ด้วยรสนิยมชอบเสาะแสวงหาร้านรวงหน้าใหม่ๆ ผมตาดีไปเจอกับ Soul Salt จากการไถโทรศัพท์ไปเรื่อยเปื่อยตามทวิตเตอร์ แถมเพื่อนพ้องน้องพี่รอบข้างก็บิลด์ว่า “เฮ้ย ไปเลย ไปสิ ลองแวบไปดู”
ร้านอะไรกันทำผมสงสัยตั้งแต่แรกเห็น ควรเรียกที่นี่ว่าเป็นคาเฟ่หรือเปล่า หรือต้องเรียกว่าแกลเลอรี เพราะเห็นมีรูปวาดวางเรียงรายละลานตา แล้วทำไมต้องเอาทรายมาถมร้านอย่างกับยกชายหาดมาไว้กลางกรุง
เพราะความคิดถึงแสงแดด ผืนทราย และกลิ่นอายทะเล บวกกับช่วงนี้ไปไหนไม่ได้ไกลมาก เนื่องจากสถานการณ์ที่พวกเรารู้กัน ได้ดึงดูดให้ผมตัดสินใจมาเยือนพื้นที่แห่งนี้ เพื่อมาสืบสาวราวเรื่องว่า Soul Salt คืออะไร ทำไมเล่นใหญ่จัง…
เมื่อรู้ว่าที่นี่ตั้งอยู่ภายใน River City Bangkok ก็พอเดาได้ว่า Soul Salt จะต้องมีเอี่ยวกับอะไรอาร์ตๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะศูนย์การค้าแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นฮับของศิลปะและสิ่งของแอนทีกของเอเชีย ซึ่งเชื้อเชิญนักหลงใหลในศิลปะและของสะสมจากทั่วทุกมุมโลก
อยากให้ศิลปะและผืนทรายอยู่ใกล้กัน
ผมเดินทางมาพบกับ เซญ่า-ศรัญญา เทพสุระ General Manager ของ Soul Salt เธอปะติดปะต่อที่มาที่ไปของพื้นที่แห่งนี้ให้ผมฟังว่า นี่คือโปรเจกต์ในนาม บริษัท เมอร์เมด อีโค ทัวริสซึ่ม จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับรีสอร์ตริมทะเล โดยมีต้นทางอยู่ที่ประเทศบังกลาเทศ
โดยหัวเรือใหญ่อย่าง Anisul Haque Chowdhury Shohag หรือ คุณอนิซูล ชายผู้เติบโตมากับทะเลและหาดทรายในเมืองท่าคอกซ์บาซา ปณิธานกับตัวเองว่า ถ้าต้องโยกย้ายไปอยู่ที่ไหนบนโลก ก็ขออยู่ใกล้ผืนน้ำหรือชายหาดเท่านั้น
เมื่อปี 2019 เขาเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ และตกหลุมรักที่ทางในย่านริมน้ำเจ้าพระยาที่แสงสวย เห็นวิวแม่น้ำ ประกอบกับความหลงใหลในศิลปะที่มีมากไม่แพ้ความรักหาดทราย สายลม เพราะไม่ว่าจะเป็นศิลปินคนไหน จะคนไทยหรือต่างชาติ เขาจะชื่นชมในทุกๆ ผลงาน และถ้ามีโอกาสได้ผลักดันศิลปินคนนั้น เขาก็ทำเต็มที่เช่นกัน อย่างรีสอร์ตที่บังกลาเทศก็มีแกลเลอรีเพื่อสนับสนุนศิลปินท้องถิ่น ความคิดที่อยากจะมีพื้นที่สักแห่งไว้ต้อนรับแขกไปใครมาจึงเกิดขึ้น
ทว่า Soul Salt ที่แรกได้เปิดทำการอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 11 ทำหน้าที่เป็นบาร์สำหรับนักสังสรรค์ มีมุมศิลปะเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘เพนต์บาร์’ ให้นักอยากวาดได้ปลดปล่อยอารมณ์ศิลปินในหัวใจ พร้อมด้วยผลงานจากศิลปินที่อนิซูลชื่นชอบตกแต่งติดตามผนังร้านไว้ และสิ่งหนึ่งที่เขาสัมผัสได้เมื่อมาเยือนเมืองไทย คือที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์ และอาร์ตสเปซดีๆ น้อยอยู่ นั่นจึงทำให้เขาตั้งใจที่จะสร้างอาร์ตสเปซให้กับคนรักงานศิลป์เพิ่มเติม
