URBAN UNTOLD | เรื่องเล่าที่คนทำสื่อไม่ได้เล่า

“ตอนแรกคิดว่าเขายื่นฟ้องในนามสื่อ แต่พบว่าเราโดนคนเดียวนี่นา”“เป็นสื่อต้องเสียสละ? ไม่จริง สื่อเองก็อยากจะสุขสบายเหมือนกัน” Urban Untold ชวนคนที่ต้องเล่าเรื่องของคนอื่นเป็นอาชีพอย่างนักสื่อสารมวลชน มาเล่าเรื่องของตัวเอง เรื่องที่คนอาจไม่รู้ หรือมองข้ามเพราะมองว่าเป็นหน้าที่ที่สื่อต้องเสียสละ Urban Creature ร่วมกับ Nabi Fellows Program โครงการเสริมศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาคุณค่าประชาธิปไตย ผ่านโครงการวิจัย การผลิตสื่อ และสารคดี

ไฮป์ขั้นสุด! บุกเวทีมวยปล้ำไทย

The Rock, Cody Rhodes, Wrestlemania XL สามชื่อที่กำลังมาแรงสุดๆ ของวงการมวยปล้ำ ทำให้คนไทยหลายคนพร้อมใจกันเริ่มหรือกลับมาดูมวยปล้ำกันอย่างสนุกสนาน Urban Creature ขอชวนทุกคนกลับไปดูบรรยากาศติดขอบเวที SETUP Thailand Pro Wrestling ค่ายมวยปล้ำไทยที่เดินทางมาไกล จากปล้ำบนเบาะเล็กๆ จนถึงวันที่มีคนดูจุสถานที่ และมีนักมวยปล้ำเบอร์ต้นๆ ของโลกอย่าง Zack Sabre Jr. และ EL Phantasmo ที่แฟนมวยปล้ำญี่ปุ่น อเมริกา และทั่วโลกต่างรู้จัก เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ และปล้ำโชว์ร่วมกับไลน์อัปนักมวยปล้ำไทยที่อยู่ร่วมกันบนเวทีได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร ปัจจุบันมวยปล้ำไทยมีพันธมิตรอยู่ทั่วโลก และได้มีการส่งยอดฝีมือไปแสดงฝีมือในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะค่ายยักษ์ใหญ่ของทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มวยปล้ำไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากใครมีโอกาสต้องมาสัมผัสด้วยตาตัวเอง

คุยเรื่องผังเมืองกับ รศ. ดร.นพนันท์

กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างที่มีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถติด น้ำท่วม ซอยตัน และไม่มีทีท่าว่าปัญหาเหล่านี้จะหายไปสักที อาจเพราะเทพไม่ได้ร่างแผนผังเมืองไว้ก่อน “ปัญหาของเราคือขาดช่วงของการทำงานด้านผังเมืองในช่วงที่มันมีการเติบโตสูงที่สุดของกรุงเทพฯ” Urban Creature คุยกับ รศ. ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นักวิชาการจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในผู้จัดทำ ‘ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4’ ถึงความสำคัญของผังเมืองและต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายจนสะท้อนไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย อ่านในรูปแบบบทความได้ที่ : urbancreature.co/city-plan-with-noppanan/

