ช่วงนี้หลายคนคงเคยรับสายของ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ หรือ ‘แก๊งมิจฉาชีพ’ ที่มักปลอมเป็นหน่วยงานต่างๆ เพื่อหว่านล้อมและหลอกลวงเงินจากเหยื่อ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่กำลังอาละวาดไปทั่วโลก ซึ่งประชาชนสิงคโปร์ได้ออกมาแสดงพลังในการหยุดยั้งการฉ้อโกงประเภทนี้จนตำรวจต้องออกมาให้รางวัล
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ (Singapore Police Force) จัดงาน Community Partnership Award (CPA) เพื่อมอบโล่รางวัลให้แก่หน่วยงานและประชาชนรวม 120 คน ที่มีส่วนร่วมในการสืบสวนและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศ
ในจำนวนทั้งหมด แบ่งออกเป็นรางวัลประเภทบุคคล 75 ราย และประเภทองค์การ 45 แห่ง ซึ่งมีทั้งธนาคาร หน่วยงานการโอนเงิน รวมไปถึงวิสาหกิจเชิงพาณิชน์และไม่ใช่เชิงพาณิชน์
ผู้ที่ได้รับรางวัลบางส่วนมีส่วนร่วมในการหยุดยั้งการโอนเงินได้มากกว่า 40 คดี ที่เกิดขึ้นระหว่างต้นปี 2564 – เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 484 ล้านบาท ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีส่วนสำคัญในการรณรงค์และให้ความรู้สาธารณชนเกี่ยวกับการฉ้อโกงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้
อีกหนึ่งรางวัลได้มอบให้แก่ ‘ธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS Bank)’ ที่ได้ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการระงับบัญชีธนาคารมากถึง 5,300 บัญชีที่เชื่อมโยงกับการหลอกลวง มากไปกว่านั้น ธนาคารยังกู้เงินที่โดนหลอกคืนมาได้ราว 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,200 ล้านบาทในปี 2564
ตำรวจเชื่อว่าคดีส่วนใหญ่ของแก๊งต้มตุ๋นเชื่อมโยงกับการลงทุน การกู้ยืมเงิน และการหลอกชวนทำงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะคืนเงินทั้งหมดให้แก่เหยื่อหลังจากการสืบสวนสิ้นสุดลง
Elvin Lim หัวหน้ากลุ่มสืบสวนของธนาคาร DBS กล่าวว่า ธนาคารเตรียมส่งพนักงานเพิ่มเติมไปยังศูนย์ปราบปรามมิจฉาชีพ หรือ ‘Anti-Scam Center’ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบการหลอกลวง ซึ่งธนาคาร DBS ได้ร่วมมือกับตำรวจสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2562 และยังมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารอื่นๆ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ที่ศูนย์ Anti-Scam Center อย่างถาวร เพื่อเร่งสืบสวนคดีฉ้อโกงเช่นกัน
นอกจากนี้ ตำรวจสิงคโปร์ยังร่วมมือกับสมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition) จัดทำคู่มือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับความปลอดภัยออนไลน์ เพื่อช่วยให้บุคคลทั่วไปรวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ เข้าใจและรู้ทันการหลอกลวงบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ ถือเป็นแนวทางที่มีประโยชน์สำหรับประเทศอื่นๆ ในการป้องกันความเสียหายจากการฉ้อโกง ใครสนใจเข้าไปดาวน์โหลดคู่มือ ‘ฟรี’ ได้ที่นี่ t.ly/08oI
Sources :