โลกของฉันและเธอ พบเจอกันผ่านคน 6 คน - Urban Creature

‘สวัสดีครับ เราเคยรู้จักกันหรือเปล่า ท่าทางคุ้นๆ แค่ผมมองคุณยังไม่ค่อยชัด’

ใครเคยเกิดอาการเธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ หรือเดินไปไหนมาไหนแล้วเจอหน้าใครคนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘คนนี้หน้าคุ้นๆ’ จนอยากจะเดินไปร้องเพลงพี่แสตมป์ใส่ให้ทำหน้างงกันไปข้าง

มากไปกว่านั้น ยังมีอาการชวนประหลาดใจที่หากเรารู้จักใครสักคนแล้ว มันจะมีบางสิ่งบางอย่าง (ขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่เรื่องมิติลี้ลับแต่อย่างใด) เชื่อมโยงเรา เขา และผู้คนรอบข้างของกันและกัน จนกลายเป็นว่ารู้จักมักจี่กันไปเสียหมด ดูเป็นเรื่องแปลกแต่มันก็เกิดขึ้นจริง และเมื่อประมาณ 89 ปีที่แล้ว มีนักเขียนชาวฮังการีตั้งชื่อให้เรื่องราวน่างงงวยหัวใจแต่ก็แอบโรแมนติกอยู่หน่อยๆ นี้ว่า ‘ทฤษฎีโลกใบเล็ก’ (Six Degrees of Separation)

จากความคิดของนักเขียน | สู่การทดลองของนักจิตวิทยา

‘Frigyes Karinthy’ นักเขียนชาวฮังการี คือจุดเริ่มต้นของทฤษฎีโลกใบเล็กเมื่อ ค.ศ. 1929 โดยตอนแรกเป็นเพียงจินตนาการแบบล้ำๆ อย่างไม่มีชื่อเรียกในเรื่องสั้นชิ้นหนึ่ง ซึ่งเขาคิดไว้ว่า ถ้าลองสุ่มคนบนโลกใบนี้แบบมั่วนิ่มขึ้นมาสัก 2 คน จะพบว่าคนทั้งสองสามารถรู้จักกันได้ผ่านการเช็กแฮนด์ไม่เกิน 5 คน โดยเชื่อกันว่าระหว่างตัวเราและใครสักคนบนโลกใบนี้ ถูกคั่นไปด้วยจำนวนคนเพียง 6 คนเท่านั้น

38 ปีต่อมา จินตนาการล้ำลึกของ Karinthy ถูกนำมาสานต่อด้วยฝีมือและมันสมองของ ‘Stanley Milgram’ นักสังคมจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยทำการสุ่มชาวรัฐแคนซัสและเนบราสกา สหรัฐอเมริกา มาประมาณ 300 คน แล้วทำการทดลองส่งจดหมายไปให้ ‘คนกลาง’ ที่คิดว่าน่าจะรู้จักกับ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์

ซึ่งหลังจากทำการทดลองหลายต่อหลายครั้ง โดยเปลี่ยนเมืองต้นทางและปลายทางไปหลายที่ Milgram ได้ข้อสรุปของการทดลองนี้ว่า จำนวนคนกลางในการส่งต่อจดหมายจนมิชชันคอมพลีตนั้นมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.5 หรือประมาณ 6 จึงเป็นที่มาของ ‘ทฤษฎีโลกใบเล็ก’ หรือ ‘Six Degrees of Separation’ โดยเสนอคำอธิบายว่า คน 2 คนในสหรัฐอเมริกาหรือทั่วโลก จะมีคนที่รู้จักเชื่อมโยงถึงกันไม่เกิน 6 คน

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับความคิดนี้ ถึงขั้นที่นักวิชาการบางคนออกมาโต้เถียงกันอย่างหนักหน่วง แต่ก็ยังหาผลของมันแบบลงตัวไม่ได้ จึงปล่อยลอยเคว้งให้ห่างกันสักพักใหญ่ๆ ไปก่อน และหลังจากที่เรื่องราวนี้ถูกทิ้งปิดผนึกไว้ในวงการวิชาการมานานนม จนถึงยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทักทายกับโลกกลมๆ ของเรา ‘Duncan Watts’ ได้ฟอร์มทีมกลุ่มนักวิจัยชาวโคลัมเบีย หยิบมันมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ทดสอบโดยการส่งอีเมลไปทั่วโลกผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และมีอีกหลายต่อหลายฝ่ายออกมาทดลอง จับผิด และโต้เถียงชุดความคิดนี้อีกมากมาย

สานต่อโลกใบเล็ก | ในโลกใบใหญ่

ถึงทฤษฎีโลกใบเล็กจะยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่หลายคนก็นำไปปรับใช้ในวงการต่างๆ เริ่มจากวงการบันเทิง ที่นำแนวคิดนี้มาสร้างเป็นละครบรอดเวย์ชื่อ ‘Six Degrees of Separation’ (1991) และสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี 1993 ดังเปรี้ยงปร้างและเป็นที่พูดถึงกันหนาหูจากบทนักแสดงนำของ Will Smith นอกจากนี้ ซีรีส์ดังเรื่อง ‘ลอสต์ (Lost)’ หนังที่ว่าด้วยเรื่องของบรรดาผู้คนที่รอดมาจากเครื่องบินตกแล้วติดเกาะอยู่ด้วยกันก็สร้างขึ้นจากแนวคิดนี้

ทฤษฎี Six Degrees of Separation ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นเกม ‘Six Degrees of Kevin Bacon’ เริ่มจากที่เขาล้อกันว่า เควิน เบคอน เป็นศูนย์กลางของฮอลลีวูด ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง ยันคุณปู่วัยเกษียณก็ต้องรู้จัก เลยทดลองจากคนจำนวน 100,000 คน และพบว่า นายเบคอนมีค่าเฉลี่ยของการเป็นที่รู้จักในจำนวนคนนับแสนนี้ประมาณ 2 คนเท่านั้น

สำหรับในยุคนี้ เราเห็นการทำงานของทฤษฎีโลกใบเล็กได้ง่ายๆ ใน Facebook ที่มักเจอ Mutual Friend ของเพื่อน ในแบบที่เราอาจจะแปลกใจว่าไป Add Friend กันตั้งแต่ตอนไหน หรือบางทีอาจเจอเพื่อนเก่าสมัยประถมของเราไปคอมเมนต์ในรูปเพื่อนซี้เราตอนนี้ เห็นไหม เราได้กลายเป็น 1 ใน 6 คนของ Six Degrees of Separation แล้วยังไงล่ะ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.