงคือ สวนสมเด็จย่าแถวคลองสานซึ่งตอนนั้นเลือกมุมไม่เป็นมันก็เลยจะดูแบนๆ ต้นไม้ก็ลงสีไม่เป็นแต่เรา “ไม่สน” ความกล้ามันมีประโยชน์ เราไม่กลัวที่จะวาดแล้วไม่สวยต้องอหังการว่าตัวเองเก่งหลงตัวเองนิดนึงเวลาคนวาดรูปใหม่ๆ มักกลัวไม่สวยสู้คนอื่นไม่ได้เลยไม่โพสลงโซเชียลซึ่งพอกลับไปดูรูปตอนแรกๆ ที่วาด อื้มมมม…เราก็ใจกล้าเนอะ55555 ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่ามันสวยมากนะ

คือรูปแรกมันก็คือรูปแรกอะ กระดาษยังใช้กระดาษสมุดโง่ๆ อยู่เลยแรกๆ สีนํ้านี่เกลียดมากโคปิคก็แพงผสมก็ไม่ได้สุดท้ายในภาพมีแค่สีนํ้าเงินกับเทาพี่ติวก็แนะนำให้ไปเรียนสีนํ้าแต่ก็ไม่ได้ชอบอะไรมากใจไม่ได้รักแต่เราก็ได้ประโยชน์ซึ่งจากตอนนั้นมันทำให้มีพื้นฐานมาแล้วซึ่งเรามักจะเอารูปเก่าๆ มาดูให้รู้ว่าเรามาไกลแค่ไหนแล้วมีอะไรที่เราเปลี่ยนไปบ้างบางทียังมีไอเดียเก่าๆ ที่ยังอยู่ในงานก็เอากลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกรอบได้

ซึ่งจุดเปลี่ยนคือในช่วงปี 4 ได้ฟังบรรยายของอาจารย์อัสนีย์หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Sketcher ซึ่งเราได้เห็นงานสเก็ตช์ของจริงแล้วมีทั้งสมุดยาว สมุดตั้ง หู้ววเยอะดูแล้วสนุก เท่ด้วย รู้สึกชอบมากอยากทำได้

นี่แหละคือ “เป้าหมายของเรา” เราอยากวาดได้อย่างนี้อยากไปไหนมาไหนแล้ววาดรูป เพราะตอนแรกเราแค่รู้ว่าตัวเองเป็นคนวาดรูปได้แต่ไม่ได้ชอบขนาดนั้น อันนี้เลยเป็นการปลุกไฟที่ทำให้อยากวาดรูปมากขึ้นก็เลยเริ่มวาดลงสมุดสเก็ตช์เปิด google วาดดูแบบลองไปเวนิสไหมวันนี้? เราเที่ยวด้วย google ฝึกอย่างนั้นมาซักพักจนเริ่มออกไปวาดข้างนอก

UC : หลงรักอะไรในงานสเก็ตช์
Louis : มันคือการบันทึกด้วยภาพ กล้องก็บันทึกด้วยภาพ สมุดก็บันทึกได้ แต่ด้วยความที่กว่าจะได้รูปหนึ่งเราจะค่อยๆ เขียนมันผ่านกระบวนการผ่านเวลา โดยเฉพาะยิ่งตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกเปลี่ยนสีเร็วมากจนลงสีไม่ทันมันมีบางรูปลงสีข้างบนเสร็จพอมาลงสีข้างล่างฟ้าดันเปลี่ยนเป็นอีกสีซึ่งความทรงจำเหล่านี้มันฝังอยู่ในลายเส้น ฝังอยู่ในสีที่เราใช้มันเลยทำให้เราจำได้แม่นว่าเราวาดที่ไหน วาดกับใครมีอะไรเกิดขึ้นบ้างบางเหตุการณ์หนักๆ ก็จำได้เราว่าเราจำได้หมดทุกรูปเล่าได้หมดเลยซึ่งมันกลายเป็นเสน่ห์ และเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คนมาถามว่า “ทำอะไรอยู่?” ดูเป็นช่วงเวลาที่น่ารักขึ้นมาเลย

UC : ถ้าเปรียบตัวเองเป็นอุปกรณ์ในการวาดภาพจะเลือกเป็นอะไร
Louis : อันนี้เลย “ปากกาพู่กัน” ด้วยความที่หัวพู่กันมันยาวเส้นมันเลยไม่คงที่เปรียบเทียบกับตัวเรา คือเอาแน่เอานอนไม่ได้เส้นที่ขีดบางทีแห้งๆ บางที่ชุ่มไปพอบีบปุ๊ปทะลักมาหนักกว่าเดิมแต่ทำให้เส้นมีดูอะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าปากกาที่หนักเส้นเท่ากันไปหมดมันอาจจะเรียบเกินไปไม่ได้แปลว่าไม่ดีแต่ไม่ถูกจริตก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ ความขาดๆ กระชากๆ มันทำได้ในด้ามเดียวเป็นคาแรคเตอร์ที่ปากกาอื่นทำไม่ได้

