ในบรรดาธุรกิจที่พูดแล้วโรแมนติกที่สุด สุนทรีย์ที่สุด ช่างดูมีความหมายต่อชีวิตและสังคม จะไม่มี ‘ธุรกิจร้านหนังสือ’ คงไม่ได้
ทว่าเบื้องหลังภาพโรแมนติกเหล่านั้น หากมองด้วยเลนส์การทำธุรกิจที่ต้องค้าขาย เกิดการซื้อมา-ขายไป คงปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านหนังสือก็คืออาชีพหนึ่งที่ดำรงภายใต้กฎที่ดิน แรงงาน และทุน เหมือนธุรกิจอื่นๆ
The Booksmith คือร้านหนังสือต่างประเทศที่ก่อตั้งโดย ‘สิโรตม์ จิระประยูร’ ซึ่งกำลังย่างก้าวสู่ขวบปีสิบปีที่สองของธุรกิจในปีนี้ นั่นแปลว่าเขาทำร้านหนังสือมาแล้วกว่าสิบปี และเชื่อหรือไม่ว่าบริษัทเพิ่งมาขาดทุนก็เมื่อปี 2020 ที่เจอโควิด-19 นี่เอง
อาจเพราะเคยมีประสบการณ์การทำงานที่บริษัทเอเซียบุ๊คส์มาอย่างยาวนาน บวกกับการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในแวดวงธุรกิจหนังสือและการอ่านอยู่เสมอ ทำให้สิโรตม์บริหาร The Booksmith มาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายอาณาจักรการอ่านจาก The Booksmith ที่เชียงใหม่ไปสู่สาขาที่สอง สาม สี่ ได้แก่ ร้านจำหน่ายนิตยสารต่างประเทศ The Papersmith ที่กรุงเทพฯ ร้าน The Booksmith ที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินเชียงใหม่ ไปจนถึงการคอลแลบกับร้านหนังสือเชนสโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ ก่อนจะตัดสินใจหยุดทำ เหลือแค่ 4 สาขาแรกที่กล่าวไปเท่านั้น โดยขอปิดทำการร้าน The Papersmith ชั่วคราวจากผลกระทบโควิด-19 เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เนื่องจากมีการทบทวนถึงธุรกิจอยู่เรื่อยๆ ทำให้สิโรตม์มักเลือกตัดบางอย่าง และขยายบางส่วน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทุกวันนี้ธุรกิจของ The Booksmith จึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ หน้าร้าน ค้าส่ง และเว็บสโตร์ ด้วยการทำกิจการแบบ Self-Funding Company (อาศัยเงินหมุนเวียนภายใน)
“โครงสร้างธุรกิจร้านของ The Booksmith เหมือน Iceberg หลายคนอาจคุ้นชินกับหน้าร้านเพราะมองเห็นได้ แต่สิ่งที่อยู่ข้างใต้การทำยังไงให้คนมาพึ่งเรา ค้าส่งกับร้านค้าออนไลน์คือพลังขับเคลื่อนนั้น”
ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็บอกว่าธุรกิจร้านหนังสือโดน Disrupt หมดแล้ว เราใช้โอกาสนี้ นัดหมายสนทนากับสิโรตม์ถึงแง่มุมการทำธุรกิจร้านหนังสือให้ยั่งยืน ไปจนถึงเบื้องหลังการบริหารจัดการความเสี่ยงและบทเรียนหลังจากทำธุรกิจนี้มาสิบกว่าปี เขาทำยังไงให้ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้เป็นร้านหนังสือที่เล็กแต่พริกขี้หนูได้ ขอชวนไปสำรวจภูเขาน้ำแข็งของ The Booksmith ในบรรทัดต่อไปนี้
