The Welfare บอร์ดเกมรัฐสวัสดิการของต้น-เดชรัต - Urban Creature

ภาพคุณพ่อวัย 53 และลูกชายวัย 16 กำลังง่วนอยู่กับการกางสิ่งที่เรียกว่า ‘บอร์ดเกม’ หรือเกมกระดานที่ทำจากกระดาษและวัสดุจับต้องได้บนโต๊ะบริเวณสวนหน้าบ้าน เตะตาฉันเป็นสิ่งแรกเมื่อเดินเข้าสู่รั้วบ้านตระกูล ‘สุขกำเนิด’ เรื่องน่ารักคือคนพ่อบอกฉันว่า บอร์ดเกมทำให้สนิทกับลูกมากขึ้น และคนลูกก็บอกฉันว่า พ่อทำให้เขาสนใจปัญหาบ้านเมืองตั้งแต่เด็ก จนเริ่มหารายได้ด้วยการออกแบบบอร์ดเกมแฝงนัยสังคมครั้งแรกตอน 10 ขวบ

บอร์ดเกมบนโต๊ะที่ทั้งคู่เตรียมมาคุยกับฉันวันนี้ก็เป็นผลงานที่สองพ่อลูกร่วมกันสะท้อนปัญหาสังคมที่คนไทยคุ้นชิน ฉันกวาดสายตามองกองเงินกระดาษละม้ายคล้ายเกมเศรษฐีที่ชอบเล่นตอนเด็กๆ บนโต๊ะ ชวนฉันหวนคิดถึงวันวาน แต่ครั้งนี้กลับแปลกตาเพราะการ์ดบอร์ดเกมตรงหน้า มีการ์ดเสียภาษี การ์ดการซื้อประกัน การ์ดเงินสำรองเลี้ยงชีพ การ์ดการเข้าถึงการศึกษา หรือการ์ดแสดงปัญหาผู้สูงอายุไม่มีรายได้ก็มีให้เห็น

อาจารย์ต้น-เดชรัต สุขกำเนิด และ แดน-แดนไท สุขกำเนิด สองพ่อลูกเจ้าของบ้านยื่นการ์ดเกมให้ฉันก่อนบอกว่าเกมนี้ชื่อว่า The Welfare ที่ทั้งคู่ตั้งใจกะเทาะให้เห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ ไปจนถึงการออกแบบนโยบายรัฐที่เหมาะสมกับประชาชน และหวังให้คนรุ่นพ่อและคนรุ่นลูก เรียนรู้และเข้าใจรัฐสวัสดิการในแบบที่โรงเรียนไม่ได้สอน โดยอยากให้ผู้เล่นได้รับ 3 ข้อกลับไปหลังจากกระโดดสู่เกมกระดาน

1. เพื่อให้คนรวยมองเห็นปัญหาของคนจน ที่ต้องเผชิญความยากลำบากโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ
2. เพื่อให้คนชนชั้นกลางมองเห็นปัญหาการหาเงินกัดฟันสู้ เพื่อเตรียมรับความเสี่ยงที่จะเกิดในชีวิต
3. เพื่อให้ทุกคนจำลองเป็นคนจน และลิ้มรสชาติชีวิตขมๆ ที่แม้แต่การเข้าถึงการศึกษา การมีสุขภาพที่ดี หรือสวัสดิการขั้นพื้นฐานก็ไม่เกิดขึ้นจริงมันเป็นอย่างไร และชวนขบคิดตอนท้ายว่าเพราะอะไรคนจนถึงไม่ได้รับการเยียวยา คนแก้ปัญหาทำไมไม่แก้ และหากแก้ ควรแก้อย่างไร


01 หมากตัวที่หนึ่ง : บอร์ดเกมเชื่อมพ่อลูก

ก่อนจะไปคุยเรื่องบอร์ดเกมแฝงนัยสังคมที่ฉันสนใจ ฉันชวนคู่พ่อ-ลูกคุยเรื่องชีวิตทั่วไปของพวกเขาเป็นอันดับแรก เพราะเห็นว่าลมกำลังดี แสงกำลังสวย คำถามสบายๆ น่าจะช่วยผ่อนคลายในยามบ่ายแก่ๆ ได้บ้าง “คุณพ่อ-คุณลูก สนิทกันมากน้อยแค่ไหน” คือประโยคที่ฉันถาม

