วีรชัย อินทราช ช่างโซลาร์เซลล์ ภาคใต้โซล่าเซลล์ - Urban Creature

ไฟฟ้าจำเป็นกับเราแค่ไหน คงไม่ต้องสาธยาย…

ณ ดินแดนด้ามขวานทองของไทย มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 3,006 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าหลัก คือโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม ร่วมกับการรับไฟฟ้าจากภาคกลาง การผลิตไฟฟ้าเสริมจากเขื่อน โรงไฟฟ้าชีวมวล และพลังงานลม ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ

ทว่าเรื่องจริงแท้แน่นอน คือโรงไฟฟ้าแต่ละโรงนั้นอาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังอยู่ตลอดเวลา ถ้าเกิดมีเหตุให้โรงไฟฟ้าจากภาคกลางเกิดสะดุด หรือโรงไฟฟ้าสักที่มีปัญหาขึ้นมา แสงไฟแห่งแดนใต้ก็จะดับเกือบทั้งภูมิภาคทันที 

ชาวใต้ไม่นั่งรอความหวังจากภาครัฐ แต่อาศัยใช้ความรู้แปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้า จนทุกหลังคาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข แต่นี่ยังไม่นับเกาะเล็กเกาะน้อย ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ช่างชัย-วีรชัย อินทราช คือหนึ่งคนท่ามกลางผู้ประกอบการหลายเจ้า ที่ลุกขึ้นมาหยิบจับโซลาร์เซลล์เป็นธุรกิจหาเลี้ยงชีพในนามบริษัทเล็กๆ อย่างภาคใต้โซล่าเซลล์ 

เขาไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงพลังงานสะอาด หรือเดินทางไปติดตั้งแผงพลังงานจากแดดตามเกาะน้อยใหญ่ซึ่งอยู่ห่างไกล แต่ยังใช้จิตวิญญาณความเป็นครูมาปลุกปั้นคนธรรมดาๆ ให้เป็นช่างโซลาร์เซลล์ผู้มากฝีมือ เพื่อเติมไฟให้แดนใต้สว่างไสวกว่าเคย

คนเหล็ก ครู สู่ช่างแดด

ผมล่องใต้มายังโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา อีกหนึ่งสถานที่ที่ช่างชัยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผงโซลาร์รูฟท็อปซึ่งสาดส่องไปถึงผู้ป่วย จนกลายเป็นต้นแบบโรงพยาบาลที่ใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย 

เมื่อพบช่างชัย เขาพาผมขึ้นไปดูโซลาร์เซลล์ที่เรียงรายอยู่บนบริเวณดาดฟ้าของอาคาร แสงแดดภาคใต้ตกกระทบแผงสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน ไม่ได้กระตุ้นให้ผมอยากรู้ว่า โซลาร์เซลล์เหล่านี้คือโซลาร์ชนิดไหน ถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างไร หรือมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่กระตุ้นให้ผมอยากจะรู้มากกว่าว่า เส้นทางสายช่างแดดของเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาต้องปลูกปั้นช่างโซลาร์เซลล์คนแล้วคนเล่า

“พี่เป็นนักกีฬา ติด 0 วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่พี่ชอบคือการทดลอง ชอบถอดรหัส ก็เลยเลือกเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์ตอน ปวช. คงเป็นเพราะตอนเด็กพี่ดู คนเหล็ก ประทับใจอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ชอบฉากขับโมโตครอส มีบัตรอะไรสักอย่างหยอดตู้เอทีเอ็ม แล้วถอดรหัสออกมา 

“จนได้เข้าลาดกระบัง เรียนครุศาสตร์วิศวกรรม ซึ่งขัดใจมากกับการเรียนครูไปด้วย เรียนวิศวะไปด้วย ส่วนใหญ่เป้าหมายของสาขานี้คือจบไปเป็นครูสอนวิศวะ ตอนนั้นเรามองว่ามันไม่เท่ไง เราอยากเข้าวิศวะมากกว่า อยากเท่ อยากใส่ยีนส์ ไว้ผมเซอร์ๆ แต่สอบไม่ติด (หัวเราะ) 