UC : สไตล์งานที่ชอบวาดที่สื่อถึงความเป็นตัวเองมากที่สุด
Louis : สไตล์มันเป็นเรื่องไม่ค่อยแน่นอนนะจริงๆ แล้วเราจะใช้ line and wash เส้นเป็นโครงสร้างหลักแล้วก็ใช้สีในส่วนของบรรยากาศผสมกับเส้นจากปากกา หรือดินสอก็แล้วแต่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แหละแล้วแต่จะมีอะไรมากระทบใจมีใครเป็นแรงบันดาลใจ

การใช้สีก็เปลี่ยนบางทีอาจเป็นช่วงค้นหาตัวเองบางทีเรารู้สึกทำไมเราเขียนนานจังเลยว้าาา เขียนเป็นชั่วโมงรูปสองชั่วโมง เราก็อยากให้มันเร็วขึ้นซึ่งก็พยายามเรียนรู้ค้นหาอะไรใหม่ๆ ตอนนี้ก็ยังใช้ปากกาอยู่แต่มีช่วงหนึ่งใช้สีโปสเตอร์เอามาสะบัดๆ ลองเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

UC : ศิลปินในดวงใจคนไหนบ้างที่มีผลต่อชีวิตหรือการวาดภาพ
Louis : แรกๆ ก็จะเป็นอาจารย์อัสนีย์, Don low, อาจารย์เซฟ เรารู้จักไม่กี่คน แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นพวกตามอินสตาแกรม ก็ไม่ใช่พวกศิลปินชื่อดังมากแต่ที่ชอบมากๆ คือ hokusai กับ hiroshige ศิลปินภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นซึ่งมันคือการสเก็ตช์ภาพของคนยุคนั้นเลย

via http://www.donlow-illustration.com
via https://en.wikipedia.org

UC : คิดยังไงกับสตรีทฟู้ดบ้านเรา
Louis : เรามีโปรเจค streetfood sketchwalk วาดไปกินไปหลังๆ ไปเจอกันไม่ค่อยได้วาดจบด้วยการกิน5555555 ซึ่งสตรีทฟู้ดบ้านเราโคตรมีเสน่ห์มันเจ๋งดี มันสะดวก มันน่าวาด มันวุ่นวาย เป็นสิ่งที่ต่างชาติชอบด้วยความที่มันหากินง่าย แต่มันจะต้องมีการจัดระเบียบ มีสาธารณูปโภครองรับการบำบัดนํ้าเสียยังไงถ้ามีได้จะโคตรดีเลยแค่จัดการให้อยู่ในที่ๆ ถูกต้องมันก็จะลงตัว

เคยคิดเล่นๆ ว่าหรือควรจัด hawker center แบบของสิงคโปร์แต่เสน่ห์มันจะลดลงเลยนะซึ่งมันก็ได้ความเป็นระเบียบเพราะจริงๆ เราชอบอะไรที่มีความเป็นระเบียบแต่ถ้าไปทิ้งเสน่ห์ของสตรีทฟู้ดของเราไปเนี่ยมันก็น่าเสียดายต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะผสมผสานระหว่างเสน่ห์กับระเบียบเข้าด้วยกันไม่ใช่โยนปัญหาให้กับผู้ค้าแก้อย่างเดียวทางรัฐก็ต้องเข้ามาช่วยด้วย เพราะผู้ค้าเขาไม่รู้หลักการไม่รู้อะไรหรอกเราเชื่อว่าการออกแบบอะไรพวกนี้มันจะดึงคนมาเองถ้าระบบมันดีคนขายก็อยากขายคนซื้อก็อยากซื้อ

UC : urban creature กับ bangkok sketcher
Louis : จริงๆ คล้ายกับการเดินวาดรูปของ Bangkok Sketcher เมื่อคุณเดินคุณเลยได้เห็นอะไรมากขึ้น มากกว่าคนผ่านไปผ่านมาพอนั่งรถผ่านระดับสายตาอยู่แค่นี้แต่พอเดินมองมันเห็นมิติของเมืองหลากหลายมันเห็นมุมมองเยอะขึ้นทำให้เห็นว่าเมืองสวยยังไง เมืองแย่ยังไง พอทำซํ้าทำบ่อยมันเลยสร้างความผูกพันในเมืองซึ่งเมืองไม่ใช่แค่ที่นอน หรือแค่ที่อยู่อาศัยทำมาหากินแต่มันเป็นที่ๆ เราใช้ชีวิต

อย่างในชุมชนป้อมมหากาฬกำลังจะโดนรื้อทางกลุ่ม bangkok sketcher ก็ไปนั่งวาดภาพระหว่างนั้นก็มีความสัมพันธ์กับชาวบ้านมากขึ้นมันทำให้เรารู้สึกว่าทางของการพัฒนาเมืองคืออะไร หรืออะไรที่กระทำต่อเมืองบ้างมันทำให้เรามีส่วนร่วมมากขึ้น อาจรู้สึกไม่ดีบ้างมันทั้งรักทั้งเกลียดซึ่งจริงๆ แล้วเราจะรู้สึกอินกับเมืองมากขึ้นไม่ใช่ว่าปล่อยทำแล้วก็ทำไปในวันใดวันหนึ่งที่เราไม่สนใจใยดีมันอาจจะกลับมาหาเราเอง ในแง่ของผลกระทบต่างๆ ก็ได้

