ตั้งแต่ต้นปี 2022 อะไรๆ ก็ดูราคาแพงขึ้นไปหมด ตั้งแต่ราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูด ทำเอาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ผักสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ค่าโดยสารสาธารณะ ไปถึงค่าไฟฟ้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี สูงถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์
แค่ปีนี้ค่าครองชีพยังเพิ่มสูงขนาดนี้ ไม่อยากคิดเลยว่าปีหน้าจะมีอะไรเพิ่มขึ้นอีกบ้าง เพราะขนาดยังไม่ทันก้าวขาขึ้นวันที่ 1 มกราคมอย่างเป็นทางการ ก็มีประกาศปรับราคาสิ่งของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคและคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้ากันบ้างแล้ว
คอลัมน์ City by Numbers จึงขอ Spoiler Alert เปิดโพยค่าครองชีพในปี 2023 ที่ Urban Creature คัดเลือกและเรียงเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นจากน้อยไปมากมาให้ทุกคน เพื่อเป็นแนวทางตั้งรับและวางแผนการเงินสำหรับปีหน้า เราจะได้ก้าวเข้าปีใหม่กันแบบสวยๆ ไม่ต้องมาหมุนเงินรัวๆ เพราะตั้งตัวกันไม่ทัน
📈 ดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มขึ้น 0.25 เปอร์เซ็นต์
คนทั่วไปอาจรู้จักคำว่า ‘ดอกเบี้ย’ กันอยู่แล้ว แต่สำหรับ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ คนที่ไม่ได้คลุกคลีกับวงการการเงินคงเกิดคำถามในใจขึ้นว่า มันคืออะไรกันแน่ และการปรับเพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลอะไรกับชีวิตเราบ้าง
ดอกเบี้ยนโยบายคือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศใช้เพื่อกำหนดนโยบายการเงินของชาติ และเป็นอัตราที่ธนาคารทุกแห่งใช้เป็นฐานคิดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่นำเงินไปฝากหรือกู้เงิน ทำให้เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารปรับขึ้นตามไปด้วย
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
จากประกาศนี้ ทำให้เกิดการกระทบกับหลายภาคส่วนตามมา ตั้งแต่ผู้บริโภคที่กู้เงินธนาคารจะมีรายจ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้มีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจอาจชะลอตัว นอกจากนี้ยังกระทบกับการส่งออก เพราะต้นทุนมีราคาแพงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศปรับดอกเบี้ยนโยบาย แต่สำหรับธนาคารหลายแห่งก็ยังคงตรึงราคาดอกเบี้ยเงินกู้ในปีนี้ไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ก่อนจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปในต้นปี 2023 หรือปีหน้าแทน
📈 เงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์
หลังจากที่ปี 2022 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทำสถิติ Hit a New High ในรอบ 24 ปี ก็ต้องถือเป็นข่าวดีไม่น้อยที่มีการคาดการณ์ออกมาว่า ในปี 2023 ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ จะเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำลง หรือที่เรียกว่า ‘เงินเฟ้อลดลง’
เรียกว่าเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนได้รับผลกระทบไปตามๆ กันในปีนี้ อาจค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาได้ในปีหน้า อีกทั้ง กนง. ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.7 และ 3.9 ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ
ที่เป็นแบบนั้นเพราะภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2023 และ 2024 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังใกล้เคียงเดิม
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า เรายังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ รวมไปถึงความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่อย่างน้อยๆ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับคนไทยให้พอชุบชูใจกันบ้าง
📈 ค่าโดยสาร BTS เพิ่มขึ้น 6.25 เปอร์เซ็นต์
สำหรับใครที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะอย่าง ‘รถไฟฟ้า BTS’ เป็นประจำ คงจะได้ยินข่าวการปรับขึ้นค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 24 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16 – 44 บาท ปรับเป็น 17 – 47 บาท เริ่มวันแรกวันที่ 1 มกราคม 2023
