นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำผู้ถ่ายโลกใต้ทะเล - Urban Creature

นัท สุมนเตมีย์ คือช่างภาพใต้น้ำแนวหน้าของไทย ผู้เดินทางถ่ายภาพใต้ทะเลทั่วโลกมาร่วม 30 ปี เขาดำน้ำมาหลายต่อหลายไดฟ์จนนับไม่ไหว กดชัตเตอร์ท่ามกลางกระแสน้ำมานับครั้งไม่ถ้วน มีภาพถ่ายใต้น้ำล้นมือจนสามารถรวบรวมเป็นหนังสือภาพของตัวเองในชื่อ Okeanos แต่ทุกครั้งที่ดำลึก ทุกครั้งที่คว้ากล้องลงสู่ทะเล เขาจะได้สัมผัสกับความรู้สึกใหม่เสมอ 

“ถ้าดำน้ำลงไปที่เดิมทุกวัน จะได้เห็นสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมทุกวัน” 

ยิ่งดำลึก ยิ่งรู้สึกว่าเบื้องล่างผืนน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ยิ่งได้เห็น ยิ่งอยากเล่าความอัศจรรย์ของโลกใต้ทะเลผ่านเลนส์กล้อง
ยิ่งถ่ายภาพ ยิ่งทำให้นัทค้นพบว่า ใต้ทะเลคือทวีปที่ 8 ของโลกใบนี้ซึ่งเหล่าสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขดี

คนบนฝั่งอย่างเรา จึงอยากเรียนรู้ทวีปที่ 8 แบบไม่ต้องเปิดตำราเล่มหนา แต่เลือกเปิดบทสนทนากับนัท สุมนเตมีย์ เงี่ยหูฟังประสบการณ์การถ่ายภาพใต้น้ำของเขาที่เริ่มจากเป็นเพียงเด็กฝึกงานพกกล้องฟิล์ม จนถึงวันนี้ที่เป็นสุดยอดแห่งวงการช่างภาพใต้น้ำไทย

ปลาไม่หลงฝูง

“วันหนึ่งพ่อพาผมไปเห็นโลกของเขา”

นัท สุมนเตมีย์
นัทในวัยเด็กเคียงข้างคุณพ่อ

เด็กผู้ชายมักมีพ่อเป็นต้นแบบการใช้ชีวิต และเด็กชายนัทคือหนึ่งในนั้น เขาโตมากับพ่อผู้เป็นนักดำน้ำยุคบุกเบิกที่มีเพื่อนเป็นนายทหารอเมริกัน ซึ่งชอบมาดำน้ำที่พัทยา ซึ่งทุกครั้งที่พ่อออกไปดำน้ำ นัทและแม่จะมารอรับที่ท่าเรือเสมอ

เมื่อได้เห็นโลกอีกใบของพ่อ โลกใบใหม่ของนัทที่ประกอบด้วยน้ำ และเหล่าสัตว์ทะเลจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น

“พ่อฝึกให้ผมดำน้ำตื้น (Snorkelling) ในสระว่ายน้ำตั้งแต่สี่ขวบ ซื้อหน้ากาก และตีนกบของเด็กให้ พ่อหัดจนแน่ใจว่าผมจะไม่จมน้ำตาย (หัวเราะ) แล้วก็พาลงทะเลเลยครับ

“ครั้งแรกที่เริ่มดำน้ำกับพ่อคือตอนหกขวบ เป็นทริปเกาะสากที่พัทยา ตอนเริ่มสน็อกเกิลตื่นเต้นมาก เพราะตอนที่เด็กกว่านั้นจะเห็นพ่อไปดำน้ำตลอด ผมเลยรู้สึกว่า เราอยากไปเห็นโลกของพ่อบ้าง แล้ววันหนึ่งพ่อก็พาผมไปเห็นโลกของเขาว่าเป็นยังไง ซึ่งรู้สึกดีมากๆ ครับ” เขาเล่าไปพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก

หลังจากไดฟ์แรกในวัย 6 ขวบ การดำน้ำของนัทก็มีเรื่อยมาเสมอเกือบทุกสัปดาห์ เขาได้ไปเกาะครก เกาะมารวิชัย ละแวกพัทยา ก่อนถัดไปเที่ยวระยองที่มีเกาะเสม็ด เกาะกุฎี ขยับไปตราด แถวเกาะกูด เกาะกระดาด แล้วก็ข้ามไปกระบี่เพราะคุณพ่อมีบ้านอยู่ที่นั่น เลยได้ไปสนุกกับทะเลกระบี่ตลอดช่วงปิดเทอม

