เด็กอาชีวะต้องพิสูจน์ตัวเอง ? - Urban Creature

อาชีวะผิดตรงไหน ? คือความสงสัยของฉันตั้งแต่สมัยเรียนยันทำงาน เพราะไม่สามารถนับได้ด้วยซ้ำว่ากี่ครั้งที่นั่งรถผ่านหน้าโรงเรียนมัธยมฯ หลายต่อหลายแห่งจะพบป้ายไวนิลแสดงความยินดีกับเด็กที่สอบติดมหาวิทยาลัย แต่ไร้แววป้ายชื่นชมเด็กที่เลือกเรียนสายอาชีพอย่าง ‘อาชีวศึกษา’ แม้แต่ป้ายเดียว

มีอยู่เพียง 2 ป้ายที่เด็กอาชีวะได้รับจากสังคม ป้ายแรกคือความเหลื่อมล้ำในการถูกเลือกปฏิบัติ ขาดแคลนทรัพยากรตอนเรียนยันทำงาน หรือถูกใช้แรงงานหนักแต่เงินเดือนถูกกดให้ต่ำ ป้ายถัดมาคือสายตาปนคำเหยียดหยามว่าเด็กอาชีวะเป็นอันธพาลหัวรุนแรงผ่านการนำเสนอของสื่อ ที่นอกจากเหมารวมแล้ว น้อยครั้งนักที่สื่อจะเผยแพร่มุมดีๆ ที่เด็กอาชีวะช่วยเหลือสังคมหรือมีความสามารถไม่แพ้ใคร

ชญานิศ โม่มาลา วัย 23 ปี อดีตเด็กอาชีวะสาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก ยืนยันกับฉันว่าเขาไม่เคยรู้สึกคิดผิดที่ตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพที่ชอบ เพราะหลักสูตรที่เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎีของอาชีวศึกษาทำให้เขามีโอกาสตามความฝันได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่น่าเศร้าที่อดีตจนปัจจุบันสังคมก็ยังบีบให้เด็กอาชีวะต้องพิสูจน์ตัวเอง ทั้งที่จริงๆ คนในสังคมต่างหากที่ควรเปิดใจและมองเห็นศักยภาพของเด็กอาชีวะที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองได้


01 | วิชาอาชี (พ) วะ

ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า “เรียนมาคนละแบบ ไม่ได้แปลว่าเรียนมาน้อย” ก่อนจะได้คุยกับชญานิศ อดีตเด็กอาชีวะสาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก ที่ตอนนี้เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในหน่วยงานราชการ และฟรีแลนซ์ออกแบบโลโก้ แพคเกจจิ้ง เขียนแปลน ไปจนถึงทำแอนิเมชัน ฉันมีข้อมูลในหัวว่าอาชีวศึกษาคือการเรียนสายอาชีพที่เน้นปฏิบัติงานจริงมากกว่าทฤษฎีแบบสายสามัญ แบ่งเป็น ปวช.1-3 (เทียบเท่า ม.4-6) และ ปวส.1-2 (เทียบเท่าปี 1-2) ไม่ได้รู้ลึกหยั่งถึงว่าอาชีพที่พวกเขาเลือกเรียนน่ะ มีอะไรหลากหลายอย่างสายกราฟิก รู้เพียงกว้างๆ ว่า “อ้อ มีเรียนแค่ช่างยนต์แหละ”

“แค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเราก็เจอกราฟิกตั้งแต่หน้าจอ เลื่อนสไลด์ปลดล็อค ไอคอนหรือลูกเล่นในแต่ละแอปฯ ไปจนถึงการสัญจรแต่ละวันที่กราฟิกแทบเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่คู่สังคม ทั้งป้ายบิลบอร์ด โฆษณาในรถไฟฟ้า โลโก้สินค้า หรือ CG ในหนังที่ก็ล้วนมาจากคนทำงานสายนี้”  

เรื่องใกล้ตัวที่ชญานิศบอกฉันแสดงให้เห็นว่าแทบทุกอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายกราฟิกไม่น้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือชญานิศเลือกทำตามความฝันมุ่งเรียนคอมพิวเตอร์กราฟิกเร็วกว่านักเรียนสายสามัญที่ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยควบคู่กับทฤษฎีวิชาอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้สนใจ ซึ่งอาชีวศึกษาให้โอกาสชญานิศได้เรียนเฉพาะสิ่งที่ชอบจริงๆ อย่างเต็มที่

