Unmuted Project คือชื่อของงานนิทรรศการศิลปะที่ศิลปินกว่า 300 ชีวิตร่วมส่งผลงานในหัวข้อ ‘ศิลปะต้านเผด็จการ’ เพื่อยืนยันว่า ทุกความคิด และทุกความจริงที่แสดงออกผ่านงานศิลปะต้องมีสิทธิและเสรีภาพอย่างไม่มีอะไรมาขวางกั้น โดยงานสเกลไม่ใหญ่โต แต่อัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ครั้งนี้ จัดขึ้นที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ 3 และในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเราไม่พลาดไปเดินชม พร้อมนั่งพูดคุยสบายๆ ท่ามกลางงานศิลปะนับร้อยชิ้นกับ เอม-เอมรินทร์ หนึ่งในทีมงานผู้สร้างนิทรรศการ Unmuted Project ขึ้นด้วยความตั้งใจเกินร้อย
#unmutedproject เพราะเราจะไม่ยอมให้ใครมา ‘มิ้วท์’
เสียงของประชาชนอีกต่อไป
#ไอเดียออกม็อบ คือจุดเริ่มต้นของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เอมบอกกับเราว่าได้ไปเห็นทวีตหนึ่งในทวิตเตอร์ว่า “อยากไปม็อบที่เป็นงานศิลปะ” ซึ่งเธอเรียนจบมาด้านศิลปะโดยตรง เลยรู้สึกว่าอยากสร้างให้ความต้องการนั้นเกิดขึ้นจริง
“พอเริ่มทำ เราวางคอนเซปต์ต่างๆ ร่วมกับเพื่อน ก่อนจะเปิดลิงก์รับสมัครทีมงานผ่านสื่อออนไลน์ ก็มีคนสมัครเข้ามาจำนวนหนึ่ง เชื่อไหมว่าน้องบางคนยังเรียนม.ต้น ม.ปลาย บางคนเรียนมหาวิทยาลัยอยู่เลย และในทีมเอมจะโตที่สุด ทั้งๆ ที่เอมอายุ 25 เองนะ
“หลังจากนั้นเราก็เปิดให้ใครก็ได้ส่งผลงานเข้ามาร่วมแสดง โดยไม่กำหนดรูปแบบ เพียงแต่อยู่ภายใต้หัวข้อที่กำหนด ซึ่งผลงานที่ส่งเข้ามาเป็นศิลปินหน้าใหม่เยอะมาก แทบจะ 80-90% เลย มีมาตั้งแต่นำหน้าชื่อด้วย ด.ช. ด.ญ. เลย เรารู้สึกว่า โห เขาอายุเท่านั้นเอง แต่เขาศึกษาเรื่องนี้แล้ว นี่แหละ กลุ่มคนที่จะคอยขับเคลื่อนสังคมต่อไป แต่พอถึงเวลาคัดเลือก ก็มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถจัดแสดงงานศิลปะได้ทุกชิ้น อย่างบางชิ้นไม่เหมาะกับการจัดแสดงเอาท์ดอร์ บางชิ้นมาเป็นคอมพิวเตอร์ บางชิ้นเซนซิทีฟกับการโดนน้ำ ซึ่งเอาจริงๆ เอมไม่อยากมีเงื่อนไขกับการเลือกงานศิลปะเข้ามาจัดแสดงเลยด้วยซ้ำ เพราะเราอยากให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงสิ่งที่มี แสดงความคิดเห็น และแสดงสิ่งที่เขาอยากจะพูดได้”
.
ศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม
เราคุยกับเอมต่อถึงประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะ ที่ศิลปินโดนคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐหลังจากการแสดงออกความคิดผ่านผลงานของเขา จนมีกระแส #ArtIsNotACrime สนั่นโซเชียล เธอตอบกลับมาอย่างทันทีว่า “เอมไม่เข้าใจว่างานศิลปะกลายเป็นเรื่องอาชญากรรมได้ยังไง”
“เอมไม่เคยเข้าใจ และไม่มีวันเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมศิลปินที่ทำงานศิลปะถึงโดนคุกคามขนาดนี้ อย่างเคสของ ‘ฮอกกี้’ เจ้าของเพลงประเทศกูมี ที่ขึ้นแร็ปบนเวทีโดนจับ คือเห้ย มันเป็นแค่ความจริงเองนะ คือความจริงในความคิดเห็นของคนๆ หนึ่งที่แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน ภาพถ่าย เพลง ศิลปะการแสดง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาอยากนำเสนอออกมา”
ทำไมการพูดความจริงถึงกลายเป็นอาชญากรรม
จนชีวิตเขาและใครอีกหลายๆ คนโดนคุกคามได้ขนาดนั้น
ถ้าอย่างนั้นงานศิลปะจะโดนตีกรอบและจำกัดจนสยามกลายเป็นสุสานของงานศิลป์ไหม ?
