ในหลายประเทศย่อมมีพื้นที่รกร้างที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะเสียประโยชน์ด้านการใช้งานแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายและสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาอีกด้วย
ในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย ก็มีพื้นที่รกร้างที่เต็มไปด้วยต้นมะม่วง ต้นกล้วย ต้นมะพร้าว และต้นอ้อยด้วยเหมือนกัน ทางสตูดิโอสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ‘A Threshold’ จึงออกแบบพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็น ‘Subterranean Ruins’ ศูนย์ชุมชนของหมู่บ้าน ‘Kaggalipura’ ที่ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน งานสัมมนา คอนเสิร์ต หรือพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน
พื้นที่แห่งนี้ถูกออกแบบมาให้เหมือนซากปรักหักพังที่มีกำแพงอิฐที่เจาะช่องเปิดแบบครึ่งวงกลม ซึ่งแต่ละช่องจะเรียงตรงกัน คล้ายๆ การสร้างเส้นทางหลักของพื้นที่ ส่วนแผ่นอิฐชิ้นอื่นๆ ที่นำมาปูเป็นพื้นจะถูกจัดวางในลักษณะที่หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีต้นไม้ เพื่อปล่อยให้พืชพรรณเหล่านั้นเติบโตตามธรรมชาติและปกคลุมสถานที่แห่งนี้ภายใต้ใบไม้สีเขียว
ศูนย์ชุมชนฯ ถูกแบ่งพื้นที่โดยมีลานกลางแจ้งเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยลานนี้จะเปิดให้เด็กๆ เข้ามาวิ่งเล่น หรือใช้จัดนิทรรศการกลางแจ้งก็ได้ และห้องต่างๆ ภายในศูนย์ก็ออกแบบให้ปรับใช้งานได้หลายแบบ ทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องนิทรรศการ หรือห้องเรียน
ขณะเดียวกัน ทางผู้ออกแบบต้องการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการนี้ ผ่านวัสดุต่างๆ ที่ใช้สร้างทั้งภายนอกและภายในศูนย์ชุมชน ซึ่งมาจากวัสดุท้องถิ่นในรัศมี 50 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นอิฐสีแดงสำหรับผนัง หินสำหรับปูพื้น และหินแกรนิตสีดำที่ทำหน้าที่เป็นกรวด กำแพงกันดินรอบโครงการก็มาจากก้อนหินที่ขุดขึ้นมาจากบริเวณโดยรอบ รวมไปถึงเครื่องปรับอากาศเองก็ไม่จำเป็นต้องใช้ในศูนย์ชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากมีต้นไม้มากเพียงพอที่จะให้ร่มเงาผู้คนที่เข้ามาใช้งาน
Sources :
Designboom | tinyurl.com/ywemsue5
Dezeen | tinyurl.com/mwjkh45m