มิงกะลาบา! แวะทักทายเพื่อนบ้านที่ Little Myanmar - Urban Creature

รถมอไซต์ swap & go
รถมอไซต์ swap & go

อย่างที่เรารู้กันดีว่า เพื่อนบ้านใกล้ชิดสนิทสนมอย่างเมียนมาหรือพม่านั้น มีความสัมพันธ์กับคนไทยมายาวนานตั้งแต่อดีต ด้วยมีพรมแดนติดกันยาวตั้งแต่ภาคเหนือยันภาคใต้ ไปมาหาสู่กันก็ง่ายดายมาแต่ไหนแต่ไร จนทุกวันนี้บ้านเราถือเป็นปลายทางยอดนิยมในการเข้ามาทำงานของคนเมียนมา มองไปทางไหนก็พบเห็นกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

และตามประสาของคนพลัดถิ่น เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยในต่างที่ ก็เริ่มรวมกลุ่มกันก่อตัวเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ไว้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนซื้อของกินของใช้จากบ้านเกิดกันบ้าง ช่วยให้พอได้ประทังความคิดถึงบ้าน ไม่ต่างจากที่เรามีไทยทาวน์ในต่างประเทศ หรือในกรุงเทพฯ เอง ก็มีโซนของชาวต่างชาติอย่างไชนาทาวน์ ที่เยาวราช หรือ Little India ในย่านพาหุรัด ที่เป็นลักษณะคล้ายๆ กัน

แต่สำหรับชุมชนคนเมียนมาในประเทศไทย กลับกลายเป็นว่าเรามักคิดถึงแหล่งสำคัญๆ ที่นึกปุ๊บตอบปั๊บอย่างมหาชัย และแถบสำโรงเสียมากกว่า จุดนี้เองที่ชวนเราตั้งคำถามขึ้นมาว่า แล้วในเมืองหลวงของเรามีชุมชนคนพลัดถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านบ้างไหม 

ตลาดพระโขนง ใกล้กับถนนสุขุมวิท ถนนสายเศรษฐกิจสำคัญเป็นคำตอบนั้น เพราะที่นี่เอง ถือเป็นอีกศูนย์รวมหนึ่งของพี่น้องชาวเมียนมา ที่เข้ามาอยู่อาศัยและตั้งเป็นชุมชนขนาดย่อมๆ ใจกลางกรุง จนหลายคนขนานนามให้เป็น Little Myanmar ด้วยเช่นกัน 

วันนี้เราเลยขออาสาพาไปสัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนคนเมียนมาแห่งย่านพระโขนง ผ่านอาหารการกินทั้งคาวหวาน ไปจนถึงของใช้ประจำวัน ที่บรรยากาศด้านในไม่ต่างจากเราข้ามแดนไปเที่ยวเมียนมาจริงๆ

swap & go ที่ myanmar

ก่อนจะเริ่มต้นทริป Neighboroot คราวนี้ เราขอเลยไป Swap แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของ Swap & Go ที่ PTT Station กล้วยน้ำไท กันก่อน เพื่อการใช้งานแบบต่อเนื่องไม่สะดุด เพราะแบตฯ เต็มๆ ของเขานี่ขับได้ถึง 50 กิโลเมตรเลย แถมสถานีที่เราไปก็ไม่ไกลมากนักจากจุดหมายในวันนี้ และที่สำคัญ คนแถบนี้ขี่มอเตอร์ไซค์กันแทบจะเป็นพาหนะหลัก เนื่องจากทะลุตรอกซอกซอยได้สบายๆ

swap & go ที่ myanmar

ใครที่กำลังจะเตรียมตัวจดลายแทงมาตามรอยแบบเรา ไหนๆ แล้ว อย่างที่คนโบราณบอกไว้ เข้าเมืองตาหลิ่วอย่าลืมหลิ่วตาตาม เพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง ลองเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go มาขี่ตะลุยย่าน Little Myanmar ก็เป็นตัวเลือกที่ดีมาก