DRINKS ON ME เว็บไซต์บาร์ทิพย์ฮีลใจ

เมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด เหงา หรือเศร้า หลายๆ คนคงมีการระบายความรู้สึกที่แตกต่างกันไป บางคนอาจไปออกกำลังกายให้เหงื่อออกแทนน้ำตา บางคนอาจไปดื่มเพื่อให้ลืมเธอในแต่ละวัน แต่สุดท้ายความรู้สึกนี้อาจไม่หายไปตราบที่เรายังไม่ได้พูดระบายมันออกมา จะดีกว่าไหมหากเราระบายความรู้สึกเหล่านี้แล้วไม่ต้องกลัวว่ามันจะดูไม่ดีหรือกระทบความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว drinksonme.live คือเว็บไซต์ที่จะพาคุณไปคุยกับคนแปลกหน้า พร้อมเสียงเพลงและบรรยากาศราวกับอยู่ในบาร์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยค็อกเทลที่บอกความรู้สึกของตัวเราในวันนี้ พร้อมสกินแต่งตัวน่ารักๆ อีกมากมายให้เราได้เลือกสรร อีกทั้งได้เริ่มมีการขยับจากการคุยในบาร์ทิพย์กลายเป็นกิจกรรมการคุยกับคนแปลกหน้าในบาร์จริงทุกๆ เดือน เพื่อที่จะได้มารีเฟลกซ์ความรู้สึกของตัวเองหรือฮีลใจกันและกัน “ทำไมการคุยกับคนไม่รู้จักกันมันถึงฮีลใจกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ อันนี้เป็นฟีดแบ็กที่คนบอกเรามาหลังจากเข้าอีเวนต์ตลอด” Urban Creature คุยกับ ‘นะโม-ชลิพา ดุลยากร’ และ ‘ปั่น-วศิน วัฒนศรีส่ง’ ผู้ก่อตั้ง Drinks On Me ถึงที่มาที่ไปของเว็บไซต์ และความสำคัญของการฮีลใจที่เราอาจทำไม่ได้ด้วยตัวเองก็ลองให้คนแปลกหน้าเข้ามาช่วยเรา

เทพโลเคชัน หาโลเคชันถ่ายหนังแบบเทพๆ

เวลาเราดูภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง เราจะเห็นตัวละครอาศัยอยู่ในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดฯ ห้างฯ หรือโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองของเรา แต่คนที่ทำหน้าที่สรรหาและจัดการให้สถานที่เหล่านี้มาปรากฏบนจอคือคนทำอาชีพ Location Manager ที่ต้องตามหาโลเคชันตามโจทย์ของผู้กำกับ และดูแลความเป็นไปของกองถ่ายและสถานที่ให้ออกมาอย่างราบรื่นที่สุด “อาชีพ Location Manager คือการดูแลความรู้สึกของเจ้าของสถานที่และกองถ่าย ต้องเยียวยาจิตใจของทั้งสองฝ่าย” Urban Creature ในคอลัมน์ The Professional ชวนคุยกับ ‘เทพ-ธัญญเทพ สุวรรณมงคล’ เจ้าของเพจ ThepLocation (เทพโลเคชัน) ที่ทำอาชีพ Location Manager มาถึง 20 ปี มีผลงานทั้งภาพยนตร์ ละคร โฆษณา และซีรีส์ โดยพูดถึงเบื้องหลังการจัดการโลเคชันถ่ายทำ และการเล่าเรื่องสถานที่ที่ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ แต่คือผู้คน

ป๊อก ป๊อก รับหิ้วมื้อเด็ดส่งถึงที่

หากเราขี้เกียจจะเดินออกไปกินข้าวแต่อยากกินอาหารมากมาย สิ่งที่เราทำก็คงหนีไม่พ้นการสั่ง Food Delivery ให้มาส่งถึงหน้าบ้านของเรา แต่กว่าจะเลือกอาหารที่จะกินได้ก็คงเสียเวลาเลือกร้านอาหารที่ถูกใจไม่ใช่น้อย จะดีกว่าไหมถ้าหากมีบริการที่เลือกร้านอาหารเด็ดมาให้แล้วเราแค่เลือกจากในนั้น Pok Pok คือแพลตฟอร์มที่รวมร้านอาหารเด็ดมากมาย จนเหมือนกับเราไปเดินหาของกินใน Food Court ที่มีทั้งร้านดังที่มีชื่อเสียง หรือร้านเด็ดประจำถิ่น รับหิ้วมาให้เราในครั้งเดียว และหลายครั้งยังบริการส่งอาหารข้ามโซนโดยไม่เสียค่าส่ง อีกทั้งวิธีการที่ Pok Pok ให้ลูกค้าสั่งอาหารนั้นก็ง่ายดายจนติดใจกลุ่มผู้สูงวัยจนกลายเป็นลูกค้าประจำ Urban Creature คุยกับ ‘นาย-นัฐพงษ์ จารวิจิต’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Pok Pok ถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ และความคาดหวังที่จะกลายเป็น 1 ใน Food Delivery ที่ใครๆ ก็หันมาใช้กัน

