ขยะ ‘ท่วม’ เมือง เพราะคนคือตัวร้ายไม่ใช่พลาสติก - Urban Creature

วายร้ายแห่งวงการสิ่งแวดล้อมคงหนีไม่พ้น ‘พลาสติก’ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นบอสใหญ่กำจัดยาก รวมถึงมีข้อครหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกทำให้โลกร้อน เต่าตาย ไปจนถึงเป็นตัวการเพิ่มมลพิษในอากาศ จนสงสัยว่า ‘แล้วพลาสติกคือตัวร้ายจริงหรือเปล่า’

ค้นหาคำตอบผ่านงานศิลปะในนิทรรศการ ‘SWAMPED : ท่วม’ ซึ่งจำลองเมืองขยะขนาดย่อมที่ถูกนำมาประกอบร่าง ถักทอ จัดวาง และส่งเสียง ภายในแกลเลอรี Warin Lab Contemporary ซึ่งร้อยเรียงเรื่องราว ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ตั้งแต่สาเหตุ ผลกระทบ ไปจนถึงวิธีการแก้ปัญหา เพื่อบอกให้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันเกิดจากน้ำมือคน

คนนี่แหละคือผู้สร้าง (ขยะ)

“เราทุกคนใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และไม่เห็นค่า
คงเป็นเพราะพลาสติกมันใช้ง่าย มีราคาถูก มนุษย์จึงมูมมามและทิ้งมันราวกับไม่มีค่า และเมื่อเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เราก็ต่างยกให้มันเป็นตัวร้ายในเรื่องนี้”

ถ้าใครยังจำฝีไม้ลายมือของ ‘เป๋-ธนวัต มณีนาวา’ ในนาม ‘TAM:DA (ทำดะ)’ ผู้หยิบวัสดุในชีวิตประจำวันมาประกอบร่างเป็นสัตว์ประหลาดได้ล่ะก็ คราวนี้เขานำเสนอศิลปะของตัวเองในฉบับที่แตกต่างออกไป เพราะนำสิ่งของที่มนุษย์ใช้ มารวมร่างให้เป็น ‘หน้าคน’ ทั้งหมด 65 ใบหน้า เพื่อบ่งบอก ‘สาเหตุ’ ของวงจรขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น (อย่างซื่อๆ) ว่า “อย่าโทษพลาสติกเลย คนต่างหากที่ไม่รู้วิธีการใช้ และจัดการอย่างยั่งยืน”

หากลองเดินสำรวจวัสดุบนคาแรกเตอร์ที่ถูกติดตั้งบนผนังสีขาวกลับต้องแปลกใจ เพราะมีตั้งแต่กาน้ำ โถปัสสาวะ ไปจนถึงหุ่นลองเสื้อ แต่มากไปกว่านั้นคือการได้เห็น ‘วัฒนธรรมของมนุษย์’ ในยุคปัจจุบันว่าสิ่งของเหล่านี้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของเราอย่างไรบ้าง

“ลองสังเกตข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจะพบว่ามันมีสิ่งของที่ไม่ได้ใช้เยอะแยะไปหมด ซึ่งผมมองว่าถ้าคนเราไม่ใช้อะไร มันก็คือ ‘ขยะ’ แล้วทำไมเราถึงไม่เอาขยะมาทำประโยชน์อย่างอื่นซะ”

คลื่นขยะที่มองเห็น

“งานชิ้นนี้ถูกเชื่อมโยงจากสาเหตุเพื่อพูดถึง ‘ผลกระทบ’ ว่า ถ้ามนุษย์ใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย ขยะจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งเราตีความให้ทุกอย่างโถมเข้ามารวมกันจนกลายเป็นคลื่นขยะ”

‘มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์’ ใช้เทคนิค ‘การถักทอ’ ที่ตัวเองถนัดมาสร้างผลงานศิลปะจากขยะเหลือใช้ โดยเอา ‘กระป๋องพลาสติก’ มาตัดเป็นเส้น เพื่อทอเป็นผืนผ้า เรื่อยไปถึงหยิบ ‘กระดาษรีไซเคิล’ มาบดเป็นชิ้นเล็กแล้วตีเกลียวเป็นเส้นใส่ในถุงซักผ้าแห้ง ก่อนจะนำทุกอย่างมาทอเข้าด้วยกันให้เป็นคลื่นทะเลขนาด 2.50 x 5.40 เมตร ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนกว่า 