“ไม่ค่ะ คนที่เป็นศิลปินจริงๆ จะไม่ยอม เขาไม่ยอมให้สิ่งที่เขาทำกลายเป็นศพแน่ๆ ไม่มีใครยอม เอมก็ไม่ยอม เอมพูดเลยว่าไม่มีวันนั้น”
.
(ไม่มี) เสรีภาพ
เสรีภาพคล้ายกับอากาศ มีให้ได้ยิน ได้เห็น ได้อ่านกันบ่อยครั้ง แต่จะมีสักกี่คนที่ได้รับมันไปจริงๆ เช่นเดียวกับแวดวงศิลป์ที่เอมบอกกับเราว่า แทบไม่มีเสรีภาพในการทำ และแสดงออกอยู่เลย
เอมเริ่มเล่าจาก เสรีภาพที่ไม่มีอยู่จริงของงานศิลปะในวงการศึกษาไทย ที่ประสบการณ์การเป็นนักเรียนอาร์ตสอนให้รู้ว่า มันยังคงตัดสินด้วยคำว่าถูกผิด และบางครั้งการให้คะแนนเป็นไปตามจริตส่วนตัวของผู้สอน ซึ่งเธอเริ่มเล่าตั้งแต่สมัยเรียนติวเพื่อเตรียมสอบเข้าคณะด้านศิลปะ ที่เก้าโมงปุ๊บ ต้องต่อแถวเปิดกล่องตรวจดินสอ ถ้าไม่แหลมต้องออกจากแถวไปเหลามาใหม่ วันไหนมาสายก็โดนปรับเงินทั้งที่นักเรียนจ่ายเงินลงคอร์ส หรือแม้กระทั่งตอนเรียนจะมีพี่ติวมานั่งข้างๆ คอยตัดสินว่า เขียนเส้นแบบนี้ผิด ลงสีแบบนั้นถูก แม้จะทำให้เข้าใจหลักการ แต่ในความจริงแล้ว เธอคิดว่างานศิลปะ ไม่ควรมีใครบอกด้วยซ้ำว่า อันนี้ผิด หรืออันนี้ถูก
“มันตลกมากเลยนะที่งานศิลปะมีถูกผิด อย่างช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เอมเป็นคนเดียวในรุ่นที่ทำธีสิสด้วยรูปแบบวิดีโอ ซึ่งตอนนั้นวิดีโออาร์ตไม่ค่อยมีนักศึกษาทำกัน เพราะหาข้อมูลอ้างอิงเป็นศิลปินไทยยาก ตอนส่งตรวจก็จะมีอาจารย์สองฝั่ง ฝั่งหนึ่งบอกว่า ไปต่อเลยเอม งานคุณโคตรถึง กับอีกฝั่งที่บอกว่า เอมกลับไปเพนต์เถอะ ผมว่าคุณทำเพนต์จะเวิร์กกว่านะ เลยทำให้เอมรู้สึกว่า แค่การเรียน มันก็จำกัดเสรีภาพแล้วว่า คุณทำอันนี้ดิ ถ้าคุณทำเกรดคุณจะดีกว่า เพราะมันถูกใจผม คือคนเรียนศิลปะทุกคนจะรู้ว่า มีอาจารย์หลายคนให้เกรดตามความชอบ ไม่ได้ให้จากทำรีเสิร์ชดี หรือตัวงานไฟนอลออกมาแล้วโคตรโหด”
อีกแง่หนึ่งคือ การเมือง ที่ถูกซ่อนอยู่อย่างแยบยลในศิลปะ และที่เห็นภาพชัดคือการจัดสรรพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงงานของศิลปินทุกคนอย่างเสรี
“เอมคิดว่าในประเทศเราไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับแสดงศิลปะในแบบที่ควรจะเป็น ไม่มีพื้นที่ที่คอยซัพพอร์ตศิลปินทุกคน หรือสำหรับจัดแสดงงานศิลปะอย่างเสรี เอมเคยเห็นข่าวว่าครั้งหนึ่งมีรูปโดนปลดจากแกลเลอรี ทั้งที่เขาเอาขึ้นจัดแสดงแล้วแท้ๆ มันเลยไม่ใช่พื้นที่เพื่องานศิลปะจริงๆ คือเอมสงสัยนะว่า คุณไม่คิดจะปกป้องศิลปินหน่อยเหรอ ทำไมยอมให้เขาปลด ทำไมบางคนถึงโดนจับ โดนแจ้งข้อหา สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องอำนาจแบบการเมืองอยู่ดี