อะไรทำให้คุณตัดสินใจเปิดร้านหนังสือของตัวเอง
เราเริ่มทำร้านหนังสือเมื่อปี 2012 เพราะตั้งต้นจาก Combination ของสถานที่ เวลา และจังหวะที่มันลงตัวกันพอดีในเวลา 15 นาที ก่อนหน้านั้นผมทำงานเป็นคณะกรรมการที่เอเซียบุ๊คส์อยู่ 8 ปี แต่ด้วยการตัดสินใจปุ๊บปั๊บใน 15 นาทีทำให้ผมลาออกมาเปิดร้านหนังสือ
เกิดอะไรขึ้นใน 15 นาทีนั้น
ต้องเรียนก่อนว่า 15 นาทีนั้นจะไม่เกิดเลยถ้าเราไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน ผมเปิดร้านหนังสือตอนอยู่เอเซียบุ๊คส์ประมาณ 70 สาขา เพราะฉะนั้นเรามีฟอร์แมตของ Feed อยู่ในหัว รู้ว่าจริงๆ แล้วมีปัจจัยสำคัญอยู่แค่ไม่กี่ตัว ได้แก่ ค่าเช่า ในแง่ของค่าใช้จ่าย เมื่อได้ยอดค่าเช่ามาแล้วจะดีดกลับมาว่าเราต้องการยอดขายเท่าไหร่ เพื่อให้ได้กำไรและอยู่ได้ จากนั้นพอรู้ว่ายอดขายต้องเท่าไหร่ก็ดีดกลับไปว่าเราต้องมีสต็อกเท่าไหร่ดี มีฟอร์แมตอยู่แค่นี้
จากประสบการณ์ที่ทำงานมา เรารู้ว่าพื้นที่ที่ Feed เหมาะที่สุดคือไม่เกิน 100 ตารางเมตร และมีขนาดสต็อกเท่าไหร่ ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องลงทุนกับสองส่วนหลักคือ ส่วนตกแต่งกับสต็อก รวมถึงต้อง Turnover (การหมุนเวียนการซื้อขาย) ได้กี่รอบ หมายถึงว่าเรามีช่วงเครดิตอยู่ 150 วัน ถ้าเราวางหนังสือแล้วขายได้เลยแปลว่าเราเทิร์นแล้ว 1 รอบ แล้วสิ่งที่เราได้จากตรงนั้นหักต้นทุนแล้วเหลือกำไรที่ได้จากหนังสือเล่มนั้น เราเอาไปเทิร์นอะไรมาขายอีก แล้วเทิร์นได้กี่รอบก่อนที่ดีล ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
ตอนนั้นเดินเข้าไปในสเปซที่มีพื้นที่อยู่ 30 ตารางเมตร เราลองเคาะผนังเลยรู้ว่าเป็นผนังเบา ก็คุยโทรศัพท์กับเจ้าของไปด้วยว่าขยายพื้นที่ได้ไหม ก็ได้ขยายเป็น 45 ตารางเมตร ซึ่งเป็น 45 ตารางเมตรที่ขนานถนนใหญ่ของนิมมานฯ บวกกับกลับมาคิดถึงค่าเช่าต่อตารางเมตรแล้วเทียบได้เป็น 1 ใน 4 ของราคาตลาด ประกอบกับขนาดได้ด้วย เราก็คำนวณค่าใช้จ่ายต่อตารางเมตร โดยรวมว่าถ้าตัดพื้นที่เป็นทางเข้า สต็อก และอื่นๆ ไปแล้วสุดท้ายเราต้องลงทุนเท่าไหร่
นี่คือทั้งหมดในหัวที่คุณคำนวณตอนนั้นเหรอ
ใช่ (หัวเราะ) โชคดีที่มันไม่ใช่การตกแต่งตามมาตรฐานร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้า เพราะฉะนั้นมันแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะถ้าเราเข้าใจคาแรกเตอร์หนังสือ หนังสือจะประดับตกแต่งด้วยตัวมันเอง เราเลยใช้เงินก้อนแรกในการทำร้านที่สองแสนกว่าบาท ร้านยุคแรกเราไม่ได้ทาสีด้วยซ้ำ
หลังจากนั้นพอรู้การลงทุนแล้ว เราก็ต้องคำนวณว่าต้องขายเท่าไหร่ โจทย์คืออะไร Fixed Cost ที่เรารู้อยู่แล้วคือค่าเช่า แต่ที่ไม่รู้คือค่าไฟ แต่คิดว่าไม่น่าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่าหรอก ก็คิดในหัวที่ Maximum ว่าชั่วโมงที่เราจะขายได้จริงๆ มีกี่ชั่วโมง แล้วมาดีดลูกคิดลดทอนให้มันได้ยอดที่เป็นไปได้ในหัว เพราะถ้าคุณเปิดร้านมาบ่อยๆ มันขอแค่ปัจจัยสำคัญอย่างค่าเช่า แล้วจะรู้เลยว่ากำไรหรือขาดทุน
