ปี 2020 ที่ผ่านมาตัวเลขผู้พยายามฆ่าตัวตายที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยทางน้ำของโซลสูงขึ้นกว่า 30% ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาววัย 20 – 30 ปีที่ต้องเผชิญปัญหาว่างงาน และความตึงเครียดจากวิกฤตเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่จึงเร่งดูแลอย่างใกล้ชิด คอยเฝ้ากล้องวงจรปิดอย่างแข็งขัน
แต่บางครั้งการเฝ้าสังเกตและวิเคราะห์ของมนุษย์ก็ผิดพลาดกันได้ ทำให้ไม่สามารถบอกแน่นอนว่าคนที่ยืนอยู่ตรงสะพานนั้นแค่เดินเล่นหรือพยายามจะฆ่าตัวตายกันแน่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติโซลจึงพัฒนาระบบ AI ให้เรียนรู้พฤติกรรมของบุคคลที่มีแนวโน้มว่าจะกระโดดสะพานจากบันทึกของหน่วยกู้ภัยทางน้ำของโซลและภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิด เช่นท่าทีแสดงความลังเล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทีมกู้ภัยรู้และเข้าถึงบุคคลนั้นๆ ได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น เพราะสำหรับภารกิจกู้ภัยแล้วทุกวินาทีนั้นมีค่า
เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยทางน้ำของกรุงโซลที่ร่วมมือกับทีมนักวิจัยและสำนักงานใหญ่การจัดการอัคคีภัยและภัยพิบัติกรุงโซลจะได้ทดสอบระบบ AI นี้อย่างเป็นทางการภายในเดือนตุลาคมนี้ เราหวังว่าการร่วมมือกันของมนุษย์และเทคโนโลยีในครั้งนี้จะช่วยชีวิตอีกหลายชีวิตไม่จบลงที่สะพานแม่น้ำฮัน