ภาพใต้ทะเลที่แอฟริกาใต้

นอกจากพ่อที่ทำให้นัทรักทะเลและการดำน้ำ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การไปร้านหมอฟันตอน 14 ขวบ จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นัทอยากเริ่มต้นถ่ายภาพใต้น้ำ

“ผมไม่รู้ว่าทำไมร้านหมอฟันสมัยก่อนชอบมีหนังสือ National Geographic เวอร์ชันภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่ไหม แต่หมอฟันชอบอ่าน ไม่รู้เป็นอะไร” เขาว่าก่อนระเบิดเสียงหัวเราะ 

นัทในวัยนั้นหยิบหนังสือ National Geographic ขึ้นมาอ่านประจำทุกครั้งที่ต้องตรวจสุขภาพฟัน พลิกหน้ากระดาษจนได้เห็นภาพฝูงปลา Barracuda ม้วนตัวเป็นวงกลม แล้วมีคนอยู่ตรงกลาง เขารู้สึกว่านี่คือเรื่องสุดเจ๋ง จึงคิดอยากไปอยู่ท่ามกลางวงล้อมปลานับร้อย และลองถ่ายภาพบ้าง ช่างภาพใต้น้ำ จึงกลายเป็นอาชีพในฝันที่มีพ่อคอยสนับสนุนอย่างใกล้ชิด 

“ตอนนั้นในประเทศไทย อาชีพช่างภาพใต้น้ำเป็นอาชีพที่จะเอาอะไรกิน แต่พ่อก็บอกว่า อยากทำอะไรก็ทำเถอะ เพราะที่บ้านยังมีกิจการขายอุปกรณ์กอล์ฟอยู่ พ่อเลยสนับสนุนผมเต็มที่ ผมเลยเริ่มจากหยิบกล้องพ่อไปถ่ายเล่นบนบกก่อน เพราะยังไม่ได้เรียนดำน้ำตามมาตรฐาน

“ประมาณปี 2527 ผมขอพ่อเรียนดำน้ำ พ่อบอกว่า ถ้าอยากเรียน Scuba (ดำน้ำลึก) ให้ไปเรียนอย่างถูกหลักกับครู ซึ่งผมได้เริ่มเรียนดำน้ำจริงๆ ตอนปี 2534 เรียนปีสามที่สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนั้นคนที่จะเรียนดำน้ำหลักสูตร Open Water ควรจะจบ ม.3 ขึ้นไป เพราะควรมีความรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้นบ้าง ถ้ายังไม่เข้าใจจุดนี้ก็ยังไม่ควรไปเรียนการดำน้ำขั้นพื้นฐาน”

ร้านดำน้ำมนุษย์กบไทย ภายในสระว่ายน้ำสมาคม YWCA ที่สาทรคือสถานที่ซึ่งนัทเรียนดำน้ำทุกๆ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ วันละ 2 – 3 ชั่วโมงจนครบ 20 ชั่วโมงเรียนตามมาตรฐาน โดยเป็นการเรียนทฤษฎีหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ต่อด้วยลงสระลุยภาคปฏิบัติ เมื่อครบแล้วทางโรงเรียนจะพาไปสอบดำน้ำที่เกาะสาก หากใครสอบไม่ผ่านก็ต้องเริ่มเรียนใหม่ 

“เรียนยากไหม” 

“เรียนดำน้ำไม่ยากนะ แต่เรียนวิทยาศาสตร์เบื้องต้นนี่ค่อนข้างยาก เพราะผมหัวไม่ไปกับเรื่องนี้เลย (หัวเราะ)”

หลังจากเรียนดำน้ำและสอบผ่านเรียบร้อย นัทคว้ากล้องฟิล์ม รุ่นกันน้ำของพ่อไปถ่ายภาพใต้น้ำเกาะสากเป็นที่แรก เขาดำลึกลงไป 8 – 10 เมตร แต่เพราะเป็นการถ่ายภาพใต้น้ำครั้งแรก ความอีหลุกขลุกขลักจึงบังเกิด แต่เขาก็ยังเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า “ภาพเสียทุกรูปเลยครับ เพราะว่าใส่ฟิล์มผิด”

ถ่ายภาพใต้น้ำ ver.ฝึกหัด

“รูปแรกที่ได้ตีพิมพ์ลง อ.ส.ท. อวดไปสามบ้านแปดบ้าน”

ฝึกงานที่อนุสาร อ.ส.ท.