เราทำร้านมาทุกฟอร์แมตแล้วตั้งแต่เล็กสุด 20 ตารางเมตรจนถึงใหญ่สุด 945 ตารางเมตร เรารู้ว่าฟอร์แมตที่กำลังทำอยู่นี้ทำกำไรเร็วมาก ลงทุนน้อย เทิร์นสินค้าเร็ว ดังนั้น พอคุยกับเจ้าของที่ ดีดลูกคิดคำนวณในหัวจบ ก็ตกลงเช่าที่เขาใน 15 นาที
แล้วอะไรทำให้คุณย้ายไปอยู่ทำเลปัจจุบัน
เจ้าของเก่าขายตึกไป พอเจ้าของใหม่มาซื้อก็รีโนเวตและคิดค่าเช่าที่สูงขึ้นมาก เราเลยย้ายออกมาหลังเปิดร้านได้ 6 ปี ตอนแรกลูกสาวคุณตัน ภาสกรนที ชวนไปอยู่ในนิมมานฯ ได้ 3 ปี เราก็คิดว่าคาแรกเตอร์ของร้านหนังสือไม่น่าเหมาะกับห้างสรรพสินค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ เลยย้ายมาที่ซอย 5 ที่ต้องเข้าซอยไปนิดหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้พื้นที่ 90 ตารางเมตร ค่าเช่าถูกกว่าเดิม มีที่จอดรถหน้าร้านเป็นสิบคัน พอได้ทำเลตรงนี้มาเราเลยตัดสินใจปิดในสิ่งที่เคยคิดว่ามันทำกำไร
The Papersmith ที่เกษรฯ นี่กำไรมาตลอด แต่สัญญาจะหมด แล้วถ้าต้องเซ็นสัญญาตอนนี้ที่ค่าใช้จ่ายสูงๆ มันไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาดี 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมเมื่อไหร่ ถ้าเราเซ็นสัญญาไป แปลว่าเราต้องแบกค่าใช้จ่ายปีครึ่งหรือสองปี โดยที่รายได้ไม่การันตีให้เราเลย
นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงปิดสาขาที่เกษรฯ เพราะไม่ต้องการเสี่ยงในสิ่งที่คอนโทรลไม่ได้ ส่วนที่ยังเปิดสาขาสนามบินอยู่ เพราะสนามบินบอกว่าเราไม่ต้องจ่ายค่าเช่าจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2566 ตามมติของการท่าอากาศยาน เราถึงยังอยู่ได้ มันต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายกับรายได้ เพราะยังไงร้านหนังสือก็คือธุรกิจอยู่ดี
เหมือนที่คุณเคยบอกว่าร้านหนังสือเป็นธุรกิจภายใต้กฎที่ดิน แรงงาน ทุน
ต้องเอาหมวกความรู้สึก Good Feeling ของการเป็นเจ้าของร้านหนังสือออกไปก่อน สำหรับผม มันคือธุรกิจแบบหนึ่งที่ทำเพื่อให้เราดำรงชีวิตอยู่ เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เราไม่ได้อยากทำร้านหนังสือแล้วมีความสุขแต่ขาดทุน เพราะธุรกิจนี้คือการเอาเงินไปเปลี่ยนเป็นกระดาษ ต้องทำยังไงก็ได้ให้เปลี่ยนกระดาษมาเป็นเงิน ดังนั้น ต้องรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร อย่างผมถนัด Art and Design ก็ขายหนังสือเน้นไปทางนี้เลย เพื่อตีตลาด Niche ที่เล่นอยู่ พอเราตัวเล็ก กินนิดเดียวก็อิ่มแล้ว ถามว่าอยากขายได้เป็นสิบล้าน ก็อยาก แต่ถ้าต้องแลกมาด้วยการที่ต้องเอาเงินก้อนมหึมาไปเปลี่ยนเป็นสต็อกเพื่อขาย เรายังไม่อยากไปถึงขั้นนั้น
