“หญิงสาวถูกทรมานทั้งกายและใจ พอตายไปกลายเป็นผีกลับมาแก้แค้น”
ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณนั้นมีมาแต่โบราณในสังคมไทย จนกลายมาเป็นคัลเจอร์อย่างหนึ่งซึ่งนำไปสู่การเคารพบูชา สร้างความหวาดกลัว ไปจนถึง ‘ความบันเทิง’ ในรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งความเป็นผีไทยก็ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี จนเป็นภาพติดตาว่าผีไทยนั้นชวนขนหัวลุก โผล่มาแล้วต้องสะดุ้ง และสร้างความหลอนชนิดที่เรียกว่าเก็บเอาไปฝันต่อ
ภาพความสะพรึงที่ถูกฉาบไว้ในตัวละครผีก็ดี หรือเรื่องราวของหนังก็ดี หากลองฉุกคิดหรือลองตีความเล่นๆ ถึงการเล่าเรื่อง จะเห็นว่า ‘หนังผีไทย’ บ้านเราคือการหยิบปัญหาและประเด็นสังคมมาจับใส่ไว้ได้อย่างกลมกล่อม อย่างประเด็นชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัว ทุนนิยม การคุกคามทางเพศ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนได้ดีเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่เคยจางหายไปเลยในสังคมไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
บุปผาราตรี (2546)
กำกับโดย ยุทธเลิศ สิปปภาค
ว่าด้วยเรื่องของ ‘บุปผา’ หญิงสาวผู้ถูกคนในครอบครัวล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตมายังถูกชายหนุ่มหลอกให้รักเพื่อหวังเซ็กซ์ จนในที่สุดบุปผาตัดสินใจทำแท้ง แต่โชคร้ายที่ตกเลือดและต้องเสียชีวิตไปอย่างอนาถ ณ หอพักห้อง 609 ซึ่งบุปผาราตรีทำให้เราเห็นว่า ในกรอบสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะอย่างไร ‘เพศหญิง’ ก็ยังคงถูกข่มเหงอยู่ดี และดูเหมือนว่าชีวิตหลังความตายเท่านั้นที่จะทำให้เธอมีพลังอำนาจขึ้นมาได้
นางนาก (2542)
กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร
ภายใต้ความน่ากลัวของผีนางนากที่ออกอาละวาดชาวบ้านในย่านพระโขนง สิ่งหนึ่งที่หนังสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงฉากฉุดท้ายคือ การที่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่แม่และเมียในแบบฉบับผู้หญิงไทยในอุดมคติ ต้องอยู่บ้านเฝ้าเรือน อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดีต่อสามีผู้เป็นที่รัก
แต่พี่มากและนางนากคงไม่ต้องพรากจากกันถ้าไม่ต้องเผชิญกับระบบการเกณฑ์ทหารของไทยที่ไม่เป็นมิตรกับประชาชนคนตัวเล็กๆ ซึ่งสมัยนั้นพี่มากต้องถูกเกณฑ์ไพร่พลให้ไปเป็นทหารเพื่อรบปกป้องบ้านเมือง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมความรักของหนังเรื่องนี้ อีกทั้งยังถูกสานต่อเป็นความเชื่อที่ว่า ใครไม่อยากจับได้ใบแดงในฤดูกาลเกณฑ์ทหารก็ให้ไปขอจากแม่นาค เพราะแม่นาคไม่ชอบทหาร
เด็กหอ (2549)
กำกับโดย ทรงยศ สุขมากอนันต์
การหยิบบรรยากาศชีวิตในโรงเรียนประจำมาสร้างเป็นหนัง คือความสร้างสรรค์ที่ยังไม่มีหนังผีไทยเรื่องไหนคิดทำ ซึ่ง ‘เด็กหอ’ เล่าผ่าน ‘ต้น’ เด็กชายที่คิดว่าตัวเองนั้นไร้ตัวตน หนำซ้ำยังถูกครอบครัวจับส่งมาอยู่โรงเรียนประจำ ก่อนจะพบกับมิตรภาพระหว่างเพื่อนกับ ‘วิเชียร’ และเผชิญความลึกลับจาก ‘ครูปราณี’
