เรียนเพศศึกษานอกตำรากับ Sex Education Season 3 - Urban Creature

‘เพศศึกษา’ คือหนึ่งในวิชาที่สะท้อนค่านิยมที่ล้าหลังในระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเนื้อหาและค่านิยมที่อยู่ในบทเรียนก็ไม่เคยพัฒนาไปไกลกว่าคำว่าศีลธรรมอันดี นอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กเปิดกว้างเรื่องเพศแล้ว ยังส่งต่อความเชื่อแบบผิดๆ และส่งผลกับสุขภาพทางเพศเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย ทำให้หลายครั้งเรามักจะพบคำถามแปลกๆ ในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับสุขอนามัยทางเพศ ทั้งๆ ที่เป็นความรู้พื้นฐานที่ทุกคนควรจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เขาเข้าใจธรรมชาติของร่างกาย มากกว่าที่จะทำให้เซ็กซ์กลายเป็นเรื่องต้องห้าม

Sex Education คือซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องเซ็กซ์วุ่นๆ ของวัยรุ่นในโรงเรียนมัวร์เดลจาก Netflix ที่เคยกระตุกต่อมศีลธรรมอันดีของคนไทย จนมีพรรคการเมืองเข้ายื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อขอให้ตรวจสอบ ‘เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนไทย’ มาแล้ว (ทั้งที่คนเขาดูกันทั้งโลก) ทำให้ชาวเน็ตแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้กันอย่างล้นหลาม เพราะยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ จึงทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมมาตลอด

ตอนนี้ Sex Education Season 3 กลับมาพร้อมความแสบ คัน และยังสอนเพศศึกษาได้มันเหมือนเคย เราจะพาไปเรียนรู้เรื่องเพศกับ Sex Education ซีซันนี้ผ่าน 8 บทเรียนที่ไม่มีในตำราไทย แต่เรียนรู้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยากเปิดใจศึกษาเรื่องเพศมากกว่าเดิม 

นอกจากเรื่องเซ็กซ์แล้วในซีซันนี้ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร เพื่อน ครอบครัว คนรัก และสารพัดปัญหาของช่วง Coming of Age เช่น การ Come Out การค้นหาตัวเอง และความหลากหลายทางเพศ

*คำเตือน : มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน*

Sex Education 3

ถ้าหากติดตาม Sex Education มาตั้งแต่ซีซันแรก จะเห็นว่าโรงเรียนนี้มีพัฒนาการการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่ล้ำหน้าไปเรื่อยๆ ตั้งแต่คลินิกรับปรึกษาปัญหาเรื่องเซ็กซ์ของโอทิส (Asa Butterfield) และเมฟ (Emma Mackey) ที่พยายามหาคำตอบเรื่องเซ็กซ์ให้กับเพื่อนๆ ไปจนถึงคลินิกของจีน มิลเบิร์น (Gillian Anderson) แม่ของโอทิสที่เป็น Sex Therapist ผู้ช่วยให้คำแนะนำเรื่องเพศให้กับวัยรุ่นอย่างถูกวิธี ทำให้หลายคนเติบโตและเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์อย่างปลอดภัย รวมถึงไม่สร้างความเข้าใจผิด หรือสร้างบาดแผลในจิตใจให้กับเด็กด้วย

ในซีซันนี้นักเรียนโรงเรียนมัวร์เดลต้องเจออุปสรรคใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม แต่พวกเขายังคงเชื่อว่าโรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่สบายใจที่พวกเขาได้เรียนรู้และพูดคุยเรื่องเซ็กซ์ได้อย่างเปิดเผย หากพูดถึงเซ็กซ์และการมีความสุขทางเพศไม่ได้ก็ไม่รู้จะเรียนวิชาเพศศึกษากันไปทำไม 

โรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่บ่มเพาะเรื่องวิชาการ แต่ควรสอนให้เด็กได้รู้จักและรักในร่างกายของตัวเอง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน และในคนคนเดียวก็สามารถมีทั้งความใฝ่รู้เรื่องเรียนและความสนใจเรื่องเพศได้ ไม่ใช่เรื่องผิด

Sex Education 3

เคยก้มลงไปมองหรือใช้กระจกส่องดูบ้างไหมว่า ‘น้องสาว’ หรือ ‘จิ๋ม’ ของคุณหน้าตาเป็นแบบไหน รูปทรงเป็นอย่างไร และคุณรู้อะไรเกี่ยวกับจิ๋มของตัวเองบ้าง?