ช่วงแรกที่เราเปิดร้าน รู้สึกภูมิใจที่เห็นหนังสือบนชั้น แต่พอผ่านไปสักพักก็เกิดความรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะขายออกสักที เพราะนั่นแปลว่าเราจะได้เงินกลับมา เพราะฉะนั้นถ้าใครมาถามเรื่องการทำธุรกิจร้านหนังสือ ผมจะบอกเลยว่าผมไม่โรแมนติไซซ์การทำร้านหนังสือขนาดนั้น ผมมองมันเป็นอาชีพและธุรกิจ ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา ผมจะคุมสต็อกตลอด เพราะจากประสบการณ์ธุรกิจหนังสือมัน Make or Break จากสต็อก กฎของร้านจึงเป็น ‘หนึ่งเล่มเข้าหนึ่งเล่มออก’
ก่อนช่วงโควิด-19 สต็อกเทิร์นร้านเราอยู่ที่เดือนกว่าๆ หมายถึงว่าหนังสือทั้งร้านขายหมดร้านอยู่ได้อีกเดือนกว่า เพราะผมไม่ได้ทุ่มอัดเข้าไป เพราะถ้าสต็อกเยอะเมื่อไหร่เงินจะจม ผมถึงไม่มีคลัง ทุกอย่างอยู่บนชั้น หนังสือเล่มไหนหมดแล้วค่อยสั่งใหม่
หลายคนคุ้นเคยกับ The Booksmith ที่เป็นหน้าร้าน แต่ที่จริงแล้วคุณยังทำค้าส่งและเว็บสโตร์ด้วย
เรากำหนดโครงสร้างธุรกิจของ The Booksmith ไว้ว่าอยากให้เป็นกำแพง หมายถึงให้คนพึ่งเรา เปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็ง หน้าร้านคือยอดน้ำแข็งที่คนมองเห็น แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจจริงๆ คือน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่อย่างค้าส่งกับร้านออนไลน์
ส่วนหน้าร้านเป็นการทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น เหมือนเป็น PR ว่าเราถนัดอะไร แต่ส่วนของค้าส่ง ด้วยความที่เรามีคอนเนกชันของหลายๆ สำนักพิมพ์ในต่างประเทศ ทำให้เราได้รับอนุญาตเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือในประเทศแถบอินโดจีน ประกอบกับช่วงโควิด-19 เราได้ทดลองรับสั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์โดยตรงให้ร้านหนังสือในไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แล้วผลมันออกมาดีเกินคาด ทั้งกับผมเองและร้านหนังสือที่ได้กำไรมากขึ้นกว่าการสั่งเอง
นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนนี้ยังเปิดโอกาสให้เราได้ทำเซอร์วิสที่สร้างรายได้มากขึ้น เช่น ออกแบบและจัดหนังสือเข้าห้องสมุดสถาบันการศึกษา เป็นที่ปรึกษาด้านหนังสือต่างประเทศให้แก่บางกิจการและหน่วยงาน หรือกระทั่งดีลกับร้านหนังสือต่างประเทศยักษ์ใหญ่แทนนักเขียนที่ต้องการวางขายหนังสือของตัวเองในร้านหนังสือแห่งนี้ เพียงแต่เราก็ไม่ต้องใส่โลโก้หรือออกตัวว่าเราทำ เพราะก็ลูกค้าเราทั้งนั้น
