0.
หากในข้อสอบมีคำถามว่าข้อใดเป็นสาเหตุของการทำลายป่า
มนุษย์ คือคำตอบที่ฉันจะมองหาเป็นตัวเลือกแรก และมั่นใจว่าเฉลยจะไม่ผิดไปจากนี้
แต่ฉันเพิ่งรู้ว่าคำตอบในชีวิตจริงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว
มีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ทำลายแต่ปกป้องผืนป่าบ้านเกิดของพวกเขาเป็นอย่างดี
เราเรียกเขาว่า ชาวบ้านบางกลอย
1.
ย้อนกลับไปเมื่อเวลาบ่ายของวันที่ 15 มีนาคม ฉันได้รับอีเมลความยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษ ข้อความข้างในเขียนบอกว่า “พรุ่งนี้ไปเยี่ยมชาวบ้านบางกลอยกัน” พร้อมกับเวลาและสถานที่
‘เกิดอะไรขึ้นที่บางกลอย’ คำถามผุดขึ้นในหัวฉันและเพื่อนทุกคนทันทีที่อ่านอีเมลฉบับนั้นจบ เราใช้เวลาครึ่งวันที่เหลือก่อนจะถึงเวลานัดพูดคุยกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนั้นเองที่ฉันรู้ว่าข้อมูลที่ฉันมีเกี่ยวกับเรื่องนี้มันน้อยนิดมาก เราเพิ่งรู้ด้วยซ้ำว่าบางกลอยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ชาวบางกลอยคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าลึกหรือเรียกกันว่า ‘ใจแผ่นดิน’ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีอายุมากกว่า 400 ปี แต่เมื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถือกำเนิดขึ้น ชาวบ้านบางกลอยทั้งหมู่บ้านจึงต้องอพยพลงมาอยู่พื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดหาให้ เรียกว่า ‘บางกลอยล่าง’ หรือบ้านโป่งลึก แต่ที่ดินบริเวณบางกลอยล่างไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่ต้องทำไร่หมุนเวียน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนตัดสินใจเดินเท้ากลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน และตกอยู่ในสถานะผู้บุกรุกป่า
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอยบางส่วนเดินทางจากจังหวัดเพชรบุรี มายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีถอนกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่ เนื่องจากสร้างความหวาดระแวงให้ชาวบ้านที่ต้องใช้เส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน
เมื่อเราถึงสะพานชมัยมรุเชฐข้างทำเนียบรัฐบาล จุดที่ภาคี #saveบางกลอย ปักหลักกันมาเกือบ 2 วัน พระอาทิตย์กำลังจะหายไปหลังตึกสูง ภาพแรกที่เห็นคือกระท่อมไม้ไผ่หลังเล็กๆ แบบเดียวกับที่ใจแผ่นดินตั้งอยู่กลางถนน และป้ายผ้าสีขาวที่เขียนว่า ‘ชาติพันธุ์ก็คือคน’
พี่กอล์ฟ-พชร คำชำนาญ คือคนแรกที่พวกเรามองหา เขาเป็นรุ่นพี่ที่คณะและฉันไม่มั่นใจว่าพี่กอล์ฟจะจำพวกเราได้
2 ปีที่แล้วพี่กอล์ฟปรากฏตัวในคลาสเรียนของฉันพร้อมกับคำถามว่า
“รู้จักนโยบายทวงคืนผืนป่าไหม”
ความเงียบเป็นคำตอบอย่างดีว่าพวกเราไม่รู้อะไรไปมากกว่าแค่เคยได้ยินชื่อนโยบายนี้ผ่านๆ
“ไม่ต้องรู้จักก็ได้ แต่เราได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกรู้สึกอะไร” เขาถามต่อเมื่อได้รับความเงียบเป็นคำตอบ
“ฟังดูเหมือนเรากำลังมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น” ใครสักคนในห้องพูดออกไป
ตอนนั้นเองที่แผนที่ป่าไม้ในประเทศไทยถูกฉายบนจอโปรเจกเตอร์และเราเริ่มเห็นความผิดปกติ นโยบายทวงคืนผืนป่าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศหรือ 128 ล้านไร่ ภายในเวลา 10 ปี
สิ่งที่ตามมาคือความพยายามเปลี่ยน ‘ที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์’ ให้กลายเป็น ‘พื้นที่ป่า’ เพื่อเพิ่มจํานวนพื้นที่ป่าให้ได้ตามตัวเลขที่วางไว้
‘มันยุติธรรมหรือเปล่ากับการทวงผืนป่าจากคนที่อยู่ในป่ามาก่อน’ ฉันจดประโยคนี้ลงไปในกระดาษ
2.
