สำหรับเราหนังสือยังเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ ถึงแม้ว่าบางทีเราจะทิ้งเพื่อนคนนี้ไว้ที่บ้านนานไปหน่อย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราก็แอบเห็นว่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์บ้านเรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน บ้างหายหน้าหายตาไปตั้งหลัก บ้างพยายามหาทางรอดตามยุคสมัยที่ผันผ่านอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคำถามที่ว่า “จริงๆ แล้วสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่หรือไปใครเป็นคนกำหนด”
เราเลยออกตามหาคำตอบกับ ‘กาย – ปฏิกาล ภาคกาย’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอนที่ใครๆ หลายคนคงคุ้นเคยกับผลงานการเสิร์ฟหนังสือลงบนเชลฟ์หลากหลายรสชาติ เกี่ยวกับเส้นทางของปลาแซลมอนตัวนี้ ที่กำลังว่ายอยู่ในกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากแห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมเรื่องที่ว่าด้วยการเกิดขึ้นใหม่การเปลี่ยนแปลงและการหายไปของบางอย่างในแวดวงสิ่งพิมพ์
ก่อกำเนิดฝูงปลาแซลมอน
“จริงๆ สำนักพิมพ์แซลมอนก่อตั้งโดยพี่แบงค์ – ณัฐชนน มหาอิทธิดล เขามีความคิดที่อยากทำหนังสือที่มีคอนเซปต์ย่อยง่ายอ่านสนุก มีอารมณ์ขัน แอบกวนเท้าบ้างเล็กน้อย ตลกเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง ซึ่งชื่อมันก็มาจากความรู้สึกที่ว่า แซลมอนเป็นอาหารอันดับต้นๆ ที่คนนึกถึง แถมยังทำอะไรก็อร่อยด้วย ซึ่งมันก็เหมือนกันกับการเลือกทำหนังสือ สิ่งสำคัญคือเข้าถึงง่ายไปจนถึงการนำเสนออะไรก็ได้ แต่เป็นวิธีในแบบเรา เหมือนพวกเราเป็นคนปรุงแซลมอนให้มันออกมาเป็นเมนูต่างๆ นั่นแหละ นั่นเลยเป็นที่มาของสำนักพิมพ์แซลมอนที่อยู่ภายใต้บันลือกรุ๊ปขึ้นมา นับไปนับมาตอนนี้ก็เกือบ 10 ปีแล้วนะ”
แปลงร่างเป็นเชฟเสิร์ฟเมนูใหม่ไม่ซ้ำใคร
“เราตั้งใจทำหนังสือให้มันมีรสชาติ ซึ่งรสชาติในที่นี้ก็อาจไม่ได้เหมือนกันตลอด เรามองว่าพวกเรากันเองเป็นเหมือนเชฟ ที่มีวัตถุดิบหลักเป็นเนื้อปลาใช่ไหม แต่เราจะนำเสนอในเมนูไหนดีล่ะ ซึ่งเราก็เลยเลือกที่จะเริ่มทำงานกับนักเขียน แล้วก็พยายามมองหาความน่าสนใจในตัวเขาว่ามีอะไร แล้วค่อยเอามาพัฒนาต่อไปด้วยกัน คือที่แซลมอนชอบทำแบบนี้ เพราะว่าทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์ได้มีส่วนร่วมกัน มันเลยไม่ใช่มุมมองของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ยังมีการรับต้นฉบับจากนักเขียนอยู่บ้าง ซึ่งก็ต้องมาทำความเข้าใจไปด้วยกัน เพราะสิ่งที่เขาเขียนมา อาจโดนคอมเมนต์จากเราบ้างไม่มากก็น้อย แต่โดนแน่ๆ บางคนอาจไม่พอใจก็ได้”
จากวันที่เคยเป็นปลาตัวเดียวในกระแสน้ำ สำนักพิมพ์แซลมอนสะสมสมาชิกระหว่างทางมาเรื่อยๆ แต่การเกิดเป็นปลาที่ต้องว่ายทวนน้ำก็เหนื่อยอยู่เหมือนกันนะ
ถ้าเป็นปลาแซลมอนก็ต้องว่ายทวนน้ำสิ
“สำหรับเราการว่ายทวนน้ำคือฝึกความเข้มแข็งที่ดีเลยล่ะ เหมือนกันกับการทำหนังสือในแบบฉบับเรา มันค่อนข้างแตกต่างจากตลาดความต้องการของนักอ่านพอสมควร เราเลยต้องพิสูจน์ว่า DNA ของแซลมอนอย่างความขี้เล่น ตลก ที่สอดแทรกไปในเรื่องราวปรัชญาบ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง ศิลปะบ้าง non-fiction บ้าง มันจะสามารถอยู่รอดได้จริงๆ”
“เพราะเราเชื่อว่าบางเวลาคนเราต้องการหนังสือที่คลายเครียดบ้างหนีจากโลกความเป็นจริงบ้างไม่ใช่การเสพแต่ข้อมูลความรู้อยู่ตลอดเวลา”
“เหมือนสำนักพิมพ์แซลมอนเองก็ไปช่วยเบรกความหนักเบาของเนื้อหาในหนังสือได้เหมือนกัน แล้วสิ่งสำคัญเราอยากให้คนอ่านเลือกรับอารมณ์จากหนังสือของเราได้ด้วย”
ก้าวสำคัญสู่โลกภายนอก