วิธีการใช้ก็สะดวกและรวดเร็ว ไม่ยุ่งยากเลย เพียงแค่ติดต่อเจ้าหน้าสอบถามรายละเอียดตารางรถว่างได้ที่ Line @swapandgo หากมีรถว่างสามารถนัดวันรับรถ แล้วสมัครสมาชิกผ่านแอปพลิเคชัน Swap & Go เลือกแพ็กเกจอะไรให้เรียบร้อย ทำรายการจ่ายเงินผ่านแอปฯ ในโทรศัพท์ก็พร้อมใช้งาน การใช้งานก็ง่ายๆ เพียงถึงหน้าสถานีสลับแบตฯ ด้วยเวลาเพียงแค่ 3 นาที ก็เปลี่ยนแบตฯ ที่เต็มเสร็จเรียบร้อย เติมพลังให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมออกเดินทางในวันนี้แล้ว

swap & go ที่ myanmar

หากเข้ามาจากปากซอยสุขุมวิท 71 ‘ซอยสุขอุทิศ’ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการเดินทางของเราในครั้งนี้จะอยู่ด้านขวา มองผิวเผินอาจจะไม่รู้เลยว่ามีชุมชนชาวเมียนมาอยู่ด้านใน เพราะบรรยากาศภายนอกแทบไม่ได้ต่างอะไรจากตลาดทั่วไปเลย จนกระทั่งเข้าไปเรื่อยๆ จะเริ่มเห็นแผ่นป้ายของร้านค้าต่างๆ ที่เขียนภาษาพม่าขึ้นตามระยะทางที่เข้าไป

ผัดไทยกุ้งสด

ไม่แน่ใจว่าชาวเมียนมาที่เข้ามาจับจองพื้นที่ย่านพระโขนงแห่งนี้เป็นที่พักอาศัยมากันนานแค่ไหนแล้ว แต่ก็พอได้เบาะแสนิดหน่อยจาก เจ๊วัลย์ ซึ่งขายผัดไทยหอยทอดอยู่ปากซอยสุขอุทิศมากว่า 30 ปี เรียกได้ว่าเป็นผู้เห็นแทบทุกความเป็นไปของผู้คนในซอยแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า ชุมชนคนเมียนมาที่นี่เริ่มฟอร์มตัวมาได้เป็นสิบปีแล้ว และค่อยๆ ทยอยเข้ามาอยู่กันมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดแผงขายของกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะช่วงหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในบ้านเขาเมื่อปีที่แล้ว

ได้ข้อมูลคร่าวๆ จากปากเจ๊วัลย์ รุ่นเก๋าประจำย่านแล้ว งั้นเราขับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go เข้าไปเยือน Little Myanmar พร้อมกับทักทาย ‘มิงกะลาบา’ – สวัสดีพี่น้องชาวเมียนมาด้วยกันเลย

ข้าวแกง

ในอดีต ย่านพระโขนงถือเป็นย่านการค้าที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ สังเกตได้จากห้างสรรพสินค้าตั้งเรียงรายกันเป็นแถว และโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนรุ่นเก่าที่เปิดขึ้นในละแวกเดียวกันหลายโรง แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว เหลือเพียง ‘พระโขนงรามา’ เป็นสัญลักษณ์คู่ย่าน ตั้งเด่นท้าทายกาลเวลาอยู่กลางตลาดพระโขนง ซึ่งก็ปิดตัวลงไปแล้ว

ตลาดพระโขนงเองขึ้นชื่อว่ามีร้านอาหารของชาวเมียนมาหลายร้าน แต่ที่เห็นว่ามีเยอะเลย คือร้านขายข้าวแกง สังเกตได้ง่ายๆ จากหม้อและถาดใส่อาหารที่วางเรียงรายอยู่หน้าร้านไม่ต่างจากร้านข้าวแกงแบบไทย เราเลยขี่เข้าตามทางมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาหยุดอยู่หน้าร้านข้าวแกงร้านหนึ่งที่แน่นไปด้วยลูกค้านั่งเต็มโต๊ะที่มี 3 – 4 ตัวด้านใน น่าจะการันตีได้ว่าอร่อยรสชาติดีแน่นอน

เราจอดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไว้ที่ด้านหน้าร้าน ซึ่งข้อดีหนึ่งของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go คือขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ทำให้เวลาจอดก็ไม่กีดขวางทางสัญจรของคนในซอย

เจ้าของร้านข้าวแกงเล่าให้ฟังว่า ตนไม่ใช่พม่า แต่เป็นชาวกะเหรี่ยง อีกชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในประเทศเมียนมา โดยเขาเริ่มต้นทำงานในไทยตั้งแต่เมื่อ 22 ปีก่อน เมื่อเริ่มทำงานหนักไม่ไหว เลยหันมาเปิดร้านขายข้าวแกงกับครอบครัวที่ตลาดพระโขนงแห่งนี้ได้ 18 ปีแล้ว ยังทันตอนโรงหนังต่างๆ เปิดให้บริการกันอยู่ ก่อนที่ชาวเมียนมาจะเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ สร้างตัวจนเป็นเจ้าของแผงอย่างในปัจจุบัน

