มาเรียม ธิดารัตน์ จันทเชื้อ ศิลปินหญิงมุสลิม - Urban Creature

“ปัจจุบันมีประเด็นความแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ความเชื่อ และการเมือง ให้เห็นได้ทั่วไปในสื่อ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับมัน มิฉะนั้นความแตกต่างจะกลายเป็นความแตกแยกและมันจะบานปลายไปจนถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้”

นี่คือประโยคหนึ่งจากเล่มวิทยานิพนธ์ของ ‘มาเรียม-ธิดารัตน์ จันทเชื้อ’ ศิลปินหญิงมุสลิม ผู้ทำให้ฉันเข้าใจความเป็น ‘เอกภาพ’ มากกว่าที่เคยด้วยงานศิลปะของเธอ ซึ่งบรรจงเย็บปักถักร้อยอย่างประณีต และใช้ลวดลายตั้งแต่ดอกไม้ ไปจนถึงดวงดาว เพื่อถ่ายทอด ‘ศาสนาอิสลาม’ ให้คนทุกศาสนาเข้าใจ

หลังจากทำความรู้จักพี่มาเรียมผ่านถ้อยคำที่ร้อยเรียงเป็นประโยคต่อประโยคในวิทยานิพนธ์ วันนี้เราสองคนนั่งพูดคุยในห้องนิทรรศการที่ SAC Gallery ย่านพร้อมพงษ์ ถึงชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตที่หลอมรวมให้เธอก้าวสู่วงการศิลปะในฐานะศิลปินหญิงมุสลิม

บันไดขั้นแรก

ก่อนจะหยิบเข็มกับด้ายมาสร้างศิลป์ มาเรียมเป็นคนที่รักการวาดภาพมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะฐานะทางบ้านและแวดล้อมรอบกายไม่ได้เอื้อต่อการค้นหาตัวเองหรือเรียนรู้มากเท่าไหร่ ทำให้กิจกรรมในชีวิตของเด็กหญิงธิดารัตน์ จึงมีเพียง การอ่านหนังสือการ์ตูน ที่กระตุ้นให้เธออยากลงมือวาดภาพ

“เราชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมาก เห็นลายเส้นสวยๆ บนหนังสือก็รู้สึกชอบแล้วอยากวาดตาม บางครั้งเพื่อนชวนไปเล่นเราก็ไม่ไป จะอยู่คนเดียวแล้วนั่งวาดรูปไปเรื่อยๆ อันที่จริง มันก็ชัดมาตั้งแต่เด็กว่าเราชอบวาดรูป เหมือนมีพรสวรรค์เล็กๆ แหละมั้ง (หัวเราะ)”

มาเรียมค่อยๆ เล่าเรื่องราววัยเด็กของเธออย่างออกรสว่า สายสามัญศึกษาที่เรียนอยู่สมัยมัธยมฯ ต้นอาจไม่เหมาะกับเธอ อีกทั้งฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ทำให้ตอนเรียนจบ ม.ต้น คิดอยากเรียนสายอาชีพต่อ เพื่อมุ่ง ‘ทำงานหาเงิน’ เป็นหลัก แม้ว่าไม่ใช่ทางที่มาเรียมอยากไปตั้งแต่แรก แต่เธอรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’

สุดท้ายมาเรียมหันหัวเรือไปเรียน ‘วิทยาลัยช่างศิลป’ แทน เพราะเพื่อนเอาใบสมัครมายื่นให้ขณะที่ยืนเข้าแถวหน้าเสาธง ซึ่งเธอจำความรู้สึก ‘ใช่’ ตอนนั้นได้เป็นอย่างดี

“เรารู้สึกว่าเหมือนมีแสงสว่างวาบออกมาจากใบสมัคร
เป็นความรู้สึกใช่อะไรบางอย่าง ตอนนั้นเลยตัดสินใจว่า
เราต้องไปให้ได้แล้วล่ะ (หัวเราะ)”

มาเรียมสารภาพออกมาอย่างเขินๆ ว่า เธอไม่ประสีประสากับการเรียนศิลปะ ไม่รู้ว่าวิทยาลัยแห่งนี้สอนอะไรบ้าง แค่รู้สึก ‘เท่’ อย่างบอกไม่ถูก ในวันที่เธอต้องสอบปฏิบัติ เธอพกดินสอ 2B ไปเพื่อสอบวาดรูปคน ขณะที่คนอื่นเหลาดินสอ EE เป็นสิบแท่งพร้อมอุปกรณ์ครบมือ วินาทีนั้นแม่หันมาบอกเธอว่า “ไม่ติดหรอก” แม้ในใจของมาเรียมเองก็ยอมรับความพ่ายแพ้ไปกลายๆ แต่

“สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”

กลับเข้าสู่ศาสนา

ใครบ้างจะไม่รู้สึกทึ่งเมื่อมีคนเล่าให้ฟังว่าใช้ดินสอ 2B พ่วงด้วยคะแนนสามัญจำนวนมาก (เธอว่าอย่างนั้น) เอาชนะการสอบเข้ามาได้ ซึ่งชีวิตในวิทยาลัยช่างศิลปทำให้เธอเติบโตขึ้น ทั้งแง่คิดและฝีมือการทำงาน

“สมัย ม.ต้นเราไม่ได้เคร่งศาสนา ไม่ใส่ฮิญาบไปเรียน ละหมาดก็ไม่ครบ 5 ครั้ง เราใช้ชีวิตโดยไม่ได้นึกถึงหลักคำสอนมากเท่าไหร่ แต่มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่ทำให้เราเริ่มคิด นั่นคือช่วงแพ้ครีมหนักจนสิวเห่อ คนที่เคยรัก เคยชอบเรากลับทำเหมือนเราไม่มีตัวตน ทำให้รู้สึกไม่โอเคที่เขามองเราแค่ภายนอก พอเรียนจบแล้วเข้าวิทยาลัยช่างศิลป เรากลับไปทบทวนเหตุการณ์นั้น และเริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น จึงหันมาใส่ฮิญาบ เพื่อดูว่าถ้าเราใส่แบบนี้ ตัวตนเราเป็นแบบนี้ คนรอบตัวจะมองและจะคิดกับเราอย่างไร

“ตอนใส่แรกๆ คนก็ช็อกนะ ถึงกับเดินเข้ามาถามเราว่าทำไมทำแบบนี้ เพื่อนบอกว่าให้ถอดซะ เพราะมันดูไม่สวยเลย ซึ่งพอเรารู้ว่าคนไม่ชอบก็ยิ่งอยากใส่มากขึ้น มันทำให้รู้สึกว่าอยากให้พวกเขายอมรับตัวตนของเราจริงๆ”

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ฉันเองก็มีเพื่อนเป็นมุสลิมเหมือนกัน และทุกครั้งที่เธอใส่ฮิญาบมาเรียน สายตานับสิบคู่ต่างจับจ้องราวกับพบเห็นตัวประหลาด จนครั้งหนึ่งฉันถามเพื่อนอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่รู้สึกอึดอัดกับการถูกมองว่าเราแปลกจากคนอื่นบ้างเหรอ” ซึ่งคำตอบของเพื่อนคือ “จะรู้สึกอึดอัดทำไม ในเมื่อเราไม่ได้เป็นตัวประหลาด”

มาเรียมเองก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากเพื่อนของฉัน เพราะหลังจากปลดล็อกตัวตนด้วยการสวมใส่ฮิญาบจนจบวิทยาลัยช่างศิลป เธอยังคงใส่จนเรียนจบคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากนี้ มาเรียมยังเล่าให้ฉันฟังว่า สมัยเรียนคณะจิตรกรรมฯ เธอไม่ใช่คนเรียนเก่งระดับหัวกะทิ เธอเรียนแบบ ‘ถูๆ ไถๆ’ ด้วยซ้ำ เพราะตั้งใจกับการ ‘หาเงิน’ เพื่อเอามาจ่ายค่าเรียน ค่ากินอยู่ และค่าอุปกรณ์ เสียมากกว่า ซึ่งเธอทำแบบนี้ทุกวันจนรู้สึกว่าความฝันอยู่ไกลออกไปเรื่อยๆ

แล้วโชคชะตาก็เหมือนเข้ามาเล่นตลก เพราะช่วงขึ้นมหาวิทยาลัยชั้นปี 4 เธอมีปัญหาถาโถมเข้ามาไม่หยุดยั้ง โดนโกงเงิน ค่าใช้จ่ายท่วมตัว ทะเลาะกับแม่ จึงเป็นเหตุให้เธอหันกลับไปพึ่งศาสนาอีกครั้ง