ช่วงฝึกงานตอนเรียนชั้นปีที่ 3 นัทมีโอกาสฝึกงานกับ อนุสาร อ.ส.ท. ที่เกิดขึ้นพร้อมองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และปัจจุบันเปลี่ยนสู่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขาเลือกที่นี่เพราะเป็นอนุสารที่เริ่มโฟกัสเรื่องการดำน้ำ ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

“ผมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานถ่ายภาพ ที่สมัยนั้นยังใช้กล้องฟิล์มนะ ซึ่งกระบวนการการถ่ายภาพในนิตยสารจะใช้เวลาสั้นๆ ออกไปถ่าย ดังนั้นในเวลาหนึ่งเดือนจะเดินทางแค่หนึ่งถึงสองอาทิตย์เท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นการทำงานในกอง บก. ครับ 

“การฝึกงานที่ อ.ส.ท. ทำให้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ไกลๆ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะสิมิลัน ตอนที่ดำลงไปใต้น้ำก็จะเก็บภาพแนวปะการัง ภาพปลา แล้วผมก็เริ่มต้นถ่ายพวกสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ด้วย รูปแรกที่ได้ตีพิมพ์ลงหนังสือก็ตื่นเต้นมาก จำได้ว่าเป็นภาพปลาการ์ตูน กรอบเล็กๆ ในสมัยก่อนการที่ได้มีรูปถ่ายของตัวเองลงหนังสือ เอาไปอวดได้สามบ้านแปดบ้านเลยครับ (หัวเราะ)” 

นอกจากจะถ่ายภาพใต้น้ำแล้ว นัทยังเดินทางไปถ่ายภาพธรรมชาติอื่นๆ ทั้งขึ้นเขา ลงห้วย ลุยป่า ความสนุกและความผูกพันทำให้เมื่อครบกำหนดการฝึกงาน 3 เดือนของคณะ เขาก็ยังคงไปเที่ยวกับพี่กลุ่มนี้อยู่ และตั้งใจอยากทำงานที่ อ.ส.ท. หลังเรียนจบ

นัทและเพื่อนที่เกาะสิมิลัน ปี 2537

แม้สิ่งที่แพลนไว้อาจบิดไปจากความตั้งใจเล็กน้อย เพราะเมื่อ อ.ส.ท. ยังไม่มีตำแหน่งว่างเปิดรับ เขาเลยแวบไปทำงานกับกองถ่ายภาพยนตร์ของคณะบ้าง หรือลองทำงานรูปแบบอื่นๆ แต่วันหนึ่งสิ่งที่ตั้งใจก็เป็นจริง เมื่อพี่ที่ทีม อ.ส.ท. ชวนนัทให้เป็นนักเขียนและช่างภาพฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการด้านท่องเที่ยว 

“ตอนนั้นเขามีโปรเจกต์ทำสารคดีเกี่ยวกับจังหวัดชุมพร แล้วมีพาร์ตดำน้ำที่เกาะเต่าด้วย เขาเลยให้ผมไปช่วยถ่ายภาพ และให้ลองเขียนเรื่องมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักเขียนด้วยครับ”

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพ

หลังจากได้จับกล้องใต้น้ำ ผมก็ไม่เคยดำน้ำโดยไม่ถือกล้องเลย”

นัท สุมนเตมีย์
วินาทีที่นัทได้ถ่ายภาพปลากระเบนราหูแบบติดเลนส์

“อืม…ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเริ่มจริงจังกับการเป็นช่างภาพใต้น้ำตอนไหน เพราะเราอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่แรก”

