วันนี้ วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 คือวันสุดท้ายที่ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยื่นคำขาดให้ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อเริ่มรื้อถอนศาลเจ้าฯ สำหรับเตรียมพื้นที่สร้างคอนโดมิเนียม 1,800 ยูนิต ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนเป็นต้นไป พร้อมแจ้งว่าจะดำเนินการก่อสร้างศาลเจ้าฯ แห่งใหม่ที่อาคารในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะคงสภาพและบรรยากาศเหมือนสถานที่เดิม
วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 คือวันเดียวกันที่ประชาชน นิสิต และผู้ที่ศรัทธาเจ้าแม่ทับทิมออกมาคัดค้านการรื้อถอนครั้งนี้พร้อมกับข้อความคัดค้านหน้าศาลเจ้าฯ ที่ชวนให้คนอ่านอย่างเราแอบใจหายไม่น้อย แม้จะไม่ใช่คนพื้นที่ แต่เราก็ได้ยินเรื่องราวของศาลเจ้าแม่ทับทิมมาพอสมควร
“อย่าทุบศาลเจ้าแม่ทับทิม มรดก และที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา”
วันก่อน ศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่คู่สะพานเหลืองมากว่าร้อยปี สถาปัตยกรรมแบบจีนแต้จิ๋วที่เรียกว่า ‘เตี่ยวโผกิก’ สะท้อนทั้งชีวิต วัฒนธรรม และการเติบโตของพี่น้องชาวจีนในสามย่าน ซึ่งครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมาถวายสักการะ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกระถางธูปสังเค็ดแก่ศาลเมื่อปี พ.ศ. 2454 ซึ่งเจ้าแม่ในศาลทับทิมนั้น คนที่นี่จะเรียกว่า “อาม่า” ผู้ดูแลและให้พรเหล่าลูกหลานมาเนิ่นนาน
วันข้างหน้า ไม่รู้ว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมจะกลับมาเปิดให้เราเข้าไปกราบไหว้อาม่ากันอีกเมื่อไหร่ แต่เราเชื่อว่าความศรัทธาที่ถูกส่งต่อกันมากว่าร้อยปีจะยังคงอยู่ในใจลูกหลานชาวจีน และในความทรงจำของสามย่านไปอีกนานเท่านาน เหมือนคำที่อาแปะท่านหนึ่ง ซึ่งเกิด และเติบโตมากับศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลืองบอกกับเราว่า
“ความเชื่ออาจจะเจือจางลงไปเรื่อยๆ แต่สิ่งนี้ไม่หายไปไหนหรอกหนู”