“เราไม่ได้เป็นคนเคร่งศาสนานะ แต่พอเจอเหตุการณ์ที่ถาโถมในวันนั้นแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ตอนนั้นคิดว่างั้นลองทำตามกฎของศาสนาดูแล้วกัน เผื่ออะไรมันจะดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อเยียวยาจิตใจของเรา ซึ่งหลักคำสอนบอกไว้ว่า ถ้าอยากให้สิ่งใดประสบความสำเร็จให้ขอพรจากพระเจ้า ตอนนั้นเราขอแค่ว่าช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปเสียที

“ช่วงนั้นวันๆ ทำแต่ศิลปะ ยอมไม่มีเงินกินข้าว ไม่ออกไปไหน เพื่อนชวนก็ไม่ออกเลย เพื่อหันมาโฟกัสกับงานศิลปะอย่างเต็มที่ อยู่หอละหมาดวันละห้าเวลา นั่งร้องห่มร้องไห้ขอพรจากพระเจ้าทุกวันว่าขอให้หมดหนี้หมดสินสักที คือมันดูโอเวอร์จากความเป็นจริงว่าใครจะมาขอร้องกับอะไรที่เป็นนามธรรม เขาเป็นใคร จะให้สิ่งที่อยากได้อย่างไร แต่ตอนนั้นเราไม่รู้จะหันหน้าไปขอใคร มันไม่มีใครแล้ว แม้แต่พ่อแม่ก็ช่วยเราไม่ได้”

มาเรียมเล่าเรื่องมรสุมชีวิตพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า เพื่อเป็นเครื่องยืนยันให้ฉันรับรู้ว่า เธอผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในวันนั้นมาได้แล้ว เพียงแค่มันยังฝังลึกอยู่ในความทรงจำของเธอไม่เลือนหาย

ร้อย ‘ความศรัทธา’ บนผืนผ้า

เส้นด้ายบนผืนผ้าดำมีหลากหลายขนาด สี และลวดลาย ตั้งแต่ดอกไม้ เรขาคณิต ไปจนถึงดวงดาว มาเรียมอธิบายให้ฟังว่า เธอตีความหมายลวดลายต่างๆ ว่าแสดงถึงความเป็นมุสลิม ประกอบกับภาพสถาปัตยกรรมที่ไม่จำกัดสถานที่ เช่น มัสยิด บ้าน โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อสะท้อนความตั้งใจว่า

“ความศรัทธาของศาสนามันอยู่ทุกที่
ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะศาสนสถาน แต่มันอยู่รอบตัวเรา”

“เรามีความผูกพันกับการเย็บปักถักร้อยมาตั้งแต่เด็ก เพราะแม่มักซ่อมเสื้อผ้า หรือประดิษฐ์สิ่งของมาให้ด้วยการใช้ด้าย แล้วเส้นเหล่านี้มันคล้ายกับหลักการทางศาสนา คือความเป็นเอกภาพและความสมดุล โดยด้ายมีความเปราะบางเวลาอยู่เป็นเส้นเดี่ยวๆ แต่เมื่อนำมาร้อยให้ใหญ่ขึ้น มันมีกำลังมากพอที่จะโอบอุ้มหรือยึดสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน

“นอกจากนี้ ด้ายยังร้อยเป็นลายต่อกัน ไม่ค่อยมีช่องว่าง คล้ายกับท่าละหมาดที่คนจะยืนต่อกันให้มีพื้นที่ว่างน้อยที่สุด เพราะเชื่อว่าสิ่งร้ายๆ จะแทรกเข้ามาตามช่องว่างเหล่านั้น ส่วนเรื่องความสมดุล เรานำมาปรับเพิ่มเล็กน้อย แต่ถ้าพูดถึงหลักคำสอนทุกอย่างต้องสมมาตรและทับซ้อนเท่ากัน”

ฉันเคยร่วมฟังเสวนาในหัวข้อ ‘ร่างก(ล)ายในดรออิ้ง’ ซึ่งจัดขึ้นโดย SAC Gallery มีสิ่งหนึ่งที่ฉันสนใจเป็นพิเศษ คืองานศิลปะทุกชิ้นของมาเรียมจะไม่มีสิ่งมีชีวิตปรากฏบนภาพ แต่จะทดแทนด้วยโครงร่างหรือรูปทรงมากกว่า เป็นหนึ่งในข้อควรหลีกเลี่ยงทางศาสนา เพราะไม่อยากให้คนนำไปบูชาหรือกราบไหว้ในภายหลัง