“อีกอย่างคือ ชนชั้น มันเห็นได้ชัดมาก เพราะการทำงานศิลปะได้ อย่างน้อยต้องมีทั้งเวลาและมีเงิน ซึ่งหลายครั้งเราเห็นว่า คนที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะเรียนรู้งานศิลปะเป็นคนจากชนชั้นไหน ซึ่งคนในวงการศิลปะยังพูดกันเองเลยว่า คนที่เป็นศิลปินจริงๆ โดยไม่ทำอาชีพอื่น บ้านเขาต้องมีตังค์ เขาสามารถอยู่บ้านว่างงาน 6 เดือนได้โดยยังมีเงินซื้อข้าวกิน แล้วยังมีเงินซื้อสีตามเกรดอาร์ทติสใช้ที่ราคาถูกสุดก็หลอดละ 400 บาท เรื่องแค่นี้ มันก็ทำให้เห็นแล้วว่า ศิลปะแม่งโคตรการเมืองเลย ถ้าคุณตั้งใจมองก็จะเห็นจริงๆ”
ถ้าการเมืองซัพพอร์ต งานศิลปะจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึง ทำได้ และเข้าใจมัน ซึ่งคำว่าเข้าใจคือการเข้ามาเรียนรู้กับงานศิลปะได้เลย ไม่ใช่ต้องรอมีเงินแล้วไปเข้าเวิร์กช็อป
(ถ้า) ศิลปะมีอิสระ
เราให้เอมลองคิดภาพในวันที่การแสดงออกความคิดผ่านงานศิลปะของศิลปินทุกคนมีอิสรภาพ มันคือวันที่การคุกคาม ชนชั้น และอำนาจเชิงการเมืองจะโดนทลายออกไปจากงานศิลป์ เธอนิ่งไปสักครู่แล้วบอกด้วยน้ำเสียงมั่นคงว่า
ภาพวันนั้นเกิดขึ้นแน่ๆ ต่อให้ต้องรออีกร้อยปี มันก็จะมี
และจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ผลักกำแพงตรงนี้ออกไปด้วยวิธีคิดและผลงาน
“คนรุ่นใหม่กำลังผลักกำแพง ผลักเพดานให้สามารถทำอะไรได้มากขึ้น เอมไม่เคยคิดเลยว่าคำว่า เยาวชน จะมีพลังมากขนาดนี้มาก่อน แม้พวกเขายังไม่ได้เจอโลกเยอะ แต่ความกล้าที่มีมันมากมาย เขาใช้ความกล้าผลักทุกอย่างเพื่อเปิดพื้นที่ความคิดของพวกเขาให้กว้างขึ้น”
เมื่อพื้นที่การแสดงมีอย่างอิสระ เอมยังบอกต่อว่า งานศิลปะที่มักโดนลิดรอนสิทธิในการแสดง เพียงเพราะคำว่า ‘มันรุนแรงเกิน’ จะหมดไป เพราะแท้จริงแล้วศิลปะไม่มีอะไรที่รุนแรง มีแค่คำว่า สุนทรียศาสตร์ จากประสบการณ์ที่สั่งสม ความงามของแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับมุมมอง เพราะฉะนั้นงานศิลปะบางชิ้น อาจดูรุนแรงสำหรับบางคน กลับกันในความคิดของอีกคน งานชิ้นนี้คือเรื่องปกติที่แสดงออกได้ และวงการศิลปะไทยจะเติบโตขึ้นอีกหลายเท่าตัว
“เอมมองว่ากราฟิตี้จะเยอะขึ้นมาก เพราะบ้านเรามีกราฟิตี้เก่งๆ บางคนพ่นอย่างโหด ทำจนสเปรย์เป็นมือของเขา แต่เพราะหลายอย่างที่กดทับ และไม่เอื้อ ทำให้พวกเขาไปรวมตัวกันที่ตึกร้างอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งเอมคิดว่างาน performance จะหาดูง่ายขึ้น ปกติในไทยหาดูยากมากๆ เพราะต้องใช้ความรู้สึกสูง หรือนำเสนอเรื่องราวที่เข้มข้น เอมเลยคิดว่าถ้าวันหนึ่งมันเปิดกว้าง เราจะได้เห็นแน่ๆ แล้วคนจะกล้าออกมาโดยไม่กลัวอะไรเลย