หนังค่อยๆ เฉลยความลับที่ชวนให้เราอยากรู้ อย่างสาเหตุการตายของวิเชียรที่เกิดจากการเมินเฉยของเพื่อนๆ ในห้องเรียน และปัญหาของเด็กที่ต้องเจอกับครูปราณีที่วางตัวเป็นคนเฮี้ยบจนเด็กกลัวไม่กล้าเข้าหา เพราะตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้วิเชียรเสียชีวิต แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้ใหญ่เลือกซุกปัญหาไว้ใต้พรม แทนที่จะเปิดใจคุยกับเด็กตรงๆ แบบที่ควรจะเป็น และสะท้อนถึงความห่างเหินของครูและนักเรียนในระบบการศึกษาไทย
ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)
กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล และ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
ความระทึกขวัญผ่านเสียงชัตเตอร์ที่โผล่มาเป็นจังหวะในทุกช่วงของหนัง ได้กระตุ้นต่อมอยากรู้ไว้อย่างไม่ดูขัดหูขัดตา ซึ่งหนังว่าด้วยเรื่องของ ‘ธรรม์’ และ ‘เจน’ คู่รักที่ดันไปขับรถชนหญิงสาวคนหนึ่ง หลังจากนั้นธรรม์ต้องพบกับเรื่องราวประหลาดในรูปถ่ายของเขาที่มีใบหน้าผู้หญิงติดมา
‘เนตร’ คือตัวละครผีผู้หญิงที่ตอนมีชีวิตอยู่เธอถูกข่มขืนและถูกฆ่าโดยน้ำมือชายซึ่งเป็นรุ่นพี่ของธรรม์ ซึ่งธรรม์ก็ต้องจำยอมเข้าข้าง และเก็บความลับเพื่อช่วยเหลือรุ่นพี่พวกนั้นเพียงเพราะคำพูดที่ว่า “กูเป็นรุ่นพี่มึงนะ” ทำให้เนตรต้องจากไปด้วยความเจ็บปวดเกินกว่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรับไหว ซึ่งถ้าลองฉุกคิดเรื่องอำนาจโซตัสและระบบรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยที่ทำให้เกิดปัญหาบานปลายก็ยังมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
เปนชู้กับผี (2549)
กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
หนังผีสุดคลาสสิกที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘นวลจัน’ หญิงบ้านนอกที่อุ้มท้องแก่ใกล้คลอดเดินทางเข้ามาในพระนคร เพื่อตามหาชายคนรักอย่าง ‘คุณชอบ’ และมุ่งหน้าสู่คฤหาสน์หลังหนึ่งที่มีแต่เรื่องราวแปลกประหลาดมากมาย ที่เธอต้องพบว่าตัวเองเป็นชู้กับคุณชอบ ซึ่งมีเมียเบอร์หนึ่งอย่าง ‘คุณรัญจวน’ เป็นผู้เก็บความหลอนซ่อนความลับไว้แต่เพียงผู้เดียว
เปนชู้กับผี เล่าผ่านการแบ่งชนชั้นวรรณะ และทำให้นวลจันกลายเป็นไพร่หญิงชายขอบที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับใคร ส่วนหญิงสูงศักดิ์อย่างคุณรัญจวนก็เลือกที่จะแต่งงานกับคุณชอบที่มีศักดิ์ด้อยกว่า ก็เพื่อให้คุณชอบคอยปรนนิบัติรับใช้เธอ แต่แล้วทั้งนวลจันและคุณรัญจวนต่างก็ตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตย เพราะสุดท้ายทั้งคู่ต่างจ้องแย่งชิงผู้ชายคนเดียวกัน และต่างคนต่างคิดว่าอีกฝ่ายคือชู้ของสามีตัวเอง
ปอบ หวีด สยอง (2544)
กำกับโดย เหมันต์ เชตมี
ผีปอบสำหรับคนไทยคือต้องแก่ และต้องใช้ชีวิตในต่างจังหวัด แต่ ‘ปอบ หวีด สยอง’ ได้ลบภาพจำผ่านปอบสาวในเมืองหน้าตาสะสวย รูปร่างเซ็กซี่ขยี้หัวใจ พร้อมควักตับไตไส้พุงเหล่าผู้ชายที่ผ่านเข้ามาติดกับ เป็นการพลิกมิติทางสังคมให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองกับการถูกลดคุณค่าทางเพศ โดยใช้เรือนร่างอันสวยงามแทนความน่าเกลียดน่ากลัว เพื่อตกผู้ชายมาเป็นเหยื่อในที่สุด
อีกทั้งหนังยังแทรกประเด็นทุนนิยมไว้อย่างแนบเนียน โดยให้ปอบสาวปลอมตัวเป็นอาชีพต่างๆ เพื่อล่อใจผู้คน อย่างสาวมิสทีนหน้าตาน่ารักเพื่อดึงดูดผู้ชาย หรือพนักงานส่งพิซซ่าที่ใครต่างก็อยากจะอ้าแขนต้อนรับเมื่อมาส่งถึงหน้าบ้าน