หลังจากฟังมาเรียมเล่าถึงข้อหลีกเลี่ยงทางศาสนา ทำให้ฉันสงสัยไม่น้อยว่ากฎต่างๆ ส่งผลต่ออิสระในการสร้างงานศิลปะของเธอหรือไม่ ซึ่งเธอตอบรับอย่างไม่ลังเลว่า “ไม่เลย”

“ฟังดูเหมือนกฎต่างๆ จะส่งผลต่องานเรา แต่จริงๆ แล้วไม่เลย ก่อนหน้าที่เราจะเข้าหาศาสนาอย่างจริงจัง เรายึดติดกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ฝีมือ’ ต้องเก่ง ต้องทำออกมาได้ดี แต่พอมีแนวคิดศาสนามันทำให้เรามีอิสระในการทำงานมากขึ้น เพราะศาสนาบอกไม่ให้เรายึดติดกับอะไรเลย และสร้างให้เรากล้าทำงานสะท้อนสังคมมากขึ้น”

หลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียว

ความงดงามจากเส้นต่อเส้นมาบรรจบเป็นภาพงานหนึ่งชิ้น ต่างได้รับความสนใจจากคนไทยและเทศ มีคนติดต่อขอซื้องาน และมีโอกาสส่งงานเข้าประกวดหลายแห่ง ซึ่งผลักดันให้เธอมุ่งมั่นเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว

“เนื้องานที่ค่อนข้างใหม่ ตอนไปเดินสายเขาก็รู้สึกว้าวกับมัน แต่ก็ยังมีอุปสรรคเล็กๆ ที่ท้าทายต่อการสร้างผลงานเหมือนกัน หลายครั้งที่คนเข้ามาติดต่อเพราะอยากนำภาพเราไปตกแต่งบ้าน พอเราบอกเขาว่าเราสื่อถึงศาสนา สังคม การเมือง ด้วย เขาแนะนำว่าทีหลังอย่าไปพูดถึงเรื่องนี้ เดี๋ยวมันขายไม่ได้ ภาพศิลปะต้องเน้นไปที่ความงามสิถึงจะดี

“พอฟังแบบนั้น ในใจเราตั้งคำถามเลยว่าถ้าจะให้เราทำศิลปะ เพื่อตอบโจทย์แค่ความงาม ไล่ให้เราไปทำอาชีพอื่นดีกว่า เพราะความตั้งใจของเราคือการทำงานศิลปะเพื่อสะท้อนเรื่องราวของสังคม”

อีกความท้าทายที่ต้องเผชิญไม่ใช่แค่การถูกกลืนตัวตนโดยพุทธศาสนา แต่ยังรวมถึงวาทกรรมที่แทรกซึมในระบบความคิดของนักสะสมศิลปะ หรือแกลเลอรีส่วนใหญ่ที่พอพูดถึง ‘ศาสนาอิสลามในไทย’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาคือภาพจำของ ‘ความรุนแรง’ ซึ่งมาเรียมมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดอยู่มากพอสมควร

“การเป็นมุสลิม ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก แต่มันต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่เราเองก็อยากเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ดื้อบ้าง เกเรบ้าง แต่ทำไม่ได้ เพราะเดี๋ยวภาพลักษณ์ออกมาไม่ดี”

หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในฐานะชาวมุสลิม ยังทำให้มาเรียมถูกผลักออกเป็นพลเมืองชั้น 2 ต่อให้ร่างกายของเธอมีเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม ทำให้มาเรียมไม่เพียงผลิตผลงานที่บอกเล่าเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่ยังเล่าถึง ‘ชาติพันธุ์’ เพิ่มขึ้นมาด้วย

หลังจากนั่งฟังเรื่องราวของมาเรียม ทำให้ฉันค้นพบว่า แม้เราทุกคนหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามถึง ‘ความแตกต่าง’ ไม่ได้ แต่หากหันมารับฟัง ทำความเข้าใจ และปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างไร้ชนชั้น ไร้ศาสนา และไร้ทุกข้อจำกัด คำว่า ‘เอกภาพ’ จะไม่ได้อยู่แค่ในคัมภีร์ แต่จะถูกบรรจุอยู่ใน ‘ความเป็นมนุษย์’ ของคนทุกคน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.