“สิ่งที่เราอยากให้ทุกคนมอง คือทุกอย่างมันมีคุณค่า แม้แต่ขยะที่เรามองข้ามก็ตาม ถ้ามองให้ชัด พยายามคิดอีกครั้งก่อนจะเขวี้ยงทิ้ง มันสามารถแปรรูปให้เป็นงานศิลปะ หรือข้าวของเครื่องใช้ได้เหมือนกัน”

ตั้งคำถามกับขยะที่อยู่ตรงหน้า

“ถ้าเราเริ่มคิดก่อนจะลงมือทำ ซื้อ หรือบริโภค
มันจะไม่มีขยะบนโลกใบนี้เลย”

เสียงสะท้อนจาก ‘ทิม-ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์’ เจ้าของผลงาน ‘Body politics and object politics : still alive’ ผู้รับผิดชอบในส่วนของ ‘วิธีการแก้ปัญหา’ ที่ไม่ได้บอกเราอย่างโต้งๆ ว่าวิธีการไหนดีที่สุด แต่ชวนให้คนดูตั้งคำถามว่า

“เราจำเป็นต้องบริโภคมากขนาดนี้เชียวเหรอ”

“เราต้องตระหนักทุกอากัปกิริยาที่เราทำ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราบริโภคว่าของบางอย่างจำเป็นไหม ต้องมีหรือเปล่า ซึ่งชื่อที่บอกว่า ‘Still Alive’ ชีวิตในที่นี้หมายรวมถึงต้นไม้ อากาศ สิ่งมีชีวิต ซึ่งมนุษย์เป็นเพียงหน่วยย่อยของจักรวาลแห่งนี้

“สำหรับการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการไม่หลงเหลือสิ่งของที่ผมเอามาทำศิลปะเลย มันมีบางอย่างที่เรามองข้าม เช่น แพ็กเกจจิ้งมีอายุสั้นมาก แกะเสร็จแล้วก็ตายไป โดยเฉพาะชีวิตช่วงโควิด-19 เราพบขยะจากสถานการณ์นี้เยอะมาก ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามกับมันได้แล้ว”

ส่งเสียงปัญหาขยะ

เชื่อว่าหลายคนจดจำ ‘นท พนายางกูร’ ในบทบาทของนักร้องได้อย่างดี รวมถึงอีกหนึ่งบทบาทของการเป็น ‘ศิลปินเสียง’ ซึ่งนท คือ ‘ส่วนเติมเต็ม’ ของนิทรรศการให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเสียงที่ถูกสร้างใหม่อย่างควบคู่ไปกับผลงานของศิลปินแต่ละท่าน

เช่น เสียงจ๊อบแจ๊บที่สื่อถึงการบริโภคของคนในงานของธนวัต มณีนาวา เสียงคลื่นทะเลที่กระทบกับขยะในงานของเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ หรือเสียงธรรมชาติเพื่อตั้งคำถามกับคนดูว่าอนาคตอยากให้มีเสียงเหล่านี้อยู่ไหมในงานของทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์

“นททำเสียงขึ้นมาทั้งหมดสี่แทร็ก มันมีทั้งเสียงคนกิน เสียงบ่นต่างๆ เพื่อพูดถึงว่ามนุษย์ไม่เคยพอใจอะไรเลย มีแต่ความอยากได้มากขึ้นจนส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเป็นแบบนี้ เพราะไม่เคยต้องจ่ายเงินให้กับธรรมชาติ จนไม่ได้คิดถึงเลยว่าวันหนึ่งมันจะหมดไป 

“นทและคุณพงษ์พันธ์ สุริยภัทร นักออกแบบนิทรรศการใช้เซนเซอร์ตรวจจับคนเข้ามาร่วมด้วย เวลาที่เราเดินเข้าไปใกล้งานชิ้นไหน เสียงจะดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพูดถึงว่า เมื่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งทำลายโลกมากขึ้น ความพังพินาศต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน”

Warin Lab พื้นที่สะท้อนปัญหาสังคม

เมื่อฟังถึงเบื้องหลังของศิลปะแต่ละชิ้นในนิทรรศการ ‘SWAMPED : ท่วม’ แล้วอยากมาสัมผัสเมืองขยะด้วยตัวเอง เข้าชมได้ที่ Warin Lab Contemporary ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงศิลปะที่อยากจัดนิทรรศการ ‘สะท้อนสังคม’ ให้คนได้ฉุกคิด ซึ่งครั้งนี้ ‘ปัญหาขยะ’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพื่อวิพากษ์พฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรของมนุษย์ โดยจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 21 เมษายน 2564 ทุกวันอังคาร-วันเสาร์ | เวลา 10.30 – 19.30 น.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.