“เรียนจบแล้วก็มาเป็นอาจารย์ เพราะเหมือนมันปลูกฝังจากการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างตอนเรียนถึงเกรดพี่จะไม่สูง แต่พี่ติวให้คนอื่นตลอด จนจังหวะหนึ่งเพื่อนชวนให้ไปเป็นครูที่สงขลา สักพักเพื่อนก็ลาออก เราก็เลยอยู่แทนมันยาวๆ เลย แปดเก้าปี”

นอกเหนือจากการเป็นครูสายอาชีพ เขาเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์เพื่อหารายได้เสริม อินเรื่องการมีธุรกิจส่วนตัว อยากเปิดบริษัท ทำรับเหมา ชอบอ่านไมโครซอฟต์ และฟังสตีฟ จอบส์ 

จังหวะชีวิตของช่างชัยเดินทางมาจนค้นพบว่า บทบาทครู Full-time ไม่ได้ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้เต็มร้อย บวกกับเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีวันลืม คือ กรณีตากใบ พ.ศ.​ 2547 ซึ่งนักเรียนของเขาเป็นเด็กสามจังหวัดชายแดนใต้เกือบทั้งหมด นั่นตอกย้ำเขาว่า การเป็นครูในรั้วสถาบัน ความรู้อิเล็กทรอนิกส์ที่มีไม่อาจช่วยเหลือใครหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้เท่าที่ควร

“พี่ตัดสินใจออกเลย จนพี่มาเจอพี่ที่เขาทำบ้านนิทานซึ่งเป็นชมรมสอนเด็กๆ ออกมาแล้วของมันยังร้อนอยู่ เลยเปิดชมรมเองบ้างที่ถนนคนเดินในสงขลา มีบูทสอนเรื่องหุ่นยนต์ แล้วก็เอาความรู้ที่มีมาช่วยสอนเด็กบ้านนิทาน” แม้จะลาออกจากราชการ แต่ช่างชัยก็ไม่ทิ้งวิญญาณความเป็นครู

“วันหนึ่งพี่จากบ้านนิทานเขาพาไปเจอ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ที่ ม.อ. ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) อาจารย์สมพรบอกว่า ‘ชัยมาช่วยพี่หน่อยได้ไหม ใช้ความรู้มาทำเรื่องโซลาร์เซลล์’ แกวิ่งสอนชาวบ้านเรื่องพลังงานสะอาดอยู่ ก็เลยจุดประกายเรา พี่ลงเฉพาะพื้นที่ลำบาก เอาแผ่นโซลาร์เซลล์นั่งรถไถลากไปลงเรือ”

“หนีเหนื่อยมาเจอเหนื่อยกว่า ทำไมถึงยังทำล่ะ” ผมถามช่างชัยในวันที่เขาเป็นทั้งช่างโซลาร์เซลล์ และคนสอนช่างโซลาร์เซลล์ไปพร้อมกัน

“เพราะมันไม่มีคนลงพื้นที่ ซึ่งเรามันก็คนธรรมดา ชีวิตเราก็เป็นอย่างนี้ เป็นเด็กบ้านนอก เรารู้ว่าพวกเขาต้องการไฟฟ้า” เขาตอบทันควัน

ช่างแดดมือ (ไม่) สมัครเล่น

ขณะนั้นเริ่มเกิดช่างโซลาร์เซลล์ขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามพื้นที่ห่างไกล หรือสอนชาวบ้านให้เข้าใจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างถ่องแท้ เหตุผลคงไม่ต้องเดาให้ยาก เพราะยิ่งมีช่างเกิดขึ้นมาก ก็อาจทำให้ช่างเหล่านั้นรายได้ลดลงเมื่อต้องช่วงชิงตลาดกัน

“พอพี่ทำไปสักพักก็ได้รู้จักกับ พี่โต-ศักดิ์กมล แสงดารา เขาทำงานเป็น NGO สนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม มองปัญหาออก เรามีความคิดคล้ายกัน คืออยากให้มีช่างโซลาร์เซลล์แบบเราให้มากที่สุด เราก็เลยวิ่งอบรมทั่วภาคใต้ด้วยงบ สสส. ซึ่งหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ เป็นคนที่ถืออยู่”

