Give me museums เปลี่ยน ‘บ้าน’ เป็น ‘หอศิลป์’ - Urban Creature

ยินดีต้อนรับสู่ ‘Give.me.museums’ พิพิธภัณฑ์สารพัดของกุ๊กกิ๊กที่อยากขาย ‘ศิลปะ’ บนของ ‘กระจุกกระจิก’ ไม่ว่าจะเป็นเคสโทรศัพท์ กระเป๋าสะพาย กระจกส่องหน้า หรือโปสต์การ์ดที่ระลึก โดยมี ‘ออย-คนธรัตน์ เตชะไตรศร’ อยู่เบื้องหลังแบรนด์ และอยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงศิลปะให้เหลือ ‘กระจึ๋ง’ เดียว

ฉันยอมรับอย่างสุดขั้วหัวใจว่าเป็นแฟนคลับฝีแปรงของออยมาสักระยะ และตื่นเต้นทุกครั้งเวลาสตอรี่อินสตาแกรมขึ้นวงกลมสีแดง หรือแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์เด้งขึ้นมาบนฟีด เพื่อบอกว่า “วันนี้แบรนด์มีอะไรมาอัปเดตบ้าง” เมื่อมีโอกาส ฉันจึงนัดพบปะออยที่คาเฟ่ Old Day Bloom สยามสแควร์ซอย 2 และพูดคุยถึงความตั้งใจเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ของออยอย่างจริงจังสักครั้ง

เปลี่ยน ‘บ้าน’ เป็น ‘หอศิลป์’

เมื่อเด็กหญิงคนธรัตน์ เตชะไตรศร เริ่มฉายแวว ‘ศิลปิน’ ตั้งแต่อยู่เนิร์สเซอรี คอยขีดๆ เขียนๆ ผนังบ้านของตัวเอง เพื่อสร้างงาน ‘ศิลเปรอะ’ โดยมี ‘ครอบครัว’ เป็นทั้งผู้ชมงานศิลป์ และผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่พร้อมจัดแจงซื้อสี ซื้อกระดาษ หรือซื้ออุปกรณ์ศิลปะยามร่อยหรอ เพราะ ‘ความสุข’ ของจิตรกรตัวน้อย คือความสุขของครอบครัว

“เราเริ่มวาดมาตั้งแต่อนุบาล ยังไล่ขีดเขียนกำแพงบ้าน
ตัวเองอยู่เลย แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ตัวเองว่าชอบไหม
แค่รู้สึกว่าทำสิ่งนี้แล้วมีความสุข แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ
ตั้งแต่ประถมฯ มัธยมฯ มหา’ลัย มาจนถึงตอนนี้”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ออยสร้างงานศิลปะมาจนถึงปัจจุบัน ล้วนเกิดมาจาก ‘แรงใจของครอบครัว’ ออยเล่าว่า ที่บ้านให้การสนับสนุนเธออย่างดีตั้งแต่เล็กจนโต แม้ว่าวินาทีที่ออยละเลงกำแพงบ้านอย่างไม่รู้ประสีประสา แต่ครอบครัวกลับไม่ดุด่า หรือตอกย้ำความผิดจนเด็กหญิงคนธรัตน์ในวันนั้นกลัวหัวหด

“ทำไปเลยลูก

คือคำพูดเล็กๆ แต่กระตุ้นให้ ‘ความหลงใหลศิลปะ’ ทวีคูณขึ้นในใจของออยอย่างช้าๆ และมุ่งหน้าฝึกมืออย่างเป็นจริงเป็นจัง พ่วงด้วยแรงผลักดันจากครอบครัวที่พาตระเวนประกวดวาดภาพ จนคว้ารางวัลชนะเลิศไม่ขาดสาย นั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ออยตัดสินใจเข้าเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้เรื่องศิลปะให้ลงลึกมากกว่าที่เคย

อารัมภบท

หลังเก็บชั่วโมงบินจนเรียนจบ ออยได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟ บริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง แต่กลับต้องวางการวาดรูปลงไปก่อน เพราะเนื้องานอันแสนเครียด จนออยต้องมองหาทางออกท่ามกลางสถานการณ์นี้