นัทบอกว่าอาจเป็นตอนที่ อ.ส.ท. เปิดคอลัมน์ ท่องโลกใต้ทะเล ในปี 2538 แล้ว หน่อย-ดวงดาว สุวรรณรังษี ผู้เป็นบรรณาธิการขณะนั้นมอบหมายให้เขาเขียนและถ่ายภาพลงคอลัมน์นี้ประจำ ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ใต้ทะเลแต่ละตัวในรูปแบบสารคดี ความยาวประมาณหนึ่งหน้า 

อาจเป็นตอนที่หลังจากทำงานกับอนุสารฯ ได้ราว 5 – 6 ปี แล้วออกมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารท่องเที่ยว Nature Explorer ในปี 2542 โดยยังคงเป็นนักเขียนและช่างภาพประจำเรื่องโลกใต้น้ำ ซึ่งระหว่างนั้นก็ยังคงใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพใต้น้ำเป็นหลัก ก่อนเปลี่ยนเป็นกล้องดิจิทัลตอนปี 2547 ทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดขณะถ่ายภาพใต้น้ำไปพอสมควร จากกล้องฟิล์มที่จำกัดการถ่ายแค่ 36 รูป ซึ่งเป็นการถ่ายที่มี Learning Curve ยาวกว่า ไม่สามารถเปลี่ยนฟิล์มได้ ต้องมี Pre-Visualize ภาพที่ต้องการถ่ายก่อนออกมาเป็นภาพจริง ไปจนถึงถ้าภาพเสียก็ต้องดำน้ำลงไปถ่ายใหม่ แต่เมื่อเปลี่ยนสู่กล้องดิจิทัล แม้จะต้องใช้เวลาเรียนรู้และจับกล้องให้คล่องมือ แต่เมื่อถนัดก็ทำให้การถ่ายภาพใต้น้ำของเขาสนุก และง่ายขึ้น

หรืออาจเป็นตอนที่หลังจากนิตยสาร Nature Explorer ปิดตัวลงไปเมื่อ 5 ปีก่อน เขากลายเป็นช่างภาพใต้น้ำฟรีแลนซ์ที่ได้ร่วมทำสารคดีโลกใต้ทะเลกับทีมโลกโสภาซึ่งเป็นของพี่ที่รู้จัก 

แต่ไม่ว่าจะเป็นตอนไหนก็ล้วนทำให้นัทมีโอกาสลงดำน้ำในที่ที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้ไป สิ่งนั้นนำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งการฝึกฝน และพัฒนาฝีมือถ่ายภาพใต้น้ำของเขาจนเฉียบคม และขึ้นชื่อว่าเป็นช่างภาพใต้น้ำคนแรกๆ ของประเทศไทย ที่แม้จะมีนามสกุลนี้รั้งท้ายชื่อ นัท สุมนเตมีย์ เขาก็ยังสนุกและหมั่นเรียนรู้เมื่อได้ดำน้ำลงไปหาโลกใต้ทะเลทุกครั้ง

ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม

“ต้องใช้ประสบการณ์มากแค่ไหนถึงจะลงไปถ่ายภาพใต้น้ำได้สักครั้ง” เราถาม

“ผมมักจะบอกเสมอเลยว่า ควรเริ่มต้นถ่ายภาพใต้น้ำเมื่อไม่ต้องกังวลกับการดำน้ำแล้ว ในแบบที่ดำน้ำได้เหมือนกับเดินไปจ่ายตลาดข้างบ้าน แล้วรู้ว่าจะหยิบอะไรจากตรงไหน”

ส่วนใหญ่การดำน้ำของนัทจะเป็นการดำน้ำบนเรือที่เรียกว่า Liveaboard นั่นคือการใช้ชีวิตบนเรือ มีอุปกรณ์ดำน้ำ มีอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง Port ใส่หน้าเลนส์ ไฟแฟลช ไฟวิดีโอ และ Housing หรืออุปกรณ์กันน้ำเข้ากล้องที่ต้องมีติดตัวเสมอ

“เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม ก็ลงดำน้ำเพื่อถ่ายภาพได้เลยครับ ซึ่งการถ่ายภาพใต้น้ำได้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมว่าอีกส่วนที่สำคัญคือการเรียนรู้วิธีเข้าหาสัตว์ทะเลครับ เราจะเข้าไปหาเขายังไงให้เขาไม่รู้สึกถูกคุกคามการใช้ชีวิตประจำวัน นี่คือประสบการณ์ที่จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้