เมื่อได้งบก้อนใหญ่มา พื้นที่แรกที่ช่างชัยไปเยือนคือเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทุกคนรู้ว่ายิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยิ่งใช้ไฟฟ้ามากกว่าชุมชนอยู่อาศัยทั่วไป ที่นี่เลยเผชิญปัญหาไฟตกอยู่เสมอ

ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ตัวเองด้วยแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงนักธุรกิจท้องถิ่นและสมาคมการท่องเที่ยวก็ต่างเห็นดีเห็นงามที่จะผลักดันให้เกาะลันตาเป็น ‘เมืองหลวงแห่งโซลาร์เซลล์’ เลยวานให้ภาคใต้โซล่าเซลล์ออกโรงติดตั้งแผงด้วยไซต์งานขนาดใหญ่ ทำให้เห็นเลยว่า นอกจากดินแดนห่างไกล หรือชุมชนที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงจะเป็นพื้นที่ที่ช่างชัยเข้าไปดูแลแล้ว แหล่งทำมาหากินยันเมืองท่องเที่ยว ช่างชัยและทีมก็เดินทางไปเยือนเช่นกัน

ช่างชัยต้องเร่งสร้างทีมช่างเพื่อลองผิดลองถูกกับบิ๊กโปรเจกต์นี้ นอกจากตัวเองและช่างโตผู้เป็นหัวเรือใหญ่ ยังมี พล-อนุพล สีนวน พี่น้องวงการช่างมารับหน้าที่ดูแลเรื่องเสาส่งสัญญาณ ความละเอียด และความปลอดภัย รวมถึง สมชาย เพ็ชรพันธ์ ชาวเกาะลันตามารับหน้าที่ช่างติดตั้งโซลาร์เซลล์

ตอนนั้นช่างชัยและก๊วนยังไม่เรียกตัวเองว่าเป็นช่างโซลาร์เซลล์ แต่เรียกว่าเป็นกลุ่ม Maker หรือกลุ่มนักเล่นที่จริงจัง เขาชวนเพื่อนพ้องที่ทำงานด้านนี้มาอยู่ในวงโคจร เช่น คนนี้ชอบทำเรื่องสูบน้ำ คนนี้ทำเรื่องไฟ แม้ถนัดไม่เหมือนกัน แต่ก็หิ้วปิ่นโตมาจับเข่าคุยกัน 

“ดูเหมือนจะไม่จริงจังนะครับ” ผมหยอก ช่างชัยยิ้มพร้อมตอบว่า “เราไม่หยุดทำมากกว่า” ซึ่งทำไปทำมาจากเรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นระบบระเบียบมากขึ้น เขาจึงเล่าต่อไปถึงความตั้งใจที่ตามมา

“จริงๆ โซลาร์เซลล์เป็นเรื่องเก่ามากเลยนะ สิ่งที่เราคิดกันอยู่ตอนนั้นคือ เราจะใช้กุญแจดอกไหนในการไขเรื่องโซลาร์เซลล์ให้มันบูมในประเทศนี้ให้ได้แค่นั้นเอง” นี่คือโจทย์ในใจที่ทำให้ช่างชัยเปลี่ยนเรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องจริงจัง

ศูนย์บ่มเพาะวิศวกร สู่ภาคใต้โซล่าเซลล์

“ตอนรับงานช่วงแรกที่เกาะลันตา พี่จดบริษัทชื่อศูนย์บ่มเพาะวิศวกร ก็อยู่แต่ห้องแล็บ นั่งทำงานพวก IoT (Internet of Things) Smart Home ของพี่ไป แล้วพี่โต ช่างที่ทำงานด้วยกันก็บอกว่า ‘มึงเปลี่ยนสังคมไม่ได้หรอกถ้าอยู่กันแบบนี้’ (หัวเราะ) เราก็โอเค งั้นกูจะลุยไปกับมึง” 