Le Petit Restaurant ภัตตาคารอาหารที่เชฟให้น้อยแต่คนก็ยังมา

ในวัยเด็กที่ทุกคนเล่นจำลองสิ่งต่างๆ เช่น เล่นขายของ เล่นเป็นหมอรักษาคนไข้ หรือเล่นทำครัว ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กนี้อาจเลือนหายไปเมื่อเราโตขึ้นมาแล้วไม่ได้ประกอบอาชีพนั้น ‘Le Petit Restaurant’ คือร้านอาหารที่เชฟให้น้อยแต่คนก็ยังมา เพราะร้านนี้ชวนให้ทุกคนมาเปิดประสบการณ์การเล่นทำอาหารในวัยเด็กอีกครั้ง แต่ยิ่งพิเศษไปกว่าเดิมเมื่อการทำอาหารนี้เล็กจิ๋วยิ่งกว่าที่เราเคยเล่นในวัยเด็ก อีกทั้งยังสามารถทำอาหารออกมาแล้วกินได้จริงอีกด้วย Urban Creature คุยกับ ‘พลอยดาว ธีระเวช’ เจ้าของร้าน Le Petit Restaurant ถึงความเป็นมาของภัตตาคารอาหารจิ๋วที่อาจไม่ได้ทำให้อิ่มท้อง แต่สิ่งที่ได้กลับไปคือความรู้สึกและประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้รับแตกต่างกันไปตามวัย

คุยเบื้องหลังหนังธีสิสเด็กฟิล์ม กับ ‘อาจารย์ญาณิน พงศ์สุวรรณ’

การจะทำหนังสักเรื่องให้ออกมามีคุณภาพ ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท ไปจนถึงทีมโปรดักชัน กระบวนการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจึงต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แม้แต่หนังสั้นนักศึกษาของเอกภาพยนตร์ที่มีต้นทุนสูงขึ้นทุกปี Urban Creature ชวนมาสนทนาประเด็นนี้กับ ‘อาจารย์ญาณิน พงศ์สุวรรณ’ อาจารย์เอกภาพยนตร์ คณะไอซีที ของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยพูดถึงเบื้องหลังการศึกษาหลักสูตรภาพยนตร์ ที่ไม่ใช่แค่สอนทำหนัง แต่ยังรวมถึงการบริหารจัดการกับทุนสร้างให้พอดีและสอดคล้องกับคุณภาพของหนังที่ฉาย โดยที่อาจารย์ไม่ต้องกำหนดขอบเขตความคิดของนักศึกษาเพื่อที่จะลดต้นทุนในการสร้างหนังสั้น ตามไปฟังเบื้องหลังการเรียนของเด็กฟิล์มในบทสัมภาษณ์นี้

URBAN UNTOLD | เรื่องราวและมุมมองลูกหลานคนจีนที่อาจไม่เคยได้ยิน

TW : เนื้อหาในคลิปมีการพูดถึงความรุนแรงจากครอบครัว การทำร้ายร่างกาย และภาวะซึมเศร้า วันตรุษจีน คือวันที่คนไทยเชื้อสายจีนไหว้บรรพบุรุษของตัวเองเพื่อระลึกถึงอากงหรืออาม่าที่จากไป เป็นวันที่เราจะได้นั่งกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวด้วยอาหารไหว้ที่หลากหลายและพูดคุยอย่างมีความสุข ส่วนเด็กๆ จะได้รับแต๊ะเอียตามธรรมเนียมของวันตรุษจีนเพื่อเป็นคำอวยพรอีกด้วย แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสุขสันต์เช่นนั้น เพราะการเลี้ยงดูโดยมีวัฒนธรรมจีนอยู่ในสายเลือดของแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน จนอาจทำให้บางคนมีปมหรือเรื่องราวประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการเติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายจีนก็เป็นได้ และเรื่องราวเหล่านั้นก็ถูกซ่อนไว้ลึกข้างในโดยไม่ได้มีใครให้รับฟัง ประเดิมตอนแรกของรายการ Urban Untold กับการพาไปรับรู้เรื่องราวส่วนตัวของลูกหลานคนจีนที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน เพื่อนำมาเป็นบทเรียนของชีวิตและเดินก้าวต่อไปให้ไม่ซ้ำรอยกับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

