‘สรรพสิ่งล้วนถูกกัดเซาะไปตามคลื่นลม’ สำรวจกรอบและเขตแดนที่กางกั้นใน Solids by the Seashore

ปกติแล้วหนังที่มีประเด็นใหญ่ๆ ชัดๆ มักจะนำเสนอเรื่องราวโดยให้ตัวละครชี้ไปยังปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเห็นสถานการณ์เหล่านั้นอย่างชัดเจน ก่อนจะพยายามนำพาให้ตัวละครชักจูงผู้ชมไปหาหนทางต่อสู้แก้ปมปัญหานั้นๆ ทว่าสำหรับภาพยนตร์ ‘Solids by the Seashore’ หรือ ‘ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ ผลงานกำกับของ ‘อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก’ ที่ก็ดูเป็นหนังไทยที่เต็มไปด้วยหัวข้อประเด็นใหญ่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่นของรัฐ ความแตกต่างทางศาสนาไทยพุทธและมุสลิม และความสัมพันธ์ของหญิงสาวทั้งสอง ซึ่งแตะทั้งมิติการเมือง ศาสนา เพศสภาพ ที่เป็นเรื่องอ่อนไหว เล่าด้วยน้ำเสียงที่เป็นกลางค่อนข้างยาก และยากที่จะจับประเด็นทั้งหมดมาเล่าพร้อมกันให้ออกมากลมกล่อม กลับไม่ได้พยายามตะโกนป้อนข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้ชมเลยสักนิด ทั้งที่ประเด็นต่างๆ ทับซ้อนเกาะเกี่ยวกันมากมาย แต่การเล่าเรื่องก็เป็นไปดั่งชื่อ ‘ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ หนังเพียงแค่ทำหน้าที่พาผู้ชมไปจับจ้องคลื่นลมทะเล หาดทราย ภูมิลำเนาของจังหวัดสงขลาผ่านตัวละครทั้งสอง จนไม่แปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกว่าเป็นหนังส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด เนื่องจากฉายภาพวิวทิวทัศน์ความสวยงามของหาดทราย สถานที่ต่างๆ ในจังหวัด มากกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่นั่นแหละ การค่อยๆ จับจ้องความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งจากธรรมชาติที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปอยู่แล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยจุดประสงค์บางอย่าง รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อแบบเก่า และความคิดแบบใหม่ที่ค่อยๆ ผ่านเข้ามา ก็เป็นวิธีการบอกเล่าที่เรียบง่ายและทำให้คนเห็นปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนเช่นกัน สิ่งปลูกสร้างของภาครัฐที่ยับยั้งความเป็นไปของธรรมชาติ […]

สำรวจคลื่นทะเลในใจและปัญหาชายหาดสงขลาใน ‘Solids by the Seashore’ หนังแซฟฟิกไทยที่ไปคว้ารางวัลที่เกาหลีใต้

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival : BIFF) ครั้งที่ 28 ที่ผ่านมา มีสองหนังไทยที่ได้เข้าฉายในเทศกาลและได้รับรางวัลติดไม้ติดมือกลับมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ ‘Solids by the Seashore ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ โดยผู้กำกับ ‘อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก’ น่าเสียดายที่แม้ว่าจะไปคว้าถึงสองรางวัลจากเทศกาลหนังระดับนานาชาติ แต่ Solids by the Seashore กลับมีที่ทางในการฉายแสนจำกัดแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะนอกจากรางวัลที่การันตีคุณภาพแล้ว หนังเรื่องนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งไม่ค่อยมีหนังไทยเลือกหยิบมาบอกเล่านัก ตั้งแต่การพาไปสำรวจความซับซ้อนในใจของมุสลิมที่มีหัวก้าวหน้าและเป็นเควียร์ การเมืองท้องถิ่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมชายหาดกัดเซาะ ไปจนถึงการใช้งานศิลปะสะท้อนความในใจของสองตัวละครหลัก ซึ่งคนหนึ่งเป็นหญิงสาวชาวใต้ที่มีครอบครัวมุสลิมอนุรักษนิยม และอีกคนคือศิลปินหญิงหัวขบถจากในเมืองที่เดินทางมาจัดนิทรรศการศิลปะ พ้นไปจากความรักความสัมพันธ์ของหญิงสาวทั้งสองที่พยายามหาที่ทางให้ตัวเองภายใต้กรอบที่ขีดกั้น การที่ฉากหลังของความสัมพันธ์เป็นสิ่งแวดล้อมของทะเลที่งดงามและความอัปลักษณ์ของเขื่อนหินกันคลื่นกับเม็ดทรายแปลกปลอม ก็สื่อสารถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองได้อย่างแยบคาย คงดีไม่น้อยถ้าคนในจังหวัดอื่นๆ จะได้ชมหนังเรื่องนี้ด้วย Solids by the Seashore ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์ House Samyan และ Doc Club & Pub.

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.