คนไทยมักจะถูกสอนไม่ให้พูดถึง ‘อวัยวะเพศ’ ตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งๆ ที่มันเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ที่จำเป็นต้องอาศัยการดูแลและความเข้าใจมากกว่าอวัยวะอื่นๆ เมื่ออวัยวะเพศเป็นของต้องห้ามก็ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ ขาดความเข้าใจในพัฒนาการ และขาดความรักความภูมิใจในร่างกายของตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลให้มีความเชื่อผิดๆ ได้ เช่น จิ๋มที่ดูดีต้องเป็นจิ๋มที่ขาวอมชมพูเหมือนในหนังโป๊ ทั้งที่ความจริงแล้วรูปร่างและหน้าตาของจิ๋มมีหลากหลายไม่ต่างจากหน้าตาเจ้าของ และแม้แต่คนที่ผิวขาวก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขาวทุกส่วนเสมอไป คนร้อยพ่อพันแม่จะมีจิ๋มหน้าตาเหมือนกันคงเป็นเรื่องแปลก ถ้าอยากรู้ว่าโลกนี้มีจิ๋มหน้าตาแบบไหนบ้าง และจิ๋มของคุณจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหน ลองเข้าไปดูได้ที่นี่ www.all-vulvas-are-beautiful.com

นอกจากเรื่องของสาวๆ นักเรียนชายในมัวร์เดลก็ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่อง ‘จู๋’ ด้วยเช่นกัน ที่มีความแตกต่างทั้งขนาด รูปทรง และองศาที่ต่างกัน ไม่มีของใครใช้งานได้ดีที่สุด เพราะอวัยวะเพศที่ ‘เพอร์เฟกต์’ ไม่มีอยู่จริง และที่สำคัญขนาดก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการใช้งานด้วย 

ในซีซันนี้เราจะได้เห็นหลายสถานการณ์ที่ทำให้ตัวละครได้เรียนรู้ ยอมรับความแตกต่างของร่างกาย และก้าวข้ามผ่านมายาคติทางเพศที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะเมื่อได้เรียนรู้ที่จะรักและเข้าใจในร่างกายของตัวเองแล้วก็ทำให้วัยรุ่นดูแลสุขภาพทางเพศของตัวเองได้ดีและปลอดภัยมากขึ้นด้วย

Sex Education 3

ตั้งแต่ Sex Education ซีซันแรก เราจะเห็นตัวละครหลายคนเดินเข้า-ออกอาคารที่มีชื่อว่า The Broughton Ar­cade อยู่หลายครั้ง ที่นี่คือคลินิกสุขภาพทางเพศ ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย เพื่อให้มีสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาอะไรก็สามารถเดินเข้าไปขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือได้เลย 

ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่ถ้าไม่รู้ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การแพ้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่าง ‘ทางเลือก’ ที่คุณมีเมื่อท้องไม่พร้อมและหาทางออกไม่ได้ ที่นี่จะมีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลด้วยความเข้าใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือ และที่สำคัญคือ ‘ไม่ตัดสิน’ ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหนก็ตาม 

ซึ่งในซีซัน 3 นี้ก็เป็นสถานที่ที่มิสแซนด์ (Rakhee Thakrar) ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษแนะนำให้นักเรียนมารับคำปรึกษา ถ้าอยากมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เราจะเห็นเจ้าหน้าที่คลินิกอธิบายเรื่องเพศให้วัยรุ่นเข้าใจได้ด้วยคำพูดง่ายๆ ที่ชัดเจนและตรงประเด็น โดยไม่กลัวว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เพราะสิ่งสำคัญคือความเข้าใจเรื่องสุขภาพที่จะทำให้พวกเขาดูแลและป้องกันตัวเองได้อย่างถูกวิธี 
ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดไว้ให้กับประชาชน ตัวละครหลายคนในเรื่องนี้สามารถผ่านทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ไปได้เพราะมีคลินิกสุขภาพทางเพศช่วยเหลือ หากประชาชนเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ได้ง่ายๆ ก็หมายความว่าสุขภาพของพวกเขามีโอกาสที่จะตกอยู่ในอันตรายได้ทุกเมื่อ

Sex Education 3

ในซีซันนี้การเรียนเพศศึกษาที่มัวร์เดลไม่ได้สนุกและเปิดกว้างเหมือนที่ผ่านมา เพราะต้องเรียนแบบแบ่งแยกตามเพศกำเนิด ไม่ใช่แค่นักเรียนในมัวร์เดลเท่านั้นที่ตั้งคำถามกับการแบ่งแยกแบบนี้ แต่อีกหลายโรงเรียนทั่วโลกโดยเฉพาะในไทยก็ยังมีการเรียนเพศศึกษาแบบนี้อยู่ ทั้งๆ ที่เรื่องเพศไม่ควรปิดกั้นการเรียนรู้ให้จำกัดอยู่แค่เพศของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องอายที่ได้รู้เรื่องของเพศตรงข้าม เพราะมันคือการเรียนรู้ร่างกายของมนุษย์เช่นกัน