“จริงๆ เราก็รู้สึกว่าสำนักพิมพ์เราต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่การขายหนังสือเพียงอย่างเดียว ซึ่งหนังสือก็ยังทำอยู่ แต่ว่าเราจะทำอะไรที่สามารถพาให้แซลมอนไปสู่มิติอื่นๆ ได้ เพื่อที่เราจะได้สื่อสารกับคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น คือนักเขียนสำหรับเราอาจจะไม่ใช่แค่เขียนหนังสือเฉยๆ แล้ว หรือนักวาดภาพประกอบไม่ใช่แค่วาดอย่างเดียวแล้วจบ เขาสามารถสร้างมูลค่าในงานของตัวเองต่อยอดไปได้อีกเยอะเลย ซึ่งเราพยายามพาคอนเทนต์ของเราหรือสิ่งที่เราสนใจไปสู่มีเดียอื่นๆ”
“จะเห็นได้เลยว่าเรามีไอเดียจิปาถะเกิดขึ้นพอสมควร (ยิ้ม) เช่น podcast salmon books ที่คิดว่าก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารเรื่องราวของหนังสือ คิดเอาไว้ว่าคงเป็นกึ่งๆ หนังสือเสียงให้คนทดลองฟังก่อนซื้อ ให้เขาได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นแบบไหน จะซื้อดีหรือเปล่า หรือในพาร์ท salmon house เป็นส่วนของโปรดักชันเฮ้าส์ ที่นำเอาเรื่องราวของหนังสือมาเล่าต่อในมุมใหม่ หรือรับงานเพิ่มเติมโดยใช้แก่นหลักในการเล่าเรื่องกวนๆ สนุกสนานสไตล์แซลมอนเหมือนเดิม”
พอเราเริ่มพูดคุยกับพี่กายไปสักพักก็ได้เห็นมุมมองบทบาทของสำนักพิมพ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่าการเดินทางของหนังสือเล่มหนึ่งไม่ได้หยุดแค่วันวางขาย แต่สามารถมองไกลไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ และการสื่อสารในวงกว้างได้เหมือนกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน หนังสือ นักเขียน
“เราว่าการเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องธรรมดา ก็มีนักอ่านบางคนบอกว่าไม่อ่านแล้วแซลมอนทำแต่แนวเดิมๆ ซึ่งเราก็รับฟัง พยายามมองหาคำตอบไปเรื่อยๆ ปรับบาลานซ์ให้ได้ แต่ที่แน่ๆ ความสนุกขี้เล่นพวกนั้นที่เป็น DNA ของเราก็คงยังมีอยู่ ไม่หายไปแน่นอน เรายังคงตอบโจทย์แฟนกลุ่มเดิมอยู่ คือมันอาจจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนกลุ่มคนอ่านใหม่ๆ ให้มารู้จักเราในอนาคตก็ได้”
“แต่คงหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้หรอกเราต้องไปอยู่ในมิติอื่นบ้างหรืออยู่ในทางที่แซลมอนควรจะเป็น”
“ถ้าวัดจากอายุสำนักพิมพ์ 10 ปี เทียบกับการเจริญเติบโตของคนๆ หนึ่งก็เป็นเด็กที่รู้เรื่องรู้ราวแล้วนะ เขามีความสนใจเป็นของตัวเองแล้ว วันข้างเขาก็คงต้องเป็นผู้ใหญ่ มันก็คงเหมือนเส้นทางของแซลมอนที่กำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับนักอ่านเหมือนกัน”
หนังสือ = บันทึกความทรงจำ
“ข้อดีของหนังสืออย่างหนึ่งมันคือการบันทึกนะ ไม่ว่าใครพูดเรื่องอะไรในตอนนี้ ถ้าหนังสือมันไม่หาย ไม่ถูกทิ้งทำลายไปซะก่อน 10 – 20 ปีผ่านไปลูกหลานเราได้อ่าน เขาก็อาจจะเห็นว่าปี 2020 เกิดอะไรขึ้นบ้าง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมีอะไรเกิดขึ้น เรื่องสั้นเรื่องนี้ทำไมถึงต้องพูดเรื่องสังคมการเมืองเยอะจังเลย ก็อาจจะเป็นสิ่งอ้างอิงหรือเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกส่งต่อก็ได้ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นทำให้คนรุ่นหลังเราหันมาตั้งคำถามกับบันทึกหน้านี้ หรือความทรงจำในอดีตที่อาจเผลอลืมไปแล้ว วันไหนที่เราย้อนกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง ก็คงเป็นบันทึกความทรงจำในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน”
มาถึงตรงนี้ เราเลยอยากรู้มุมมองต่อตัวเองในอนาคตที่แซลมอนกำลังจะไป สมมุติถ้าวันหนึ่งต้องเป็นวันที่ตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไรให้รอด การว่ายน้ำของปลาแซลมอนจะเปลี่ยนทิศทางหรือเปล่า
แซลมอนจะว่ายทวนน้ำเหมือนเดิมไหม ?