“รสชาติจะต่างจากอาหารไทยนิดหน่อย คนพม่าจะชอบกินเผ็ดๆ มันๆ” เขาเฉลยถึงความต่างระหว่างอาหารของทั้ง 2 สัญชาติ พลางชี้นำเสนอเมนูต่างๆ ที่วางอยู่เต็มหม้อ บางอย่างคุ้นตาคล้ายของไทย แต่บางอย่างก็ดูแปลกใหม่สำหรับเรา จากที่สังเกต เราเห็นด้วยดังที่เจ้าของร้านว่า อาหารพม่าดูรสจัดและมีความมันกว่าอาหารไทยมาก

ส้มตำ

ไม่นานนัก อาหารที่เราขอให้ร้านจัดมาให้ลองก็วางอยู่ที่โต๊ะ จานแรกเป็น ‘เลอะเพ็ตโตะ’ หรือยำใบชา อาหารประเภทยำไว้กินเล่นของคนเมียนมา ส่วนประกอบหลักเป็นสารพัดถั่วและใบชาหมัก ออกเค็มๆ มันๆ เป็นกับแกล้มกับเครื่องดื่มเย็นๆ คงดีไม่น้อย และอีกจานที่ได้ลองชิม คือยำเส้นข้าว หน้าตาคล้ายสปาเกตตี คลุกเคล้าพร้อมกับผักต่างๆ ถึงจะรสชาติไม่คุ้นปาก แต่ก็อร่อยตามแบบฉบับของอาหารพม่า และแน่นอนว่ายังคงความมันเป็นเอกลักษณ์

กินข้าวที่พม่า

“เราอยู่ที่นี่มานานมากแล้ว ก็อยู่ด้วยกันกับคนไทยนี่แหละ ช่วยๆ กัน รักกันเหมือนพี่น้อง” เจ้าของร้านข้าวแกงเอ่ยขึ้น ก่อนขอบคุณด้วยรอยยิ้ม

อาหารพม่า

หลังจากได้ลองของคาวไปแล้ว ยังมีขนมหวานหน้าตาน่ากินที่เราเล็งไว้ตอนแรก เลยขอหมุนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของเราขี่ย้อนกลับมา เพราะกลัวว่าของจะหมดเสียก่อน ร้านนี้จะเป็นรถเข็นเล็กๆ จอดอยู่หน้าร้าน Mo Na อีกร้านอาหารพม่ายอดฮิตของย่าน ที่ในวันที่เราไปดันปิดร้านพอดี ทำให้ พี่ซอ เจ้าของร้านขนมหวานจากเมืองพะอาน เข็นรถออกมาจอดด้านหน้าร้านเห็นเด่นชัด จากเดิมที่ปกติแล้วจะจอดถัดเข้าไปด้านในอีกหน่อย

ทำเลตรงนี้เป็นทำเลทอง อยู่ตรงสามแยกพอดี ทำให้มีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาด บ้างก็เดินมาซื้อ บ้างก็ขับมอเตอร์ไซค์มาจอดถึงหน้าร้านแบบเรา เรารอจนลูกค้าเริ่มซา จึงขอให้พี่ซอซึ่งพูดไทยได้คล่องอยู่ ค่อยๆ พาเราทำความรู้จักกับขนมพม่าชนิดต่างๆ

“โมะแปลว่าขนม กลมๆ เหมือนโดนัทนั่น เรียกว่า โมะละเกาะ ทำจากแป้งข้าวเหนียว อันนี้ โมะลงจ่อ ใช้แป้งเดียวกัน ใส่ไส้มะพร้าว เหมือนของไทยก็มีนะแบบนี้” พี่ซอเล่าอย่างตั้งใจ พร้อมกับอธิบายต่อว่า ขนมในร้านเป็นสูตรจากพม่า โดยมีคุณแม่ของเขาเป็นคนทำ แม้จะต้องพลัดถิ่นมาอยู่เมืองไทย แต่ก็พยายามคงวัตถุดิบเดิมๆ แบบต้นตำรับไว้ อาจมีบางอย่างที่จำเป็นต้องปรับเพราะหาไม่ได้ในเมืองไทย เช่น น้ำตาลปี๊บ ที่ใช้เป็นน้ำตาลมะพร้าว จากเดิมที่ต้องใช้เป็นน้ำตาลอ้อย