“อย่างตัวผมเอง เริ่มต้นจากความผิดพลาดเลย เมื่อเริ่มถ่ายภาพใต้น้ำใหม่ๆ ผมก็เคยว่ายไล่ถ่ายปลากระเบนราหูหรือฉลามวาฬ แล้วมันก็ว่ายหนีไป ท้ายที่สุดประสบการณ์สอนว่า แค่อยู่เฉยๆ ปลาบางชนิดจะว่ายมาหาเราเอง ด้วยความสงสัยของปลา แล้วผมก็พบว่าจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องไปว่ายไล่ปลาสักตัวหนึ่ง ไม่มีทางที่จะถ่ายภาพปลาได้ดีในขณะว่ายไล่ปลาตัวนั้น เพราะว่าคนไม่ได้เป็นปลา (หัวเราะ) ที่อยู่ของเราคือบนบก ไม่ใช่น้ำ เราไม่มีทางว่ายน้ำได้เร็วกว่าปลา การที่เราอยู่เฉยๆ แล้วรอจังหวะที่ปลาว่ายเข้ามาหา จะมีโอกาสถ่ายภาพได้ดีกว่า”

ฉลามขาว
ฉลามวาฬ

คำว่าอยู่นิ่ง และรอโอกาส ทำให้เขาเคยถ่ายภาพสัตว์ทะเลในระยะประชิดติดหน้าเลนส์ หรือห่างเพียง 2 – 3 เมตรเท่านั้นในตอนยกกล้องถ่ายวาฬ และฉลาม ซึ่งนัทเล่าต่อว่า เมื่อพูดถึงสัตว์สองชนิดนี้คนมักจะกลัว แต่จริงๆ แล้วสองบิ๊กเบิ้มแห่งท้องทะเลถูกทำให้เชื่อว่าน่ากลัวซะมากกว่า 

“ฉลามหรือวาฬมันถูก Dramatize ให้เป็นสัตว์ที่น่ากลัวจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพราะจริงๆ แล้ว สัตว์ทะเลส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยอยากเข้าใกล้มนุษย์เท่าไร อย่างวาฬ จริงๆ คือสัตว์ที่ผมเห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกประทับใจมากๆ เวลาที่ได้ถ่าย ได้เห็น ได้จ้องตากับวาฬ ผมรู้สึกว่าโลกมันเปลี่ยนไป ซึ่งวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนะครับ ไม่ใช่ปลา ฉะนั้น ด้วยสายตาของเขาที่มองมา เป็นสายตาที่ไม่แตกต่างจากสายตาที่เรามองเขา เรารับรู้ได้ว่าเขาคิดอะไรอยู่

 “หรืออย่างฉลามหัวค้อนที่เป็นสัตว์ที่ผมชอบมากเลยนะ แต่เชื่อไหมว่ากว่าผมจะถ่ายฉลามหัวค้อนให้ได้ภาพที่ผมพอใจ ใช้เวลาสิบกว่าปี เพราะฉลามหัวค้อนเป็นสัตว์ที่กลัวเสียงฟองอากาศมาก ซึ่งฟองอากาศที่เราหายใจใต้น้ำจะมีเสียงดัง”

วาฬหลังค่อม

นอกจากการเป็นช่างภาพใต้น้ำจะทำให้รู้ว่า ไม่ต้องว่ายน้ำตามปลาเพื่อถ่ายภาพพวกมันแล้ว ยังทำให้นัทเรียนรู้อีกว่า ทุกครั้งที่ลงไปในน้ำ ธรรมชาติจะสอนสิ่งใหม่ให้เสมอ เพราะทุกการถ่ายภาพใต้น้ำ ไม่ใช่แค่การพูดถึงเรื่องอุปกรณ์ วิธีการถ่าย หรือการถ่ายทอดภาพเท่านั้น แต่นี่คือครู่ขณะที่เขาได้อยู่กับธรรมชาติ และเฝ้ารอโอกาสให้ธรรมชาติเปิดเผยความยิ่งใหญ่ให้เห็น เพื่อเก็บภาพมาถ่ายทอดความอัศจรรย์นั่น

