หัวเมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งปลูกสร้างหลากหลายรูปแบบก่อตัวขึ้นทุกหัวระแหง ในบางครั้งแม้อาคารสวยงามจะเสร็จสิ้น แต่กลับมีขยะกองโตทิ้งไว้ ซึ่งหมายถึงทรัพยากรไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าเท่าที่ควร หากเราสามารถบริหารจัดการร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ลดการเกิดขยะจากวัสดุเหล่านี้ ก็จะสร้างเมืองที่สวยงามควบคู่ไปกับโลกที่ยั่งยืนได้
เมื่อทรัพยากรมีอยู่จำกัดเศรษฐกิจหมุนเวียนคือทางออก
แม้อุตสาหกรรมก่อสร้างจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรของโลกจำนวนมาก
จากรายงานของ Elsevier ที่พูดถึงการไหลเวียนของทรัพยากรในเมือง และการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ‘เขตเมือง’ คือพื้นที่ที่กินทรัพยากรมากที่สุด บรรดาเมืองต่างๆ ใช้พลังงานมากถึง 60 – 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ และบริโภคทรัพยากรธรรมชาติคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ การใช้ทรัพยากรจำนวนมาก รวมถึงการเจริญเติบโตของเขตเมือง และจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี ค.ศ. 2050 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวล
เพื่อไม่ให้ทรัพยากรที่มีค่าต้องเสียเปล่า เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดของการใช้ทรัพยากรให้ จึงได้รับการหยิบยกมาเป็นทางออก ของการวางแผนออกแบบการก่อสร้างที่ช่วยลดการเกิดวัสดุเหลือทิ้ง และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัสดุเหลือใช้ให้กลับมาสร้างคุณค่าใช้งานได้อีก โดยประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเนื้อหาของงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions For Sustainable Future” ที่ SCG ชวนผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการก่อสร้าง มาร่วมระดมความคิดใน Pre-session workshop เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่จะนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
คิดให้ครบ ‘ลดเวลาลดต้นทุนลดทรัพยากร’
หากวงการก่อสร้างนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ กจะสามารถลดขยะที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างวันละกว่า 3,000 ตัน คิดเป็น 10 – 30 เปอร์เซ็นต์ ของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทั้งหมด รวมถึงมลภาวะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ‘ประภากร วทานยกุล’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาในงาน SD Symposium 2020 มองว่าความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญมาก ในการบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้
“ต้องคุยกันว่าจะออกแบบอย่างไรไม่ให้เหลือเศษขยะ เรามีการใช้ BIM Animation เทคโนโลยีจำลองแบบอาคารที่แม่นยำ มาช่วยในการออกแบบให้ทุกส่วนผสานกันทั้งหมด ทำให้เราเห็นปริมาณวัสดุที่ต้องใช้ก่อนลงมือก่อสร้างจนไม่เหลือทิ้ง
ในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในวงการก่อสร้างนั้น ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตที่ต้องรับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคที่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการทิ้ง ซึ่งทุกฝ่ายควรได้รับประโยชน์จูงใจในรูปแบบต่างๆ เช่น การคืนภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม”
ประภากรยังบอกอีกว่า ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี เราจะไม่เห็นขยะจากงานก่อสร้างอีกต่อไป และจะมีพื้นที่สีเขียวขึ้นมาทดแทน
ภายในงาน “SD Symposium 2020” ยังมีการยกตัวอย่างแนวคิด Waste to Wealth ที่หลายองค์กรร่วมกันลดขยะจากการก่อสร้าง ด้วยการนำทรัพยากรใช้แล้วกลับมาสร้างมูลค่า เช่น นำเศษคอนกรีตจากการสร้างอาคารมาทำถนนในโครงการ หรือการใช้โครงสร้างสำเร็จรูปในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
แก้ปัญหาขยะจากการก่อสร้าง ส่งต่อโลกที่ยั่งยืน
หากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คือหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองให้เดินไปข้างหน้า เราจะได้เห็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ นวัตกรรมการขนส่งที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการเศษวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตไปควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สนใจรับชมงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” โดย SCG ย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3oXyyDD