สวยลากไส้ (2550)
กำกับโดย พีระพันธ์ เหล่ายนตร์ และ ทศพล ศิริวิวัฒน์
‘สังคมทุนนิยม’ คือประเด็นที่หนังหยิบมาใช้ โดยหยิบอาชีพพยาบาลและหมอมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพื่อสื่อถึงภาพการนับหน้าถือตาในอาชีพนี้จากคนภายนอก แต่ภายใต้ระบบนั้นก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ห้ำหั่นแข่งขันกันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ซึ่งเหล่าพยาบาลสาวสุดแซ่บที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว บางคนชอบของไฮแบรนด์ บางคนเสพติดความผอม หรือบางคนหลงใหลในรูปร่างหน้าตา ต่างถ่ายทอดหนังเรื่องนี้ออกมาได้อย่างแฟนตาซีและสยองขวัญไปในตัว
Who are You ? ใคร…ในห้อง (2553)
กำกับโดย ภาคภูมิ วงษ์จินดา
หนังเปิดด้วย ‘นิดา’ หญิงวัยกลางคนผู้อาศัยอยู่กับลูกชายที่มีอาการ ‘ฮิคิโคโมริ’ เก็บตัวเองอยู่ในห้องนาน 5 ปี ก่อนจะค่อยๆ เล่าถึงสาเหตุว่าทำไม ‘ต้น’ ถึงเอาแต่กักขังตัวเอง ซึ่งนั่นก็เพราะเขาเบื่อที่พ่อแม่เอาแต่ทะเลาะกัน และมีระเบียบเกินไปจนกลายเป็นความน่ารำคาญ ทำให้เด็กชายต้องสร้างโลกสมมติในห้องสี่เหลี่ยมของเขาซึ่งปราศจากพ่อแม่
แต่ช่วงฉากสุดท้ายของหนังที่ทำเอาตาค้างนั่นคือ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงจินตนาการของผู้เป็นแม่ ที่ยอมรับไม่ได้ว่าเธอนั้นเผลอยิงลูกตัวเองจนเสียชีวิตขณะทะเลาะกับสามี ซึ่งสะท้อนได้ดีเลยว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพียงแต่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ
โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต (2551)
กำกับโดย โสภณ ศักดาพิศิษฏ์
หนังผีไทยที่เล่าอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก ผ่านประเด็นการทำลายทรัพย์สินทางปัญญา โดย ‘ยอด’ ทีมงานของโรงหนังที่วางแผนลักลอบเอาหนังเรื่อง ‘วิญญาณอาฆาต’ ที่ยังไม่เข้าโรงไปอัดวิดีโอขายให้กับกลุ่มที่ทำแผ่นผีซีดีเถื่อน หลังจากนั้นยอดต้องเจอกับเรื่องแปลกๆ ตามมามากมาย
ซึ่ง ‘ส้ม’ แฟนสาวที่สงสัยในอาการแปลกๆ ของยอด ก็ได้ตามสืบจนพบว่า นักแสดงที่รับบทเป็น ‘ผีชบา’ ในหนังเรื่องนี้ได้เสียชีวิตขณะถ่ายทำ แต่ทีมงานก็ยังนำฉากนั้นมาฉายได้อย่างหน้าตาเฉย จนกลายเป็นความแค้นของผีสาวที่ออกมาจัดการคนดูทุกคน พร้อมกับประโยคจำของหนังว่า “มึงอยากดูกูตายนักใช่มั้ย”
ลัดดาแลนด์ (2554)
กำกับโดย โสภณ ศักดาพิศิษฏ์
อีกหนึ่งหนังผีไทยที่ได้ชื่อว่าน่ากลัวที่สุด โดยเล่าผ่านครอบครัวหนึ่งที่ต้องมาฝากชีวิตที่หมู่บ้านลัดดาแลนด์ เพื่อหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับต้องเจอเรื่องราวกระท่อนกระแท่น และเรื่องชวนสยองจนความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นแทบร้าวฉาน
ช้างเท้าหน้าผู้เป็นพ่ออย่าง ‘ธีร์’ ต้องแบกรับปัญหาในครอบครัวเพื่อหวังให้ทุกชีวิตไม่ต้องเผชิญความลำบากเหมือนเขา พร้อมกับชีวิตวิ่งเข้าหาแรงกดดันจากสังคม บวกกับเรื่องผีๆ ในหมู่บ้านที่ชวนให้ปวดหัว ก็ยิ่งทำให้ภาพครอบครัวในฝันของเขาต้องจบลง ก่อนหนังจะจบด้วยการสะท้อนว่า ครอบครัวที่เกิดจากความไม่พร้อมจะนำมาซึ่งปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้