‘ปากเซ ลาวใต้’ เดินป่าโหนซิปไลน์ ครั้งแรกในชีวิต - Urban Creature

“ถ้าเราเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า” ก่อนสิ้นปีท่อนฮุคเพลงนี้ติดหูเราเหลือเกิน จังหวะพอดีกับอยู่ในเมืองมาทั้งปีก็อยากจะหายตัวเข้าป่าบ้าง ว่ากันว่าธรรมชาติจะเยียวยาทุกสิ่ง หยุดปีใหม่ทั้งทีเราจึงจัดทริปเดินป่าให้สาสม!

เราและเพื่อน 4 คน จัดการบุ๊คแพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน ของ Tree Top Explorer บ้านต้นไม้มีวิวเบื้องหน้าเป็นน้ำตกตาดขมึด และตาดเสือแห่งปากเซ ท่ามกลางขุนเขาดงหัวสาวแดนลาวใต้ จากที่คิดไว้ว่าจะไปพักผ่อนชิลๆ หารู้ไม่ว่าความฟินนี้ต้องแลกด้วยเส้นทางเดินป่ากว่าสิบกิโล โหนสลิงกว่าสิบเส้น โรยตัวลงมาจากน้ำตก ไปจนถึงปีนผา!!

ต้องบอกก่อนว่าทริปนี้เป็นประสบการณ์เดินป่าจริงจังครั้งแรก ยอดเขาที่ว่าสมัครเล่นในไทยก็ยังไม่เคยไป กิจกรรมแอดเวนเจอร์นี่ยิ่งไกลตัว แต่เราเชื่อมั่นในความปลอดภัย ประสบการณ์ของไกด์ และชื่อเสียงของที่นี่ ไหนๆก็ไหนๆเลยขอลองดูซักตั้ง!

Day 1 : ก้าวผ่านความกลัว ไปพบความงาม

การเดินทางวันแรก เรานั่งรถทัวร์กรุงเทพ-อุบลฯ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกว่าจะมาถึงก็เลทมาก จึงรีบต่อรถไปด่านช่องเม็กเพื่อข้ามฝั่งลาวและต่อรถตู้ไปลงปากเซ เพื่อไปยังจุดนัดหมายที่บริษัท Green Discovery ออฟฟิศของ Tree Top Explorer

รถของบริษัทไปส่งเรายังหมู่บ้านหนองหลวง จุดเริ่มต้นในการเดินเท้า พวกเราทานมื้อเที่ยงกันที่นี่ก่อนออกไปผจญภัย กับข้าวที่สตาฟเตรียมไว้เป็นอาหารบ้านๆ อย่างห่อหมกปลา ผักดอง น้ำพริก ไข่ต้ม และข้าวเหนียว ตบท้ายด้วยกล้วยน้ำว้า

หลังจากอิ่มท้องก็ใส่ชุดเซฟตี้ หมวกกันน๊อค พร้อมแบกเป้ขึ้นหลัง รวมๆแล้วหนักหลายโลอยู่ ไกด์จากหมู่บ้านแนะนำตัวเรียบร้อยก็พาเราไปลุยอุทยานแห่งชาติดงหัวสาวกันเลย!

เดินป่ากันมาสองสามชั่วโมง จุดนี้คือขาพับขาอ่อนไปหมด แต่ก็ฝืนตัวเองมายืนที่ชั้นสูงสุดของน้ำตกตาดขมึดจนได้ เราหยุดชื่นชมผืนป่ามองออกไปสุดลูกหูลูกตาซักพัก ก็เจอกับด่านวัดใจด่านแรก นั่นก็คือซิปไลน์ความยาวร้อยกว่าเมตร!!

