ทวีปที่ 8
บนดาวเคราะห์สีฟ้าที่ตั้งอยู่เป็นลำดับที่ 3 ในระบบสุริยจักรวาล ผืนดินที่เป็นพื้นที่ส่วนน้อย ของดาวดวงนี้ถูกแบ่งออกเป็นทวีปทั้ง 7 ในขณะที่ผืนน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นเชื่อมต่อกัน เป็นผืนเดียวกันได้ถูกตั้งชื่อออกเป็นมหาสมุทรทั้ง 5 ผืนน้ำ ซึ่งดูเหมือนจะรกร้างว่างเปล่า นั่นคือ ‘ต้นกำเนิดของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้’ ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องกันมานับล้านปีก่อนที่มนุษย์คนแรกจะถือกำเนิดมา
มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากผืนดินและสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบตัว หากแต่ท้องทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนมารดาแห่งสรรพสิ่งนั้นคือทวีปที่หายไป เราเพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักกับท้องทะเล และมหาสมุทรอย่างจริงจังในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง นานแสนนานนับจากวันแรกที่มีสิ่งมีชีวิตปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในท้องทะเล และวันแรกที่บรรพบุรุษของมนุษย์ได้เดินทางขึ้นมาจากท้องทะเล
Deep VI คือการรวมตัวของกลุ่มช่างภาพใต้น้ำที่ประกอบไปด้วย นัท สุมนเตมีย์ ผู้ที่บันทึกภาพใต้น้ำมาตั้งแต่ยุคสมัยฟิล์ม ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพและนักอนุรักษ์ผู้บันทึกภาพพะยูนมาเรียมที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการอนุรักษ์ออกไปทั่วโลก ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล ผู้ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในท้องทะเลในพื้นที่ห่างไกลของอินโดนีเซีย ธนากิจ สุวรรณยั่งยืน และ พิพัฒน์ โกสุมลักษมี ช่างภาพมือรางวัลระดับนานาชาติ และ บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพ
พวกเราทั้ง 6 คนอยากถ่ายทอดเรื่องราวของทวีปที่ 8 ซึ่งชื่อ ใต้ทะเล ให้คุณรู้จัก และเข้าใจผ่าน THE 8th CONTINENT หนังสือภาพ Coffee Table Book จำนวน 264 หน้า ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านบทย่อยๆ 7 บท ที่ร้อยเรียงกันด้วยภาพและเรื่องราวที่จะทำให้เราเข้าใจท้อง ทะเลผ่านมุมมองที่คัดสรรมาจากเวลานับสิบปี กับการเดินทางไปยังที่ห่างไกลทั่วโลกเพื่อร่วม เป็นประจักษ์พยานและถ่ายทอด ความมหัศจรรย์ ความงดงาม และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับโลกใต้ผืนน้ำแห่งนี้
สัตว์ทะเลจำนวนมากดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดในขณะที่ถูกลากขึ้นสู่ผิวน้ำโดยลูกเรือประมงบนเรืออวนล้อมที่ออกหาปลากลางทะเลอันดามันของไทย | ภาพโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
การได้เผชิญหน้ากับวาฬสีน้ำเงิน สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดบนโลกของเรา ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วพวกเราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลให้กับโลกใบนี้ | ภาพโดย ธนากิจ สุวรรณยั่งยืน
ฝูงปลาสร้อยนกเขาริบบิ้นสีเหลืองและฝูงปลากะพงหางตัดสีแดงรวมฝูงอยู่คู่กัน แสดงถึงความหลากหลายของชีวิตในแนวปะการัง | ภาพโดย ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล
ฝูงปลากะมงกลางสายฝน ที่ตกกระหน่ำลงมาในบริเวณเหนือผิวน้ำกลางพายุ | ภาพโดย บารมี เต็มบุญเกียรติ
ปลากระโทงร่ม ปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็วที่สุดในห้วงมหาสมุทร ในขณะที่ออกล่าเหยื่อ | ภาพโดย พิพัฒน์ โกสุมลักษมี
ฉลามเสือ นักล่าที่อยู่บนสุดแห่งห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางฝูงฉลามแคริบเบียน เหนือพื้นทราย นอกชายฝั่งบาฮามาส | ภาพโดย นัท สุมนเตมีย์
นักดำน้ำกับกัลปังหารูปพัดและความหลากหลายของสรรพชีวิตใต้ร่มเงาของป่าโกงกางที่ หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซีย | ภาพโดย ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล
ฝูงปลากระเบนราหูนับร้อยมารวมตัวกันในบริเวณที่เรียกกันว่า Hanifaru ในบริเวณ Baa Atoll ของมัลดีฟส์ ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบูม | ภาพโดย ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล
ขยะพลาสติกกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับระบบนิเวศในห้วงมหาสมุทร โดยเฉพาะสำหรับปลาขนาดใหญ่ที่ดักช้อนกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารอย่างเช่นฉลามวาฬและวาฬบาลีนชนิดต่างๆ | ภาพโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ฟองน้ำครกในขณะที่กำลังปล่อยเชื้อออกไปผสมพันธุ์กันกลางมวลน้ำ | ภาพโดย พิพัฒน์ โกสุมลักษมี
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนได้สัมผัส และหลังจากการระดมทุนและขั้นตอนในการผลิตหนังสืออย่างประณีตและตั้งใจมายาวนานเกือบปี หนังสือภาพ THE 8th CONTINENT ก็พร้อมที่จะส่งผ่านประสบการณ์อันน่าประทับใจในโลกใต้ทะเลให้ทุกท่านแล้ว จัดจำหน่ายในราคาเล่มละ 2,500 บาท โดยรายได้ส่วนหนึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ผืนป่าไทย
สั่งจองหนังสือและติดตามรายละเอียดของหนังสือได้ที่ Facebook : Deep VI photography