“เขาชอบไปเยี่ยม River City Bangkok อยู่บ่อยๆ ที่นั่นคือศูนย์รวมงานศิลปะทุกประเภทจากทั่วโลก เขารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก ซึ่ง Soul Salt เราอยากจะทำเพนต์บาร์ให้ชัดขึ้น ให้เป็นที่ที่คนสามารถมาสร้างสรรค์งานศิลปะแบบไม่มีผิดถูก และไม่ต้องอุดอู้อยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม เพราะพวกเราเชื่อว่าทุกคนเป็นศิลปินในแบบตัวเองได้
“พอมาปี 2021 บังเอิญที่ River City Bangkok มีห้องว่างพอดี ด้วยพื้นที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ไอเดียตรงนี้เลยผุดขึ้นมาว่ามันจะเป็นไปไม่ได้จริงเหรอ ถ้าเราจะยกทรายมาไว้ที่นี่ ให้ดูแปลกแตกต่าง และมีความสร้างสรรค์ด้วย ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ทะเล” ทีมงาน Soul Salt ถอดความตั้งใจของอนิซูลเป็นเรื่องราว
Soul Salt แปลว่า อิสระ
ทะเล ชายหาด และงานศิลปะ คือความอิสระในมุมมองของชาว Soul Salt ซึ่งอิสระที่ได้มาก็ใช่ว่าจะได้มาแบบง่ายดาย เพราะความตั้งใจที่อยากจะยกผืนทรายมาอยู่ห้องซึ่งมีพื้นที่จำกัด คือความท้าทายของพื้นที่แห่งนี้
“ในช่วงแรกเริ่มก็มีความคิดเห็นสวนทางกันกับฝ่ายอาคาร เขารู้สึกว่า เฮ้ย จะใช้ทรายจริงเหรอ (หัวเราะ) เขาก็ตกใจตอนที่เราเอาคอนเซปต์ร้านไปเสนอ เราเข้าใจนะว่าเขากลัวมันเกิดปัญหาในอนาคต แต่เขาชื่นชมไอเดียนี้มากๆ เพราะมันแปลกใหม่
“พอฝ่ายอาคารเข้าใจเรา กลายเป็นว่าเขามาช่วยคิดว่า ลองใช้ทรายเทียมไหม หรือแค่ตกแต่งเป็นพื้นทรายเล็กๆ ก็พอ แต่ทางคุณอนิซูลอยากใช้ทรายจริง เพราะมันต้องได้ฟีล เวลาสัมผัสมันต้องรู้สึกจริง
“ทรายที่ใช้จะมีทั้งทรายละเอียดและทรายขาวผสมกัน ซึ่งมันยากในการขนเข้ามาด้วย เพราะไม่มีรถเข้ามาได้ จะขนทางเรือก็ไม่สะดวก ใช้เวลาร่วมเดือนในการทำแค่ทราย ทั้งซัปพลายเออร์ และหาคนมาช่วยดูว่าจะทำทรายยังไงให้เหมือนชายหาดจริง โดยเบสตัวข้างล่างเป็นทรายหยาบผสมปูนคอนกรีต ส่วนด้านบนจะต้องร่อนจนละเอียดเป็นสีขาวเลย มันถึงจะได้ฟีลความนุ่ม” เซญ่าแบไต๋ที่มาของหาดทรายผืนนี้ให้ผมฟัง
นอกจากการออกแบบภายในที่ให้ความสำคัญกับพื้นทราย เพื่อสร้างประสบการณ์ของอาร์ตสเปซในรูปแบบใหม่แล้ว Soul Salt ยังเปิดพื้นที่ด้านนอกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ออกไปนั่งเพนต์รูปท่ามกลางสายลม และวิวสบายตา