หนุ่มเมืองพะอานยังบอกต่ออีกว่า ขนมของพม่าสามารถกินได้ตลอดวันเลย ส่วนใหญ่มักจะกินคู่กับน้ำชา หรืออย่างที่ดูเหมือนลอดช่องของบ้านเรา ก็นิยมซื้อไปใส่น้ำแข็งกินก็เพิ่มความสดชื่นในหน้าร้อนได้ และจริงๆ แล้วร้านยังมีขนมอีกหลายชนิดให้ได้เลือกได้ลองกัน บางอย่างก็คล้ายขนมอินเดีย บางอย่างก็คล้ายขนมไทย และอีกหลายอย่างเลยที่แน่นอนว่าหากินไม่ได้จากที่ไหน ต้องมาที่ตลาดพระโขนงแห่งนี้เท่านั้น หากจังหวะมาแถวนี้ เข้ามาพูดคุยพร้อมกับชิมขนมของพี่ซอกันได้

ตลาดสดพม่า

เสน่ห์หนึ่งของตลาดพระโขนง คือความเป็นตลาดสดที่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมไว้ และพอเห็นร่องรอยจากอดีตของตลาดแสงทิพย์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ซึ่งเคยคึกคักมากเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แม้วันนี้จะซบเซาลงไปบ้าง แต่ถ้าได้ลองมาเยี่ยมเยือนตลาดแห่งนี้ ทั้งแผงเก่าแก่คู่ตลาดที่อยู่ถัดเข้าไปเกือบริมคลองพระโขนง หรือจะเป็นร้านขายของชำแบบพม่า ที่แม้จะเพิ่งเข้ามาได้ไม่นานนัก ต่างก็ให้บรรยากาศย้อนยุคเข้ากันได้ดีไม่น้อย 

เช่นกันกับข้างๆ ร้านขนมหวาน ก็มีร้านชำของคนเมียนมาขนาบข้าง ซึ่งเต็มไปด้วยสินค้านำเข้ามาจากเมืองเมียนมาแบบละลานตา แม้จะไม่มีฉลากเขียนเป็นอักษรไทยเลย แต่ก็พอเดาได้บ้างบางอย่าง น่าเสียดายว่าเจ้าของร้านพูดภาษาไทยไม่แข็งแรง ทำให้เราอดที่จะเปิดบทสนทนาชวนคุยถึงสรรพสินค้าในร้าน

แต่จากที่ลองๆ เดินดู เราเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างทานาคา เคล็ดลับความสวยหน้าใสของชาวเมียนมา ซึ่งที่นี่จะขายกันเป็นท่อนไม้ให้ไปฝนใช้เอง หรือจะเป็นยาดมยาหม่องก็มีให้เลือกซื้อลองไปใช้กันได้ นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารที่เป็นของแห้ง อย่างยำใบชาที่เราได้ลองกินเมื่อสักครู่ หากติดใจ ที่ร้านชำก็มีขายเป็นชุดๆ ให้กลับไปยำกินเองในบ้านได้ด้วย

swap & go ที่ myanmar

เราพามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสีแดงคู่ใจมาจอดแวะหน้าร้านหมากพม่าสักหน่อย เพราะเห็นว่าในย่านนี้มีร้านขายหมากเยอะมาก เข้ามาแป๊บเดียวเจอไปแล้ว 3 – 4 ร้าน ทำกันให้เห็นสดๆ ตรงนั้น และทุกร้านจะมีลูกค้ายืนออรอกันอยู่ตลอด

หมาก ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกินยอดฮิตของคนเมียนมาที่เคี้ยวกันได้ทั้งวัน หากไปถึงประเทศเขาเราจะพบเจอแผงหมากหน้าตาแบบเดียวกันเป๊ะอยู่แทบทุกหัวถนน ใครเริ่มหิวหมากอยากเมื่อไหร่ก็แวะได้ตลอด ยิ่งชาวเมียนมาที่เข้ามาในประเทศไทย ยึดถืออาชีพแรงงานเป็นส่วนมาก หมากจึงกลายเป็นของชูกำลังให้มีแรงทำงานในแต่ละวัน

swap & go ที่ myanmar

หมากพม่าจะคล้ายของไทยตรงที่ใส่หมาก ห่อพลู แต่แตกต่างตรงที่สูตรพม่าจะใช้เป็นปูนขาว ใส่ยาเส้น พร้อมบีบน้ำเชื่อมหวานๆ และยังมีเครื่องเคราสมุนไพรไว้ให้เลือกใส่ตามชอบอีกเพียบ พ่อค้าหมากพูดภาษาไทยไม่ค่อยเก่งนัก ได้แค่สื่อสารกันพอเข้าใจ เราเลยไม่รู้ว่าที่ใส่ๆ กันลงไปนั้นมีอะไรบ้าง สำหรับสนนราคาของหมากตามสั่งที่ชุมชนคนเมียนมาแห่งนี้ราคาไม่แพง เริ่มต้นตั้งแต่คำละ 2 บาท ไปจนถึง 10 บาท ขึ้นอยู่กับมิกเซอร์ที่ใส่เลย

