น้ำแล้งยันน้ำเค็ม คือผลพวงที่มาคู่กันอยู่เสมอ นับว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหนีได้ ซึ่งหากมีการจัดการระบบน้ำอย่างจริงจังก็คงจะหลุดพ้นบ่วงนี้ไปโดยไม่ยาก แต่มักจะกระตุกบ่อยตรงคำว่างบประมาณ… เอาล่ะ ! ในเมื่อยังไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำประปากร่อย รวมถึงแม่น้ำลำคลองเค็มอย่างยั่งยืน แถมประชาชนและเกษตรกรยังต้องตั้งท่ารับแล้วเฝ้าระวังอยู่ไม่ห่าง เราเลยจะพามาทำความเข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของความเค็มความกร่อย วิธีรับมือที่พอจะทำได้ รวมถึงทางออกที่อยากให้เกิดขึ้นจริง ‘น้ำเค็ม’ มีเหตุผล เรื่องนี้มีที่มา… น้ำเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุน เป็นสิ่งที่วนเวียนตามเวลาเสมอ แต่มักจะได้น้ำจืดมาเป็นผู้ช่วยคอยผลักดันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาใกล้พื้นที่ต่างๆ ยิ่งเป็นโซนของชาวสวนชาวไร่ยิ่งต้องระวังเป็นอย่างมาก แต่ปีนี้เคราะห์ซ้ำกรรมซัด กลับเกิดภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าปกติ ทำให้หลายพื้นที่เต็มไปด้วยน้ำเค็ม น้ำประปาจึงมีค่าความเค็มสูงขึ้นเล็กน้อย และมีรสชาติกร่อย ส่วนน้ำเค็มนั้นไม่ได้อยู่กับคนไทยตลอดไป อาจจะต้องตั้งท่ารอให้น้ำจืดมาช่วย หรือรอให้ฝนตกแต่คงอีกหลายเดือน และน้ำเค็มก็มีขึ้นลงตามปฎิทินดวงจันทร์ จะเค็มมากหรือน้อยคงแล้วแต่วัน อย่างไรก็ดีตอนนี้บางจุดถือว่าเป็นผู้ประสบภัย จำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือและปรับตัวกับภัยแล้งครั้งนี้ คนทั่วไปได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เริ่มจากประชาชนตาดำๆ อย่างเราก่อน เมื่อน้ำเค็มกระทบเข้ามา น้ำประปาจึงมีค่าความเค็มสูงขึ้นแต่ไม่มากอย่างที่คิด โดยปัจจุบันโซเดียมที่แทรกซึมอยู่ในน้ำประปามีค่าประมาณ 100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งไม่เกินความเค็มในรูปคลอไรด์ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือเทียบกับโซเดียม 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และหากเกินค่าดังกล่าวจะสูงกว่าคำแนะนำที่ขององค์การอนามัยโลกกำหนด สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี บางจุดจะเจอน้ำประปารสชาติกร่อย ซึ่งเป็นรสชาติที่ไม่น่าดื่มสักเท่าไหร่ แต่ทางแพทย์ได้ออกมายืนยันแล้วว่า คนปกติที่ไม่มีอาการป่วยแทรกซ้อน สามารถดื่มได้ไม่มีอันตรายแน่นอน […]