โลกของฉันและเธอ พบเจอกันผ่านคน 6 คน - Urban Creature

ใครเคยเกิดอาการเธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ หรือเดินไปไหนมาไหนแล้วเจอหน้าใครคนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เห้ย คนนี้หน้าคุ้นๆ ว่ะ’ จนอยากจะเดินไปร้องเพลงพี่สแตมป์ใส่ให้ทำหน้างงกันไปข้าง

“สวัสดีครับ เราเคยรู้จักกันหรือเปล่า ท่าทางคุ้นๆ แต่ผมมองคุณยังไม่ค่อยชัด”

มากไปกว่านั้น ยังมีอาการชวนประหลาดใจ ที่หากเรารู้จักใครสักคนแล้ว มันจะมีบางสิ่งบางอย่าง (ขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่เรื่องมิติลี้ลับแต่อย่างใด) เชื่อมโยงเรา เขา และผู้คนรอบข้างของกันและกัน จนกลายเป็นว่า รู้จักมักจี่กันไปเสียหมด ดูเป็นเรื่องแปลก แต่มันก็เกิดขึ้นจริง และเมื่อประมาณ 89 ปีที่แล้วมีนักเขียนชาวฮังการี ตั้งชื่อให้เรื่องราวน่างงงวยหัวใจ แต่ก็แอบโรแมนติกอยู่หน่อยๆ นี้ว่า “ทฤษฎีโลกใบเล็ก (Six Degrees of Separation)”

จากความคิดของนักเขียน | สู่การทดลองของนักจิตวิทยา

Frigyes Karinthy นักเขียนชาวฮังการี  คือจุดเริ่มต้นของทฤษฎีโลกใบเล็กเมื่อปี ค.ศ.1929 โดยตอนแรก เป็นเพียงจินตนาการแบบล้ำๆ อย่างไม่มีชื่อเรียกในเรื่องสั้นชิ้นหนึ่ง ซึ่งเขาคิดไว้ว่า ถ้าลองสุ่มคนบนโลกใบนี้แบบมั่วนิ่มขึ้นมาสัก 2 คน จะพบว่าคนทั้งสองสามารถรู้จักกันได้ผ่านการเช็คแฮนด์ไม่เกิน 5 คน

          “ว่ากันว่าระหว่างตัวเราและใครซักคนบนโลกกลมๆ ใบนี้ ถูกคั่นไปด้วยจำนวนคนเพียงหกคนเท่านั้น”

38 ปีต่อมา จินตนาการล้ำลึกของ Karinth ถูกนำมาสานต่อแบบเอาจริงเอาจัง ด้วยฝีมือและมันสมองของ Stanley Milgram นักสังคมจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยทำการสุ่มชาวรัฐแคนซัสและเนบราสกา, สหรัฐอเมริกา มาประมาณ 300 คน แล้วทำการทดลองส่งจดหมายไปให้ ‘คนกลาง’ ที่คิดว่าน่าจะรู้จักกับ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาซุเซส

ซึ่งหลังจากทำการทดลองหลายต่อหลายครั้ง โดยเปลี่ยนเมืองต้นทางและปลายทางไปหลายที่ Milgram ได้ข้อสรุปของการทดลองนี้ว่า จำนวนคนกลางในการส่งต่อจดหมาย จนมิชชันคอมพลีทนั้น มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.5  หรือ ประมาณ 6 จึงเป็นที่มาของ “ทฤษฎีโลกใบเล็ก หรือ Six Degrees of Separation” โดยเสนอคำอธิบายว่า คน 2 คนในสหรัฐอเมริกา หรือทั่วโลก จะมีคนรู้ที่รู้จักเชื่อมโยงถึงกันไม่เกิน 6 คน

แต่ก็ใช่ว่า ทุกคนจะยอมรับความคิดนี้  ถึงขั้นที่นักวิชาการบางคนออกมาโต้เถียงกันอย่างหนักหน่วง แต่ก็ยังหาผลของมันแบบลงตัวไม่ได้ จึงปล่อยลอยเคว้ง ให้ห่างกันสักพักใหญ่ๆ ไปก่อน และหลังจากที่เรื่องราวนี้ถูกทิ้งปิดผนึกไว้ในวงการวิชาการมานานนม จนถึงยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทักทายกับโลกกลมๆ ของเรา Duncan Watts ได้ฟอร์มทีมกลุ่มนักวิจัยชาวโคลัมเบีย หยิบมันมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ทดสอบโดยการส่งอีเมลไปทั่วโลกผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และมีอีกหลายต่อหลายฝ่ายออกมาทดลอง จับผิด และโต้เถียงชุดความคิดนี้อีกมากมาย

สานต่อโลกใบเล็ก | ในโลกใบใหญ่

ถึงทฤษฎีโลกใบเล็กจะยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่หลายคนก็นำไปปรับใช้ในวงการต่างๆ เริ่มจากวงการบันเทิง ที่นำแนวคิดนี้มาสร้างเป็นละครบอร์ดเวย์ชื่อ Six Degrees of Separation (1991) และสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี 1993 ดังเปรี้ยงปร้างและเป็นที่พูดถึงกันหนาหูจากบทนักแสดงนำของ Will Smith นอกจากนี้ ซีรี่ยส์ดังเรื่อง ลอสต์ (Lost) หนังที่ว่าด้วยเรื่องของบรรดาผู้คนที่รอดมาจากเครื่องบินตกแล้วติดเกาะอยู่ด้วยกัน ก็สร้างขึ้นจากแนวคิดนี้

ทฤษฎี Six Degrees of Separation ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นเกม “Six Degrees of Kevin Bacon” เริ่มจากที่เขาล้อกันว่า เควิน เบคอน เป็นศูนย์กลางของฮอลลีวู้ด ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง ยันคุณปู่วัยเกษียณก็ต้องรู้จัก เลยทดลองจากคนจำนวน 100,000 คน และพบว่า นายเบคอน มีค่าเฉลี่ยของการเป็นที่รู้จักในจำนวนคนนับแสนนี้ประมาณ 2 คนเท่านั้น

สำหรับในยุคนี้ เราเห็นการทำงานของทฤษฎีโลกใบเล็กได้ง่ายๆ ในโลกของแพลทฟอร์มตัวเอฟ สีน้ำเงิน ที่มักเจอ Mutual Friend ในเฟซบุ้กของเพื่อน ในแบบที่เราอาจจะงงว่า ไป add friend เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ตอนไหน หรือบางที อาจเจอเพื่อนเก่าสมัยประถมของเรา ไปคอมเมนทต์ในรูปเพื่อนซี้เราตอนนี้ เห็นไหม เราได้กลายเป็น 1 ใน 6 คนของ Six Degrees of Separation แล้วยังไงล่ะ

“เหมือนที่ตอนนี้ เรา คุณ และอีกหลายคน รู้จักกันผ่านตัวหนังสือในฐานะนักเขียน นักอ่าน และนักฟัง”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 64 MB.