“ผู้หญิงจะกินออกหวานๆ หน่อย แต่ผู้ชายจะกินรสเข้มทำให้เมา” พี่ชายชาวเมียนมาเล่าให้ฟังขณะยืนรอพ่อค้าห่อหมากอย่างคล่องแคล่ว

หมาก

และตามคอนเซปต์ของคอลัมน์ Neighboroot ของเรา ที่มีโอกาสมาเยือนถิ่นไหน ต้องรู้จักให้ถึงราก สัมผัสให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนในย่าน ว่าแล้วเราขอสั่งหมากพม่ามาลองให้รู้เรื่อง เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากพี่ซอร้านขนมหวานว่า หากไม่แข็งจริงอย่าได้ริลอง เมาอย่าบอกใครเลยแหละ 

ผลลัพธ์ก็เป็นจริงอย่างที่เขาว่ากัน หมากพม่าออกฤทธิ์เมาเร็วมาก แนะนำว่าถ้ามีโอกาสได้มาเยือน ลองหมากพม่ากันสักครั้งเป็นประสบการณ์ เพราะในไทยใช่ว่าจะหากินได้กันง่ายๆ

ร้านเสื้อผ้าที่พม่า

หลังจากอิ่มท้องทั้งคาวหวาน พร้อมได้ของหิ้วติดไม้ติดมือไปแล้ว ก่อนจะย้อนออกจากซอย เราเห็นว่าที่นี่ยังมีร้านขายเสื้อผ้าแบบพม่าด้วย เลยขออนุญาตเข้าไปพูดคุยกับพี่สาวที่อยู่ในร้านสักหน่อยก่อนกลับ

“พี่ชื่อติ้น ตอเต่า สระอิ นอหนู” ช่างเย็บผ้าสาวสะกดชื่อตัวเองให้ฟังเป็นภาษาไทย พร้อมกับบอกว่าเธอชอบภาษาไทย จึงหัดจนตอนนี้อ่านพอได้นิดหน่อย

พื้นเพพี่ติ้นมาจากกอกะเร็ก เมืองเมียวดี ไม่ไกลจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สาวเมียนมาคนนี้เข้ามาทำงานในไทยได้หลายปีแล้ว โดยแต่แรกเริ่มเลยเธอเข้ามาเป็นแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็กอยู่แถวลาดพร้าวก่อน 

“อยู่ไปอยู่มาเรามองว่าไม่มีอนาคต ต่อให้เลี้ยงเด็กเก่งแค่ไหน เงินเดือนก็ไม่พอใช้ ถ้าเรามาเย็บผ้า บางทีก็ได้ห้าร้อยถึงเจ็ดร้อยก็มี ตามที่เราทำได้ สมมติเราขายเยอะๆ ก็ได้เปอร์เซ็นต์ เจ้าของร้านคนไทยก็ให้โบนัส” เธอเล่าต่อ “เราเลยเรียนเย็บผ้าไปด้วยหลังเลิกงาน”

เสื้อผ้าเมียนมา

เสื้อผ้าเป็นสิ่งบ่งบอกอัตลักษณ์ของคนเมียนมา มีลวดลายและรูปแบบเฉพาะตามแต่ภูมิภาคที่อาศัย ถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้ พี่ติ้นบอกว่าคนเมียนมามักจะแต่งตัวสวยๆ สีฉูดฉาด ตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับดาราในประเทศว่าช่วงไหนนิยมแต่งแบบใด ร้านก็จะรับเป็นชุดสำเร็จมาขาย นอกจากนี้ ยังมีผ้าผืนที่นำเข้าจากเมืองย่างกุ้งด้วย หากใครมีแบบในใจหรือกำลังทรัพย์มากขึ้นก็ซื้อแล้วให้เธอตัดเย็บได้

ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นคนเมียนมา แต่ก็มีบ้างที่คนไทยมาซื้อไปใช้ถ่ายโฆษณา ทั้งนี้ พี่ติ้นเล่าย้อนให้ฟังว่า ช่วงแรกๆ ของการเปิดร้านเมื่อ 6 ปีก่อน แม้จะเป็นร้านแรกๆ ในย่านนี้ แต่ก็ขายแทบไม่ได้เลย เพราะคนเมียนมาในเมืองไทยยังไม่ค่อยกล้าใส่ชุดประจำชาติมากนัก ต้องรอวันที่เป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะหยิบออกมาใส่ แต่ทุกวันนี้ก็กล้าใส่กันมากขึ้นแล้ว สังเกตจากลูกค้าของร้านที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

“ชาวเมียนมาจะแต่งชุดประจำชาติไปวัดกัน หากนับถือศาสนาคริสต์ วันอาทิตย์ก็ไปโบสถ์ แต่คนพุทธ เพื่อนๆ ก็ชวนไปถึงวัดภูเขาทอง บางคนเอาชุดไปเปลี่ยนถ่ายรูป ส่วนวัดใกล้ๆ แถวพระโขนงเราก็ไปวัดมหาบุศย์ ไปทำบุญ ไหว้พระ ปล่อยปลา” พี่ติ้นเล่ายิ้มๆ

ชุมชนเมียนมา

ภาพจำของคนรุ่นเก่าต่อย่านพระโขนง คงจะเป็นความเจริญทันสมัยในยุคนั้น ที่ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ในช่วงที่กระแสความเจริญขยายตัวมาถึงชานเมืองกรุงเทพฯ (ในขณะนั้น) ความทรงจำที่มีต่อร้านค้าแฟชั่นนำสมัย อาหารรสชาติอร่อย หรือกิจกรรมฮิปๆ ที่ต้องนั่งรถมาทำถึงพระโขนง น่าจะยังคงอบอวลอยู่ในความรู้สึกของคนที่เคยได้มาเยือนแถบนี้ไม่เปลี่ยน

แต่สำหรับภาพจำของคนรุ่นใหม่ รวมถึงเราที่ได้มาย่าน Little Myanmar ในคราวนี้ ที่นี่กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่คู่ย่านพระโขนง ที่น่าจะถูกพูดถึงในฐานะชุมชนเล็กๆ ที่มีน้ำใจไมตรีต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี แม้จะมีอุปสรรคเรื่องภาษา แต่ก็พยายามพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และพาให้เราได้สัมผัสแง่มุมใหม่ๆ ทั้งความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรม อาหารการกิน และความเป็นไปในย่านของคนต่างถิ่น ที่อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาศัยใจกลางเมืองหลวงของเรา

‘เจซูติน บาแด’ – ขอบคุณพี่น้องชาวเมียนมา แห่งตลาดพระโขนงทุกคนครับ

swap & go ที่ myanmar

จากที่ได้ลองใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของ Swap & Go สำรวจชุมชนคนเมียนมานี้มาประมาณครึ่งวัน อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกชัดเจน คือความแตกต่างของเสียงเครื่องยนต์ เพราะแทบจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องเลย ไหนจะไม่มีควันจากท่อไอเสีย ไร้มลพิษ และยังเป็นมิตรกับคนในพื้นที่ ขี่เลาะเข้าไปกลางตลาดก็สบายใจ ไม่รบกวนชาวบ้านด้วย

นอกจากนี้ ถึงจะขับซอกแซกออกซอยนู้น ทะลุซอยนี้ แวะร้านนั้น ทักร้านนี้อยู่ตลอด แต่เจ้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Swap & Go ของเราวันนี้ แบตฯ ยังเหลือเฟือ ถือว่าประหยัดพลังงานมาก สามารถขับไปเที่ยวที่อื่นๆ ในโซนนี้ได้อีกเยอะ หรือจะขับเลยไปย่านอื่นต่อ ก็มีสถานีไว้สวอพแบตฯ ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ถึง 21 สถานีทั่วกรุงเทพฯ ขับไปไกลแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตฯ หมด สำหรับคนที่มีย่านอื่นอยู่ในใจ ชุมชนที่ซ่อนตัวอยู่ในเมือง หรืออยากลองใช้มอเตอร์ไซค์ Swap & Go ลัดเลาะเข้าซอยในกรุงเทพฯ ง่ายและคล่องตัว แบบที่เรามา Little Myanmar วันนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.swapandgo.co หรือ https://www.facebook.com/swapandgo/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.