ส่วนสุดท้ายเกิดขึ้นเพราะด้วยความที่สิบปีมานี้ เราปากกัดตีนถีบมาตลอด ทำยังไงที่เราจะวางรากฐานใหม่ให้ตัวเราที่อายุมากขึ้น มีกำลังวังชาไม่เท่าเมื่อก่อน ได้ทำงานต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้อีกแล้ว คำตอบคือเราปิดบางส่วนไป แล้วสร้างทรัพย์สินที่เราคอนโทรลเองได้ นี่เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงทำเว็บไซต์สโตร์ ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เราก็วางแผนมาตลอดว่าจะทำยังไงให้พึ่งพาโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นช่องทางขายหนังสือให้น้อยที่สุด แล้วปรับให้เป็นแค่ช่องทางสื่อสารเท่านั้น เพราะการมีเว็บไซต์สโตร์จะทำให้ลูกค้าเข้ามาดูหนังสือในร้านเราได้ทั้งหมด ตอนนี้เลยพยายามพัฒนาเว็บไซต์ให้ยั่งยืน
ทำไมถึงยังทำร้านหนังสืออยู่
หลักๆ คือผมขายหนังสือมาหลายสิบปี และเรารู้สึกว่าธุรกิจนี้มันหลอกกันไม่ได้ เล่มไหนดี-ไม่ดีคนอ่านเขาตอบได้เอง ประกอบกับวัฒนธรรมของการทำธุรกิจหนังสือ ผมดีลหนังสือต่างประเทศเป็นหลัก รู้จักสำนักพิมพ์จนเหมือนเพื่อนกัน เวลาเราไปงานที่ลอนดอนหรือแฟรงก์เฟิร์ตก็นั่งคุยกันถามสารทุกข์สุกดิบ มันเป็นคาแรกเตอร์อาชีพที่ง้อคนน้อย เพราะเขาเลือกกันเองได้
ส่วนถ้าคิดในมุมธุรกิจ ผมเลือกทำขายปลีกเพราะทุกสิ้นวันจะมีเสียงแจ้งเตือนยอดเงินที่ได้รับของแต่ละสาขา แล้วมันเป็นเงินสด วันไหนขายดีมากๆ ก็หลับสบายมีความสุข แต่วันต่อไปก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ยิ่งพอมีโควิด-19 มันสอนให้เรารู้ว่าหกโมงเย็นก็ปิดร้านได้แล้ว (หัวเราะ) ต้องอาศัยการบาลานซ์พอสมควร แล้วจากเดิมที่เราได้กำไรมาตลอดด้วยการใช้เงินที่ได้จากการทำธุรกิจมาหมุนเวียนบริษัท เรามาขาดทุนปีแรกในปี 2020 และขาดทุนน้อยลงในปี 2021 ตามทิศทางการผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล ลุ้นอยู่ว่าปีนี้จะกลับมาได้กำไร ล้างขนาดทุนสะสมได้ไหม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าหลายเดือนต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่แค่โควิด-19 นะ แต่รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ
ถ้าเลือกให้กลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศอีก คุณเอาไหม
ผมไปนะ แล้วเลือกทำร้านหนังสือเป็นพาร์ตไทม์ ผมมาตกผลึกได้ตอนโควิด-19 นี่แหละ เพราะรายได้ที่ขึ้น-ลงเหมือนรถไฟเหาะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในการเป็นเจ้าของกิจการ ผมยังเคยคุยกับภรรยาเลยว่าถ้าให้แนะนำเด็กจบใหม่ ผมจะแนะนำสวนกระแส จะบอกเลยว่าการเป็นลูกจ้างมันไม่ได้น่าเกลียด ถ้าคุณรู้จักบาลานซ์ที่ปล่อยวางบางอย่าง แล้วสร้างความปลอดภัยมั่นคงให้ชีวิต ตกเย็นหลังเลิกงานก็เอนจอยไป เสาร์อาทิตย์ไปเฮฮากับเพื่อนฝูง
