ทางออกความรุนแรงผ่าน ‘แนวทางการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม’
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและหลากมิติ ตั้งแต่ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการกีดกันหรือไม่ให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยทางด้านสัญชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือภาษา ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจและอาจเป็นแรงผลักให้บุคคลหรือกลุ่มคนไปสู่ ‘แนวความคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง’ (Violent Extremism) ในระดับสังคม ประเทศ และโลก ถือเป็นภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟูมฟักของอุดมการณ์และความคิดสุดโต่งที่อาจพัฒนาไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกและความรุนแรง สหประชาชาติเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกพิจารณาพัฒนา ‘แผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง’ (National Action Plans to Prevent Violent Extremism) เพื่อส่งเสริมแนวทางที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาต้นตอที่ทำให้คนหันไปนิยมแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง โดยแนวทางหลักที่ใช้คือ การสร้างความอดทนอดกลั้น เฉลิมฉลองความแตกต่างหลากหลาย และแก้ปัญหาตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับสถานะและความปลอดภัยของกลุ่มเปราะบาง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งองคาพยพ และที่สำคัญ เป็นแผนที่พัฒนาโดยแต่ละประเทศเอง จึงเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีความรุนแรงสุดโต่งปรากฏให้เห็นชัด แต่สังคมไทยมีความท้าทายหลายมิติ โดยเฉพาะความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบาง ที่ก่อให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายและขั้วความคิดที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหตุนี้ ประเทศไทยจึงลงนาม ‘แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและการต่อต้านการขยายตัวของการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง 2562 […]