Typography is powerful! : ตัวหนังสือก็มีเสียง…เล่าเรื่องราวในสังคม - Urban Creature

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในแวดวงงานดีไซน์ “Typography หรือ Font” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงความรู้สึกของงานนั้นๆ ให้คนมองได้สัมผัส อย่างถ้าเราเลือกใช้ฟอนต์ที่ชื่อ Courier fonts งานนั้นก็จะให้ความรู้สึกเป็นงานพิมพ์เก่า คล้ายการใช้พิมพ์ดีดในสมัยก่อน หรือถ้าเป็น Futura fonts ก็จะให้ความรู้สึกถึงความล้ำสุดๆ ในโลกอนาคต ดังนั้นฟอนต์ที่เราเลือกใช้นั่นแหละ จะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ของงานทั้งหมดที่เราออกแบบ และยังเป็นองค์ประกอบที่ดึงดูดให้คนอยากอ่านหรือไม่อยากอ่านงานดีไซน์ของเราด้วย

แต่ถ้าวันหนึ่ง ฟอนต์ที่โชว์บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ไฮเทค สามารถทำได้มากกว่าการแสดงอารมณ์ของงานดีไซน์ แต่กลับสื่อสะท้อนถึง “ปัญหาหรือประเด็นต่างๆ ในสังคม” ให้เราได้ฉุกคิด ถ้าอย่างนั้น ลองมาดูกันสิว่า สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า Font จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ยิ่งใหญ่ในสังคมได้บ้าง!

Font x Eco l ‘ช่องว่างช่วยลดการใช้ตลับหมึก 490 ล้านตลับ!’

 


1.5 พันล้าน คือตัวเลขมหาศาลของตลับหมึกที่ถูกใช้ไปกับการพิมพ์ในแต่ละปี นั่นหมายถึง ปริมาณของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใชเพลาสติกพลาสติก และน้ำมันที่มากมายมหาศาสลเช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านั้นแปรผันตรงกับตัวเลขของตลับหมึก

“Dan Rhatigan” จึงสร้างสรรค์ฟอนต์เพื่อโลกของเราในชื่อ “Ryman Eco” ที่ช่วยลดปริมาณการใช้หมึกพิมพ์ ผ่านคอนเซปต์ “Sustainable.Beautiful.Free” นอกจากจะประหยัดหมึกพิมพ์แล้ว เจ้าฟอนต์นี้ก็ยังคงความสวยงาม อ่านง่าย และเหมาะกับการใช้งานได้อย่างไม่บกพร่อง ตัวฟอนต์ถูกดีไซน์แบบ Serif (มีฐาน) โดยเพิ่มช่องว่างเล็กๆในแต่ละตัวอักษร แต่เมื่อคำนวนแล้ว กลับสามารถลดการใช้หมึกพิมพ์ไปได้ถึง 33% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6.5 ล้านตัน และลดการใช้น้ำมันถึง 15 ล้านบาร์เรลต่อปีเลยทีเดียว

“ฉันไม่ได้คาดหวังว่า 33% ที่ลดลงของการใช้ตลับหมึก จะเป็นการช่วยโลกได้โดยตรง แต่ฉันคาดหวัง ให้มันเป็น ‘ก้าวแรก’ ที่บอกว่า ‘เราจะช่วยโลกได้ยังไง’ ”

– Dan Rhatigan –

Download Font : https://rymaneco.co.uk/about.html



Font x Homeless l เพิ่มค่าลายมือข้างถนนที่ไม่มีใครสนใจ

 

“Nobody sleeping on the street!”
นี่คือคำพูดอันหนักแน่นจาก “Arrels Foundation” มูลนิธิในประเทศสเปน ที่กำลังทำงานเปลี่ยนคนไร้บ้านกว่า 3,000 คน ในเมืองบาเซโลนา ให้กลายเป็นคนมีบ้าน มีอาหาร มีงาน และมีสุขภาพร่างกายที่ดี ทางมูลนิธิจึงดีไซน์ฟอนต์  “Homelessfonts” ที่นำคนไร้บ้านมาเข้าร่วมเวิร์คช็อป เปลี่ยนลายมือของตัวเองให้กลายเป็น ฟอนต์ เพื่อขายให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่น ไวน์ Valonga หรือ ในสื่อโฆษณาของ Coca Cola