บทสนทนาระหว่างช่างแดดก่อตัวเป็นบริษัทที่อยากจริงจังเรื่องพลังงานสะอาดขึ้นมา ช่างชัยเองก็รู้สึกไม่ต่างกันว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้งนั้นใช้เงินจำนวนไม่น้อย ถ้าดันทุรังต่อไปมีแต่จะเข้าเนื้อเรื่อยๆ บวกกับการเดินทางไปแทบทุกหนแห่งทั่วแดนใต้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นช่างมาแล้วมากมาย จึงไม่ลังเลที่จะผลักดันสิ่งที่ตัวเองทำให้เป็นธุรกิจในชื่อ ภาคใต้โซล่าเซลล์

หน้าที่หลักของภาคใต้โซล่าเซลล์ นอกจากดูแลและดำเนินงานติดตั้งแล้ว ช่างชัยต้องการให้บริษัทนี้สามารถคุยกับทางการไฟฟ้าฯ และต้องการต่อรองระดับภูมิภาคได้จริง เพราะการทำงานด้านไฟฟ้าในภาคใต้ค่อนข้างยากลำบาก ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นคาบสมุทรยาวแหลม แถมพื้นที่ตามเกาะแก่งจะต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าพื้นที่บนฝั่ง ทำให้บริษัทในกรุงเทพฯ ไม่อยากลงมาทำงาน จึงต้องพึ่งพาช่างท้องถิ่นเป็นหลัก

ผมอดคิดไม่ได้ว่า แม้ช่างชัยจะเรียกตัวเองว่าเป็นช่างโซลาร์เซลล์ นักธุรกิจ หรืออะไรก็ตาม แต่บทบาทหนึ่งที่เขาไม่เคยทิ้งมันเลยคือความเป็นครู เขาถ่ายทอดความรู้เรื่องพลังงาน และจัดอบรมให้คนที่อยากศึกษา จนพวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าใจลึกซึ้งเรื่องโซลาร์เซลล์ได้อย่างถ่องแท้

“เวลาภาครัฐแจกจ่ายแผงโซลาร์เซลล์ไป มันไม่มีคนลงพื้นที่ไปซ่อม แล้วมันก็ราคาแพงมากด้วย มันถูกพูดถึงว่า ของอะไรเนี่ยวิเศษวิโส หายากเหลือเกิน ชาวบ้านเขาซ่อมไม่เป็นหรอก สิ่งที่เขาต้องการก็คือช่างซ่อม แต่เราไม่ต้องการไปซ่อมให้เขา กูเหนื่อยกับการขับรถไปนะ (หัวเราะ) จากหาดใหญ่ไปชุมพรแค่เพื่อเอาจิ้งจกออกตัวหนึ่ง หรือต้องขับข้ามจังหวัดไปขันนอตที่มันหลวมอยู่” และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ช่างชัยต้องยกระดับฝีมือช่างแดดท้องถิ่น 


สำหรับช่างชัย ‘การสร้างช่างท้องถิ่น’ คืออีกหนึ่งเป้าหมายของภาคใต้โซล่าเซลล์ ยิ่งมีช่างในชุมชนมากเท่าไร ก็ยิ่งขับเคลื่อนสังคมได้มากเท่านั้น ช่างชัยไม่กั๊กความรู้แม้แต่น้อย แต่สอนชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเลยสักนิดให้กลายเป็นช่างเหมือนกับเขา ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ เรียนรู้เรื่องโครงสร้าง ดูแบบ ถอดท่อ ต่อสาย ติดตั้ง ยันคำนวณต้นทุน ซึ่งเหตุผลที่เขาต้องทำและหยุดทำไม่ได้ เพราะปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ไม่มีวันหมด และยังรอวันแก้ไขอยู่เสมอไป

“มันมีเรื่องเกิดขึ้นตลอดเวลาลงพื้นที่ ยุคแรกๆ เราจะอินกับเรื่องพื้นที่มากเลยนะ เช่น บางที่มันเดินทางไปยากมากเลย บ้านอยู่ในป่าพรุ แต่เขาต้องอยู่เพราะเขาไม่มีที่อยู่ และเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไป บางที่ก็อยู่ในภูเขา ไปติดตั้งเสร็จกลับไม่ได้ ตอนไปฝนตก ทางลื่น ขึ้นกลับไม่ได้ 