นัทยังได้เรียนรู้ว่า มนุษย์ต้องการธรรมชาติ แต่ธรรมชาติไม่ต้องการมนุษย์เลย เพราะมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งไม่มีมนุษย์ธรรมชาติก็อยู่ได้ แต่ไม่มีธรรมชาติมนุษย์อยู่ไม่ได้ ยิ่งกับโลกใต้ทะเล การเป็นช่างภาพใต้น้ำมากว่าครึ่งชีวิตบอกให้รู้ว่า สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยไปจนถึงตัวใหญ่มหึมา เขาอยู่กันได้อย่างมีความสุขดีโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ไปข้องเกี่ยวแม้แต่น้อย

ทวีปที่ 8 โลกใต้น้ำ

“ทะเลคือต้นกำเนิดของชีวิตบนโลกใบนี้”

ภาพถ่ายใต้น้ำที่เกาะกาลาปากอส ปี 2549

แม้ตามทฤษฎีภูมิศาสตร์จะบอกว่าโลกของเรามีทั้งหมด 7 ทวีป แต่ตามทฤษฎีที่ได้จากการเป็นช่างภาพใต้น้ำมาตลอดสามสิบปีของนัทบอกว่า โลกของเรามี 8 ทวีป นั่นคือ ทวีปโลกใต้ทะเล ที่เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นส่วนมากจะเป็นไปในทางที่แย่ลง อย่างที่เขาพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งว่า “ไม่เคยมีที่ไหนที่กลับไปครั้งที่สองแล้วจะรู้สึกดีเหมือนกับครั้งแรก”

ปะการังสีสันสวยงามที่เกาะสิมิลัน ปี 2539
ปลาการ์ตูนแก้มหนาม

“ผมมีโอกาสเห็นสิมิลันตั้งแต่อายุประมาณสิบห้าสิบหก สิมิลันในวันที่ยังเป็นเกาะร้าง ไม่มีคนอาศัย มีแต่ป้ายของอุทยานปักเอาไว้ว่า ‘อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน’ ในวันที่ผมไปกับพ่อและเพื่อนพ่อ สี่คนบนเรือสปีดโบ๊ตลำเล็กๆ ไปกางเต็นท์ ซึ่งบรรยากาศแบบนั้นมันไม่มีอีกแล้วในทุกวันนี้ คือเราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องปกติเมื่อมีมนุษย์เข้าไป เมื่อมีการใช้พื้นที่ เราไปหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เราจะทำได้คือ ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนั้นมันเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

“ถามว่าถึงกับต้องปิดทั้งหมดไหม ห้ามเข้าไปทำกิจกรรมในธรรมชาติเลยหรือเปล่า ผมว่าไม่ถึงขนาดนั้น แต่การจัดการพื้นที่ให้สมดุลเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จัดการการเข้าไปใช้พื้นที่ของมนุษย์ให้เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาจากช่วงโควิด-19 เห็นได้ชัดแล้วว่า ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้เมื่อไม่มีมนุษย์เข้าไป ผมเห็นภาพเต่าขึ้นมาวางไข่ เห็นฉลามหูดำมาอาศัยที่อ่าวมาหยา เกาะพีพีหลังจากที่เขาปิดอ่าวไป”

6 ช่างภาพใต้น้ำ Deep VI Photography

และเพื่อให้เห็นความสำคัญของท้องทะเลมากกว่าการเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว นัทและเพื่อนช่างภาพใต้น้ำอีก 5 คนจึงรวมตัวกันในชื่อ Deep VI Photography เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่มีมากกว่าความสวยงามให้เป็นที่ประจักษ์ผ่านหนังสือชื่อ The 8th Continent

“การรวมตัวของ Deep VI Photography คือเพื่อนช่างภาพหกคน มีผม มี ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย-ช่างภาพและนักอนุรักษ์ที่บันทึกภาพพะยูนมาเรียมที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการอนุรักษ์ออกไปทั่วโลก ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล-ผู้ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ท้องทะเลในพื้นที่ห่างไกลของอินโดนีเซีย ธนากิจ สุวรรณยั่งยืน และ พิพัฒน์ โกสุมลักษมี-ช่างภาพมือรางวัลระดับนานาชาติ และ บารมี เต็มบุญเกียรติ-ช่างภาพสัตว์ป่ามืออาชีพ ซึ่งพวกเราถ่ายภาพกันมาคนละยี่สิบสามสิบปีจนอยากจะนำเสนอเรื่องราวของโลกใต้ทะเลจากประสบการณ์ออกไปให้คนได้เห็น 