พอฟังไกด์อธิบายการใช้อุปกรณ์ ค่อยสบายใจได้หน่อยเพราะเป็นเบรกแบบใหม่ แต่ยังไม่ทันได้เตรียมใจพี่แกก็ปล่อยเราโหนสลิงกลางอากาศ โห่ร้องเป็นทาซานผ่านน้ำตกสุดอลัง ส่วนข้างล่างเป็นลำธาร จากความกลัวกลายเป็นความฟิน เส้นแรกผ่านไปตามด้วยเส้นที่ 2,3,4 พาดสลับระหว่างหุบเขาไปจนถึงตีนน้ำตกซึ่งเป็นที่พักของเราอยู่ไกลลิบๆ

ตอนที่โหนสลิงนับสิบเส้น เราก็นึกสงสัยว่าเขาเอาสลิงขึ้นมาขึงบนนี้ได้ยังไง ใครเป็นคนบุกเบิก แล้วตอนสำรวจเส้นทางต้องเสี่ยงอันตรายแค่ไหน เราจึงสอบถามไกด์และสืบรู้มาว่า เจ้าของ Green Discovery ที่เจ๋งระดับโลกนี้ชื่อ ‘พี่อินที’ ผู้ริเริ่มการท่องเที่ยวแบบ Adventure & Eco Tourism ในเขตป่าสงวนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2543

การสร้างที่นี่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างซิปไลน์ที่ต้องยึดสลิงไว้กับต้นไม้สูงหลายสิบเมตร และเดินลุยไปด้านล่างเพื่อรอกสลิงขึ้นต้นไม้อีกฝั่ง ไหนจะต้องแบกไม้จากข้างนอกเข้ามาสร้างที่พักเพื่อไม่เป็นการทำลายธรรมชาติ เรียกว่าต้องมีความบ้าและมุมานะจริงๆ

“นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาอยู่ร่วมกับธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ป่าเมืองลาวที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งสร้างรายได้แก่ชุมชมที่ส่วนใหญ่ทำไร่กาแฟ ให้ได้รับการฝึกฝนจนได้เป็นไกด์ที่มีความเชี่ยวชาญ”

ในที่สุดก็มาถึงแคมป์ทันมื้อเย็นพอดี พวกเรานั่งชมน้ำตกขนาดยักษ์จากระเบียง ฟาดเบียร์ลาวกันไปคนละกระป๋อง การถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทำให้เวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน เลยตั้งวงเล่นไพ่กัน 5-6 คน กับเพื่อนใหม่ชาวสวีเดน  กว่าจะอธิบายกติกากันรู้เรื่องก็ผ่านไปหลายนาที

ได้เวลาซัก 3-4 ทุ่ม พวกเราปีนบันไดขึ้นบ้านต้นไม้อย่างอเนจอนาถ ด้วยความปวดเมื่อยจากการเดินป่ามาครึ่งวัน เก็บข้าวของเสร็จก็นั่งนวดขาทายากันอยู่หน้ามุ้ง โอดครวญเป็นคนแก่ แค่วันแรกก็โหดขนาดนี้แล้ว! รีบเข้านอนเก็บเรี่ยวแรงไว้ลุยต่อพรุ่งนี้

Day 2 : เมื่อร่างกายส่งสัญญาณว่าเกินลิมิต

เช้ารุ่งขึ้นตื่นมาด้วยความสดชื่นเพราะยังไม่รู้ชะตากรรม ช่วงเช้าถึงเที่ยงไกด์พาไปโหนซิปไลน์อีกเส้นทาง ซึ่งเห็นวิวทั้งป่าในมุมมองเดียวกับโดรน เพราะสลิงแต่ละเส้นอยู่สูงและยาวกว่าเดิม! โดยเส้นที่ยาวที่สุดประมาณ 500 เมตร มองไม่เห็นปลายทางกันเลยทีเดียว ใครที่พูดว่าเมื่อวานชิลๆวันนี้มีสั่น ต่อด้วยข้ามสะพานที่ทำจากสลิง ไหนจะต้องเดินป่าออกกำลังขากันอีกรอบ บอกได้คำเดียวว่า หอบค่ะ!!

ส่วนกิจกรรมช่วงบ่ายคือการโรยตัวจากบนสุดของน้ำตกตาดขมึด ซึ่งแน่นอนว่าต้องเดินขึ้นไปยังจุดเริ่มต้นที่เราโหนสลิงลงมาเมื่อวาน ประเมินจากสภาพร่างกายแล้วท่าจะไม่ไหว เลยตัดใจไม่ไปดีกว่า แม้จะเสียดายแต่ต้องเก็บร่างพังๆไว้เดินขึ้นเขาตอนขากลับ