“เราทำงานประจำอยู่ที่เอเจนซี่ แล้วมันเครียดมาก สมองต้องคอยคิดเรื่องงานตลอดเวลา ซึ่งพอถึงจุดพีกของการทำงาน มันทำให้เราหันมามองตัวเองว่าไม่ได้แล้วนะ ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เราเลยเริ่มกลับมาวาดรูปเพื่อเยียวยาจิตใจ ถึงแม้ตอนนั้นงานจะเยอะมาก แต่ต้องหาเวลามาวาดรูปให้ได้ พอลงมือวาดไปสักพักก็รู้สึกว่าอยากทำโปรดักต์ขึ้นมาใช้เอง

“แล้วเพิ่งมาสังเกตว่าช่วงนั้นเป็นคนแต่งตัวโทนสีขาว สีดำ สีเทา มันรู้สึกว่า ‘ทำไมชีวิตฉันถึงไม่มีสีสันเลย’ เพราะฉะนั้นโปรดักต์ของเราก็ต้องมีสีสัน เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหาย (หัวเราะ) ซึ่งเราเริ่มผลิต ‘สติกเกอร์วินเซนต์ แวนโก๊ะ’ เป็นชิ้นแรก เพราะต้นทุนไม่เยอะ ผลิตง่าย แต่เผอิญว่าการสั่งผลิตหนึ่งรอบมันทำชิ้นเดียวไม่ได้ เลยต้องทำจำนวนขั้นต่ำเท่าที่เขาจะให้ ปรากฏมันเหลือประมาณ 10 แผ่น แต่เราจะเก็บไว้ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรเลยลองติดต่อร้านฝากขายดู ซึ่งสุดท้ายเขาก็ตอบรับนะ”

ออยเล่าอย่างขำขันกับ ‘ความไม่รู้’ ของตัวเองในเวลานั้น ที่คว้าสติกเกอร์เพียง 10 แผ่น ติดต่อไปทาง happening shop โดยออยบอกต่อว่าร้านเข้ามาช่วยไกด์ในการขายของประมาณหนึ่ง ซึ่งการช่วยเหลือในวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่หัดให้เรียนรู้การเป็น ‘แม่ค้า’

“ตอนแรกเราวางขายภายใต้ชื่อ ‘คนธรัตน์’ มาก่อน กะว่าจะขายไม่จริงจังมากเพราะยังทำงานประจำอยู่ ปรากฏว่าทางร้านโทรฯ มาให้เราไปเติมของอยู่บ่อยครั้ง และลูกค้าก็ทักมาว่าจะติดตามได้ที่ไหน จะทำลายอะไรเพิ่ม พอมาถึงจุดหนึ่งคนทักมาเยอะมากก็เลยตัดสินใจสร้างแบรนด์ Give.me.museums ขึ้นมาเลยแล้วกัน ”

ห้องจัดแสดงนิทรรศการ

Give me a museum and I’ll fill it.

คือคำพูดของ ปาโบล ปิกัสโซ่ ที่ออยรู้สึกชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เลยหยิบเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อร้าน give.me.museums ซึ่งมีความหมายว่า “ส่งพิพิธภัณฑ์มาให้ฉันสิ แล้วฉันจะเติมมันให้เต็มเอง”

“ตอนเราเห็นประโยคคำพูดของปิกัสโซ่ มันทำให้เราตั้งเป้าหมายเพื่อเอาไว้กระตุ้นตัวเองว่า ‘ฉันอยากมีผลงานดีๆ มาอยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้าง’ แต่ถ้าเทียบกับบริบทตอนนี้ เราตีความว่า Museum ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ แต่มันคือพื้นที่ที่แสดงออกศิลปะ ซึ่งเราอยากให้มันมีเพิ่มขึ้น”

