‘บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู’ นิทรรศการที่ชวนตั้งคำถามถึงการพัฒนาสามย่านที่สวนทางกับชุมชน
ที่ผ่านมากรุงเทพฯ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการวางผังเมืองที่ชัดเจน ทำให้เกิดชุมชนที่พัฒนาไม่ทันเมือง อย่างเช่น ‘ชุมชนสามย่าน’ บริเวณถนนพระราม 4 การพัฒนาทำให้พื้นที่บริเวณสามย่านมีค่าเช่าสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบางส่วนแบกรับไม่ได้ ปรเมษฐ์ จิตทักษะ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มากว่า 20 ปี จึงเปลี่ยนประสบการณ์และความทรงจำที่มีกับชุมชนในสามย่านซึ่งพยายามปรับตัวให้ทันระบบทุนนิยมและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยการตั้งคำถามที่ว่า ‘ทำไมเราถึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ ในงานนิทรรศการแสร้งเสมือนจริง ‘บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู’ นิทรรศการนี้ไม่ใช่แค่นำเสนอเรื่องราวให้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด แต่นำเสนอมุมมองและเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จินตนาการผ่านกระบวนการดิจิทัล คล้ายๆ การเล่นเกมที่มีองค์ประกอบของภาพและเสียงจริงๆ สอดแทรกอยู่ นับเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานโดยความร่วมมือระหว่างศิลปินกับศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล (FAAMAI) เจ้าของพื้นที่โดมรูปทรงเรขาคณิตที่เป็นนวัตกรรมสำหรับการจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ในสามย่าน นิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมในเว็บไซต์ faamai.wpcomstaging.com/home/ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 30 เมษายน นี้