อาจารย์ต้นเผลอหัวเราะเล็กน้อยแล้วบอกฉันว่า ถ้าให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างเขาแปลงความสนิทเป็นตัวเลข คงไม่รู้จะใช้สูตรคณิตศาสตร์อะไรดี แต่ความสนิทของพวกเขาตอนนี้ขอจัดอยู่ในเลเวลที่คุยกันได้หลายเรื่อง และเพิ่งจะมาสนิทกันในช่วง 6 ปีหลัง

“เมื่อก่อนตอนผมทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผมไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกเลยตั้งแต่เล็กๆ วิธีการที่ทำให้ผมมีเวลากับครอบครัวมันอาจจะดูซีเรียสหน่อย (หัวเราะ) คืองานไหนที่ผมไปบรรยาย เช่น ไปดูงานเกษตรกรที่ต่างจังหวัดว่าคุณภาพชีวิตเขาเป็นอย่างไร ก็จะพาแดนไปด้วย และหยิบประเด็นที่เราไปเจอมาล้อมวงคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้างวันนี้ เห็นอะไร วิธีการจัดการของเกษตรเวิร์กไหม ไม่งั้นก็คงไม่ค่อยได้เจอกัน

“แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แดนมาบอกผมว่า ชอบเล่นบอร์ดเกม ขอออกจากโรงเรียนมาเรียนแบบ Home School แทน เพราะอยากจะใช้เวลาในการออกแบบบอร์ดเกมอย่างจริงจัง ไอ้เราที่ไม่รู้มาก่อนว่าเกมคืออะไรด้วยซ้ำ แถมลูกมาขอลาออก ก็เลยเหวอๆ ไปเลย แต่พอตั้งสติแล้วไปหาความรู้ทั้งเรื่อง Home School และบอร์ดเกม ก็พบว่าสิ่งที่แดนไทอยากเรียนเนื้อหาไม่ต่างจาก รร.สามัญ แค่เปลี่ยนวิธีการเรียน และบอร์ดเกมก็น่าสนุกแถมหารายได้ได้ด้วย เลยลองให้เขาทำตามความฝันดูสักตั้ง

“แน่นอน ผมตัดสินใจถูก เพราะบอร์ดเกมทำให้เราสนิทกัน”

รอยยิ้มบนใบหน้าของอาจารย์ต้นไม่เจื่อนลงแม้แต่น้อยขณะอธิบายให้ฉันฟัง เขาเสริมต่อว่าหลักการกระชับความสัมพันธ์ของเขาคือการพยายามเรียนรู้สิ่งที่ลูกเป็น ถ้าลูกชอบอะไรต้องเรียนรู้ไปกับเขา เขาเล่นอะไรก็จะไปเล่นตาม เพื่อจูนโลกของคนสองรุ่นให้เข้ากัน แต่ปรากฏว่าอาจารย์ต้นโดนบอร์ดเกมตกซะงั้น! รู้ตัวอีกทีก็ชอบตามลูกไปแล้ว

“บอร์ดเกมมีความเป็นเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วว่าเราจะต้องบริหารจัดการอย่างไร เชิงกลยุทธ์เราควรจะทำอย่างไร ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์ด้วย พอเราเห็นเกมบางเกม เราเลยคิดว่ามันใช้ตอบโจทย์ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้”

แดนไท นอกจากจะได้สมญานามว่าเป็นผู้ป้ายยาพ่อให้ชอบบอร์ดเกมแล้ว (ฟังดูน่ารักเชียว) ยังเป็นนักเรียนจากสถาบันการศึกษาทางไกล หรือการศึกษานอกระบบ ถ้าเทียบเท่าเด็กสายสามัญ ตอนนี้เขาอยู่ ม.5 แต่เวลาในการใช้ชีวิตกลับมีมากกว่าเด็กทั่วไปหลายเท่าตัว เพราะจากต้องเรียนปีการศึกษาละ 6 เดือน เขาเรียนเพียง 3 เดือน เวลาอีกครึ่งคือเวลาพัฒนาบอร์ดเกม