“เพราะความสำคัญของท้องทะเลไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่เราไปเที่ยว หรือมีแค่ความสวยงาม แต่มีความหมายมากกว่านั้น แล้วทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรไปอย่างไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไร อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะบอก เพราะก่อนที่เราจะบอกให้คนไปทำสิ่งนู้นสิ่งนี้ หรือเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงได้ ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราต้องทำให้คนรู้จักก่อน”

ภาพถ่ายใต้น้ำที่เกาะกาลาปากอส ปี 2555
Cenote Angelita หลุมลึกใต้น้ำแห่งเม็กซิโก

หนังสือภาพ The 8th Continent จึงตั้งใจสะท้อนให้คนได้รู้ว่า ทะเลไม่ได้มีแค่ความสวย แต่มันเป็นต้นกำเนิดของชีวิตบนโลก เป็นแหล่งอาหารซึ่งการันตีถึงความยั่งยืนของมนุษยชาติ เป็นสถานที่ที่มีการสำรวจทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีแพลงก์ตอน และพืชทะเลคอยผลิตออกซิเจนให้กับโลกใบนี้ นั่นเท่ากับว่า ทะเลมีความสำคัญมากกว่าการเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยว และเรากำลังใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

“ตลอดทั้งเล่มจะประกอบไปด้วยเนื้อหาเจ็ดบท ตั้งแต่เรื่องของ Boundary ซึ่งเกี่ยวกับมนุษย์และท้องทะเล Desert ซึ่งเปรียบเทียบว่า จริงๆ แล้วพื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำทั้งหมดกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์บนโลกนี้เป็นทะเลทราย จะมีพื้นที่ส่วนที่เป็นแนวปะการังที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นไม่มากเท่าไหร่ Metropolitan คือแนวปะการัง เราจะเปรียบเทียบว่าแนวปะการังเป็นเสมือนมหานครในห้วงมหาสมุทรที่ทุกชีวิตมาอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น 

“Forest ก็คือป่า จะเป็นป่าสาหร่าย หรือว่าเป็นลักษณะของป่าที่ไม่ใช่แนวปะการัง หรือแม้กระทั่งแนวหญ้าทะเลริมชายฝั่ง ตามด้วย Abyss คือเรื่องราวห้วงน้ำลึกแห่งมหาสมุทร ไปจนถึง Nomads หมายถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลเปิด ไม่ว่าจะเป็นวาฬ ปลาขนาดใหญ่ที่เดินทางท่องไปในห้วงมหาสมุทร แล้วก็จบที่เรื่องของ Impact คือสิ่งที่มนุษย์เรากระทำกับท้องทะเล” โดยตอนนี้ The 8th Continent จัดจำหน่ายในรูปแบบ Pre-order ก่อนหนังสือจะเสร็จช่วงกลางเดือนมิถุนายนในราคาหนึ่งพันห้าร้อยบาท หลังจากหนังสือวางจำหน่ายแล้วจะขายในราคาปกติสองพันห้าร้อยบาท ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ Deep VI Photography

ทะเลและกล้องคือชีวิต

“ผมรักในสิ่งที่ผมทำ ผมจึงทำมาถึงทุกวันนี้”

ปลาไหลริบบิ้น สัตว์ทะเลตัวโปรดของนัท

“ผมชอบปลาตั้งแต่เด็ก มันมีความหลากหลาย และเป็นสัตว์ที่สวยเวลาว่ายน้ำ อย่างปลาไหลริบบิ้น ซึ่งจะเจอเป็นประจำที่เกาะสิมิลัน เป็นตัวโปรดตัวหนึ่งที่ผมชอบถ่าย เพราะลำตัวสวย และความพิเศษคือมันเปลี่ยนเพศได้ ตอนเกิดมาตัวสีดำ ไม่มีเพศ โตขึ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน หลังสีเหลือง ซึ่งจะเป็นเพศผู้ พอช่วงปลายของชีวิต กลายเป็นเพศเมียสีเหลืองทั้งตัว

