Sculpturebangkok ธุรกิจตู้ถ่ายรูปโดยคนรุ่นใหม่ - Urban Creature

ในบรรดาธุรกิจเกิดใหม่ในยุคนี้ Sculpturebangkok น่าจะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มาแรง และได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ เห็นได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของตู้ถ่ายภาพที่เรียกว่า ไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องเห็นตู้ถ่ายภาพภายใต้แบรนด์นี้ ยังไม่นับการได้คอลแลบกับแบรนด์และสเปซอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Colors Culture, Space cat lab, Lido Connect, DayDay เป็นต้น

แม้เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 2 ปี แต่ด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์กับองค์ความรู้ด้านการออกแบบของ ‘ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล’ ที่เริ่มต้นทำ Sculpturebangkok มาก่อน บวกกับหัวทางการค้ากับความรู้ความเข้าใจด้านการทำธุรกิจของ ‘พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’ ที่มาร่วมทำแบรนด์ในช่วง 1 ปีให้หลัง ทำให้ Sculpturebangkok เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีการขยายไปทำโปรดักต์ภายใต้แบรนด์ Random Sculpture Club และบริการตู้ถ่ายภาพ SNAP ที่ปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้าได้ จนทำให้พวกเขามีรายได้หลักล้านต่อเดือน กลายเป็นเจ้าของธุรกิจสุดปังตั้งแต่อายุยังน้อย

Sculpturebangkok

จากการเป็น Perfect Match นี้ ทำให้ Sculpturebangkok กลายเป็นผู้นำจุดกระแสตู้ถ่ายภาพในไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และยังเป็นที่สนใจอยู่เสมอๆ จากไอเดียที่สดใหม่ ทำให้จากโปรเจกต์ศิลปะเชิงทดลองของปิ่น ได้กลายเป็นธุรกิจและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจริงในเมืองนี้

ความตั้งใจในการทำแบรนด์ของทั้งคู่คืออะไร พวกเขาคิดและจัดการบริหารแบรนด์ในมุมธุรกิจอย่างไร ปัจจัยสำคัญใดที่ทำให้ทั้งสองคนประสบความสำเร็จในฐานะสตาร์ทอัปที่น่าจับตามอง มาศึกษาไปพร้อมๆ กัน

‘ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล’ และ ‘พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’

ทำไมถึงเกิดไอเดียอยากทำตู้ถ่ายภาพขึ้นมา

ปิ่น : เริ่มจากเรากลับมาจากต่างประเทศ เห็นว่าคนไทยชอบถ่ายรูปมาก แต่ยังไม่ค่อยมีลูกเล่น มีแค่ถ่ายตามร้านกาแฟ ถ่ายจากกล้องหรือสมาร์ตโฟนเท่านั้น เลยทำโปรเจกต์ศิลปะทดลองเป็นตู้ถ่ายภาพที่ชื่อว่า Sculpture (ประติมากรรม) ขึ้นมา 

ตอนนั้นเรารู้สึกแค่อยากทำอะไรสนุกๆ เพื่อนๆ บอกว่าน่าสนใจ บวกกับยังเป็นสิ่งที่ไม่มีในไทย ก็เลยอยากสร้างบริบทใหม่ๆ ของวัฒนธรรมการถ่ายรูปในประเทศไทย ไม่ได้มีความคิดทำเป็นธุรกิจเลย จนกระทั่งมีพีเข้ามา

อยากให้เล่าถึงกระบวนการทำตู้ถ่ายภาพตู้แรกหน่อยว่าทำยังไง ลงทุนไปเท่าไร

ปิ่น : เราไม่อิมพอร์ตตู้ถ่ายภาพจากต่างประเทศมา เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก การขนส่งและการดูแลรักษาก็ยาก และด้วยความที่เราเป็นช่างภาพ เลยอยากทดลองก่อน ไม่อยากลงทุนกับโปรเจกต์นี้เยอะ ก็เลยเอาอุปกรณ์ถ่ายภาพมาประกอบเอง เริ่มจากจ้างช่างทำโครงไม้ราคา 6 – 7 พัน ใส่กล้องเข้าไป แล้วเรียงรูปเอง เป็นแมนวลเลย ใครอยากได้ภาพก็เข้ามาถ่ายในตู้ จ่ายเงินแล้วก็เช็ก ทำเองหมด