“ตอนประถมฯ ผมเรียนโรงเรียนปกติ และเรียนโอเคในหลายๆ วิชา แต่หลักๆ ที่เลือกย้ายมาเรียน Home School เพราะผมอยากเรียนรู้ด้วยวิธีของตัวเอง ไม่ต้องทำตามที่โรงเรียนกำหนด เช่น ต้องอ่านหนังสือตอนนี้นะ โครงงานต้องทำแบบนี้เท่านั้น การเรียนที่บ้านมันทำให้เรามีเวลาว่างเพิ่มขึ้นในการออกแบบบอร์ดเกม หรือหากิจกรรมพัฒนาตัวเองได้”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้แดนอยากเอาจริงเอาจังในการทำบอร์ดเกมเป็นอาชีพ เริ่มมาจากตอนประถมฯ เขาได้เข้าชมรมบอร์ดเกม และได้ลองออกแบบเนื้อเรื่องของบอร์ดเกมของตัวเองดู หลังจากนั้นเขาก็เล่นบอร์ดเกมอย่างจริงจัง จนเริ่มวางมือจากเกมออนไลน์ที่เคยชอบ และหันมาศึกษากระบวนการออกแบบบอร์ดเกมด้วยตัวเองตั้งแต่นั้นมา

“ที่ผมคลั่งไคล้บอร์ดเกม เพราะผมมองว่ามันมีเสน่ห์และเป็นกิจกรรมไม่กี่อย่างที่ทำให้เห็นคนจำนวนเยอะๆ เห็นภาพและมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องนั้นๆ ที่เราตั้งใจจะสื่อพร้อมกัน อย่างการที่ผมได้ไปฟังบรรยายกับพ่อเรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ก็ทำให้ย้อนมาดูชีวิตตัวเองแล้วก็พบว่า จริงๆ เราก็เจอปัญหาต่างๆ อยู่รอบตัวนี่หว่า และมันแก้ให้ดีกว่านี้ได้ บอร์ดเกมของผมเลยต้องตอบโจทย์ให้คนมองเห็นปัญหาที่มองข้ามกันไป” แดนตอบฉันพร้อมรอยยิ้ม

หากเปรียบเทียบกระบวนการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกับบอร์ดเกม อาจารย์ต้นเสริมแดนว่าการทำละครก็คล้าย แต่มันต่างที่บอร์ดเกม ผู้เล่นสามารถเลือกแก้ไขปัญหาตรงหน้าเอง แต่ละครมีผู้กำกับวางบทไว้ให้แล้ว ละครทำได้เพียงสื่อสารเชิงลึกในปัญหาชีวิตของใครบางคน แต่บอร์ดเกมคือการสื่อสารภาพรวม ที่ผู้เล่นแต่ละคนได้ลองเป็นตัวละครนั้นๆ และลองช่วยกันระดมความคิดว่าทางออกแบบไหนที่ยอมรับได้ และยอมรับไม่ได้

ปัจจุบันแดนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบบอร์ดเกมในนามกลุ่ม Deschooling Game ที่มีอายุน้อยที่สุด ร่วมกับพี่ๆ วัย 30 อย่าง เทอร์โบ-วรุตม์ นิมิตยนต์ และ เอ็ก-พีรัช ษรานุรักษ์ โดยแดนหารายได้ในการออกแบบบอร์ดเกมเองครั้งแรกตอนอายุ 10 ขวบ ในเกม Yellow Cards ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จับปลาเกินขนาดที่ EU (สหภาพยุโรป) ให้ใบเหลือง IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 58 ซึ่งแดนสร้างสถานการณ์ให้ผู้เล่นจำลองเป็นชาวประมงว่า การจับปลาเกินขนาดมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะต่อรองอย่างไรให้ไม่เกิดการจับปลาเกินขนาด โดยที่ผลประโยชน์ส่วนรวมก็ยังอยู่


02 หมากตัวที่สอง : ย่อรัฐสวัสดิการลงบนบอร์ดเกม

“ถ้ารัฐสวัสดิการดี คนไทยจะได้วัคซีนป้องกันโควิด โดยไม่ต้องระดมทุนคนละ 500 บาท แล้วเงิน 500 ล้านบาท ทำไมรัฐบาลไม่จัดหามาให้ประชาชน ขอประชาชนทำไม ในเมื่อเงินไม่ได้จำนวนเยอะถ้าเทียบกับการใช้จ่ายอื่นๆ ที่รัฐบาลเคยเสีย”

