เดือนกรกฎาคมนี้ หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) ชวนมางาน ‘Sound of the Soul’ นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ว่ากันด้วยเรื่องเสียงที่ไม่ค่อยถูกได้ยินในสื่อกระแสหลัก เพื่อมุ่งหวังให้ระยะห่างของผู้คนใกล้กันมากขึ้น
นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการฟัง พูด คุย รับรู้ความเป็นไปและการมีอยู่ เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่นอันเป็นวิถีหนึ่ง ซึ่งแตกต่างหลากหลายและห่างไกลของผู้คนจากผืนดินอื่น อาทิ กลุ่มปกาเกอะญอ กลุ่มไทดำ กลุ่มไทกะเลิง กลุ่มกะเหรี่ยงโปว์ กลุ่มมูเซอ กลุ่มอาข่า กลุ่มอูรักลาโว้ย ฯลฯ
ภายในงานมีกิจกรรมที่ชวนเปิดผัสสะผ่าน Visual Performance ฟังและมองดูสิ่งต่างๆ ที่บันทึกจากการไปสัมผัสถิ่นที่อยู่จริง โดยกลุ่มศิลปิน 3 สาขา ได้แก่
– ‘Hear&Found’ กลุ่มคนทำงานที่ใช้ดนตรีเพื่อลดการแบ่งแยกในสังคม ประกอบด้วย ‘เม-ศิรษา บุญมา’ กับ ‘รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ’ ที่ตั้งใจสร้างพื้นที่ส่งเสียงความหลากหลายทางวัฒนธรรมออกไปให้ผู้คนได้รับรู้ ผ่านการใช้ความถนัดคือ เสียง ดนตรี และการสื่อสาร
– ‘ศุภชัย เกศการุณกุล’ ช่างภาพผู้โดดเด่นเรื่องการถ่าย Portrait และฟิล์มขาวดำ ทำงานสารคดีภาพเคลื่อนไหว รวมถึงสนใจในการเขียนความเรียงและสัมภาษณ์ เพื่อเล่าเรื่องในส่วนที่ภาพถ่ายไม่สามารถทำได้
– ‘DuckUnit’ บริษัทนักออกแบบ ตั้งแต่สิ่งพิมพ์ งานวิดีโอ อีเวนต์ สร้างภาพ ปล่อยแสง ละเลงสี ทำไฟ รวมถึงเบื้องหลังคอนเสิร์ต
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีเวทีเสวนา ชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ุ และปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางสนับสนุนวัฒนธรรมท้องถิ่นกับดนตรีชาติพันธุ์ ที่อาจเป็นสิ่งที่เราในฐานะคนอีกพื้นที่หนึ่งไม่เคยได้ยินเสียงหรือรับรู้เรื่องราวของพวกเขาก็เป็นได้
งาน ‘Sound of the Soul’ นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย จัดขึ้นในวันที่ 19 – 31 กรกฎาคมนี้ ที่ห้องสตูดิโอชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC)
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ facebook.com/baccpage/