ก่อนเข้าชมนิทรรศการ Unlock ของพี่เอก-พิชัย แก้ววิชิต ภาพที่ฉันจินตนาการเอาไว้คือการยืนมองภาพบนฝาผนังที่เล่าเรื่องชีวิตของเขาอย่างเรียบง่าย ดั่งคำอธิบายหน้างานบอกไว้อย่างนั้น ซึ่งทุกครั้งที่เดินจากโซนหนึ่ง สอง สาม และสี่ บนเนื้อที่แกลเลอรีไม่กี่ตารางเมตร ซึ่งถูกรายล้อมไปด้วยกำแพงที่ถูกประดับด้วยภาพถ่ายทั้งหมด 27 ภาพกับ 1 วิดีโอคลิป แต่นั่นทำให้ฉันกลับมาตั้งคำถามกับชีวิตในวัยเบญจเพสว่า
“ความกลัวของฉันคืออะไร” และ “ฉันมีความสุขกับอะไรมากที่สุดในชีวิต”
ปลดล็อกความกลัว
เส้นทางคับแคบที่ห้อมล้อมไปด้วยผนังสีดำมืดทึบถูกแขวนด้วยภาพถ่ายขาว-ดำ ซึ่งพี่เอกลงมือลั่นชัตเตอร์ไว้เมื่อ 10 ปีก่อนมาเริ่มถ่ายตึกรามบ้านช่องอย่างจริงจัง ทันทีที่ฉันก้าวเท้าเข้าสู่เรื่องเล่าชีวิตช่วงแรกของพี่เอก บรรยากาศทั้งหมดสะท้อนถึงการหลีกหนีตัวตนที่รักศิลปะ เพราะคำว่า “ไม่ได้เรียนด้านศิลปะ” ถึงแม้เบื้องลึกของจิตใจจะคลั่งไคล้แทบบ้า แต่กรงขังสูงชะลูดนามว่าความกลัวดันปิดกั้นอิสรภาพ (จินตนาการ) ของเขาเอาไว้
“ช่วงนั้นความคิดของผมยังไม่ได้ถูกปลดล็อก เราขังตัวเองไว้กับคำว่า ‘ไม่มีทักษะทางศิลปะ’ และ ‘ไม่ได้เรียนศิลปะ’ ทั้งที่ลึกๆ แล้วผมชอบศิลปะสุดหัวใจ จนผมมาคิดได้ว่าอะไรคือความกลัวในจิตใจที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อให้ไม่กล้าทำสิ่งสิ่งหนึ่งที่เราอยากทำ”
สิ้นเสียงของพี่เอก ทำฉันช็อตไปครู่หนึ่ง เหมือนโดนกระตุกความทรงจำให้ย้อนกลับมาทบทวนชีวิตว่าฉันมีความกลัวบ้างไหม
“อืม อันที่จริง…มันก็มีนะ”
ส่วนตัวฉันเคยกลัว ‘การเขียน’ ใครฟังก็ต้องแปลกใจ เพราะขณะที่กำลังพิมพ์อยู่นี้ ฉันได้ทำสิ่งที่ ‘เคย’ กลัวมาก่อน มันเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ฉันสร้างขีดจำกัดขึ้นมาว่า ‘เราไม่เก่งเรื่องงานเขียน’ ไม่ว่าจะลงมือผลิตคอนเทนต์อะไร ฉันกลัวการโดนว่ากล่าว กลัวโดนการปฏิเสธ กลัวโดนคอมเมนต์กลับมาอยู่เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้มันทำให้ฉันรู้สึกไร้พลัง ไร้ค่า และไร้ตัวตน ฉันจึงกดมันเอาไว้ซ้ำๆ จนกลายเป็นกุญแจมือล่องหนที่ไม่กล้าลงมือจับปากกา แต่ลึกๆ แล้วฉันชอบการเขียนจะตายไป
ในวันที่ปลดล็อก มันเหมือนมีเสียง ‘คลิก’ ของลูกกุญแจที่ดังอยู่ในใจของฉัน เพราะฉันไม่สนใจความกลัวแล้วทำในสิ่งที่ใจเรียกร้อง ซึ่งพี่เอกบอกว่าการแขวนเลนส์ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขายอมจำนนต่อความชอบศิลปะเช่นกัน เพราะสุดท้ายมันคือการฟังก้นลึกของหัวใจแล้วเผชิญหน้ากับมัน นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เขาปลดล็อกออกมาได้
คลิก !