“อย่างตอนไปเกาะนกเภา มีครูอยู่สองคน แต่ต้องดูแลเด็ก ป.1 – ป.6 บางพื้นที่ไปสำรวจสถานีอนามัย เด็กเป็นโรคหอบ ต้องใช้เครื่องพ่นยา แดดมาเครื่องก็ทำงานนะ พอมีเมฆมาเครื่องก็ดับ เพราะไม่มีไฟไง คนออกทะเลไปโดนอะไรแทงมาหมอต้องผ่าตัด แต่ไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ไฟฉายส่องเอาก็มี 

“หรืออย่างเคสกลุ่มเงาะป่าที่เทือกเขาบรรทัด สตูล ซึ่งช่วงหลังเขาอยู่ระหว่างรอยต่อเมืองกับป่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องเรียนหนังสือ ต้องใช้มือถือ เขาเดินเจ็ดกิโลเมตรเพื่อมาชาร์จมือถือ เห็นแบบนี้พี่ก็เลยต้องไป” 

แม้ไฟฟ้าจะเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ แต่ก็มีหลายชีวิตที่ยังเข้าไม่ถึง ช่างชัยและภาคใต้โซล่าเซลล์จึงต้องออกโรง ซึ่งสิ่งที่ช่างแดดคนนี้ทำมาตลอดก็สำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะจากการอบรมเพื่อสร้างช่างท้องถิ่นครั้งหนึ่ง ทำให้โรงพยาบาลนาทวี จังหวัดสงขลา มีช่างโซลาร์เซลล์ที่พึ่งพาตัวเองได้ ซ่อมเป็น เก็บงานเป็น และถ่ายทอดความรู้ไปยังช่างคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งช่างจากภาคใต้โซล่าเซลล์แล้ว หรืออย่างจังหวัดพังงา ก็เกิด Doing เกาะยาว วิสาหกิจชุมชนที่รวมช่างท้องถิ่นจากเกาะยาวน้อย และยาวใหญ่ คอยให้ความรู้ ติดตั้ง และซ่อมแซมโซลาร์เซลล์

โซลาร์เซลล์ไทยไปได้ไกลแค่ไหน

จากที่ฟังช่างชัย ผมรู้สึกว่าโซลาร์เซลล์ดูเป็นเรื่องใหม่ของหลายๆ คนมาก แม้จะเป็นเรื่องเก่าแล้วก็ตาม 

“ยกตัวอย่างพม่าก็ไม่ได้ล้ำไปกว่าเรา จริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับรัฐเลยนะ มันเกี่ยวกับกลุ่มทุนเอกชนที่กูอยากขายแผ่น กูอยากขายเทคโนโลยี ก็กระจายเรื่องการตลาดทั่วภูมิภาค มันก็เลยกระจายไปแบบไม่ได้ห่างกันมาก รัฐไม่ได้รู้เรื่องอะไรหรอก จีนบอกกูจะทุบตลาดเรื่องนี้ จะกินกำไรทั้งโลก สุดท้ายทุกอย่างก็เปลี่ยน 

“ยิ่งพอยุค Disruption โผล่มา รัฐบาลกลายเป็นคนโง่ไปเลย จริงๆ ในกลุ่มนักธุรกิจมองคนละเรื่องกับพวกเรา ถึงแม้ว่ารัฐจะมีกลุ่มนักธุรกิจมาช่วยบริหาร แต่ว่าบางอย่างเป็นเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ที่เข้ามาทับซ้อน อย่างโซลาร์เซลล์ทำไมขยายไม่ได้ล่ะ เพราะถ้าคุณผลิตไฟฟ้าได้ แล้วการไฟฟ้าฯ ล่ะ แล้วหุ้นการไฟฟ้าฯ ล่ะ มันแค่นั้นแหละ