หลังจากฟังที่อาจารย์ต้นพูด ในหัวฉันนึกออกเร็วๆ ว่าสิ่งที่แพงกว่าค่าวัคซีนโควิดคงเป็นเรือดำน้ำคันละหลายหมื่นล้านบาท ทำไมรัฐบาลถึงจ่ายได้ แต่ประชาชนบางคนกลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ ในการที่ไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งอาจารย์ต้นอธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า ถ้าพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศไทย จะไม่ค่อยมีใครมีโอกาสจำลองประสบการณ์หรือเหตุการณ์กันสักเท่าไหร่ ในโรงเรียนก็ไม่ได้สอน คนมีฐานะบางคนก็ไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องใส่ใจ กลายเป็นว่าคนไทยอาจได้ขบคิดเรื่องรัฐสวัสดิการผ่านประสบการณ์เล็กๆ แทน ที่อาจชวนให้คิดได้บ้าง คิดไม่ได้บ้าง เช่น การดูละครสักเรื่องบนหน้าจอทีวี หากตัวเอกคนใดมีฐานะยากจน แล้วป่วย คนดูก็อาจคิดได้ว่าทางเลือกมันแทบไม่มีเลย เดือดร้อนไปหมด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อาจารย์ต้นกับแดนอยากทำเกมที่สร้างประสบการณ์ให้คนได้เห็นชีวิตของคนที่เดือดร้อนดู

เกม The Welfare เกิดมาจากโจทย์ที่อยากให้คนเข้าใจระบบรัฐสวัสดิการว่ามันมีความจำเป็น ที่สำคัญกว่านั้น รัฐสวัสดิการมันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร นอกเหนือจากที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยแล้ว ยังเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลควรเปิดเวทีฟังเสียงความทุกข์ยากของประชาชนในหลายๆ พื้นที่อีกด้วย

วิธีการเล่น แบ่งเป็น 3 รอบ รอบแรกเริ่มจากการแบ่ง 5 กลุ่ม จาก 10 ผู้เล่น แต่ละกลุ่มจะได้เงินไม่เท่ากัน อาจได้ 10 บาท 20 บาท 30 บาท 50 บาท หรือ 100 บาท หลังจากนั้นต้องเอาเงินของตัวเองไปซื้อหลักประกันชีวิต คนที่มีเงินจะมีสิทธิ์ซื้อ คนที่ไม่มีเงินพอจะไม่มีสิทธิ์ และเริ่มเปิดการ์ดแต่ละใบของทีมตัวเองไปเรื่อยๆ คนที่เปิดเจอความเสี่ยงจะถูกหักเงินตามที่การ์ดกำหนด ส่วนใครเงินไม่พอจะถูกติดลบ (ก็คือเป็นหนี้) เมื่อผ่านรอบแรกไป รอบที่สองและรอบที่สามจะมีการ์ดให้เลือกเพิ่มคือการ์ดภาษี จะซื้อประกันแบบเดิมก็ได้ หรือคนรวยอาจจะช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน ด้วยการจ่ายภาษีแทนคนจน ซึ่งทุกคนจะได้รับการป้องกันหมด เช่น ถ้าคนรวยลงเงินเรื่องการจ้างงานครบ ใครเปิดเจอเรื่องตกงานก็มีประกันการจ้างงาน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนจ่ายภาษีหรือไม่ก็ตาม

“มีผู้เล่นบางคนใช้วิธีแบบลงขัน มาคุยกันเลยว่าควรเก็บภาษีคนรวยกี่เปอร์เซ็นต์ คนจนกี่เปอร์เซ็นต์ เก็บเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดการสมดุล เพราะยิ่งเราเปิดการ์ดไปเรื่อยๆ เราจะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำว่า โห คนรวยก็รวยจัง คนจนทำไมชีวิตเขาเป็นแบบนี้นะ” อาจารย์ต้นกล่าว


03 หมากตัวสุดท้าย : ชะตาชีวิตที่ (ต้องไม่) ไร้รัฐสวัสดิการ

แดนหันมาบอกฉันว่าจุดสำคัญในการออกแบบเกมที่เป็น Key Message ที่อยากให้ผู้เล่นเกมได้คืออยากจำลองการเปิดการ์ดเป็นชีวิตคนที่ออกไปทำงานในแต่ละวัน เปิดมาวันแรกบางคนอาจเจอรายได้ หรือบางคนอาจเจอความเสี่ยงในชีวิต ที่ผู้เล่นสามารถหยุดเปิดได้ แต่ความใจร้ายของโลกคือถ้าหยุดเปิดหรือหยุดใช้ชีวิตก็อาจมีเงินเพียง 2 บาทติดตัว นั่นทำให้คนส่วนใหญ่ที่เล่นเกมนี้อยากเปิดต่อเพราะอยากได้เงิน แต่พอเปิดต่อก็อาจเจอการ์ดป่วยที่ทำให้เงินต้องติดลบ เจอภาวะตกงาน ลูกที่เป็นเด็กเล็กมีพัฒนาการช้า หรือญาติที่เป็นผู้สูงอายุไม่มีรายได้ ซึ่งการ์ดเหล่านี้ก็กลายเป็นกลไกเกมที่สะท้อนว่าคนจนไม่ได้อะไรเลย

