ถ้าถามถึงแบรนด์ยานยนต์ในใจคนไทย เรามั่นใจว่าคำตอบของหลายคนคือ ‘โตโยต้า’
กว่า 60 ปีแล้วที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้คนไทย และในเดือนธันวาคม 2565 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงถือโอกาสเฉลิมฉลองปีที่ 60 และแสดงความขอบคุณต่อลูกค้า รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในความสำเร็จทุกคนในงาน ‘โตโยต้า ฉลองการดำเนินงานในประเทศไทยครบ 60 ปี’ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นอกจากจะมีเซสชันบนเวทีที่ทุกคนได้พบกับ มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น, มร.โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รวมถึงคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มากล่าวแสดงความยินดี บอกเล่าเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโตโยต้า และเน้นย้ำวิสัยทัศน์กับพันธกิจในอนาคต
งานนี้ยังมีการจัดแสดงรถยนต์รุ่นแรกสุด ไปจนถึงรุ่นใหม่ที่โตโยต้ายังไม่เปิดตัวอีกด้วย คอลัมน์ FYI จึงอยากนำเกร็ดความรู้สนุกๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับโตโยต้า รวมถึงแผนในอนาคตของพวกเขาที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมาบอกต่อกัน
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่พวกเขาตั้งไข่ด้วยการเป็นบริษัทประกอบรถยนต์ที่นำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายจนถึงขั้นเกือบเคยโดนแบนในประเทศไทยเพราะยุคหนึ่งคนไทยแบนทุกอย่างที่มาจากญี่ปุ่น จากนั้นโตโยต้าก็กอบกู้ความน่าเชื่อถือจากลูกค้าชาวไทยมาได้อีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นผลิตสินค้าที่ดีที่สุด จนสามารถตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย และเป็นแบรนด์ที่ผลิตรถยนต์คันแรกที่ออกแบบ พัฒนา และสร้างขึ้นในประเทศไทยทั้งคันได้สำเร็จ ต่อยอดมาจนกลายเป็นแบรนด์ยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในปัจจุบัน
‘มร.โนริอากิ ยามาชิตะ’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผยในงานนี้ว่า โตโยต้าครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 33 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย หากพิจารณาถึงศักยภาพระดับประเทศแล้ว ไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตของโตโยต้าที่มียอดการผลิตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยที่เยอะที่สุดอีกด้วย
หากถอยกลับมาดูภาพรวม อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้นถือว่ายิ่งใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก ส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากถึง 5.6 ล้านคน โดยในจำนวนนั้นมีทั้งพนักงานของโตโยต้า ผู้แทนจำหน่าย ผู้ผลิตชิ้นส่วน และธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกรายแรกในหลากหลายด้านของภูมิภาคอาเซียน เช่น การก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศ การก่อตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนาแห่งแรก และโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่แห่งแรก
มากกว่านั้น โตโยต้ายังเป็นผู้ริเริ่มผลิตรถยนต์ไฮบริด และเป็นบริษัทแรกที่แนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกสู่ตลาดไทยอีกด้วย
คุณโนริอากิเสริมต่อว่า เหตุผลที่โตโยต้าติดคำว่า ‘แห่งแรก’ ไว้ได้เยอะขนาดนี้ เพราะประเทศไทยให้โอกาสพวกเขาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ. 2545 ที่โตโยต้าได้รับมอบหมายให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์สู่ตลาดโลกภายใต้ชื่อโครงการ IMV (Innovative International Multi-Purpose Vehicle) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการผลิตรถรุ่นต่างๆ ในต้นทุนที่ต่ำและมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ภายใต้การบริหารของคุณอากิโอะ โตโยดะ ที่ช่วยผลักดันให้โครงการนี้ผลิตรถเพื่อขายในประเทศและส่งออกได้จริง
อิมแพกต์ของโครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโตโยต้าเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งเพิ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหมาดๆ แถมยังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่เข้มแข็งและสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน
และหากถามว่าแข็งแรงแค่ไหน คุณโนริอากิเล่าความลับที่เราฟังแล้วเซอร์ไพรส์ให้ฟังว่า ในทุกๆ 20 วินาที จะผลิตรถโตโยต้าได้ 1 คันเลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่ฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง แต่โตโยต้ายังเชื่อว่า ธุรกิจจะดีได้ต้องเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบสังคม พวกเขาจึงเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาสังคมและชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยผ่านโครงการต่างๆ ยกตัวอย่างโครงการที่หลายคนอาจคุ้นหูอย่าง ‘โครงการถนนสีขาว’ ที่ได้อบรมผู้คนกว่าแปดหมื่นคนให้ขับขี่อย่างปลอดภัย รวมทั้งการจัดโครงการฝึกอบรมด้านยานยนต์ ซึ่งดำเนินการในวิทยาลัยเทคนิคกว่าร้อยแห่ง
และด้วยแนวคิด Closer to Customers (ใกล้ชิดกับลูกค้า) ที่ยึดถือมาตลอด โตโยต้าได้สร้างประสบการณ์การขับเคลื่อนที่ไร้รอยต่อผ่านแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับยานยนต์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดี สะดวก และปลอดภัย รวมถึงจับมือกับพันธมิตรเพื่อศึกษาหาวิธีการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้คนเข้าถึงประสบการณ์การขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น
มากกว่านั้นคือเป็นมิตรกับโลกที่เราอยู่มากขึ้น อย่างโครงการที่โตโยต้าจับมือกับเมืองพัทยา นำเสนอแนวทางการขนส่งมวลชนใหม่ๆ ให้คนในเมืองและนักท่องเที่ยว โดยได้สนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)
สิ่งนี้ยังสะท้อนวิสัยทัศน์ของโตโยต้าที่อยากสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการมุ่งบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งโตโยต้ามีการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบผ่านแนวทางครบ 360 องศา ทั้งด้วยสินค้า การบริหารจัดการในโรงงาน และระบบการขนส่ง
อย่างในปี 2557 โตโยต้าได้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าว่าจะลดลงอีก 13 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 ผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน และยังมีการตกลงกับรัฐบาลไทยว่าจะตั้งเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573
60 ปีมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าของโตโยต้าที่จะให้ความสุขและสุขภาพที่ดีคงอยู่กับประเทศอันดีงาม และผู้คนในประเทศแห่งนี้
มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ยังเสริมเรื่องอนาคตของโตโยต้าให้ฟังต่อว่า ตอนนี้โตโยต้ายึดถือพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยความท้าทาย 6 ประการในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนและรถยนต์ การรีไซเคิล การจัดส่งสินค้า ไปจนถึงการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้
มากกว่านั้น แบรนด์ยังนับตัวเองเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนที่มุ่งมั่นแนวคิด Multi-Pathway ที่เน้นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายรูปแบบมาตอบโจทย์ผู้ใช้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีฟังก์ชันในการลดการปล่อย CO2 สู่สิ่งแวดล้อมไว้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้ง HICEV ยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน, FCEV ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง, BEV ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่, PHEV ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด, HEV ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และ ICE ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบสันดาปภายใน
เหตุผลที่ต้องผลิตเยอะขนาดนี้ เพราะโตโยต้าเชื่อว่าผู้บริโภคไม่ควรถูกจำกัดกรอบการใช้งานรถเพียงแบบใดแบบหนึ่ง แต่เพื่อจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและทำให้โลกนี้น่าอยู่ร่วมกัน พวกเขาสมควรได้รับตัวเลือกที่หลากหลาย สำคัญที่สุดคือมีความสุขจากการเดินทางกับรถโตโยต้าที่พวกเขาเลือกนั่นเอง
นอกจากนี้ นี่ยังเป็นงานที่โตโยต้าถือโอกาสประกาศโปรเจกต์ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม CP ผลิตยานยนต์รุ่นพิเศษที่ช่วยให้ระบบขนส่งและกระจายสินค้าของ CP นั้นเป็นมิตรต่อโลกมากยิ่งขึ้นอีก ถือเป็นการจับมือกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ที่เราต้องมารอดูกันว่า การร่วมมือนี้จะส่งผลต่อทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไรในอนาคต