เห็นตัวหนังสือเป็นสี สัมผัสพิเศษจาก ‘ซินเนสทีเซีย’ - Urban Creature

นายแพทย์ริชาร์ด อี ไซโทวิค (Richard E. Cytowic, MD) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องซินเนสทีเซีย และผู้แต่งหนังสือ ‘The Man Who Tasted Shapes’ (‘ชายผู้ลิ้มรสเป็นรูปร่าง’) เผยข้อมูลว่า

โอกาสที่จะพบคนมีอาการซินเนสทีเซียมีประมาณ 1 ใน 25,000 คน

ปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์เราจะรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นคือ การมองเห็น, การดมกลิ่น, การล้ิมรส, การสัมผัส และการได้ยิน แต่หากวันหนึ่ง ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า เรามีสัมผัสพิเศษเพิ่มเข้ามาในร่างกาย สัมผัสพิเศษที่ว่า คือ ‘การรับรู้ข้ามช่องสัมผัส’ อย่างการมองเห็นเชื่อมการฟัง การสัมผัสไปเชื่อมกับรสชาติ อาการเหล่านี้ เรียกว่า ‘ซินเนสทีเซีย’

ซินเนสทีเซีย คืออะไร มีอาการแบบไหนถึงเข้าข่ายว่าเป็น แล้วหากเกิดอาการซินเนสทีเซียจะทำอย่างไร หรือมันจะเปลี่ยนให้คุณดูเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า มาค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน

What Is Synesthesia ? | ซินเนสทีเซียคืออะไร ทำไมถึงมี ‘สี’ เป็นตัวนำทาง

ก่อนอื่นเราอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ซินเนสทีเซีย (Synesthesia) ’ เป็นเพียง “อาการ” หรือ “ลักษณะพิเศษ” ไม่ใช่โรคที่เป็นอาการป่วย หรือความผิดปกติของสมองแต่อย่างใด แต่มันคือ ‘การรับรู้ข้ามช่องสัมผัส’ ที่ร่างกายเราสามารถรับประสาทสัมผัสได้ตั้งแต่ 2 ทางขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองหลายส่วน เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม โดยมีการศึกษาพบว่า คนที่มีอาการซินเนสทีเซียมักจะถนัดซ้าย และมีความจำดีกว่าคนส่วนใหญ่ เช่น สามารถจำเลขบัตรเครดิตยาวเหยียดได้อย่างแม่นยำ

The Sixth Sense | ส่วนรับรู้ในสมองผิดพลาด คีย์หลักที่ทำให้เกิดอาการซินเนสทีเซีย

มองเห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และฟังเสียง คือประสาทสัมผัสขั้นพื้นฐานของร่างกายมนุษย์ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การทำงานของสมองที่เชื่อมต่อกับส่วนรับรู้เกิดความผิดพลาด สัมผัสพิเศษที่ 6 หรือ อาการซินเนสทีเซียจึงเกิดขึ้นมา

ส่งผลให้เวลาคนที่มีอาการซินเนสทีเซีย อาจมองเห็นตัวหนังสือเป็นสี สัมผัสของแล้วได้กลิ่น ได้ยินเสียงแล้วมีสี หรืออาจเป็นการสลับสับเปลี่ยนประสาทสัมผัสอื่นๆ ซึ่งมีผลสำรวจออกมาว่า อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ เห็นตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นสี (colored letters and numbers) และได้ยินเสียงเป็นสี (colored hearing) แบ่งเป็นเห็นตัวอักษร หรือตัวเลขเป็นสี 69% รองลงมาคือ ได้ยินเสียงแล้วเห็นสี 20% และชิมรสชาติเห็นเป็นสี รวมกับฟังเสียงแล้วมีกลิ่นอีก 11% ซึ่งจะเป็นอาการที่ติดตัวไปตลอดชีวิต นั่นหมายถึง หากเราเห็นตัว A เป็นสีชมพูแล้ว เราก็จะมองตัวอักษรนี้เป็นสีชมพูตลอดไป

Fantastic Four | 4 ลักษณะ สุดพิเศษของอาการซินเนสทีเซีย

อาการซินเนสทีเซีย สามารถแบ่งออกได้หลายร้อยลักษณะ ขึ้นอยู่กับการรับรู้สัมผัสที่แตกต่างกันออกไป ร้อยเรียงช่องสัมผัสต่างๆ แล้วเชื่อมโยงจนเกิดความพิเศษอันหลากหลาย และภายในหนึ่งคนอาจมีอาการซินเนสทีเซียได้หลากหลายรูปแบบอีกด้วย

แต่เพื่อให้เราสามารถเข้าใจรูปแบบของอาการซินเนสทีเซียได้ง่ายขึ้น ‘Dr. Ashok Jansari’ หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันจิตเวชแห่ง University of East London ได้กำหนดรูปแบบของซินเนสทีเซียไว้ 4 แบบดังนี้

1.Grapheme – colour synesthesia : มีอาการเห็นตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นสี
2.Tastetouch synaesthesia : มีอาการเกิดความรู้สึกต่างๆ หลังจากการลิ้มรสชาติ
3.Soundcolour synaesthesia : มีอาการได้ยินเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือตัวโน้ตทำให้เห็นเป็นสี
4.Wordtaste synesthesia : มีอาการสัมผัสรสชาติได้จากตัวอักษร

Carol Steen | อ่านตัวหนังสือมีสี ฟังดนตรีเห็นสีสัน เข็มแทงผิวหนังเห็นรูปร่าง

สัมผัสพิเศษซินเนสทีเซียไม่ได้สร้างความแปลกประหลาด หากแต่เป็นพรสวรรค์ที่หยิบมาสร้างสรรค์และถ่ายทอดการรับรู้ที่น่ามหัศจรรย์ผ่านงานศิลปะ อย่างศิลปินหญิงในนิวยอร์กชื่อ ‘Carol Steen’ ผู้มีอาการซินเนสทีเซีย และเธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม ‘American Synesthesia Association’ อีกด้วย

หนึ่งในผลงานของแครอลที่อธิบายความเป็นซินเนสทีเซียได้ดี ก็คือ “Orange is my default color for pain” เธออธิบายว่า “ตอนนั้นฉันอยู่ที่คลินิกทำฟัน และหมอกำลังใช้เครื่องเจาะฟันซึ่งฉันไม่ชอบเสียงของมันเอาเสียเลย ในนาทีนั้นฉันก็เห็นสีส้มขึ้นมาเต็มตา จึงทำให้ฉันรู้ว่าสีส้มนั้นแทนความเจ็บปวด”

เธอได้กลิ่นเป็นสี มองเห็นตัวเลขและตัวอักษรเป็นสี ได้ยินเสียงเป็นสี รวมไปถึงการสัมผัสที่ทำให้เธอเห็นเป็นสีและรูปร่าง เช่น การถูกเข็มแทงที่ผิวหนัง แครอลเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกเป็นศิลปิน คือฉันอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่ฉันรับรู้ สิ่งที่ฉันเห็นซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแสงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง และการเคลื่อนไหวของสีสัน ฉันถูกถามบ่อยครั้งว่า หากเป็นไปได้ฉันอยากจะหายจากอาการนี้ไหม คำตอบของฉันคือไม่ อันที่จริงแล้วฉันอยากจะเห็นรูปแบบที่หลากหลายกว่านี้เสียด้วยซ้ำ เพราะสีที่ฉันเห็นมันงดงามมากจริงๆ”

Melissa McCracken | สร้างงานอาร์ตจากดนตรีมีสี

‘Melissa McCracken’ คืออีกหนึ่งศิลปินที่หยิบอาการซินเนสทีเซีย มาวาดลวดลายสร้างงานศิลป์ โดยเธอมีอาการได้ยินเสียงแล้วมองเห็นสี จึงใช้ความพิเศษนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ ‘ภาพวาดสีน้ำมัน’ จากการฟังเพลง

ไม่ว่าจะเป็นเพลง Imagine ของศิลปินระดับตำนานอย่าง John Lenon ที่เมื่อ Melissa McCracken ได้ฟังแล้ว เธอเห็นเป็นสีโทนเย็นตัดกับสีโทนร้อน, เพลง Karma Police ของ Radiohead ที่เธอสาดสีสันฉูดฉาดร้อนแรงลงบนผืนผ้าใบยามได้ฟัง หรือจะเป็นเพลง Life On Mars ? ของ David Bowie ที่ได้ภาพหลากสีสันผสมผสานกันจนเกิดความหมายในแบบฉบับของเธอเอง

“ฉันหวังว่า งานศิลปะที่เกิดจากอาการซินเนสทีเซียของฉัน จะช่วยเปิดประสบการณ์ และเปิดใจให้คนอื่นๆ ได้มองเห็นสิ่งใหม่ๆ และฉันตั้งใจให้ทุกคนมองภาพศิลปะด้วยจิตสำนึกของตัวเอง ใช้ความรู้สึกนึกคิดเป็นตัวชี้วัดผลงานแต่ละชิ้น” – Melissa McCracken

นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากการฟังเพลงของเธอ รวมไปถึงงานศิลปะอื่นๆ ซึ่งสามารถไปเสพศิลป์ที่มาจากอาการซินเนสทีเซียของ Melissa McCracken ได้ที่ https://www.melissasmccracken.com/


Sources : https://www.psychologytoday.com/us/basics/synesthesia

https://goodlifeupdate.com/healthy-body/121291.html

https://www.melissasmccracken.com/work

https://youtu.be/s0p8En8nEy4

Graphic Designer : Sasicha H.

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.