“เป็นไงบ้างพี่” ใครสักคนในกลุ่มเราถามขึ้น
“ได้ MOU แล้ว” พี่กอล์ฟพูดกับพวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ตอนนั้นเองที่ฉันได้ใช้เวลาสังเกตบรรยากาศโดยรอบ สถานการณ์การชุมนุมผ่อนคลายกว่าที่เห็นบนสื่อโซเชียลมาก ด้านหน้าของพวกเราคือตัวแทนเครือข่ายฯ และชาวบ้านบางกลอยที่กำลังเซ็นบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันบนพื้นถนน เพื่อที่จะขอให้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากบางกลอย หยุดสกัดการส่งอาหารให้ชาวบ้าน และยุติดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเรียกร้อง
พี่กอล์ฟเดินนำพวกเราไปด้านในเต็นท์เพื่อล้อมวงคุยกับชาวบ้านและแนะนำให้รู้จักกับ แบงค์-พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หนึ่งในชาวบ้านบางกลอย เจ้าของรอยยิ้มใจดีแต่แววตาเหนื่อยล้าจนพวกเราทุกคนสังเกตได้ และ ประยงค์ ดอกลำใย ผู้แทนเครือข่ายฯ หัวหน้าของพี่กอล์ฟอีกที
บทสนทนาวันนี้ยังคงเหมือนกับเมื่อ 2 ปีก่อน เราพูดคุยกันเรื่องไร่หมุนเวียน เรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการกลับไปใจแผ่นดิน หรือบ้านของชาวบางกลอย แต่สิ่งที่ต่างคือเราเปลี่ยนที่คุยจากห้องเรียนเล็กๆ เป็นถนนข้างทำเนียบรัฐบาล มีเพลงจากวงสามัญชนเล่นเป็นฉากหลัง และฟังเรื่องราวทั้งหมดจากปากของชาวบ้านเอง
“เจ้าหน้าที่บอกว่าเขามาเพื่อปกป้องป่า แต่สุดท้ายวันที่เกิดไฟป่าขึ้นจริงๆ คนที่วิ่งดับไฟกันกลับเป็นชาวบ้าน ทั้งผู้หญิง เด็ก และคนแก่ ทุกคนบนนั้นปลุกกันขึ้นมาดับไฟป่า ไม่ให้ลามไปกันใหญ่ แล้วจะเรียกว่าพวกเขาทำลายป่าได้อย่างไรในเมื่อเขาเป็นคนดูแลที่ตรงนี้” คุณประยงค์เล่าให้เราฟังถึงความผูกพันกับป่าของชาวบ้าน
กลุ่มชาติพันธุ์ดูแลป่าด้วยการทำไร่หมุนเวียน คือการแบ่งพื้นที่ป่าเป็นส่วนๆ และทำการเกษตรทีละส่วน พื้นที่ที่เหลือก็พักป่าให้ต้นไม้ฟื้นตัวและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าเรียกว่า ‘ไร่เหล่า’ ซึ่งไร่เหล่าที่พักฟื้นมานานจะมีสภาพใกล้เคียงป่าธรรมชาติ แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพวกเขาบุกรุกป่า
เนื่องจากการทำไร่หมุนเวียนจะเริ่มด้วยตัดต้นไม้และเผาป่าเพื่อเตรียมดินให้มีแร่ธาตุพร้อมสำหรับการทำเกษตรกรรม
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโสศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) อธิบายสาเหตุทางนิเวศวิทยาเกี่ยวกับการใช้ไฟในไร่หมุนเวียนว่า ดินในเมืองร้อนอย่างบ้านเราเกิดมาตั้งแต่ยุคเทอร์เชียรี หรือเมื่อ 40 – 50 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นดินจืดมากๆ น้ำที่ไหลผ่านระบบดินพวกนี้มีความสามารถในการนำไฟฟ้าใกล้เคียงกับน้ำกลั่น ไม่ค่อยมีธาตุอาหารละลายติดมา
ต้นไม้จึงทำหน้าที่กักเก็บธาตุอาหารไว้แทน เพราะฉะนั้น การตัดต้นไม้แล้วเผาเพื่อทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นเกษตรภาคบังคับที่ทำกันทั่วโลก นอกจากนั้น ต้นไม้ในไร่เหล่ายังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าที่โตเต็มที่แล้ว เพราะต้องใช้คาร์บอนฯ ในการเจริญเติบโต
กระบวนการนี้เองสะท้อนว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะป่าคือที่ดินทำกินของเขา
แม้ว่ารัฐจะจัดหาที่ดินทำกินให้ใหม่ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายต่อวิถีชีวิตของคนบางกลอยเลย
“พออพยพลงมาบางกลอยล่าง จะให้เราทำนา เราทำไม่เป็น เราทำไร่กันมาทั้งชีวิต”
เมื่อไม่มีผลผลิตเลี้ยงปากท้อง ชาวบ้านบางส่วนจึงต้องลงมารับจ้างในตัวเมือง แต่การแพร่ระบาดทำให้การหางานเป็นไปได้ยากมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านอยากกลับไปที่ใจแผ่นดิน
“เขาเรียกเจ้านี่ว่าบิลลี่สอง” คุณประยงค์พูดและหันหน้าไปทางพี่แบงค์
รอยยิ้มในวงสนทนายังคงอยู่ แต่ฉันรู้ว่าภายในใจของพวกเราไม่ได้ยิ้มตาม ฉันสับสนและไม่รู้ว่าต้องรู้สึกอย่างไรที่ใครสักคนถูกเรียกด้วยชื่อของคนที่ถูกอุ้มหาย
ยิ่งดึกวงสนทนายิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจับไมค์แล้วพูดว่า เขาอายที่กล้าได้ไม่เท่าชาวบ้านกลุ่มนี้
“ไม่ต้องอาย คนที่ต้องอายไม่ใช่เรา แต่เป็นคนในนั้น” ใครสักคนพูดขึ้นมาทันทีและชี้มือไปยังอาคารสีขาวด้านหลัง
3.