“อีกอย่างที่บ้านเราขาดคือความรู้” ผมพยักหน้าเห็นด้วย 

“คิดดูว่าในโรงเรียน ระดับไซต์แค่นี้ สำหรับพวกพี่ที่ทำเล่นๆ อาจารย์วิศวะยังกังวล ท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นต้นทางความรู้เลยนะ เขากังวลว่า เฮ้ย เดี๋ยวเกิดไฟไหม้ หรืออย่างในโรงเรียนที่พี่ไปสอนเด็ก อาจารย์ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ เขายังกลัวอยู่เลย กลัวไฟช็อตบ้าง มันเป็นเรื่องใหม่ที่ครูเขาไม่อยากจะเรียน ครูที่สอนเก่งๆ แล้วฟาดกันเรื่องเอาฟิสิกส์ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ครูที่สอนเชิงปฏิบัติเยอะๆ เอาไปใช้ได้ด้วย มันไม่ค่อยมีเท่าไร”

“แบบนี้…มีโอกาสไหมที่ทุกพื้นที่จะมีไฟฟ้าเข้าถึง” ผมถาม ก่อนที่ช่างชัยจะอธิบายจนเห็นภาพแบบไม่ต้องตีความให้ยากเย็น

“จริงๆ เราดูเทรนด์โลกได้ ทุกวันนี้สมาร์ตโฟนมา Disrubt เรื่องต่างๆ เยอะมาก มันเปลี่ยนวัฒนธรรมของโลกไปเลย คอมพิวเตอร์โดนทุบ การค้าแบบเดิมโดนทุบ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกสเต็ป พอยิ่งอายุมากขึ้น ก็เห็นแบตเตอรี่ลิเทียมที่เราคิดว่าจับต้องไม่ได้ ตอนนี้มันทะลักมาในวงการโซลาร์เซลล์ รถก็กำลังจะเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า บ้านก็จะเป็นสมาร์ตโฮม ทุกคนอาจจะหันไปผลิตเรื่องของอาหารปลอดภัยกันหมด อะไรไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น”

ดูเหมือนโซลาร์เซลล์จะไม่ใช่แค่แผงสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ ที่เข้ามาช่วยทำให้บ้านสว่างขึ้น แต่มันไปไกลกว่านั้น มันเป็นทั้งพลังงานทางเลือก และเป็นพลังงานทางรอดของโลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและปัญหาธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สำหรับช่างชัยในวันนี้ คิดว่าตัวเองทำหน้าที่ฮีโร่ปฏิวัติวงการโซลาร์เซลล์จนสำเร็จ หรือเป็นคนเหล็กแบบไอดอลวัยเด็กหรือยัง 

“ยัง!” เขาตอบปนเสียงหัวเราะ

“จุดจบของพวกเรา เราคุยกับเพื่อนๆ ตลอดว่าเมื่อไรดี เมื่อไรกูจะได้กลับไปเลี้ยงวัว หรือกลับไปนั่งๆ นอนๆ บนแคร่ใต้กอไม้ไผ่หลังบ้าน (หัวเราะ) บางทีเราทำงานมาระยะหนึ่ง รู้สึกว่าเราก็เต็มอิ่มแล้วนะ แต่ว่าเมื่อไรที่กลับไปอยู่บ้าน อยู่ได้สี่ห้าวันไม่ไหวว่ะ กูต้องลงพื้นที่ กูต้องเดินทางแล้ว”

บางคนเลือกทำอาชีพหนึ่งเพราะรัก บางคนอยู่กับอาชีพหนึ่งเพราะสิ่งนั้นสามารถเลี้ยงปากท้องได้ สำหรับช่างชัย ตราบใดที่ปัญหาไฟฟ้าแดนใต้ยังไม่จางหายไป ผมก็คงเห็นเขาง่วนอยู่กับแผงสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน คอยส่งต่อความรู้ และปั้นช่างรุ่นใหม่ๆ สู่วงการช่างแดด ช่างชัยอาจไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นหน้าที่ หรือทำเพราะรัก แต่มองว่าเกิดมาครั้งหนึ่ง ถ้าทำอะไรให้โลกใบนี้ได้ เขาก็จะทำ

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.