การสอนเรื่องการคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ควรสอนทั้งหญิงและชาย ไม่ใช่ผลักความรับผิดชอบให้เพศหญิงเพียงฝ่ายเดียว เพราะวันหนึ่งผู้ชายก็ต้องมีเซ็กซ์ ต้องเรียนรู้และรับผิดชอบเช่นเดียวกันกับผู้หญิง วันหนึ่งเขาจะเติบโตไปเป็นแฟน เป็นสามี หรือเป็นพ่อที่มีลูกสาว การคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์จึงเป็นชุดความรู้ที่ผู้ชายควรมีเช่นกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ชายทำอะไรตามใจก็ได้ แล้วสอนให้ผู้หญิงรับผิดชอบตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว

หมดยุคที่ต้องสอนให้ผู้หญิง ‘รักนวลสงวนตัว’ แล้ว เพราะอารมณ์ทางเพศเกิดได้กับทุกคน ครู โรงเรียน หรือผู้ปกครองควรจะสอนเด็กให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ห้ามทุกคนมีเซ็กซ์ สั่งให้หักห้ามใจ หรือไล่ไปเตะบอล เพราะวิธีนั้นมันใช้ไม่ได้ แถมยังทำให้เด็กขาดความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ ต้องหาทางระบายออกแบบผิดๆ และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเรื่องเพศแบบผิดๆ ด้วย

สิ่งที่ไม่มีสอนในวิชาเพศศึกษาไทยคือ ทัศนคติด้านบวกที่คนเราควรมีต่อเซ็กซ์ เพราะมันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เป็นได้ทั้งเรื่องสนุก สวยงาม และที่สำคัญคือสอนให้เรารู้จักร่างกายตัวเอง 

เซ็กซ์ที่ดีควรจะเป็นการแชร์ความสุขให้กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งการที่เราได้เรียนเพศศึกษาอย่างถูกต้อง รู้ว่าเพศตรงข้ามมีสรีระ มีกลไกการทำงานของร่างกาย และมีความสุขได้อย่างไรบ้าง ก็เป็นหนทางหนึ่งที่มนุษย์ใช้เซ็กซ์เพื่อสร้างความสุขในชีวิตและเพื่อสุขภาวะที่ดีได้

Sex Education 3

ถึงแม้ว่าในซีซันที่สอง ไอแซก (George Robinson) จะทำให้เราโมโหมากแค่ไหน แต่ในซีซันนี้บทของไอแซกได้ทำให้เราเห็นมุมมองความรักของคนพิการ ในฐานะมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ต้องการคนรักที่เข้าใจและมีเซ็กซ์กับเขาได้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ 

บทของคนพิการที่ปรากฏในสื่อแทบไม่เคยมีภาพเชิงบวกของพวกเขา หรือการออกเดตของคนพิการเลย จึงทำให้สังคมคิดว่าคนพิการไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางใจหรือทางกายกับใคร หรือคนพิการควรจะมีคนดูแลตลอดเวลา และควรอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคนพิการก็มีความต้องการที่จะใช้ชีวิตตามปกติ ความบกพร่องทางร่างกายไม่ได้หมายความว่ามนุษย์คนหนึ่งจะสูญเสียความต้องการทางเพศไปด้วย เซ็กซ์จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และคนพิการก็ยังต้องการเซ็กซ์เพื่อเติมเต็มและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน

Sex Education 3

ปัญหาหนักอกหนักใจยอดฮิตของวัยรุ่นในโรงเรียนมัวร์เดลคือเรื่องเซ็กซ์ และต้นตอของปัญหาก็มักจะมาจากการที่ไม่กล้าเปิดอกคุยกันตรงๆ โดยเฉพาะเรื่อง ‘รสนิยมทางเพศ’ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะสื่อสารกับคู่ของเราได้ ว่าเราชอบแบบไหน หรือไม่ชอบแบบไหนกันแน่ 

การที่ไม่สื่อสารถึงความต้องการของตัวเอง นอกจากจะทำให้เราไม่มีความสุขกับเซ็กซ์แล้ว มันยังเป็นการ ‘เกา’ ไม่ถูกที่ ‘คัน’ ยิ่งฝืนทำไปก็อาจจะไม่พบความสุขและไม่ถึงจุดสุดยอด (Orgasm) เซ็กซ์ควรจะเป็นกิจกรรมสร้างความสุขให้ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องยอมหรือตามใจใครถ้าเราไม่ได้ต้องการแบบนั้นจริงๆ ไม่ว่าความต้องการของเราจะเป็นแบบไหน ก็ควรเปิดใจพูดคุยและถามความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ก่อนเสมอ