ชาวบ้านบางกลอยตัวเล็ก เหนื่อยล้า และอยากกลับบ้าน
ฉันใช้เวลาระหว่างทางกลับบ้านทบทวนบทสนทนาที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่และถามตัวเองว่าฉันจำอะไรได้บ้าง
“แววตาพี่เขาเศร้ามาก” ฉันพูดออกไปเพื่อทำลายความเงียบที่ปกคลุมพวกเราอยู่และทุกคนบนรถพยักหน้าเห็นด้วย แววตาของพี่แบงค์และชาวบ้าน คือสิ่งเดียวที่ติดอยู่ในความทรงจำของฉันไปอีกนาน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ หรือ 5 วันหลังจากที่ชาวบ้านบางกลอยเดินทางกลับ มีรายงานว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขีดเส้นตายว่าภายในเวลา 18.00 น. ต้องไม่มีคนอยู่ที่ใจแผ่นดิน ชุดปฏิบัติการสนธิกำลังตามยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรเข้าพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเพื่อนำชาวบ้านลงมา ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับชาวบ้าน
นอกจากนั้น สมาคมอุทยานแห่งชาติ คนเพชรบุรีรักษ์ผืนแก่งกระจาน และกลุ่มพิทักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมทำหนังสือคุ้มครองผืนป่าแก่งกระจานยื่นถึงนายกฯ ให้ดำเนินการตามกฎหมายปกป้องเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รวมถึงห้ามให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าบุกรุก ล่าสัตว์ป่า และต้องออกมาจากป่า เพราะอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้อย่างดีที่สุดเพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าของคนไทยทั้งประเทศและของคนทั้งโลก
แต่ฉันตั้งคำถามว่า ทำไมป่าที่กำลังจะกลายเป็นมรดกโลกถึงมีคนอยู่ด้วยไม่ได้ ถ้าหลักฐานทุกอย่างแสดงให้เราเห็นว่าพวกเขาไม่ได้ทำลายป่าแต่ดูแลมันอย่างดี
หากวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทป่าไม้ข้อหนึ่งที่ระบุว่า
“เพื่อที่จะหยุดยั้งการตัดไม้ทําลายป่าและทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกครอบครองให้ได้ตามที่เป้าหมายกําหนดไว้”
นิยามคําว่าบุกรุกของกระทรวงทรัพยากรฯ คืออะไร ในเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยบนป่าผืนนี้มากว่า 400 ปี
นานกว่าอายุของกรุงรัตนโกสินทร์
นานกว่าอายุของ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวน
ยุติธรรมหรือไม่กับการใช้กฎหมายที่เพิ่งเกิดทีหลังมาตัดสินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมว่าผิด
กลุ่มคนชาติพันธุ์มีส่วนร่วมกับกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแค่ไหนในฐานะประชาชนคนหนึ่งของไทย
การใช้คําว่าทวงคืนกับคนกลุ่มนี้ยุติธรรมหรือไม่
ฉันถามตัวเอง
ภาพ : พชร คำชำนาญ
ข้อมูลอ้างอิง :
ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เอกสารการจัดการที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ ทำไมต้องปฏิรูป
ฝ่ายสื่อและข้อมูล มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เอกสารวิเคราะห์แผนแม่บทป่าไม้
Forestbook ไร่หมุนเวียน Ep1 เกษตรภาคบังคับ bit.ly/3uQ82ix