เยียวยาหัวใจผ่านการรักษาตุ๊กตากับ Sewing Thing

ตุ๊กตาเน่าหรือผ้าเน่าคงเป็นสิ่งที่หลายคนเก็บไว้ตั้งแต่เด็กๆ จนปัจจุบัน บางคนอาจได้รับจากคุณแม่ คุณย่า หรือคนที่รักเราในสถานะใดก็ตาม และหลายคนก็คงยังไม่ได้อยากทิ้งมันไป เพราะภายในสิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นหรือผ้าที่เอาไว้ห่มอย่างเดียว แต่มันเต็มไปด้วยเรื่องราวหรือประสบการณ์ต่างๆ มากมายตั้งแต่ยังเล็กที่เราไม่อาจลืม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งของเหล่านี้ล้วนเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จนมันไม่อาจอยู่ในสภาพเดิม สิ่งของที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ช่วยเยียวยาใจของเราในวันที่แย่ๆ ก็อาจหายไปหากไม่มีคนคอยรักษามัน Urban Creature ในคอลัมน์ The Professional ชวนคุยกับ ‘พี่ตุ๊ก-พนิดา เตียวตระกูล’ หมอรักษาตุ๊กตาจากร้าน Sewing_thing ถึงอาชีพที่คอยเป็นคนรักษาน้องเน่า เพื่อรักษาใจของเราให้ยังคงอยู่ต่อไปในทุกวัน ติดตามร้านได้ที่ : www.instagram.com/sewing_thing

ย้อนความทรงจำย่านเมืองเก่า ผ่านลายเส้นของ Siradasue นักวาดเว็บตูน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เติบโตขึ้น วิถีชีวิตของคนในย่านเมืองเก่าก็ค่อยๆ เลือนหายไป บ้างเหลือไว้แค่เพียงความทรงจำ แต่ภาพในอดีตก็ถูกสะท้อนออกมาในลายเส้นการ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์ของ ‘Siradasue’ หรือ ‘โบว์-ศิรดา สื่อไพศาล’ เจ้าของผลงานใน LINE WEBTOON เรื่อง Blooming Days และ Moonlight Serenade “ตอนที่เขียนการ์ตูนเรื่องหนึ่งออกมา โบว์เขียนเพราะอยากนำเสนอภาพจำของย่านเมืองเก่าที่สวยงาม เพื่อที่คนอ่าน อ่านแล้วต้องรู้สึกอยากมาลองสัมผัสบรรยากาศแบบที่เห็นในการ์ตูนสักครั้ง” ผลงานของโบว์เป็นการหยิบเอาแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม อาคารสถานที่จริง จากความทรงจำและภาพปัจจุบันที่เธออาศัยอยู่ ทำให้การ์ตูนของเธอเป็นอีกสื่อที่ใช้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของผู้คน เพื่อให้คนอ่านได้ย้อนเวลากลับไปสัมผัสบรรยากาศในอดีตและมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีความตั้งใจว่าการ์ตูนจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอ่านรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่าเอาไว้

รู้จักการสร้างเมืองให้ปังด้วย CITY BRANDING

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเมืองเกียวโตในประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีอาคารสมัยใหม่และมีความเป็นเมืองมากมาย แต่สิ่งที่เราจำได้กลับไม่ใช่อาคารเหล่านี้ หากแต่เป็นบ้านไม้โบราณและวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นแทน เครื่องมือหนึ่งที่สร้างกระบวนการให้เมืองมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองนี้มีชื่อว่า ‘City Branding’ ซึ่งทำให้คนในชุมชนนั้นเห็นคุณค่าและศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ เพื่อที่จะกลายเป็นจุดขายของเมืองให้ดึงดูดคนเข้ามาพัฒนาสิ่งต่างๆ ในเมือง ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่อีกด้วย Urban Creature ชวน ‘อาจารย์อั๋น-ผศ. ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย’ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง และ ‘อาจารย์กบ-ผศ.ศรันยา เสี่ยงอารมณ์’ รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คู่หูทำงานวิจัยเกี่ยวกับ City Branding มาพูดคุยกันถึงเครื่องมือนี้อย่างเจาะลึก และการใช้มันออกแบบเมืองให้ดึงดูดคนนอกมาท่องเที่ยว พร้อมกับทำให้คนในรักษาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่ไว้ได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : urbancreature.co/city-branding #UrbanCreature #Scoop #ThinkThoughtThought #CityBranding #City #Architecture #สถาปัตย์ #สถาปัตยกรรม #สร้างเมืองให้ปัง

1 2 3 4 5 6 24

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.