เมื่อพื้นที่โล่งๆ ในห้องกระจกสี่เหลี่ยมกลายเป็นชายหาดสำเร็จตามความตั้งใจ การออกแบบร้านจึงดึงคอนเซปต์ริมทะเลมาใช้โดยไม่ต้องคิดให้ซับซ้อน ขาตั้งวาดรูป โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้แต่มุมคาเฟ่ก็ล้วนไปในทิศทางเดียวกันจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“เครื่องดื่มของเราก็เอาศิลปะมาสร้างสรรค์ได้ อย่างเมนู Pina Colada Espresso เราเอาเทคนิคการทำค็อกเทล Pina Colada มาทำให้เป็นกาแฟ หรืออย่าง Nutella Coffee ที่เรารู้สึกว่าตัวเฮเซลนัตของนูเทลล่ามันผสมผสานเข้ากับกาแฟได้ อารมณ์คล้ายมอคค่า แต่จะเข้มข้นมากกว่า ส่วนเมนูดับร้อนอย่าง Passion Fruit Soda ก็เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่เข้ากับบรรยากาศของ Soul Salt เป็นอย่างมาก”
ความอาร์ตของ Soul Salt ไม่ได้จบแค่ผืนทรายสีขาว แต่เลยเถิดไปถึงเครื่องดื่มนานาชนิดที่ใส่ทั้งเทคนิคและใจลงไปด้วย
สิ่งที่ต้องพูดถึง คือในส่วนของเพนต์บาร์ นิยามของคำคำนี้ต่างจากการไปเข้าคอร์สเรียนศิลปะที่อาจมีกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับมาตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ของนักละเลงสี เพราะความเป็นเพนต์บาร์ คือโลกศิลปะแห่งความอิสระอย่างจริงแท้แน่นอน
เพียงคุณหยิบแคนวาสมาตั้ง จับสี สะบัดแปรงเล็กน้อย และลงมือวาดลวดลาย พื้นที่ของ Soul Salt ไม่ตีกรอบคุณเลยว่าจะต้องวาดเส้นแบบไหน ใช้สีอะไร หรืออยากเปลี่ยนน้ำล้างสีบ่อยแค่ไหน เพราะเพนต์บาร์คือพื้นที่ที่คุณอยากจะทำอะไรก็ได้
เซญ่าเล่าให้ผมฟังว่า มีลูกค้าถามบ่อยมากว่าไม่จำกัดเวลาเหรอ บางคนกลัววาดไม่เสร็จ นั่งอยู่นานๆ ได้ไหม ซึ่ง Soul Salt บอกไปประโยคเดียวว่า “ที่นี่ฟรีสไตล์เลย” ก็เป็นอันรู้กัน ยิ่งได้นั่งปล่อยอารมณ์ไปกับวิวทิวทัศน์เบื้องหน้าซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับผมแล้วมันช่วยให้หายคิดถึงทะเลจริงๆ ได้เหมือนกัน
อยากให้ศิลปะอยู่ใกล้คุณ
ไม่ว่าผมจะมาเหยียบผืนทรายแห่งนี้เพราะคิดถึงทะเล หรือแค่อยากมานั่งวาดรูปเล่น การยกงานศิลปะจริงๆ มาจัดวางไว้ภายในห้องกระจก ก็ตอกย้ำว่าพื้นที่แห่งนี้อยากให้คุณใกล้ชิดกับศิลปะมากแค่ไหน
Soul Salt เคยพาตัวเองไปจัด Art Exhibition มาแล้วในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในนิทรรศการชื่อ Beginnings ที่นำผลงานของ Ronni Ahmmed ศิลปินชาวบังกลาเทศที่อนิซูลประทับใจ และสะสมมากว่า 20 ปี ไปจัดแสดงที่บ้านเลขที่ 1 (House No.1) ซึ่งผลงานเหล่านั้นได้ถูกหยิบยกบางส่วนมาจัดวางในพื้นที่ชายหาดแห่งศิลปะนี้