แต่ภาพจำของงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ มักจะเป็นแคนวาสขนาดใหญ่ แล้วขายในราคาอย่างต่ำอยู่ที่ครึ่งหมื่น อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นของสูงส่ง หากเงินในกระเป๋าไม่หนักพอคงทำได้แค่ยืนชมความงามในระยะ 1 เมตร จนกลายเป็นเจ้าของสินค้าได้ยาก

“ทำไมเลือกขายของกระจุกกระจิกในราคาย่อมเยา แทนการขายภาพวาดในราคาสูงๆ ล่ะ”
ฉันถาม

“เราว่าศิลปะควรเป็นเรื่องของทุกคนและเข้าถึงได้ง่าย
ซึ่งการขายรูปแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดเลยนะ
เพียงแค่ความตั้งใจของเราต้องการให้คนเข้าถึงได้เยอะๆ เลยหันมาทำโปรดักต์ชิ้นเล็กในราคาย่อมเยา
เพื่อให้คนจับต้องได้แล้วกระจายไปสู่หลายๆ คน”

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สะดุดกับฝีแปรงสีอะคริลิก แต่งแต้มทิวทัศน์ทุ่งหญ้า หาดทราย หรือหมู่มวลดอกไม้หลากสี เบื้องหลังภาพเหล่านั้นออยเล่าว่าทุกอย่างต่างถูกคิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และเป็นสถานที่ไม่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการหลอมรวมสภาพแวดล้อม ผู้คน สถานที่ที่ออยไปพบเจอ จนสะสมออกมาวาดเป็นภาพ 1 ภาพ แล้วถูกย่อยออกมาเป็นสินค้านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า หมวก เคสโทรศัพท์ หรือที่ติดหลังมือถือให้เลือกสรร

“เราไม่ได้คิดว่าภาพจะต้องออกมาเป็นสถานที่ไหนเป๊ะๆ
มันเกิดจากการร่างโครงและปล่อยให้มือไหลไปตามความรู้สึก”

“จะเป็นอย่างไร ถ้าคนธรัตน์ไม่มีคำว่า ‘ศิลปะ’ โผล่เข้ามาในชีวิต” ฉันถาม
“เกิดใหม่มั้ง (หัวเราะ)”

ออยหัวเราะขบขันไปกับคำตอบตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เธอหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ถ้าเกิด’ วันนั้นไม่ได้ลงมือเขียน ชีวิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งออยสารภาพว่าเธอจินตนาการไม่ได้เลย เพราะช่วงชีวิตที่ไม่รู้จักศิลปะคงเป็นตั้งแต่ในท้องแม่ มาจนถึงเนิร์สเซอรีเองมั้ง

อันที่จริง ฉันเป็นแฟนมิวเซียมแห่งนี้มาสักพัก และคอยไปเยือนลับๆ ตามตลาดศิลปะ พบว่านักช้อปส่วนใหญ่ต่างเป็นวัยเรียน วัยทำงาน และมีวัยเก๋าบ้างประปราย ที่เข้ามาจับจ่ายเพื่อ ‘อุดหนุน’ ศิลปะตามกำลังทรัพย์ และบางคนนำสิ่งของเหล่านั้นไปเก็บสะสมเอาไว้ เพราะนอกจากจะฟุ้งไปด้วย ‘ความกระปุ๊กกระปิ๊ก’ แต่โปรดักต์ทุกชิ้นสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันจริง 

“เราไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อให้ใครมาชอบ แค่รู้สึกว่าอยากทำงานให้มันออกมาดี จุดเริ่มต้นของเราทำมาเพื่อใช้เอง เพราะฉะนั้น ในวันนี้เรื่องคุณภาพ เรื่องดีไซน์ ทุกอย่าง ทำขึ้นมาเพื่อให้เราใช้เองอยู่ด้วย”

“ถ้าเปรียบว่าแบรนด์เราคือพิพิธภัณฑ์ สินค้าของเราคือช็อปขายของที่ระลึก ที่เมื่อคนดูศิลปะแล้วอยากได้ศิลปะติดตัวกลับไปด้วย”