‘ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล’

เหตุผลอะไรที่ทำให้ปิ่นตัดสินใจทำโปรเจกต์ตู้ถ่ายภาพต่อในตอนนั้น

ปิ่น : มี 2 ข้อ คือพอกรุงเทพฯ ไม่มีสิ่งนี้มาก่อน ดีมานด์ที่อยากได้ตู้ถ่ายภาพเลยเยอะมาก บวกกับเราเองก็ไม่ยอมแพ้ อยากทำให้ถึงที่สุดว่ามันจะไปถึงจุดไหน เพราะตู้ถ่ายภาพตู้แรกที่เราทำมันประสบความสำเร็จมาก มีคนมาต่อคิวหลายชั่วโมง ได้รับฟีดแบ็กกว่าที่คิด ทำให้เราตัดสินใจหาทีมงาน ช่าง คนเขียนโปรแกรม เพื่อให้ตู้ถ่ายภาพเป็นระบบออโต้แมตเหมือนที่เราใช้ที่ต่างประเทศให้ได้

แล้วปิ่นเอาเงินทุนมาจากไหน

ปิ่น : เราเอาเงินที่ได้จากตู้ถ่ายภาพตู้แรกมาลงทุนต่อยอด ทุกวันนี้ ทุกโปรดักต์และบริการของ Sculpture มาจากการเอาทุนมาต่อกันเรื่อยๆ แทบไม่ควักเนื้อเลย

หลังจากนั้น ทำไมพีถึงไปร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจกับปิ่น

พี : เพราะเราเห็นโอกาสของ Sculpture ที่แม้ว่าปิ่นจะตั้งใจให้เป็นโปรเจกต์ศิลปะ แต่เรามองว่ามันขยายไปสู่การทำเงินมหาศาลได้ อีกอย่างพวกเราก็เคยทำโปรดักต์ที่เป็น Brand Merchandise ภายใต้ชื่อ Random Sculpture Club มาด้วยกัน เขามีอะไรก็มาปรึกษาเราบ่อยๆ อยู่แล้ว

ปิ่น : จากตอนทำแบรนด์ Random Sculpture Club ด้วยกัน ทำให้เห็นว่าพีมีสกิลที่เราไม่มีอย่างการคำนวณต้นทุน วางแผนการเงิน การประสานงานต่างๆ แล้วเขาก็สนับสนุนเรามากๆ พอคิดว่าถ้า Sculpture จะขยายไปเรื่อยๆ ต้องมีอีกคนมาช่วยแล้ว เราเลยเอาตู้ถ่ายภาพที่มีมาขายพีต่อ เพื่อทำให้เราเท่ากัน เป็นการลงทุนด้วยกัน เลยกลายเป็นธุรกิจขึ้นมา

‘พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’

หลังจากร่วมมือกันทางธุรกิจแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

พี : ติดต่อบัญชีตั้งบริษัทเลย เพราะเราไม่ได้หวังให้เป็นโปรเจกต์สั้นๆ แต่มองว่ามันไปได้อีกไกล เงินจะเข้ามามากกว่านี้เป็นร้อยเท่าพันเท่า ยังไงก็ต้องจดทะเบียนบริษัทอยู่ดี ดังนั้น จดไว้ก่อนป้องกันเรื่องภาษีที่จะวุ่นวาย

คิดว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจไหม หรือมีปัจจัยใดอีก

ปิ่น : สำหรับเรา เงินไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เรามองว่าความครีเอทีฟแก้ปัญหาทุกอย่างได้ด้วยการหาลู่ทางที่เราถนัด เช่น ลองแค่แพลตฟอร์มออนไลน์ก่อนไหม หรือทำเท่าที่เงื่อนไขเราเอื้อให้ทำไหว อีกอย่างมันอยู่ที่จังหวะเวลาด้วย