เอกลักษณ์ในผลงานของ Ronni Ahmmed คือการสื่อถึงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจดูนามธรรมและต้องตีความ แต่เบื้องหลังความสวยงามผ่านปลายพู่กัน ล้วนเกิดจากการทำสมาธิก่อนจะสร้างสรรค์ผลงานทุกชิ้น เมื่อรับรู้ที่มาที่ไปของงานศิลป์ที่จัดวางกระจายตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ ก็อดชื่นชมในความตั้งใจและจินตนาการของศิลปินคนนี้ไม่ได้
ต้องยอมรับว่า Soul Salt ถอดจากความรู้สึก และแรงบันดาลใจเจ้าของแทบจะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมจึงอยากรู้ว่า คนทั่วไปหรือแขกไปใครมาสัมผัสและรู้สึกถึงความตั้งใจนี้อย่างไร
“เราได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ จากลูกค้า ตอนแรกที่จับโปรเจกต์นี้ก็แอบหวั่นว่ามันจะรอดไหม คนจะอินกับเราไหม แต่เดือนแรกที่เปิดคือมีนาคม ได้รับความสนใจจากลูกค้าหลากหลายแนวมาก ต้องเข้าใจว่าช่วงนั้นยังไม่มีการห้ามนั่งภายในร้าน และโดยปกติจะมีเรือครูซเจ้าพระยามาจอดหน้าร้านเลย ลูกค้าหลักๆ คือต่างชาติที่จะมานั่งชิลๆ ริมน้ำรอเรือออก
“พอสถานการณ์เปลี่ยนไป และคนเริ่มแนะนำร้านเรากันปากต่อปาก ก็มีลูกค้าที่ชอบเที่ยวคาเฟ่ คนรักศิลปะ หรือบางคนแค่อยากมานั่งวาดรูปเฉยๆ แวะมาที่ Soul Salt มากขึ้น ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Exotic และ Creative โดยที่ไม่ต้องโปรโมตเลย
“อย่างน้อยแค่เดินผ่านมาแล้วเขารู้สึกตื่นเต้น อยากเข้ามาถ่ายรูป เราก็ดีใจมากแล้ว เพราะนั่นคือความตั้งใจของเรา หรือคนที่รู้สึกว่าอยากให้ศิลปะบำบัดความเครียด และอยากสร้างสรรค์ผลงาน เราก็จะคอยซัปพอร์ตงานของเขาให้เกิดขึ้นจริง”
ชาว Soul Salt ยังบอกกับผมอีกว่า การเกิดขึ้นของอาร์ตสเปซแห่งนี้ทำให้รู้ว่ามีคนสนใจงานศิลปะมากกว่าที่คิดไว้ ประโยคที่บอกว่า ‘งานศิลปะในเมืองไทยกำลังจะตาย’ อาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอยากให้มันเกิดขึ้น แต่ต้องมีคนสนับสนุนคนตัวเล็กที่อยากสร้างงานศิลป์ และต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้โปรโมต
Soul Salt จึงไม่ใช่แค่เพนต์บาร์ คาเฟ่ หรือห้องกระจกที่ถมทรายลงไป แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนที่ไม่มั่นใจในฝีมือตัวเองว่าจะวาดรูปดีไหม สวยหรือยัง หรือกลัวที่จะสร้างสรรค์งานสักชิ้น เพราะอย่างที่บอกไปว่า เพนต์บาร์นั้นเปิดมาเพื่อทุกคน ก็มั่นใจได้เลยว่า พื้นที่แห่งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจ และริเริ่มให้คุณอยากลงมือทำอะไรสักอย่างแน่นอน
อนาคตของ Soul Salt ไม่ได้มองตัวเองจบแค่เป็นเพนต์บาร์ แต่หนึ่งในผู้ดูแลพื้นที่อย่างเซญ่าบอกว่า ทีมงานทุกชีวิตอยากค่อยๆ ปั้นแบรนด์นี้ให้คนจดจำในฐานะอาร์ตสเปซที่พร้อมต้อนรับผลงานศิลปะจากศิลปินทั่วโลก รวมถึงคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ด้วย