สถิติการถ่ายหนังต่างชาติในไทย ปี 2566 - Urban Creature

จะว่าไปประเทศไทยของเรานั้นเนื้อหอมไม่เบา เพราะแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย จนติดโผเมืองที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยียนมากที่สุดอยู่ตลอด ต้องขอบคุณอาหารแสนอร่อยและสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามหลากหลายที่มัดใจนักท่องเที่ยวรอบโลกไว้อยู่หมัด

แต่ใช่ว่าประเทศไทยจะดึงดูดแต่นักท่องเที่ยว เพราะกองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอจากนานาประเทศก็เลือกประเทศไทยเป็นหมุดหมายของการถ่ายทำ ยกตัวอย่าง ซีรีส์ King the Land จากเกาหลีใต้ที่พาเที่ยวกรุงเทพฯ แบบจัดเต็ม ซีรีส์สายลับ The Sympathizer ที่เนรมิตเมืองหาดใหญ่เป็นไซ่ง่อนยุคสงครามเย็น หรือที่ผ่านไปไม่นานกับมิวสิกวิดีโอ Supernova สุดปั่นจากสี่สาว aespa ที่ยกกองมาขายขำกันถึงเมืองไทย

คอลัมน์ City by Numbers วันนี้เลยชวนมาดูสถิติกันหน่อยว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยดึงดูดกองถ่ายจากต่างประเทศได้มากแค่ไหน โดยอ้างอิงจากสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2566 จากกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ (TFO Thailand Film Office)

งบลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทุบสถิติ

เปิดตัวเลขการถ่ายหนัง ปี 2566 ในไทย จุดหมายของกองถ่ายทั่วโลก

จากสถิติปีที่ผ่านมา มีกองถ่ายภาพยนตร์เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยจำนวนกว่า 466 เรื่อง มีงบประมาณลงทุนสูงกว่า 6,602 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงสุดตั้งแต่มีการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย โดย 5 ประเทศที่ลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยสูงที่สุดคือ

1) สหรัฐอเมริกา ใช้เงินลงทุนถ่ายทำกว่า 3,184 ล้านบาท
2) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เงินลงทุนถ่ายทำกว่า 707 ล้านบาท
3) สาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เงินลงทุนถ่ายทำกว่า 471.98 ล้านบาท
4) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ใช้เงินลงทุนถ่ายทำกว่า 438.79 ล้านบาท
5) สาธารณรัฐเกาหลี ใช้เงินลงทุนถ่ายทำกว่า 344.65 ล้านบาท

สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหมด 466 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทต่างๆ คือ

1) โฆษณา จำนวน 203 เรื่อง
2) สารคดี จำนวน 81 เรื่อง
3) รายการ TV จำนวน 58 เรื่อง
4) ภาพยนตร์ จำนวน 35 เรื่อง
5) มิวสิกวิดีโอ จำนวน 34 เรื่อง
6) เรียลลิตี้ จำนวน 30 เรื่อง
7) ซีรีส์ จำนวน 17 เรื่อง
8) ละคร/PR จำนวน 8 เรื่อง

ส่วนโลเคชันยอดฮิตของกองถ่ายต่างชาติ 10 อันดับแรก ได้แก่

1) กรุงเทพมหานคร ถ่ายทำ 282 เรื่อง
ตัวอย่างสถานที่ถ่ายทำ เช่น สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
2) ชลบุรี ถ่ายทำ 77 เรื่อง
ตัวอย่างสถานที่ถ่ายทำ เช่น เกาะล้าน เกาะสีชัง ถนนเลียบชายหาดพัทยา
3) สมุทรปราการ ถ่ายทำ 60 เรื่อง
ตัวอย่างสถานที่ถ่ายทำ เช่น เมืองโบราณ The Studio Park ท่าเรือศุภนาวา
4) ปทุมธานี ถ่ายทำ 52 เรื่อง
ตัวอย่างสถานที่ถ่ายทำ เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต ACTS Studio
5) ภูเก็ต ถ่ายทำ 47 เรื่อง
ตัวอย่างสถานที่ถ่ายทำ เช่น ย่านเมืองเก่าภูเก็ต หาดพาราไดซ์ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
6) นนทบุรี ถ่ายทำ 41 เรื่อง
7) เชียงใหม่ ถ่ายทำ 39 เรื่อง
8) นครปฐม ถ่ายทำ 27 เรื่อง
9) กระบี่ ถ่ายทำ 26 เรื่อง
10) ราชบุรี ถ่ายทำ 25 เรื่อง

มาตรการส่งเสริมล่อใจ คนไทยฝีมือดี สถานที่สวยงาม

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่กองถ่ายต่างประเทศเลือกเมืองไทยเป็นหมุดหมาย เพราะมีหลายเหตุผลด้วยกันที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ล่อตาล่อใจของกองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติ

อย่างแรกคือ มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 มาตรการนี้ให้สิทธิ์การคืนเงินกับกองถ่ายภาพยนตร์ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่นำมาลงทุนใช้จ่าย และในอนาคต รัฐบาลก็จะขยับเพดานตัวเลขเงินคืนสูงถึง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์

ไม่ใช่แค่มาตรการส่งเสริมอย่างเดียวเท่านั้น จากงานวิจัย ‘ผลกระทบของมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ต่อโอกาสในการเป็นจุดหมายการถ่ายทำภาพยนตร์ของภูมิภาคหลัง COVID-19’ ของวรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ และศักดิ์สิทธิ์ ทวีกุล ที่เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ผลิตและประสานงานกองถ่าย ยังเปิดเหตุผลอื่นๆ ให้เราได้เห็นกันด้วย นั่นคือ

1) สถานที่ในการถ่ายทำหลากหลาย ตื่นตาตื่นใจ เดินทางไปถ่ายทำได้สะดวก ประกอบกับฝ่ายศิลปกรรมของไทยมีฝีมือในการสร้างฉาก ดัดแปลงสถานที่ถ่ายทำในไทยเป็นสถานที่อื่นๆ ได้ทั่วโลก การถ่ายทำในไทยเลยใช้งบประมาณน้อยกว่าการเดินทางไปถ่ายทำในเมืองหรือประเทศนั้นๆ

2) ผู้ผลิตภาพยนตร์และทีมงานชาวไทยมีความเป็นมืออาชีพ มีทักษะด้านโปรดักชันสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนั้นยังมีความรับผิดชอบในการทำงานสูง นิสัยเป็นมิตร ยืดหยุ่น ส่งเสริมให้การทำงานมีบรรยากาศที่ดี

อุปสรรคที่ต้องทลาย เพื่อเพิ่มโอกาสถ่ายทำในไทย

ถึงจะค่อนข้างสะดวกสบายและทีมงานเป็นมือโปรฯ สูง แต่ใครว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยจะราบรื่นไม่มีปัญหา เพราะทีมงานต่างประเทศต้องเจอกฎระเบียบต่างๆ ที่ยุ่งยากชวนปวดหัวเช่นกัน ถ้ากฎระเบียบเหล่านี้ถูกทบทวนและปรับปรุงเสียใหม่ ก็จะทำให้ง่ายต่อการทำงาน และดึงดูดกองถ่ายให้หลั่งไหลมาในไทยมากขึ้น โดยกฎระเบียบที่ควรทบทวนมี 4 เรื่องใหญ่ด้วยกันคือ

1) ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ที่ยุ่งยาก และต้องใช้เอกสารมาก เช่น ตัวอย่างเลือด ทรานสคริปต์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงใช้เวลาในการขอนานถึง 3 วันทำการ และเมื่อต้องถ่ายทำในต่างจังหวัด ต้องขออนุญาตในพื้นที่นั้นๆ เพิ่มเติม

2) ปัญหาเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง เช่น ระยะเวลาการให้วีซ่าที่น้อยกว่าระยะเวลาที่ต้องอยู่ในประเทศจริงๆ

3) การขออนุญาตถ่ายทำที่วุ่นวาย เช่น การขออนุญาตใช้สถานที่และอุปกรณ์ถ่ายทำที่ต้องขอใบอนุญาตหลายใบ และต้องติดต่อกับหลายหน่วยงาน อย่างเช่น หากต้องการถ่ายทำในพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ต้องขอใบอนุญาตถ่ายทำในประเทศ และขอใบอนุญาตถ่ายทำในอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมยังขาดหลักเกณฑ์ขั้นตอนการขออนุญาตที่ชัดเจน

4) การจัดเตรียมเอกสารภาษีของนักแสดงต่างชาติที่ยุ่งยาก เนื่องจากไม่ได้รับเงินโดยตรงในประเทศไทย

เป็นเรื่องดีทีเดียวที่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติแห่แหนมาลงทุนถ่ายทำในไทย เพราะนอกจากช่วยให้ความงดงามของประเทศได้เผยแพร่ไปไกลรอบโลกแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ให้ตกไปถึงพ่อค้าแม่ขายตามพื้นที่รอบกองถ่าย และเมื่อทีมงานต่างประเทศได้ทีมงานไทยเข้าไปร่วมงาน ทีมงานไทยก็ได้ความรู้และประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยขึ้นไปอีก

แต่อย่างที่เห็นว่ายังมีอุปสรรคหลายอย่างต้องทลาย เพื่อให้ประเทศไทยต้อนรับการมาของกองถ่ายได้ดียิ่งขึ้น อยากรู้เหมือนกันว่าในอนาคต เราจะเห็นประเทศไทยไปโลดแล่นอยู่ในหนัง ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอเรื่องอะไรอีก


Sources :
TFO Thailand Film Office | bit.ly/4bpUmzR
กรุงเทพธุรกิจ | bit.ly/3V5dKwd
ไทยรัฐ | bit.ly/3QR6eCE
วารสารการสื่อสารและสื่อบูรณาการ | bit.ly/3UKlB0V

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.