ถ้าคุณไม่ได้มีความพร้อมหรือช่องทางจริงๆ ก็ไปทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศก่อน มันไม่ได้เสียหายหรือเลวร้ายอะไรเลย แต่ขณะเดียวกันก็อย่าลืมสร้างหลักมั่นคงให้ชีวิต เมื่อวันหนึ่งที่เกษียณ คุณจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข ไม่ต้องมากังวลว่าถ้าชีวิตนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการแล้วจะนอนตายตาไม่หลับ
ฟังดูแล้วเหมือนความมั่นคงทางการเงินสำคัญกับการทำธุรกิจร้านหนังสือมากทีเดียว
ผมว่าสำคัญกับทุกกิจการ แต่ก็แล้วแต่คนว่าถนัดแบบไหน คุณจะไปกู้มาทำธุรกิจก็ได้ หรือกระทั่งแบ่งเงินเก็บออกมาใช้ก้อนหนึ่งก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่คุณคิดว่าถ้าเจ็บเท่านี้แล้วรับได้ก็โอเค แต่ด้วยความที่ผมเริ่มต้นทำธุรกิจมาด้วยการใช้เงินเก็บตัวเองและรันต่อด้วยเงินหมุนเวียนของร้าน ผมเลยทำแบบนี้เรื่อยมา บวกกับเวลาจะยื่นกู้อะไรกับธนาคารก็ค่อนข้างยากด้วย เพราะเราทำธุรกิจหนังสือ (หัวเราะ)
อีกอย่างคือผมเคยเห็นตัวอย่างจากเจ้าของคนแรกของเอเซียบุ๊คส์ที่ผมทำงานด้วย แกไม่เคยกู้ธนาคารและทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำด้วยเงินทุนของตัวเอง แกบอกว่าถ้ากู้แล้ว เวลารั้วร้านเราปิด ดอกเบี้ยมันไม่ได้หยุดไปด้วย ผมเลยยึดเป็นตัวอย่าง เห็นว่าแกทำได้ เราก็น่าจะเรียนรู้เป็นบทเรียนได้นะ
ถ้ามีคนอยากเปิดร้านหนังสือจริงๆ ต้องทำยังไงถึงจะอยู่ได้
ผมขอยกตัวอย่างลูกค้าที่เป็นร้านหนังสือที่กำลังจะเปิด ผมจะบอกพวกเขาตั้งแต่ต้นว่าให้ไปคิดมาก่อนว่าตัวเองถนัดอะไร แล้วทำเลที่เปิดร้านมันใกล้ใคร อย่างร้านหนึ่งจะเปิดใกล้โรงเรียนอินเตอร์ ผมก็แนะไปว่าตอนเปิดเทอมมันก็โอเคนะ แต่จะขายได้เฉพาะช่วงเย็น เขาก็บอกว่าแถวนั้นยังมีบ้านพักของคอมมูนิตี้คนต่างประเทศที่มาทำงานที่ไทยด้วย เราก็โอเค แปลว่าเสาร์-อาทิตย์พอขายได้ เพราะเวลาเช่าคือเช่าเต็มเวลา แต่เวลาได้ยอดขายมันไม่ใช่เต็มเวลา
จากนั้นก็ไปดูว่าโรงเรียนอินเตอร์เป็น British หรือ American จะได้สั่งหนังสือถูกว่าต้องเป็น U.S. หรือ UK แล้วแม่บ้านที่อยู่บ้านพักเป็นคนชาติไหน ต้องไปทำการบ้านมา ผมจะพยายามถามเพื่อให้เขาตอบตัวเองให้ได้ และคิดดีๆ ให้มั่นใจ ยังไงก็ต้องแยกความโรแมนติกของการเป็นเจ้าของร้านหนังสือออกไปจากธุรกิจ คิดถึงกำไรขาดทุน จะอยู่ได้ไหม เพราะตอนที่คุณมีเงินคุณจะเป็นอะไรก็ได้ เป็นเจ้าของร้านหนังสือในหนังที่ชอบก็เป็นได้ แต่เมื่อไหร่ที่ขายไม่ได้ เป็นตัวเองยังยากเลย
สุดท้ายนี้คุณได้รับบทเรียนอะไรจากการทำร้านหนังสือมาสิบกว่าปี