พี : ส่วนเราคิดว่าแล้วแต่ธุรกิจ ถ้าคุณอยากทำธุรกิจคอนโดฯ ยังไงก็ต้องมีเงินทุนที่มากพอ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ ก็ค่อยๆ ทำไป ลองเริ่มต้นจากอะไรที่เล็กๆ ก่อน แต่อย่างเราที่กล้าลงเงินเต็มที่กับ Sculpture เพราะรู้ว่ายังไงก็มีดีมานด์อยู่แล้ว เราทำตัวเลขกันชัดเจน ประเมินได้ว่าแต่ละเดือนจะได้เงินเท่าไหร่ พอรู้ว่าสิ่งที่ลงทุนไปมีความเสี่ยงต่ำก็กล้าควักเงินก้อนใหญ่

Sculpturebangkok

แล้วพฤติกรรมในการลงทุนของทั้งคู่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนหลังจากทำธุรกิจนี้

ปิ่น : ปกติเราเป็นคนลงทุนในสิ่งที่เราเชื่อนะ ถ้าเชื่อในวิสัยทัศน์ของ CEO หรือโปรดักต์ของบริษัทนั้นก็จะยอมทุ่ม อย่างซื้อหุ้น เล่นคริปโตฯ ส่วนในแง่ธุรกิจ เราก็ดูจากที่ผ่านมาว่าสิ่งที่ทำมันเวิร์กไหม ถ้าเวิร์ก เราก็กล้าเริ่มทำอะไรที่ใหญ่ขึ้น อย่างการจ้างเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างตู้ถ่ายภาพใหม่ๆ

พี : แต่เราต้องชอบและเชื่อในสิ่งนั้นจริงๆ เพราะที่จริงมีอีกหลายโปรเจกต์ที่เรากับปิ่นคุยกันแต่ไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งหมดที่ทุกคนเห็นกันคือสิ่งที่เราสองคนเชื่อแล้ว

พอมาทำธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีความยากยังไงบ้าง

ปิ่น : กดดัน เพราะมีอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล และจ่ายเงินเดือนทุกเดือน ไหนจะเรื่องคนที่เราต้องเข้าไปดูแลพูดคุยอยู่บ่อยๆ ว่ามีปัญหาตรงไหนไหม

พี : จากปกติที่ทำงานกันสองคน มันไม่ได้มีเรื่องให้ต้องคิดเยอะขนาดนั้น คิดเคาะไอเดียสั่งทำจบ ทำให้เดือนหนึ่งเราทำได้หลายอย่าง แต่พอสเกลใหญ่ขึ้น ทีมเยอะขึ้น มีงานที่ต้องดูแลจัดการหลายช่องทาง เลยต้องใช้เวลา

ปิ่น : เราต้องเซตระบบ มีแพลนระยะยาว เนื่องจากงานมีขั้นตอนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานในทีมด้วย ดังนั้น ต้องทำให้มันเป็นการทำงานจริงๆ

‘ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล’ และ ‘พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’

บริหารจัดการเงินยากขึ้นไหม

พี : หลักๆ เราจะทราบอยู่แล้วว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนประมาณเท่าไหร่ และมีการประเมินรายได้ในทุกๆ วัน โดยดูจากยอดขายว่ามีอันไหนแปลกไปไหม ถ้ายอดน้อยมากๆ จะไม่นิ่งเลย พยายามหาเหตุผลกันว่าทำไม บางทีตู้เสียหรือโปรแกรมมีปัญหา ก็ต้องเข้าไปจัดการแก้ไข

จุดแข็งที่ทำให้ Sculpturebangkok ประสบความสำเร็จคืออะไร

พี : เพราะมาจากความชอบ เวลาทำอะไรสักอย่าง เราจะถามกันว่าอยากเล่นหรือเปล่า ถ้าอยาก แปลว่าคนอื่นก็น่าจะอยากเล่น

ปิ่น : เราคิดว่านี่คือเสน่ห์ของ Sculpture ที่ทำอะไรขึ้นมาใหม่แบบงงๆ ทดลองแล้วหายไป แต่ขณะเดียวกันก็มีด้านที่จริงจัง เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการความจริงจังด้วย