“ผมชอบและประทับใจทุกที่ที่มีโอกาสไปดำน้ำ อย่างอินโดนีเซียที่เป็นจุดดำน้ำที่ดีที่สุดในโลก เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า จุดศูนย์กลางความหลากหลายทางธรรมชาติของโลก เป็นมหาอำนาจของแนวปะการังของโลกก็ว่าได้ ซึ่งในแต่ละเกาะก็จะมีความหลากหลายแตกต่างกันไป

“ผมชอบเกาะ Aldabra ประเทศเซเชลส์ ที่ไปดำน้ำเมื่อห้าหกปีก่อน เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าที่นี่ทำให้ผมนึกถึงเกาะสิมิลันเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว สมัยที่ผมไปกับพ่อตอนเด็กๆ บนหาดทรายมีรอยเต่าขึ้นมาวางไข่เต็มหาด แทบจะไม่มีการพัฒนาใดๆ เลยจากฝีมือมนุษย์ ด้วยความห่างไกล ผมอาจจะเรียกว่ามันเป็นเกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุดบนโลกใบนี้แล้วก็ได้ ไม่มีแสงไฟ ไม่มีรีสอร์ต ไม่มีผู้คน 

“ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ผมว่าเราควรเริ่มจากรักในสิ่งที่เราอยากจะทำ อย่างผมแม้ตอนแรกจะมองว่าช่างภาพใต้น้ำคืออาชีพ แต่นั่นก็เป็นอาชีพที่กลายเป็นงานที่ผมรัก”

นัท สุมนเตมีย์
นัทขณะถ่ายภาพใต้น้ำที่เม็กซิโก

เมื่อถามถึงความสำคัญของอาชีพช่างภาพใต้น้ำในมุมมองนัท เขาตอบกลับด้วยคำถามว่า “ผมอาจจะต้องถามกลับไปมากกว่าว่าช่างภาพใต้น้ำมีความสำคัญอย่างไร” เพราะสำหรับเขา ช่างภาพเป็นเพียงตัวกลางที่คอยเล่าความมหัศจรรย์ของธรรมชาติให้สังคมรับรู้ และเข้าใจ จนนำไปสู่ความรู้สึกอยากรักษา 

ฟังคำตอบแล้วอดไม่ได้ที่จะชื่นชม แม้เขาจะเป็นช่างภาพใต้น้ำเบอร์ใหญ่ของเมืองไทย แต่ก็ยังยกให้ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าตัวเองเสมอ

นัทยังยืนยันว่าแม้เป็นช่างภาพใต้น้ำมานานแล้วถึง 30 ปี ก็ยังจะขอดำดิ่งสู่เบื้องลึกของทะเลต่อไปเรื่อยๆ เพราะถึงจะดำน้ำลงไปที่เดิมทุกวัน แต่ไม่มีทางที่จะได้เห็นสิ่งที่เหมือนเดิมทุกวัน ทั้งยังใฝ่ฝันอยากทำหนังสารคดีเกี่ยวกับโลกใต้ทะเลสักครั้ง ซึ่งมีสิมิลัน เกาะที่เต็มไปด้วยความทรงจำของเขากับพ่อ กับเพื่อน และกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำเป็นโลเคชัน

นัทยังตั้งใจว่า จะเป็นพ่อที่สอนให้ลูกรู้จักทะเล สอนให้ลูกดำน้ำ และสอนให้ลูกเข้าใจโลกใต้ทะเลเหมือนที่พ่อสอนเขา 

และนัทยังมุ่งมั่นว่า ในวันข้างหน้าแน่นอนว่าโลกใต้ทะเลจะยังคงอยู่ แต่หากตัวเขาไม่มีแรงจะดำน้ำเพื่อไปถ่ายภาพแล้ว ด้วยช่วงวัย หรือเงื่อนไขทางสุขภาพ แต่ก็จะใช้ช่วงเวลาบั้นปลายไปกับการนั่งดูสารคดีใต้น้ำที่ถ่ายมาด้วยความเพลิดเพลิน พร้อมกับชื่นชมผลงานภาพถ่ายใต้น้ำของช่างภาพรุ่นใหม่ที่มาทำงานต่อเมื่อวันและเวลาในอาชีพช่างภาพใต้น้ำของเขาจบลง


ขอบคุณภาพจาก : นัท สุมนเตมีย์

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.