“เช่น น้องนักเรียนที่ออกมานั่งพร้อมกรรไกรที่สยามสแควร์ แล้วมีป้ายว่าตัวเองผมยาวผิดกฎ ให้ลงโทษได้ เอมรู้สึกว่า โห เขาใช้ความกล้าเยอะมากที่ออกมาแสดงกลางสถานที่แบบนั้น แต่ก็มีความเห็นหลายๆ ด้าน ซึ่งถ้าน้องได้แสดงในที่ที่เขาเปิดกว้าง งานนี้คือ art performance ที่ดีอันหนึ่งเลย มันคือการตั้งคำถามและแสดงออกทางความคิดเห็น”
หากถึงวันที่วงการศิลป์บ้านเราเติบโตขึ้นจริงๆ เธอยังเชื่อว่า การกำหนดความเป็นศิลปะจะหมดไป และศิลปะควรปรับเปลี่ยนได้ตามช่วงเวลาที่หมุนผ่าน
“บริบทของโลกเราในศตวรรษที่ 21 มันเปลี่ยนไปแล้ว งานศิลปะก็ต้องเปลี่ยนไป เอมเห็นศิลปินไทยทำงานเชิงคอนเซปต์ชวลมากขึ้น หมายถึงเขาให้เวลากับการคิดสูงขึ้นมาก จากที่เมื่อก่อนจะทำแค่งานเพนต์ ภาพเขียน งานปั้น เพราะมันคือสิ่งที่มีคนกำหนดไว้ว่าเท่ากับศิลปะ แต่ตอนนี้มีศิลปินเริ่มเปลี่ยนแล้ว อย่างงานคุณไกร ศรีดี เขาเอาไมค์มาผสมกับปืนแล้วจัดแสดงออกมา คอนเซปต์คือใช้ไมค์ของเขาพูดได้เลย พูดเรื่องที่อยากพูด ดังเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าคนทั่วไปก็จะมองว่ามันไม่ใช่ แต่สำหรับเอมนี่คืองานศิลปะ เพราะมันสร้างความรู้สึกกับคนที่ได้ใช้งาน อย่างเมื่อวานเอมพูดทั้งวัน รู้สึกเลยว่ามันเป็นพื้นที่ของเรา”
.
ศิลปะขับเคลื่อนสังคม
คำถามสุดท้ายที่เราเตรียมมาพูดคุยกับเอม คือคำถามที่อาจได้ยินกันมาจนเกลื่อนว่า ศิลปะขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร ? แต่เราเพียงอยากให้ทุกคนได้ฟังอีกหนึ่งเสียงของเธอ ได้คิดตาม นำไปหลอมรวมกับคำตอบชุดอื่น และหวังว่าคนที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจว่า ทำไมงานศิลปะถึงควรแสดงออกได้อย่างเสรี
“งานศิลปะบ่งบอกสถานการณ์ บ่งบอกความเป็นปัจจุบัน ณ ขณะนั้นได้ชัดเจนจนน่ากลัว อย่างงาน Unmuted Project เป็นไปได้ยังไงที่คน 300 กว่าคน จะส่งงานคอนเซปต์เดียวกันเข้ามา แสดงว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้น คนถึงเห็น ถึงรู้สึกเหมือนกัน และในอีก 10-20 ปีข้างหน้า งานศิลปะจะเป็นตัวบอกได้ชัดเจนมากๆ ว่า มันเคยมีอะไรเกิดขึ้นในสังคมไทย”
นิทรรศการ Unmuted Project
วันและเวลา: 29 สิงหาคม – 05 กันยายน 2563 เวลา 11:00 – 18:00 น.
สถานที่จัดแสดงผลงาน : สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ 3 (ห่างจาก BTS ทองหล่อ 500 เมตร)