ปลดล็อกตัวตน
จากห้องมืดทึบสู่ห้องขาวโพลนดูโล่งตา กับภาพถ่ายบนฝาผนังที่ใครย่อมจำ ‘ลายเซ็น’ ของช่างภาพคนนี้ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเส้น รูปร่าง รูปทรง แสงเงา ล้วนเป็นองค์ประกอบที่พอรวมกันแล้วคือ ‘ตัวตน’ ของพี่เอก-พิชัย
“ภาพในห้องนี้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะเราได้ตัวตนกลับคืนมา หลังจากกักขังไว้กับความกลัว ซึ่งภาพที่เห็นมันเกิดจากการมองสิ่งที่อยู่รอบตัวเราให้เป็นศิลปะ เพราะฉะนั้น ผมว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือต้องมีกำแพงมากั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้”
พี่เอกค่อยๆ สาธยายถึงช่วงเวลาอิ่มเอมที่เขาได้เปิดเผยตัวตนผ่านงานภาพถ่ายอย่างเต็มที่ ด้วยความที่ต้องทำงานเลี้ยงปากท้องครอบครัวอย่างไม่หยุดพัก ทำให้เขาเริ่มจากสถานที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับมัน
และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ “เราเริ่มสนุกในมุมของคนที่ไม่รู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง ทำโดยไม่มีเงื่อนไขเหมือนได้ปลดล็อกทุกอย่างแล้ว สุดท้ายพอเราเชื่อตัวเอง ภาพที่ออกมามันเลยเป็นความจริงสำหรับผม ฉะนั้น ค้นหาตัวเองให้พบว่าเบื้องลึกเราชอบอะไร เป็นคนแบบไหน ลองฉีกกรอบบางอย่างออก เพื่อให้ทำอะไรแล้วมีความสุขกับชีวิต”
หลังจากที่ได้ปลดล็อกว่าฉันชอบการเขียนมากแค่ไหน มันเลยทำให้ฉันเริ่มมีความสุขกับงานเขียนอย่างออกนอกหน้า บ่อยครั้งที่ฉันเขียนงานอย่างบ้าคลั่งแล้วลากเวลาไปจนดึกดื่น นั่นเป็นเพราะความสนุกที่โลดแล่นผ่านความคิด แล้วถูกส่งไปยังนิ้วมือเพื่อบันทึกออกมาเป็นตัวอักษร ซึ่งหลายคนติดป้ายว่าฉันหักโหมเกินไป แต่สำหรับฉัน มันกลายเป็นกุญแจที่นำไปสู่การค้นพบอีกมุมหนึ่งของตัวเองในวัยเลข 2 กว่าๆ
“เออ จากคนที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับงานเขียน
แต่วันนี้เรามีความสุขกับมันเหมือนกันนะเนี่ย”
คลิก !
ปลดล็อกอนาคต
“ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือทำในสิ่งที่ท้าทายกับตัวเองแล้วไม่กล้าลอง แค่ลองวางเงื่อนไขอะไรบางอย่างลง แล้วใช้อิสรภาพของเราให้เต็มที่”
พี่เอกบรรยายแนวคิดหลังจากชวนเราเข้าไปดู ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ที่ถ่ายทอดเมืองผ่านผิวน้ำในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ซึ่งเป็นกระบวนการที่พี่เอกไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต เพราะบ่อยครั้งเมื่อเราโตขึ้น ความคิดความอ่านสะท้อนถึงความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะทำอะไร เดินไปทางไหน มันมักจะมีเสียงเตือนในสมองให้เราชะงักเพียงชั่วครู่เพื่อวิเคราะห์ว่าดีหรือไม่ดี
แต่ถ้าเราย้อนกลับไปเป็นเด็ก ‘ความไร้เดียงสา’ ในตัวเรา ทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับทุกอย่าง จะทำอะไรก็สนุกไปเสียหมด เพราะมันคือการเรียนรู้ของเด็กวัยไม่กี่ขวบ ซึ่งเราในวัยผู้ใหญ่ก็ทำได้ไม่ต่างกัน ขอแค่วางเงื่อนไขลงแล้วกล้าลองในสิ่งที่ตัวเองอยากทำให้เต็มที่ ผลลัพธ์ที่ได้มันจะออกมาดีเอง