UC : ถ้าเลือกมุมไหนก็ได้ในกรุงเทพฯ จะเลือกวาดที่ไหน
Louis : เมื่อก่อนเราชอบท่าเตียนมันเป็นย่านมีเสน่ห์ใกล้จุดสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ หลายที่ เช่น วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ แถมมีคาเฟ่น่ารักๆ เดี๋ยวนี้พอพี่จีนบุกเกาหลีบุกคนก็เยอะไปหมดคาเฟ่ทุกอย่างราคามันอัพขึ้น โอเค! ไม่ไปละ เอาจริงๆ ตอนนี้สนใจย่านเจริญกรุงเรารู้สึกว่าย่านนี้แม่งมันส์มีจีนมีฝรั่งมีแขก เอ้ออมันสนุกมันอยู่ร่วมกันอย่างสนุก และมีประวัติศาสตร์มีเรื่องราวไม่ใช่แห้งๆ เจริญกรุงเนี่ยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ถนนมันน่าไปแต่ยังไปไม่บ่อยพอก็ไปประมาณไม่กี่ 10 ครั้งเองวาดไม่กี่ 10 รูปยังมีมุมอีกเยอะมากที่ยังไม่ได้วาดแล้วก็อีกอันหนึ่งตามคอนโดก็น่าสนใจเราว่าวิวดี

UC : อยากให้พูดถึงเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ในแบบ Louis Sketcher
Louis : เป็นเมืองของความต่าง ความขัดแย้ง แถววัดพระแก้วงี้ตรงนั้นวัดเต็มเลยนะ แต่ใกล้ๆ มีถนนข้าวสารอยู่ตรงเนี้ยพอเดินไปได้อีกหน่อยเจอวัดชนะสงครามอะไรแบบนี้มันมันส์ทุกอย่างผสมปนเปความต่างขาวกับดำมันอยู่ใกล้กันมากข้างนอกแบบวุ่นวายข้างในเป็นสวนสงบหลังกำแพงเงียบนิ่งหลังประตูผี รถวิ่งไปมาวู่มๆ เอ้ยแม่งมันส์ ถึงจะไม่ค่อยมีระเบียบอาจจะลำบากหน่อยซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อ่อนแอก็แพ้ไปอยู่ไหวก็อยู่ไปแถมยังเป็นเมืองของความสนุกอาจจะไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตแก่เฒ่าอยู่ที่นี่

| UC : ฝากถึงคนที่กำลังอยากวาดรูปหน่อย
Louis : อยากวาดก็วาด วาดไปก่อน เราจะบอกนักเรียนตอนสอนว่า “เป้าหมายของการวาดคืออะไร” วาดเพื่อเป็นงานอดิเรก หรือวาดเพื่อบันทึกก็วาดไปเลยไม่ต้องใช้ทฤษฏีในการวาดให้ความชอบนำมาก่อน

UC : สุดท้ายแล้วอยากให้พูดถึงนิทรรศการ Moment in Bangkok
Louis : เริ่มจากอยากให้คนอินกับเมืองเหมือนที่เรารู้สึกบ้าง แค่มีความรู้สึกว่าเมืองมันมีอะไรมากกว่าปกติ มันมีมุมสวยงามอยู่ตรงไหนบ้าง หลายคนอาจตอบไมได้ว่าที่นี่คือที่ไหนทั้งๆ ที่เป็นเมืองที่เราอยู่แท้ และกับคำถามที่ว่า เอ้ออยู่กรุงเทพไม่ไปห้างให้ไปที่ไหนที่เที่ยวมีเยอะแยะมันมีสถานที่อะไรตั้งมากมายให้ไปอยู่ในบริเวณเมืองเก่า เพราะเราอินกับเมืองเก่ามากเราแค่อยากนำเสนอแง่มุม ตึกสวยๆ ย่านดีๆ ที่มีเสน่ห์กระจายตัวอยู่รอบกรุงไปหาเขาหน่อยไปดูเขาหน่อย

ซึ่งในงานเราจะมีทั้งหมด 3 ส่วนคือ 1. Old town romance 2. The Glance in the city ซึ่งทั้ง 2 ส่วนแรกเป็นมุมที่เราวาดสดๆ ในสถานที่จริงเลย และส่วนที่ 3. Wat pho คือภาพวาดวัดโพธิ์ที่เดียวแต่หลากหลายมุมซึ่งรวบตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 โดยจะแสดงให้เห็นมุมมองที่เปลี่ยนไปในระยะเวลา 6 ปี

แล้วพบกันกับคนวาดเมือง The Exhibition ตอน “Moments in Bangkok” ในวันที่ 14 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2561

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.