สัญญาณไฟเหลือง เตรียมหยุด หรือ เตรียมเหยียบ
ฮันแน่~ ชอบเร่งเครื่องตอนเห็นไฟเหลืองกันหรือเปล่า ถ้าเคยทำหรือยังทำอยู่อยากให้ลองอ่านเรื่องราวเหล่านี้ดูสักนิด แล้วคุณอาจจะเปลี่ยนความคิดใจเย็นลง เมื่อไฟสีเหลืองอำพันแสดงอยู่บนเสาสัญญาณจราจร เราต้องทำตัวอย่างไรดี หลักการทำงานง่ายๆ ของไฟจราจรคือการใช้สีบ่งบอกสัญญาณการขับขี่ ไฟเขียวคือสัญญาณให้รถวิ่ง ในทางกลับกันไฟแดงคือสัญญาณบ่งบอกว่าให้หยุดรถ ทว่าไฟเหลืองกลับมีความพิเศษมากไปกว่านั้น เพราะสำหรับบางคนเห็นไฟแล้วเตรียมตัวหยุด แต่หลายคนเมื่อเห็นไฟเหลืองก็เปลี่ยนตัวเองเป็นวัวกระทิงที่พร้อมพุ่งกระโจนใส่ไฟเหลืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีโอกาสก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่าปกติ | ขับรถฝ่าไฟเหลืองผิดมั้ยนะ คำตอบคือผิด แต่มีข้อยกเว้นบางกรณีอ้างอิงตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ระบุไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้าในกรณีต่อไปนี้ สัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพัน ให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถหลังเส้น เพื่อเตรียมปฏิบัติตามสัญญาณที่จะปรากฏต่อไป เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่ได้ขับเลยเส้นรถหยุดไปแล้วขณะเกิดไฟเหลืองให้ขับรถเลยไปได้ เท่ากับว่าถ้าขับรถผ่านเส้นหยุดก่อนที่ไฟเหลืองขึ้นมีโทษปรับ 1,000 บาท นั่นเอง | แต่ในบางครั้งเราก็ไม่ได้ตั้งใจขับรถฝ่าไฟเหลือง หากไม่นับในบางครั้งที่เราอาจไม่ได้ตั้งใจจะทำผิด แต่การออกแบบสัญญาณไฟจราจรดันไม่เอื้อต่อการขับขี่เท่าที่ควร เช่น สัญญาณไฟจราจรบางแยกไม่มีตัวเลขนับถอยหลังระบุให้ชัดเจน หนำซ้ำบางแยกไฟเขียวยังไม่มีฟังก์ชันกะพริบเพื่อส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ก่อนจะเปลี่ยนเป็นไฟเหลือง แต่จะเปลี่ยนแบบฉับพลันในขณะที่รถขับด้วยความเร็ว ทำให้ชะลอรถไม่ทันเพราะการเบรกกะทันหันอาจจะเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ จึงต้องตัดสินใจขับรถฝ่าไปในที่สุด ความจริงตามกฎจราจรประเทศไทยมีระยะเวลาไฟเหลืองเฉลี่ยราว 3 วินาทีบวกกับระยะเวลาไฟแดงของจุดอื่นอีก 2 วินาทีเพื่อความปลอดภัย โดยระยะเวลาดังกล่าวถูกคำนวณให้คนขับมีเวลาเพียงพอเพื่อจะหยุดรถทันเมื่อขับขี่รถด้วยความเร็วตามกฎหมาย แต่หากขาดสัญญาณบอกก่อนเปลี่ยนสีก็ยากที่จะคำนวณระยะในการเบรกรถได้ ซึ่งพบว่าแยกไหนมีระยะเวลาไฟเหลืองต่ำกว่า 3 วินาที สามารถแจ้งสำนักจราจรฯ กทม. มาแก้ไขให้ตรงมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยเช่นกัน […]