ไม่เคยหมด ‘แพสชัน’

‘แพสชัน’ เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่เพียงเกิดขึ้นกับนักวาดเท่านั้น แต่มันสั่นคลอนความฝันของใครหลายคน จนกลายเป็นเหตุผลหลักที่บั่นทอนให้ล้มเลิกความตั้งใจที่มี ซึ่งที่ผ่านมาออยไม่เคยหมดแพสชันกับการวาดภาพเลยสักครั้ง ถึงแม้จะวาดภาพเป็นงานอดิเรกหรือธุรกิจก็ตาม

“ยังไม่เคยมีความรู้สึกหมดแพสชันในการวาดภาพเลย อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องวาดทุกวัน หรือเราต้องเก่งขึ้น มันเป็นเพียงอารมณ์อยากวาด และเราไม่ได้ทำจนเกินลิมิตของตัวเอง หรือดึงพลังชีวิตไปเยอะขนาดนั้น อีกอย่างอาจเป็นเพราะเราไม่ได้เอาตัวเองลงไปอยู่ในนั้น 100% แน่นอนแหละว่า Give.me.museums คือตัวตนของออย แต่ชีวิตมีหลายมิติ เพราะสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ ให้เวลากับคนรอบตัวมากกว่า

“หลายคนใช้แรงจนเกินลิมิตตัวเอง อย่าลืมว่าเราต้องใจดีกับตัวเองให้มาก และยืดหยุ่นเท่าที่เราไหว อย่าทำทุกอย่างให้มันตึงมากเกินไป ไม่อย่างนั้นสุดท้ายเราอาจจะไม่มีความสุขกับมันอีกเลย”

ออยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เธอใส่ตัวเองลงไปในแบรนด์ 80% ซึ่งส่วนที่ไม่มีใน Give.me.museums คือความไร้สาระและความซีเรียสขั้นสุด อย่างละ 10% อีกทั้งออยอยากให้เวลาคนดูเห็นภาพวาดทุกภาพ หรือสินค้าทุกชิ้นจากแบรนด์แล้วรู้สึกสบายใจ หรือช่วยให้หายเหนื่อยสักนิดก็ยังดี 

“เรารู้สึกดีมากเลยนะ เวลามีคนส่งรูปมาแล้วบอกว่าเขากลับมาวาดรูปอีกครั้งเพราะดูภาพเรา หรือวันนี้เขารู้สึกแย่มาก แต่การไถฟีดมาเจอภาพเรามันทำให้เขารู้สึกดีขึ้น พอฟังแล้วอยากให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถึงแม้เขาจะไม่ได้ชอบงานขนาดนั้น แต่การที่ศิลปะของเรามันทำอะไรบางอย่างได้ก็โอเคแล้ว ซึ่งอนาคตก็อยากให้เป็นศิลปะบำบัดคนเหมือนกันนะ”

“แล้วศิลปะมันส่งผลอะไรต่อออยไหม” 

ฉันถามด้วยความสงสัย เพราะในเมื่อมันช่วยให้คนเสพศิลป์รู้สึกแฮปปี้ขึ้น 
แล้วในฐานะเจ้าของผลงาน ศิลปะของออยส่งผลต่อตัวเธออย่างไร

ออยใช้เวลาครุ่นคิดกับคำตอบชั่วครู่ ก่อนตอบเราอย่างมั่นใจว่าการวาดรูปทำให้เธอรู้สึก “ใจเย็น” ซึ่งออยปฏิเสธทันควันว่าพื้นฐานไม่ใช่คนใจร้อน แค่ช่วงทำงานประจำมันเห็นชัดว่าศิลปะส่งผลอะไรต่อตัวเรา เพราะการทำงานเอเจนซี่ทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมดจนเธอติดนิสัยรีบร้อน แล้วพอกลับมาวาดรูปทำให้เธอรู้สึกใจเย็น ปล่อยวาง และมองอะไรหลายมุมมากขึ้น จากนั้นการขีดเขียนสีสันจึงกลายเป็น ‘เซฟโซน’ ของเธอไปโดยปริยาย

give us museums
ขอพื้นที่ศิลปะให้กับ ‘พวกเรา’

บ่อยครั้งที่ฉันไถทวิตเตอร์ แอ็กเคานต์ @givemuseums จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ give.me.museums ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องพื้นที่ศิลปะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้กับ ‘นักวาดไทย’ ได้อวดฝีมือ เพื่อกระตุ้นวงการคนเสพศิลป์ได้รู้จักอย่างกว้างขวาง อย่างกระแสล่าสุดคือ ธีสิส VS ทำงานจริง ซึ่งให้นักวาดไม่จำกัดสังกัดออกมาแชร์ว่าโปรเจกต์เรียนจบกับงานที่ทำปัจจุบันต่างกันอย่างไร 

“พัฒนาจากเดิม” หรือ “ค้นพบตัวตนใหม่”

หรือการเป็นหนึ่งในผู้จัดตลาดนัดศิลปะอย่าง whatever whenever, art happens! ซึ่งออยบอกว่ามันค่อนข้างแตกต่างจากตัวแบรนด์มาพอสมควร เพราะ Give me museums คือการร้องขอพื้นที่ศิลปะ แต่ whatever whenever, art happens! คือการสร้างพื้นที่ศิลปะขึ้นมาเอง โดยรวบรวมศิลปะหลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน

“เรามองว่าพื้นที่ศิลปะค่อนข้างสำคัญต่อตัวเราและสังคม“เรามองว่าพื้นที่ศิลปะค่อนข้างสำคัญต่อตัวเราและสังคมมากเลยนะ ถ้ามองลึกไปกว่านั้นเราไม่ได้ต้องการแค่หอศิลป์ แต่ศิลปะควรเข้าไปอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นตึกหรือสิ่งของทุกอย่าง เราอยากให้ศิลปะอยู่ในนั้น ถ้าการเมืองดี ศิลปะจะดีตาม เพราะมันจะทำให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายและเท่าเทียม เราจะมีมิวเซียมดีๆ ทั่วเมืองให้เรียนรู้ และได้อุปกรณ์สร้างงานศิลปะอย่างมีคุณภาพ ในราคาเอื้อมถึง

“อีกแง่หนึ่ง ศิลปะทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมมานานแล้ว เพราะศิลปะคือ Soft Power รูปแบบหนึ่ง อย่างตอนที่มีปัญหาเรื่องการเมือง เราออกมาวาดรูปเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง ถึงแม้สารที่ออกมาอาจลดทอนความรุนแรงจากความเป็นจริง แต่มันทำให้คนรู้สึกสบายใจในการอ่าน สบายใจในการส่งต่อให้คนรู้ มันทำหน้าที่คนละอย่างกันแต่มันช่วยขับเคลื่อนสังคมได้เหมือนกัน” ออยเสริม

ภาพลักษณ์ที่ดูสดใสกลับดูจริงจังมากขึ้น เมื่อเราชวนออยพูดถึง ‘พื้นที่ศิลปะ’ เพราะแม้ตัวตนของแบรนด์คือสร้างขึ้นเพื่อเรียกร้องพื้นที่ศิลปะ แต่สำหรับตัวตนของ ‘ออย’ มันคือความตั้งใจที่อยากให้งานศิลป์ทุกแขนงเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น จากการขีดๆ เขียนๆ กำแพงบ้านในวันนั้น ออยในวัย 26 ปีมองเป้าหมายระยะไกล คือการขับเคลื่อนวงการศิลปะ

“เราอยากให้ Give me museums เป็นทั้งเซฟโซนของเรา และเป็นเซฟโซนของคนอื่นได้ด้วย เราอยากให้เขาเข้ามาแล้วรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย หรือแสดงความคิดเห็นอะไรในนี้ได้ เปรียบเสมือนพื้นที่ให้คนเข้ามาพูดคุยกันด้วย”


ขอขอบคุณสถานที่ 
Old Day Bloom Cafe
Tres Fashion

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.