“โหให้มองไกล 5 – 10 ปีเลยเหรอ ยากนะ (ยิ้ม) คิดว่าหนังสือของแซลมอนจะไม่ธรรมดาอีกต่อไป ไม่ใช่วางบนเชลฟ์แล้วจบ มันต้องคิดมาตั้งแต่ประเด็นตั้งต้นว่าสิ่งที่เราเริ่มมา ปลายทางมันแตกออกไปได้ยังไงบ้าง เช่น เป็นอีเวนต์ได้ไหม เป็นทริปอะไรสักอย่างได้หรือเปล่า เราคิดว่าหนังสืออย่างเดียวไม่รอดแล้วล่ะ คือสำนักพิมพ์ในความหมายของแซลมอนอาจจะเปลี่ยนไปไม่ใช่แค่การทำหนังสือแล้ว เราไม่จำเป็นต้องส่งต่ออะไรผ่านแค่ฟอร์แมทเดียว การขายหนังสือที่ร้านหรืองานหนังสือมันอาจไม่ใช่ทางเดินทางเดียวของเราแล้วแหละ”
หนังสือจะอยู่หรือไปใครกำหนด
“เราคิดว่าหนังสือก็จะยังอยู่นะ แต่ว่าคงไม่ได้บูมเหมือนเมื่อก่อนแล้ว อารมณ์แบบ โห… เล่มหนึ่งขายได้เป็นแสนเล่ม ซึ่งก็อาจจะมีแหละ แต่มันคงน้อยลงมาก คือหนังสือเป็นเล่มๆ ไม่มากก็น้อยยังไงคนก็ยังอ่าน ก็คงจะมีคนสักกลุ่มหนึ่งที่ยังคงอ่านสิ่งนี้ คือการอ่านออนไลน์ก็มีประโยชน์ แต่ว่าบางทีเราอาจไม่ได้โฟสกัสอย่างเต็มที่ บางทีมีสิ่งที่มาคอยดึงความสนใจของเราไปตลอด เช่น อ่านไปไลน์เด้งอีกแล้ว หรือแอปฯ นี้เตือนขึ้นมา มันอ่านแล้วไม่ปะติดปะต่อสักที ไปจนถึงว่า เล่นพวกนี้เยอะๆ แล้วเหนื่อยเหมือนกันนะ อันนี้ดูจากตัวเอง”
“บางทีความสงบของเราคือการอ่านหนังสือมันจะมีความรู้สึกที่ได้สัมผัสกระดาษพลิกเปิดหน้าหนังสือจน ‘วางไม่ลง’ มันยังมีคำนี้อยู่”
“ซึ่งเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนังสือที่หลายคนรู้สึกเหมือนกันคือการสัมผัส บางคนก็ชอบที่จะได้แตะเนื้อกระดาษ ได้จับ ได้เลือกหน้าปกตรงนี้ ปั้มนูนตรงนั้น หรืออย่างบางคนชอบดมกลิ่นกระดาษ สุดท้ายที่คนเลือกเสพหนังสือ เพราะเป็นของที่จับต้องได้ อืม… เราว่าหนังสือยังอยู่แหละ แต่ว่าอาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรืออาจจะผลิตน้อยลง และอาจทำให้น่าสะสมมากขึ้น”
หลังจากพูดคุยกับพี่กายจนจบแล้ว เราได้คำตอบปลายเปิดที่ว่า สุดท้ายวงการสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่หรือไปนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร แต่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในแบบที่ไม่ฝืนจนเกินไปแต่ยังคงไม่ละทิ้งตัวตนของตัวเอง