อันที่จริง มีเหตุการณ์หลายครั้งในชีวิตที่ฉันตกตะกอนความคิดกับมันอยู่นาน อย่างตอนนี้ฉันฝันอยากมีนิยายสืบสวนของตัวเองสักเล่ม เพราะพลังตัวอักษรอันแรงกล้าของ ‘ฮิงาชิโนะ เคโงะ’ มันเรียกร้องให้ฉันลงมือเขียน แต่มันดันมีคำว่า ‘แต่’ ผุดขึ้นมาท่ามกลางความฝันว่า “ฉันไม่ชำนาญมากพอ” เลยเป็นชนักดึงหลังเอาไว้ และตั้งแต่วันนี้ฉันจะวางมันลง แล้วอีก 5 ปี หรือ 10 ปี ฉันจะย้อนกลับมาอ่านบทความนี้อีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าฉันสามารถ ‘ปลดล็อกอนาคต’ ของตัวเองได้ไหม
“บางครั้งถ้าเราฟังหัวใจตัวเองมันจะสามารถสร้างนู่นนี่ได้อย่างมากมายมหาศาล เป็นความลับของจักรวาลที่เรามองไม่เห็น” พี่เอกเสริม
ปลดล็อกมุมมอง
คุณเคยไม่กล้าออกจาก Comfort Zone ไหม
ฉันเองแหละที่เป็นหนึ่งในนั้น…
เมื่อเขียนได้อย่างสนุกมือ ผ่านไปนานวันเข้าความคิดเริ่มหยุดนิ่ง กลายเป็นคนอีเรื่อยเฉื่อยแฉะประมาณหนึ่ง เพราะมีบางเรื่องที่ฉันถนัดเขียนเกิดเป็น ‘ความเคยชิน’ จนไม่กลัวว่าตัวเองจะตกม้าตายในตอนจบ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกรงขัง ซึ่งทำให้ฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า
“ถ้ายังอยู่แบบนี้ต่อไป ฉันก็จะหยุดพัฒนาศักยภาพตัวเองเพียงเท่านี้หรือเปล่านะ”
ไอ้ความกล้าๆ กลัวๆ มันค่อยๆ พังทลายลงมาทีละเล็กทีละน้อย เพราะพี่เอกหันมาพูดว่า “หัดมองสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา นอกเหนือจากการโฟกัสบนสิ่งที่เราอยากเห็น หรืออยากทำ” นี่คือหนึ่งในความคิดที่ทำให้เขา ‘ปลดล็อกมุมมอง’ เพื่อออกจากกรอบที่แปะป้ายคำว่า ‘มินิมอล’ แล้วเฟ้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ โดยเฉพาะภาพในโซนนี้กลับดูแปลกตาออกไป มันไม่ใช่ตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพฯ แต่เป็นภาพธรรมชาติบนท้องนาที่รวงข้าวพลิ้วไหวไปมาคล้ายฝีแปรงพู่กัน
คล้ายกับฉันที่ลองจับปากกาเขียนเรื่องที่ไม่เคยทำ แล้วเผื่อจะชอบงานแนวอื่นขึ้นมาบ้าง ซึ่งสุดท้ายการออกเดินทางของฉันในครั้งนั้นก็เป็นเหมือนส่วนที่เติมเต็มความคิด มุมมอง หรือต่อยอดศักยภาพของเราให้คมชัดและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
คลิก!
ก่อนจบการทัวร์นิทรรศการ Unlock และดูเรื่องราวปลดล็อกทั้ง 4 ช่วงชีวิตของพี่เอก ก็ทำให้เราตกผลึกทางความคิดว่าทุกการปลดล็อกมันเกิดขึ้นในชีวิตของพวกเราได้เหมือนกัน เพราะเราคือนักผจญภัยในเรื่องราวของตัวเอง สำหรับฉันคำว่า ‘ฉีกกรอบ’ และ ‘ลงมือทำ’ คือสิ่งที่ได้รับจากนิทรรศการนี้
ฉันจึงอยากชวนผู้อ่านมาตอบคำถามเพื่อ ‘ปลดล็อกตัวตน’ ระหว่างชมนิทรรศการดังนี้
- อะไรคือความกลัวในจิตใจที่ทำให้เราไม่กล้าทำสิ่งที่อยากทำ
- อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขกับชีวิต
- อะไรคือสิ่งที่อยากทำในชีวิตนี้แต่ยังไม่ได้ทำ
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไป นิทรรศการ Unlock ของเอก-พิชัย แก้ววิชิต เปิดเข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 7 กุมภาพันธ์ เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่ RCB Photographers’ Gallery 2 ชั้น 2 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (River City Bangkok) โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชมไม่เกิน 30 ท่านต่อรอบ เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19