กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ จับมือกับหลายหน่วยงาน เผยแนวทางพัฒนาร้านขายของชำ ให้กลายเป็น ‘SMART โชห่วย’ หลังจากลงสำรวจร้านขายของชำทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขนาด คือ
- ขนาด SS พื้นที่ 1 คูหา หรือรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน คิดเป็น 56.2%
- ขนาด S พื้นที่ 2 คูหา หรือรายได้ 30,000 – 50,000 บาท/เดือน คิดเป็น 21.7%
- ขนาด M พื้นที่ 3 คูหา หรือรายได้ 50,001 – 100,000 บาท/เดือน คิดเป็น 12.6%
- ขนาด L พื้นที่มากกว่า 3 คูหา หรือรายได้มากกว่า 100,000/เดือน คิดเป็น 9.5%
เมื่อได้ผลสำรวจแล้ว รัฐได้ทำแผนพัฒนาให้เข้ากับร้านแต่ละขนาด เพื่อเปลี่ยนร้านขายของชำธรรมดา ให้เป็น SMART โชห่วย โดยมี 5 แนวทาง คือ
- ปรับภาพลักษณ์โชห่วย : กำหนดหลักสูตรให้ความรู้ พร้อมจับมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนอย่าง แม็คโคร ยูนิลีเวอร์ และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย
- ใช้เทคโนโลยี POS : สำหรับร้านขนาด SS และ S เป็นกลุ่มที่มีเงินทุนจำกัด โดยส่งเสริมให้ใช้โปรแกรม POS (Point of Sale) หรือจุดขายตรงแคชเชียร์ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยบริหารสต็อกสินค้าและการทำบัญชี ส่วนขนาด M และ L เป็นร้านที่มีขนาดใหญ่ จึงต้องใช้โปรแกรม POS ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
- ส่งเสริมการตลาด : ร่วมกับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายเจ้าใหญ่ ด้วยการจัดโปรโมชั่นสินค้าต้นทุนต่ำ
- บริการเสริมจากการสนับสนุนของไปรษณีย์ไทย : ช่วยเพิ่มรายได้ให้โชห่วย ด้วยการใช้พื้นที่ของร้านเป็นจุดรับ-ส่งพัสดุ และจับมือกับผู้ผลิตสินค้าชุมชนให้นำมาวางจำหน่ายในร้าน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น
- เข้าถึงเงินทุน : ร่วมมือกับสถาบันทางการเงินให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้โชห่วยได้เติบโตและมีเงินลงทุนในระยะยาว
เป้าหมายของแผนพัฒนานี้ ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2563 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงกับร้านค้าโชห่วยไม่ต่ำกว่า 30,000 รายจากกว่า 400,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของบ้านเรา