“ฉันหวังว่า ผู้คนที่เห็นจะต้องร้องว้าว! เพราะนั่นมันคือลายมือของฉัน ซึ่งมันก็น่ารักมากด้วย และฉันก็หวังอีกว่า มันจะเป็นโปรเจคที่ดีและประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะโปรเจคนี้มันวิเศษจริงๆ ลายมือของฉันมันสวยมากๆ ดังนั้นถ้าคุณเอามันไปใช้ในงานโฆษณาของคุณ ฉันจะรู้สึกดีใจและขอบคุณอย่างแน่นอน”

ความในใจของ Loraine หนึ่งในกลุ่มคนไร้บ้านที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปฟอนต์กับทางมูลนิธิ เธอเกิดที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ตอนที่ไปพักร้อนที่บาเซโลน่า เธอถูกขโมยพาสปอร์ต และมีคนปลอมแปลงพาสปอร์ตเป็นตัวเธอ  ทำให้ไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้ ตั้งแต่ตอนนั้นมา เธอจึงต้องอาศัยอยู่ในบาเซโลนาในฐานะของคนไร้บ้าน

ลายมือบนกระดาษของคนไร้บ้านข้างถนนที่แทบจะไม่มีใครสนใจ กลับกลายเป็นฟอนต์ที่ถูกเพิ่มค่าขึ้นมา รวมถึงความรู้สึกมีค่าในตัวเองของคนไร้บ้านผู้เป็นเจ้าของฟอนต์ก็เพิ่มขึ้นตามเช่นเดียวกัน

Download Font ของ Loraine และของคนอื่นๆ :  http://www.homelessfonts.org/



Font x Braille l เรียนรู้และเข้าใจโลกสีดำ

 

จากจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามที่ว่า “ทำไมฉันถึงอ่านอักษรเบรลล์ไม่ออก?” ของ “Kosuke Takahashi” นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ทำให้เขาพัฒนาและรวบรวมไอเดีย จนกลายมาเป็นฟอนต์ชื่อ “Braille Neue”  ที่มีต้นแบบมาจากฟอนต์แนวหน้าอย่าง “Helvetica Neue” โดยฟอนต์นี้มีทั้งหมด 2 ภาษา คือ Braille Neue Standard (ภาษาอังกฤษ) และ Braille Neue Outline (ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น) ขั้นตอนการออกแบบของเขาจะยึดจากโครงสร้างอักษรเบรลล์ที่มีจุดทั้งหมด 6 จุด จากนั้นก็ออกแบบตัวอักษรให้ตรงกับจุดของอักษรเบรลล์ตัวนั้นๆ

ความพิเศษของเจ้า Braille Neue คือ การเป็นฟอนต์ที่มีความ Universal Design ในตัว เพราะดีไซน์มาเพื่อผู้ที่มีสายตาปกติและผู้พิการทางสายตา ซึ่ง Kosuke มีความตั้งใจให้ฟอนต์ที่เขาออกแบบนั้น สามารถนำไปใช้กับพื้นที่สาธารณะต่างๆ และเข้าถึงผู้ใช้ทุกคนได้จริงๆ รวมถึงในงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก ที่จะจัดขึ้นที่โตเกียว ปี 2020 นี้ เขาก็มีเป้าหมายที่จะนำฟอนต์นี้ไปใช้ในงานเช่นกัน

และเมื่อเรามองเห็นฟอนต์ Braille Neue นี้มากขึ้น เราที่มีสายตาปกติ ก็จะเริ่มเข้าใจอักษรเบรลล์ และเริ่มตระหนัก เข้าใจ และเห็นใจผู้พิการทางสายตาเช่นเดียวกัน

Source & Photo Credit
https://rymaneco.co.uk/about.html
www.creativecitizen.com
http://www.homelessfonts.org/
http://brailleneue.com/
www.creativecitizen.com

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.