Sex Education 3

นอกจากโรงเรียนไทยจะสอนเพศศึกษาได้ไร้ประสิทธิภาพแล้ว เรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบันก็ไม่มีการหยิบยกเข้ามาอยู่ในตำราหรือสร้างบทสนทนากับนักเรียนเลย จึงไม่แปลกที่เราจะพบคนที่คิดเหมือน ‘เอมี่’ (Aimee Lou Wood) อยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะสังคมมักจะทำให้ ‘เหยื่อ’ คิดว่าเป็นความผิดของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่ละเมิดคนอื่นต่างหากที่จิตใจไม่ปกติ

ถึงแม้จะซีซันใหม่แล้ว แต่บาดแผลทางใจที่เอมี่เคยถูกล่วงละเมิดบนรถเมล์ยังอยู่ หากคุณถามผู้หญิง 10 คนว่าเคยมีประสบการณ์แบบเอมี่ไหม หรือเคยถูกล่วงละเมิดด้วยวิธีการแบบไหนบ้าง เราเชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีเรื่องเล่า #MeToo ที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่มั่นใจคือทุกคนต้องเคยผ่านประสบการณ์แย่ๆ แบบนี้มาสักครั้ง ทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะเป็นประสบการณ์ขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนต้องเจอ

โชคดีที่เอมี่ได้คุยกับจีน มิลเบิร์น แม่ของโอทิสซึ่งเป็น Sex Therapist จึงทำให้แผลในใจของเธอดีขึ้น เพราะจีนทำให้เอมี่เข้าใจว่า การที่เธอถูกล่วงละเมิดในวันนั้นไม่ใช่ความผิดของเธอเลยสักนิด แต่เป็นความผิดของผู้ชายคนนั้นต่างหากที่ทำไม่ดีกับเธอ ไม่ว่าเธอจะยิ้มให้เขาหรือแต่งตัวอย่างไรก็ตาม ไม่มีใครมีสิทธิ์มาละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเราได้ ถึงแม้เธอจะเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นี้ไม่ได้ แต่เธอสามารถเลิกโทษตัวเองและก้าวข้ามผ่านมันไปได้ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเลยสักนิด 

สิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามและควรประณามไม่ใช่เหยื่อที่ถูกละเมิด แต่เป็นคนที่ละเมิดคนอื่น ละเมิดกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ มากกว่าที่จะเอาแต่โทษเหยื่อว่า ‘แต่งตัวโป๊เองหรือเปล่า?’

Sex Education 3

Sex ที่ดีที่สุดในซีซันนี้คือ Sex ที่ปลอดภัย และไม่ว่าเรื่องราวจะวุ่นวายแค่ไหน แต่ Sex Education ยังคงย้ำให้วัยรุ่นเห็นความสำคัญเรื่องพื้นฐานอย่าง ‘ถุงยางอนามัย’ อยู่ตลอด ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน แต่การใช้ถุงยางอนามัยก็ Save Your Life ได้เสมอ

ความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ในวิชาเพศศึกษาในวัยมัธยม มีแค่การแจกถุงยางอนามัยฟรีให้นักเรียนชายเท่านั้น (ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์รับ และไม่ควรพกถุงยางด้วย) แต่ครูประจำวิชากลับไม่บอกการใช้งานที่ถูกวิธี เพราะไม่อยากจะชี้โพรงให้กระรอกจนเกินไป ท้ายที่สุดแล้วกระรอกเหล่านั้นก็อาจจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ถุงยางอนามัยแบบผิดๆ ก็เป็นได้ 

บางคนยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าการเป็น LGBT มักจะต้องจบชีวิตด้วยการเป็นเอดส์ทุกคนเหมือนในหนัง แต่ในความเป็นจริงถ้าใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีคู่นอนกี่คนก็ตาม ถ้ามีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและตรวจโรคเป็นประจำ โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV ก็แทบไม่มีเลย

หรือความเชื่อของทั้งชายและหญิงที่คิดว่า ‘การหลั่งข้างนอกไม่ทำให้ท้อง’ ไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัยก็ได้ แต่ในความเป็นจริง การหลั่งข้างนอกอาจทำให้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ถ้าน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด อีกทั้งยังทำให้เสี่ยงติดโรคหรือแพร่โรคติดต่อทางเพศมากขึ้น และที่สำคัญผู้หญิงไม่ควรถูกขอร้องหรือกดดันเพื่อขอไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะเซ็กซ์ที่ดีควรจะเป็นเซ็กซ์ที่ผู้หญิงได้เอนจอย ไม่ใช่ต้องมัวกังวลว่าจะท้องหรือเปล่า

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.