Sculpturebangkok

มีการวางแผนความเสี่ยง เพื่อรองรับในวันที่ธุรกิจได้รับความนิยมลดลงไหม

พี : ถ้ามองในมุมตู้ถ่ายภาพ สิ่งที่เราทำได้คือการคอยปรับเปลี่ยนลูกเล่นมันไปเรื่อยๆ เพราะยังไงคนไทยก็ยังชื่นชอบการถ่ายรูปอยู่แล้ว แต่ในมุมธุรกิจโดยรวม อย่างที่บอกว่า Sculpture คือประติมากรรมที่ให้คนมา Interact ได้ ไม่ได้หยุดแค่ตู้ถ่ายภาพ มันจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นอีกมากมายในอนาคต

ปิ่น : เราคิดว่าการที่เราสร้าง Awareness และทำให้คนมองว่าเราไม่ใช่แค่ตู้ถ่ายภาพ แต่เป็นผู้ถ่ายทอดตัวตนพวกเขาผ่านสิ่งต่างๆ ในมุมที่แปลกออกไป เป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาเล่นอะไรได้ จะทำให้แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งของคัลเจอร์ เลยคิดว่าธุรกิจของเรายังมีที่ทางไปอีกมาก อย่างช่วงโควิด-19 ที่ยอดตกไป 90 เปอร์เซ็นต์ เราก็ทำบริการตู้ถ่ายภาพแบบ Drive Thru ขึ้นมา คนขับขี่รถมาถ่ายภาพกันเยอะมาก ถือว่าประสบความสำเร็จกว่าที่คิด พอสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ เราก็ปิดบริการนั้นไป

‘ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล’ และ ‘พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’

ได้เรียนรู้อะไรจากการทำ Sculpturebangkok บ้าง

พี : ไม่มีอะไรที่ไม่ได้เรียนรู้เลย เพราะเมื่อเต็มที่กับมัน ไม่ว่าจะนอนหรือตื่นก็คิดเกี่ยวกับแบรนด์ไปเรื่อยๆ เราได้ทักษะและความรู้ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ตัวเลข ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ วัสดุ เป็นต้น

ปิ่น : อย่างเราได้เรียนรู้เรื่องเงินกับบัญชี รวมถึงการทำงานกับคนอื่นมากขึ้น ต้องปรับตัวเองเยอะมาก ซึ่งเราก็พยายามอยู่

สุดท้าย ให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจหน่อย

ปิ่น : ตราบใดที่ทำในสิ่งที่เชื่อ แล้วใส่ใจกับมัน ต่อให้มันยากเพราะเป็นถนนสายใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่มันจะมีทางออกเสมอ เราเคยบอกพีว่า ถ้าวันหนึ่งเราคิดว่าอะไรควรมีแต่หาไม่ได้ว่ามันมี แล้วเราเป็นคนแรกที่แก้ได้ ยังไงต้องมีคนคิดเหมือนเราแน่นอน ต่างกันที่ใครลงมือทำ

พี : อย่างเราเป็นคนที่มองหาโอกาส แม้ว่าสิ่งนี้เราจะไม่ได้ชอบขนาดนั้น แต่เป็นโอกาสที่เรารู้ว่ามันทำเงินให้ได้ คำนวณมาแล้วอย่างดี ก็ทุ่มกับมัน อีกอย่าง คิดแล้วต้องทำให้เร็วและทำให้แรง มีความตื่นเต้น ไฟลุกอยู่ข้างใน

ส่วนใครที่ยังไม่มีทุนก็เก็บสะสมประสบการณ์ไปก่อน ต่อให้มีคนทำสิ่งที่เราอยากทำไปแล้ว เราทำทีหลังแต่ทำได้ดีกว่าก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน แค่ต้องมีความเชื่อและลงมือทำ

Sculpturebangkok

บทความนี้สนับสนุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลก ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรทั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้บรรลุเป้าหมายด้านการเงินและการใช้ชีวิตอย่างที่ตั้งใจ ตามแนวคิด For All It’s Worth ชีวิตที่คุ้มค่า ชีวิตที่เลือกได้ เพราะนอกจากความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นใจในการใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นก็สำคัญไม่แพ้กัน

ติดตามข่าวสาร ความรู้ และดูข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมจาก บลจ.พรินซิเพิล ได้ทุกช่องทางออนไลน์ 

Facebook : facebook.com/principalthailand
YouTube : youtube.com/c/PrincipalThailand
Line : @PrincipalThailand
Website : www.principal.th/

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-686-9595

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.