ขณะที่คนอื่นได้ไปต่อ เราก็ไปนั่งเล่นที่น้ำตกใกล้ๆกับแคมป์ ฟังเพลงไปชมสายน้ำไปสุขใจอีกแบบ ไม่นานก็เห็นไกด์เหลือตัวเล็กจิ๋ว โรยตัวลงมาจากด้านบนสูง 70-80 เมตร ตามด้วยกรุ๊ปพวกเราค่อยๆไต่ลงมาทีละคนด้วยความหวาดเสียว จนถึงตีนน้ำตกที่มีสายรุ้งรออยู่ด้านล่าง ช่างเป็นภาพที่สวยสุดยอดจริงๆ สัญญากับตัวเองว่าจะกลับมาให้ได้และเตรียมร่างกายมาให้พร้อมกว่านี้

Last Day : ที่ต้องเอาชนะคือใจตัวเอง

ความทรมานของวันนี้คือการตื่นมาพร้อมอาการร้าวไปทั้งตัว ด้วยกล้ามเนื้อที่ระบมมา 2 วัน ก้าวขึ้น-ลงบันไดยังยาก เงินที่เหลือติดตัวอยู่ 300 บาท จ้างคนแบกกระเป๋าเลยค่ะ ดูแล้วไม่น่ารอด

เป็นไปตามคาด ไกด์บอกว่าเราต้องเดินขึ้นไปบนยอดน้ำตกจนแล้วจนรอด ขามาเราโหนสลิงกันแบบสบายๆ ขากลับนี่สิจะซิปไลน์ต้านแรงโน้มถ่วงก็ไม่ได้แล้ว เหนื่อยไม่พอ ขายังไร้เรี่ยวแรง แถมเจอเซอร์ไพรส์ต้องปีนหน้าผาอย่างไม่มีทางเลือก!

แม้จะแสดงออกว่าไม่กลัว แต่ร่างกายก็ฟ้องจากเหงื่อที่ออกเต็มมือ ทำให้การปีนผายิ่งยากไปกันใหญ่ จุดพีคคือต้องเอาตัวอ้อมผาหินไปอีกฝั่ง และสิ่งที่กังวลก็เกิดขึ้นนั่นคือก้าวพลาด!! วืดจากซอกหินเล็กๆเหลือขาข้างเดียว ยังดีที่พอมีสติดึงตัวเองขึ้นมายืนที่เดิม คาอยู่ตรงนั้นนานพอสมควร เพราะใจตกไปอยู่ตาตุ่มต้องเรียกกลับมาใหม่

“รู้ซึ้งเลยว่าความกลัวนั้นคือสิ่งที่เกิดมาคู่มนุษย์ เพื่อเตือนให้รู้ว่าทางข้างหน้านั้นอันตราย และสิ่งที่จะช่วยเราได้มากที่สุดก็คือควบคุมสติในทุกย่างก้าว เพราะหากรีบร้อนไม่ทันเซฟตัวเองให้ดี ชีวิตก็ขึ้นอยู่กับเราล้วนๆ”

เมื่อปีนขึ้นมาสำเร็จด่านต่อไปก็ไม่กลัวอะไรแล้ว ระยะทางที่เหลือกัดฟันลากขาตัวเองกลับมาถึงหมู่บ้านจนได้ มันเป็นความปลื้มปริ่มอยู่ในอกที่อย่างน้อยได้พิชิตใจตัวเอง ถึงจะยังทำได้ไม่ดีแต่แค่นี้ก็ถือว่าชนะแล้ว

การได้รอยขีดข่วนฟกช้ำกลับมานั้นเหมือนของที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งเคยผ่านสิ่งที่คิดว่าไม่มีทางทำได้ พิสูจน์ขีดจำกัดด้านร่างกายและจิตใจ เป็นจุดเริ่มต้นให้เรากล้าออกไปหาประสบการณ์ในอีกหลายๆทริปที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

เรียกได้ว่าเป็นการเดินทางออกนอก comfort zone ที่เรารอดกลับมาโดยสวัสดิภาพ ด้วยความช่วยเหลือของพี่ๆไกด์ที่เก่ง แถมใจดีคอยฉุดเราลุกขึ้นเวลาท้อ ที่สำคัญต้องขอบคุณตัวเองที่ใจสู้มาก ไม่งั้นคงจะไม่ได้กลับบ้านมาเล่าให้ฟังหรอกนะ!!

Photo Credit: Teeracha Borisut

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.