ทางบีทีเอสให้เหตุผลการปรับราคาครั้งนี้ว่า มาจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น รวมไปถึงอัตราค่าจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะเป็นการปรับเพิ่มเพียง 1 บาทจากราคาเดิม แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากราคาค่าเดินทาง BTS ต่ำสุด นั่นคือ 16 บาทเป็น 17 บาท ก็เป็นการปรับเพิ่มสูงถึง 6.25 เปอร์เซ็นต์ หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินต่อเดือนสำหรับการเดินทางไป-กลับจากที่ทำงาน ก็พูดง่ายๆ ว่าเราต้องจ่ายเงินส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40 บาทเลยทีเดียว
📈 ค่าที่ดิน เพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์
ถึงแม้ที่ดินจะไม่ใช่ค่าครองชีพพื้นฐาน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีที่ดินเป็นของตัวเองนั้นช่วยประหยัดค่าเช่าบ้านของหลายครอบครัวได้จำนวนมาก ทั้งยังถือเป็นความฝันสูงสุดของใครหลายคน จึงไม่แปลกใจที่ใครๆ ต่างต้องการมีที่ดินหรือบ้านเป็นของตัวเองด้วยกัน
แต่แล้วความฝันนี้ก็ยิ่งเป็นจริงได้ยากขึ้นไปอีก หลังจากกรมธนารักษ์ยืนยันว่า ‘ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ รอบใหม่ของปี 2023 ถึง 2026 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 8 เปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2023 อันเป็นผลจากการประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่คลี่คลาย ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ
โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 3 และ 8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับราคาประเมินที่ดินสูงสุด ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ 1 ล้านบาท/ตารางวา บริเวณถนนสีลม เพลินจิต วิทยุ และพระรามที่ 1 ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีราคาสูงสุดอยู่ใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ที่จะมีราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 – 30 เปอร์เซ็นต์
📈 ค่ามิเตอร์แท็กซี่ เพิ่มขึ้น 14.29 เปอร์เซ็นต์
นอกจากขนส่งสาธารณะอย่าง BTS จะปรับขึ้นราคาแล้ว การเดินทางอีกหนึ่งรูปแบบที่ปรับราคาขึ้นเช่นเดียวกันคือ ‘ค่ามิเตอร์รถแท็กซี่โดยสาร’
ครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นตามมติเห็นชอบในที่ประชุมของกรมการขนส่งทางบกในราคาที่เหมาะสม กล่าวคือ ค่ามิเตอร์เริ่มต้นของรถแท็กซี่ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 1,600 – 1,800 ซีซี) จะยังคงเริ่มต้นที่ 35 บาท แต่มีการปรับให้รถแท็กซี่ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี) เริ่มต้นที่ 40 บาทแทน
นอกจากนี้ ทั้งรถขนาดเล็กและใหญ่ก็มีการเพิ่มราคาระยะทางขึ้นจากเดิม ดังนี้
- ระยะทาง 2 – 10 กิโลเมตร เพิ่มจากกิโลเมตรละ 5.50 บาท เป็น 6.50 บาท
- ระยะทาง 11 – 20 กิโลเมตร เพิ่มจากกิโลเมตรละ 6.50 บาท เป็น 7 บาท
- ระยะทาง 21 – 40 กิโลเมตร เพิ่มจากกิโลเมตรละ 7.50 บาท เป็น 8 บาท
- ระยะทาง 41 – 60 กิโลเมตร เพิ่มจากกิโลเมตรละ 8 บาท เป็น 8.50 บาท
ครอบคลุมไปถึงการเพิ่มค่ารถติด กรณีรถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนาทีละ 2 บาทเป็น 3 บาท
สรุปคือ ถึงแม้จะนั่งแท็กซี่ในระยะทางเท่าเดิม แต่การปรับอัตราระยะทางและรถติดทำให้เราต้องจ่ายเงินในจำนวนมากขึ้นนั่นเอง นี่ยังไม่รวมถึงการโกงมิเตอร์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เข้าไปด้วยอีกนะ
Sources :
Finnomena | t.ly/2bWK
Positioning | t.ly/U9uk
Promotions | t.ly/GyNz
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/YLJLW
ธนาคารแห่งประเทศไทย | t.ly/v7K4
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2565 | t.ly/KwBq
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ | t.ly/Z1Uc, t.ly/e38E
สภาองค์กรของผู้บริโภค | t.ly/2at0
Spoiler Alert 2023 คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนธันวาคม 2565 จาก Urban Creature ที่ใช้กระแสสังคม เทรนด์วิถีชีวิต สถิติ และข้อมูลวิจัย มาคาดการณ์ถึงความเป็นอยู่ของผู้คนกับภาพรวมของเมืองในปี 2566 และช่วงเวลาหลังจากนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ทุกภาคส่วนรับความเปลี่ยนแปลง