ส่วนการเปิดการ์ดเพื่อซื้อประกันในระบบเอกชน ก็สะท้อนระบบคนรวย ที่ถ้ามีเงินสำรองเลี้ยงชีพ ใครๆ ก็ซื้อได้ และมีสิทธิ์เข้าถึงความปลอดภัยได้ก่อน เหมือนกับชีวิตนี้ปูทางให้คนมีเงินเท่านั้น

“ประเทศไทยเต็มไปด้วยคนที่มีฐานะการเงินไม่เท่ากัน คนมีเงิน 10 บาท ซื้อได้อย่างเดียว ก็หมดตัวแล้ว แต่ความเสี่ยงในชีวิตพวกเขาก็ยังต้องเจอ ซึ่งเจอแล้วอย่างไรต่อ ถ้าไม่มีคนช่วย เขาก็ต้องลำบากถึงตาย” อาจารย์ต้นเสริมแดน

ในความเป็นจริง ภาษีทางตรงอย่างภาษีรายได้ ภาษีทรัพย์สิน มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่จ่ายตามฐานะ แต่อีก 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นภาษีทางอ้อม ที่จะรวยจะจนต้องจ่ายเท่ากัน ซื้ออะไรก็ต้องเสีย 7% ตัวอย่างหนึ่งในเกมที่ทำให้เห็นคือ ผู้เล่นสามารถออกแบบการกำหนดภาษีที่แตกต่างกันเพื่อช่วยคน แต่ทำไมในชีวิตจริงสิ่งนี้ถึงยังไม่เกิด

“จุดสำคัญอยู่ที่ว่าพอเราเล่น รอบที่ 2 บางกลุ่มก็เกิดรัฐสวัสดิการเลย บางกลุ่มก็ยังไม่สำเร็จ อาจสำเร็จบางด้าน คนที่เหลือที่เสี่ยงด้านอื่นๆ ยังต้องเจอความเสี่ยง พอรอบที่ 3 เมื่อสำเร็จแล้ว เราก็จะมาขึ้นรายได้ของแต่ละคน เพื่อคำนวณยอดโดยรวมว่าคือเท่าไหร่ ซึ่งมันคือ GDP ของประเทศ

“เราจะแสดงให้เห็นว่าพอมีรัฐสวัสดิการแล้ว GDP ของประเทศมันเพิ่มขึ้นนะ เพราะทุกคนไม่มีความเสี่ยง ทุกคนได้ลุยหารายได้อย่างเต็มที่” สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในประการสุดท้ายของเกมที่อาจารย์ต้นและแดนบอกฉันพร้อมกัน

ระหว่างกดหยุดบันทึกเทปสัมภาษณ์ อาจารย์ต้นทิ้งท้ายกับฉันไว้ว่า คนส่วนใหญ่เวลาพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ จะคิดว่ามันคือการช่วยคนจน แง่หนึ่งมันก็ถูก แต่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่แค่ช่วยคนจน แต่เป็นการช่วยทุกคน ในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ

ทุกคนจะสามารถทำอาชีพต่างๆ ตามความสามารถโดยไม่ต้องเป็นข้าราชการ เพื่อเฟ้นหารัฐสวัสดิการที่ดี และทุกคนจะสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา เข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่างมีคุณภาพ เข้าถึงการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย

และนี่คือรัฐสวัสดิการที่เราทุกคนควรได้รับ

บอร์ดเกมสำหรับอาจารย์ต้นและแดนคือการจำลองประสบการณ์เป็นคนคนนั้นที่เราอาจไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งคนจนแสนยากลำบาก หรือคนรวยเฉียดฟ้า แต่สิ่งสำคัญหลังเล่นจบจะพบว่า ‘บอร์ดเกม’ จะเป็นพลังให้คนในสังคมตั้งคำถามต่อเพื่อนร่วมโลกและผลักดันการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นจริงได้ในสักวัน

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.