ผมได้ทั้งบทเรียนที่ดีและไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้ชัดคือธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่มีศักดิ์ศรี จริงๆ เราไม่ต้องไปขอให้ใครช่วย เพราะที่ผ่านมาผมเห็นคนบอกให้ภาครัฐมาซัปพอร์ตมานานกว่าสิบปีแล้วก็ไม่เห็นมาสักที มันถึงเวลาหรือยังที่จะทำให้ธุรกิจนี้มีศักดิ์ศรีคือ ลุกขึ้นมาทำกันเอง เพราะเราก็มีสมาคมสิ่งพิมพ์ฯ อยู่แล้ว ก็มาช่วยกันปลุกปั้นกระแสหนังสือให้ได้เหมือนที่ต่างประเทศทำ
ปีที่แล้วสำนักพิมพ์ในต่างประเทศอย่าง Bloomsbury ได้กำไรเยอะที่สุดตั้งแต่เปิดมา หลายสำนักพิมพ์ขายดีมาก แต่เขาไม่อยากยกมาพูดนักเพราะมันเป็นปีที่ยากของหลายๆ คน ถ้าเราเข้าไปดูเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เขา ถ้าสนใจหนังสือเล่มไหนแล้วคลิกซื้อ เว็บจะเด้งไปหน้าของแพลตฟอร์มคนขายอย่าง Amazon, Waterstones, Foyles พูดง่ายๆ ว่าสำนักพิมพ์เขาไม่ขายตรง แปลว่าถ้าปีที่เป็นปีที่ดีของเหล่าสำนักพิมพ์ ย่อมต้องเป็นปีที่ดีของคู่ค้าเขาด้วยเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมการอ่านของหลายๆ ประเทศแข็งแกร่งมากจนจำเป็นต้องมีร้านหนังสือ นักเขียนเองก็ชัดเจนมากว่าต้องขายหนังสือในร้านหนังสือ เพราะต้องการใช้สเปซสถานที่เหล่านี้จัดกิจกรรม มันเหมือนทุกคนรู้บทบาทตัวเอง แล้วพวกเขาก็ต่อรองกันเพื่อให้เกิดผลดีโดยรวม
ดังนั้น บทเรียนที่ผมได้รับจากการทำธุรกิจหนังสือคือ เราทำกันเองได้ เพียงแต่เราต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งในธุรกิจของเราและทำทั้งหมดให้เป็นองคาพยพเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็เข้าใจว่าโจทย์กับผลประโยชน์มักขัดกันเสมอ พอถึงจุดหนึ่งก็จะแตะต้องไม่ได้ เพราะเป็นผลประโยชน์เป็นปากท้องของบางคน สุดท้ายมันจะวนลูปกันแบบนี้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าธุรกิจหนังสือบ้านเราจะเป็นแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่
บทความนี้สนับสนุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลก ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรทั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้บรรลุเป้าหมายด้านการเงินและการใช้ชีวิตอย่างที่ตั้งใจ ตามแนวคิด For All It’s Worth ชีวิตที่คุ้มค่า ชีวิตที่เลือกได้ เพราะนอกจากความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นใจในการใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นก็สำคัญไม่แพ้กัน
ติดตามข่าวสาร ความรู้ และดูข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมจาก บลจ.พรินซิเพิล ได้ทุกช่องทางออนไลน์
Facebook : facebook.com/principalthailand
YouTube : youtube.com/c/PrincipalThailand
Line : @PrincipalThailand
Website : www.principal.th/
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-686-9500
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน