Sculpturebangkok ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล - Urban Creature


“แชะ แชะ แชะ”

เพียงเสี้ยววินาที ตู้ถ่ายภาพก็กดสแนปช็อตอย่างไม่ปรานีสภาพหน้า ทำให้หวนคิดถึงสมัยผมติ่ง แบกเป้เดินสยาม แล้วแวะถ่ายรูปตู้สติกเกอร์พุริคุระกับเพื่อนก่อนไปเรียนพิเศษ ยิ่งโมเมนต์โหวกเหวกในตู้แคบๆ คอยจัดแจงว่าใครยืนหน้า-หลัง กลายเป็นความทรงจำสมัยเรียนที่มีของที่ระลึกเป็น ‘ภาพถ่าย’ ขนาดจิ๋ว (เพราะต้องตัดแบ่งให้เพื่อนอีกนับสิบคน)

หรือย้อนกลับไปสมัยตัวกะเปี๊ยก เวลาเจอตู้ถ่ายสติกเกอร์ตามห้าง ต้องจูงมือพ่อกับแม่วิ่งเข้าไปแอ็กท่าสักสองสามแชะ ก่อนจะได้รูปถ่ายเฟรมฟรุ้งฟริ้ง ที่เตรียมแปะอวดรูปครอบครัวพร้อมหน้า แบบไม่ต้องมีใครหายไปจากภาพ เพราะต้องถือกล้องถ่ายให้

พอรู้ตัวอีกที ตู้ถ่ายภาพในความทรงจำ ณ ตอนนั้นต่างทยอยปิดตัวจนแทบไม่เหลือให้เดินไปสแนปขำๆ กับเพื่อนกลางสยาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ ‘ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล’ และ ‘พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’ ผู้สร้างตู้ถ่ายภาพจาก ‘Sculpturebangkok’ ได้ทำให้หลายคนต้องนึกถึงวันวานอีกครั้ง

ตู้ถ่ายภาพ ‘อัตโนมือ’

ที่มาที่ไปของตู้ถ่ายภาพอันฮอตฮิต เริ่มจากปิ่นเดินทางไปนิวยอร์ก แล้วเห็นตู้ถ่ายภาพกระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง ประกอบกับตู้ส่วนใหญ่มีม่านกั้นให้ความเป็นส่วนตัว ทำให้ปิ่นอยากเข้าไปถ่ายเรื่อยๆ เพราะตัวเองค่อนข้างเคอะเขินเวลาต้องไปแอ็กท่าจังก้าให้คนยกกล้องขึ้นมาถ่ายกลางที่สาธารณะ จากการถ่ายเพื่อเอาสนุก กลายเป็นคนชอบเช็กอินตู้ Photoautomat ในต่างแดนเป็นที่ระลึกแต่ใครจะไปคิดว่าตู้ถ่ายภาพอัตโนมัติของ Sculpturebangkok ที่เราเห็นๆ กันอยู่ตอนนี้ จะใช้ระบบ ‘อัตโนมือ’ มาก่อน! 

ปิ่นบินกลับมาประเทศไทยช่วงปลายปี 2019 และอยากทำอะไรสนุกๆ เพื่อต้อนรับปีใหม่ที่ใกล้เข้ามาถึง จึงเลือกทำตู้ถ่ายภาพ ซึ่งเวลานั้นในไทยยังไม่มีใครทำมาก่อน ประกอบกับได้พื้นที่จากคนรู้จักที่เปิดให้ดีไซน์ได้เต็มที่ ทำให้ปิ่นไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสดีๆ เอาไว้

“ตอนแรกเราตั้งใจให้ตู้ถ่ายภาพเป็น Sculpture ชิ้นหนึ่ง เพราะเราเรียน Fine Art แล้วชอบเวลาคนเข้ามา Engage หรือ Interact กับงานของเรา ซึ่งตอนนั้นตู้เป็น Manual ทั้งหมด เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เลยเข้าไปนั่งถ่ายเอง พรินต์เอง ตัดเอง จัดแสงเอง ทำฟิลเตอร์ขึ้นมาเองหมดเลย

“ถามว่าทำไมไม่อิมพอร์ตตู้ถ่ายภาพเข้ามา หรือสั่งทำ ต้องบอกว่าราคามันแพงมาก (หัวเราะ) ไหนจะค่าชิปปิ้ง ไหนจะเรื่องการซ่อมแซม แล้วตอนนั้นเราวางให้มันเป็นแบบป็อปอัป ซึ่งการสั่งเข้ามาแน่นอนว่าไม่คุ้ม”

หลังจากกระแสตู้ถ่ายภาพเริ่มทวีความป็อปมากขึ้น ทำให้ปิ่นได้พีมาเป็นคู่หูใน Sculpturebangkok ที่ผลักดันให้ Photoautomat เริ่มเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง 

“พีเพิ่งเข้ามาร่วมโปรเจกต์เมื่อตอนปี 2021 นี้เองครับ เราสองคนเป็นเพื่อนกันมาก่อน แล้วผมเห็นว่าปิ่นทำตู้ถ่ายภาพที่ H_dining ด้วยความที่ปิ่นค่อนข้างมีความเป็นศิลปิน เขาจะมองว่า Photoautomat เป็นงานศิลปะ ซึ่งเราบอกเขาว่าสิ่งนี้ต่อยอดไปเป็นธุรกิจได้

“ตอนนั้นเราคุยกันว่าอยากทำอะไรขึ้นมาสักอย่างไหม เพื่อให้คนซื้อได้ถ่ายรูปกลับไปด้วย ซึ่งเราสรุปว่าเป็นหมวก แล้วฟีดแบ็กดีมาก ขายหมดภายในหนึ่งถึงสองวัน ทำให้เราสองคนตื่นเต้นกันมาก และลงมือจริงจังให้เป็นธุรกิจไปเลย”

 4 ตู้ 4 สไตล์

แน่นอนว่าการใช้ตู้ถ่ายภาพด้วยระบบอัตโนมือ ไม่ตอบโจทย์เรื่องเวลา โดยเฉพาะคิวยาวเฟื้อยและไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปง่ายๆ แถมยังสร้างความเหนื่อยล้าให้กับร่างกาย ทำให้แรงงานคนไม่เวิร์กอีกต่อไป ปิ่นกับพีจึงตัดสินใจทำตู้ถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ จ้างโปรแกรมเมอร์อย่างจริงจัง แต่ยังคงใช้แรงงานคนอยู่บ้าง โดยเฉพาะการประกอบตู้ที่เริ่มต้นจากศูนย์ และลงมือศึกษาตั้งแต่วัสดุ ไปจนถึงดีไซน์แบบต่างๆ ให้เหมาะกับสถานที่ จนมีคำพูดเล่นๆ ของทั้งสองคนว่า “ทำตู้เสร็จ เหมือนกูสร้างบ้านได้ละ”

เท่าที่ฉันจำความได้ ตู้ถ่ายภาพสมัยก่อนมีคาแรกเตอร์น่ารักฟรุ้งฟริ้ง และดีไซน์ให้ลายการ์ตูนประดับประดารอบตู้ ซึ่งผู้ชายหลายคนอาจไม่กล้าเข้ามาถ่าย แถมตู้ถ่ายภาพเป็นแบบเดียวกัน แต่ถูกวางกระจัดกระจายไปตามห้างฯ ทั่วเมือง

สำหรับ Sculpturebangkok ฉันเห็นการดีไซน์ที่แตกต่างออกไป มีความทันสมัย และมีความ Unisex มากขึ้น ไม่ว่าเพศไหนก็เดินเข้าไปถ่ายได้อย่างไม่เคอะเขิน รวมไปถึงการออกแบบตู้ให้กลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่นั้นๆ มากกว่าการก๊อบปี้แล้ววางลงไปดื้อๆ

“อันที่จริง ตอนดีไซน์ปิ่นไม่ได้คิดถึงตู้ถ่ายภาพสมัยก่อนเลย ทุกอย่างมันป็อปอัปขึ้นมาในหัว แล้วตู้ถ่ายภาพพวกนี้มันมีอยู่แล้ว เหมือน Photo booth งานแต่ง แต่ปิ่นแค่เอามาหุ้มมันใหม่

“เราพยายามออกแบบตู้ตามมู้ดของสถานที่นั้นๆ แต่พอมีสถานที่เยอะขึ้น ทำให้เราไม่สามารถออกแบบให้เข้ากับทุกที่ ตอนนี้เราเลยออกแบบไว้ประมาณสี่ห้าตู้ เพื่อใช้เป็นโมเดลหลักว่าสถานที่ไหนเหมาะกับตู้แบบไหนมากที่สุด

“อย่างโมเดลที่ WWA x CHOOSELESS เป็นกลุ่มวัยทำงานที่สนใจเรื่องการดีไซน์ เราเลยออกแบบให้มีดีไซน์เก๋ๆ ลงไปในนั้น ขณะที่ Lido Connect ทั้งสองตู้ ปิ่นพยายามทำให้เด็กขึ้นมาหน่อย ก็จะใส่รูปทรงโค้งมน กับสีซอฟต์ขึ้น เพื่อให้ดูวัยรุ่นขึ้น ซึ่งสำหรับปิ่นการดีไซน์มันเป็นความรู้สึกมากกว่า ว่าต้องใช้วัสดุแบบนี้ สีแบบนี้ ออกแบบแบบนี้

“ถ้าพูดให้เห็นภาพอีกหนึ่งสถานที่คือ FICS สุขุมวิท 31 เป็นตึกเกี่ยวกับหนังหมดเลย แล้วเราได้รับโจทย์ให้ทำตู้ถ่ายภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Amélie เราพยายามดึงมาให้ใกล้เคียงที่สุด และออกแบบให้ตัวรูปถ่ายฉีกออกจากกันได้เหมือนตั๋วหนังให้เป็นกิมมิกเล็กๆ” ปิ่นตอบ

ปิ่นยังเสริมอีกว่า ความท้าทายอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเผชิญ คือ ทำอย่างไรให้คนไม่รู้สึกว่าตู้ถ่ายภาพไม่ใช่ที่ของเขา นี่เลยเป็นสาเหตุหลักที่ทั้งสองพยายามออกแบบตู้หลากสไตล์มากขึ้น เพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ และไม่รู้สึกเก้ๆ กังๆ ที่จะเข้ามาถ่าย

นอกจากนี้ พียังแอบกระซิบโปรเจกต์อันใกล้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Sculpturebangkok เองต้องปรับตัวตามไปด้วย ก็คือ ‘ตู้ถ่ายภาพแบบไดรฟ์-ทรู’ ใช่! คุณฟังไม่ผิด และที่สำคัญ มันให้ความรู้สึกเหมือนเราไปสั่งกาแฟสตาร์บัคส์ ถ่ายเสร็จ รับรูป ขับรถวนออกได้เลย (แต่ต้องจองคิวเข้ามาก่อนนะ)

“พีมองว่าสภาวะที่เกิดขึ้นนี้ คนไม่อยากออกจากบ้านกัน เราเลยคิดบริบทขึ้นมาใหม่เลยว่า ถ้าเราออกจากบ้านไปถ่ายรูปไม่ได้ เราจะทำอะไรให้เขาได้บ้าง ซึ่งมันก็เป็นไอเดียมันๆ ที่ตอบโจทย์กับอีกกลุ่มเป้าหมายที่อยากใช้เวลากับรถของฉัน แล้วพีเองรู้สึกว่ามันน่าสนใจด้วย” พีตอบ

สร้างให้เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของไทย

ปรากฏการณ์คนต่อคิวรอถ่ายภาพที่ตู้ของ Sculpturebangkok อย่างล้นหลาม เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จไปอีกขั้น แต่อดคิดไม่ได้ว่า Photoautomat ของพวกเขาจะเป็นกระแสในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วหายไปเหมือนตู้ถ่ายภาพสมัยก่อนหรือเปล่า 

“มันมีความกดดันนะ แบบมานั่งคิดว่าขาลงจะลงยังไงให้เท่ดีวะ (หัวเราะ) แต่จริงๆ เราอยากสร้างให้ตู้ถ่ายภาพเป็นอีกหนึ่ง Culture ของสังคมไทย เราอยากให้มันอยู่กับคนไปเรื่อยๆ มากกว่าให้มันบูมแป๊บเดียวแล้วหายไปตลอดกาล อย่างเวลาเราไปเมืองนอก มันไม่มีคนมาต่อคิวยาวแบบที่ไทย ค่อนข้างร้างเลยด้วยซ้ำ ซึ่งสำหรับเรา Goal มันแค่นั้นเอง คืออยากให้มันมีอยู่

“พีไม่ได้มองว่า Sculpturebangkok คือตู้ถ่ายภาพอย่างเดียว แต่เราอยากทำให้เป็นที่ที่หนึ่งที่สร้างความทรงจำ สร้างความสนุกให้กับทุกคนได้ มีครั้งหนึ่งที่เราได้นั่งข้างหลังตู้ เราได้ยินเสียงหัวเราะ คุยกันว่าหน้าตัวเองตลก แอ็กเพื่อนตลก เรารู้สึกเลยว่าเขากำลังมีความสุขกับตู้ของเรา ทำให้เราแฮปปี้ไปด้วย” พีเสริม

ความป็อปปูลาร์ที่คนให้ความสนใจตู้ถ่ายภาพ ทั้งสองมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะพวกเขามีสิ่งที่อยากไปไกลมากกว่านี้ โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ของ Sculpturebangkok ให้กับคนรุ่นใหม่ได้กล้าทำอะไรใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผุดไอเดียเจ๋งๆ ออกมาขับเคลื่อนวงการดีไซน์ของประเทศไทยให้ไปข้างหน้า

“สิ่งหนึ่งที่เราชอบกับการทำ Sculpturebangkok คือการแข่งขันทางด้านไอเดีย พอมันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น หลายเจ้าก็เริ่มผลิตตู้ถ่ายภาพออกมา แต่ทำในแบบของตัวเอง ซึ่งพอเราเห็นมันเป็นการแข่งขันเล็กๆ เอาไอเดียมาประชันกัน ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือการแข่งขันที่ทำให้สังคมไปข้างหน้า มันไม่ใช่ฉันทำคนเดียว พุ่งไปข้างหน้าคนเดียว แต่มันเป็นการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย” 

Photo Credit : @sculpturebkk

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.