ปวช.1 (16 ปี) ชญานิศได้เรียนทฤษฎีสี รูปทรง องค์ประกอบ ประวัติศาสตร์ศิลปะแต่ละแขนง และเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ที่สายออกแบบต้องรู้, ปวช.2 (17 ปี) เรียนการออกแบบโลโก้ นามบัตร และสร้างคาแรกเตอร์, ปวช.3 (18 ปี) ได้ออกแบบแพคเกจจิ้ง ไปจนถึงเขียนแปลนพื้นฐานของสถาปัตย์และศึกษาโครงสร้างบ้าน, ปวส. 1 (19 ปี) เน้นเรียนดีเทลของแพคเกจจิ้ง การวาดบาร์โค้ด ปั้นโมเดลในโปรแกรมออกแบบแอนิเมชันโดยเฉพาะอย่าง 3ds Max และ Maya และปีการศึกษาสุดท้าย ปวส.2 (20 ปี) เรียนทั้งหมดตั้งแต่ ปวช.1-ปวส.1 อีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำงาน


02 | กักขังอาชีวะในวังวนคำบูลลี่

เด็กเหี้ย ! หัวรุนแรง ! น่ากลัว ! ดื้อ ! ใจแตก ! ติดผู้ชาย ! เล่นยา ! อย่าไปยุ่งกับคนพวกนี้นะ ! เรียนแค่อาชีวะมาเองเหรอ? จบไปไม่มีงานทำหรอก !

นี่แค่คำสบประมาทปนความชังบางส่วนที่ตั้งแต่ชญานิศย่างก้าวเข้าเรียนในหลักสูตรอาชีวศึกษา เขาและเพื่อนๆ อาชีวะหลายคนก็ได้ยินคำเหล่านี้จนชิน ทั้งจากสถาบันครอบครัว เพื่อนสายสามัญ ที่ทำงาน และคนในสังคม

“ถ้ามานั่งวิเคราะห์ว่าการบูลลี่อาชีวะมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราว่าคงเป็นที่การปลูกฝังของคนรุ่นเก่า ที่ให้ค่ากับอาชีพหมอหรืออาชีพครู และมองว่าถ้าจบจากคณะและมหาวิทยาลัยดังๆ จะทำให้คุณดูเก่ง แต่จริงๆ แล้วทุกอาชีพล้วนมีความสำคัญทางใดทางหนึ่งต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว”

น้ำเสียงและสายตาจริงจังของชญานิศส่งผ่านมาถึงฉัน บทสนทนาแบความทุกข์อาจช่วยแบ่งเบาใจของเขาได้บ้าง เพราะเมื่ออยู่บ้านก็จะเจอคำพูดที่แม่ใช้บอกคนอื่นเสมอว่า “สมัยเรียนอาชีวะมันเกเร” เปิดทีวี ไถโทรศัพท์อ่านข่าว ก็มักเจอข่าวตีกันของเด็กบางสาขาในวิทยาลัย ทว่าสังคมเหมารวมว่าเด็กอาชีวะทุกคนต้องเป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่ด้านดีในการช่วยเหลือสังคม หรือการแข่งขันความสามารถเจ๋งๆ ของพวกเขา กลับบางตามากในสื่อหลัก เช่นเดียวกับชญานิศที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ระดับภาคในการออกแบบแอนิเมชัน

“มนุษย์ทุกคนมีทั้งดีและไม่ดี แต่เรื่องลบๆ อาชีวะจะได้พื้นที่ตรงนั้นเยอะกว่าเรื่องบวก น่าแปลกที่หากเป็นเด็กสายสามัญตีกัน คนไทยไม่เห็นเหมารวมทั้งมหาวิทยาลัยว่าแย่เลย”

03 | อาชีวะอาสา แก้ปัญหา และช่วยเหลือคน

อาชีวะสอนให้เรารักการตั้งคำถาม แก้ปัญหา และอะไรที่เราช่วยเหลือคนได้ เราจะช่วย”

นอกจากการเรียนกราฟิกที่สามารถใช้ได้จริงในอาชีพที่เขารักแล้ว ชญานิศที่เรียนอาชีวะสายคอมพิวเตอร์กราฟิกมายังสามารถแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์พังหรือไวรัสเข้าเฉพาะหน้าได้โดยไม่ต้องยกไปให้ช่างซ่อม ! ชญานิศเน้นกับฉันว่าข้อดีของการเรียนปฏิบัติมาเยอะ ทำให้เวลาเจอปัญหาอะไรกับคอมพิวเตอร์หรือจับบางส่วนแล้วหน่วงผิดปกติ เขาและเพื่อนๆ จะสังเกตอาการทุกครั้งเมื่อทำงาน เริ่มรื้อ และหาสาเหตุด้วยตัวเองว่าตรงไหนกันแน่คือปัญหาที่ทำให้พัง ก่อนลงมือซ่อมเองกันแทบทุกคน ซึ่งการเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหา ชญานิศก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน

“หลายคนคงไม่รู้ว่าเด็กอาชีวะขึ้นดอยไปเป็นหน่วยอาสาช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสทุกเทอม” ชญานิศแววตาเป็นประกาย ฉันก็เช่นกันที่ตื่นเต้นเมื่อได้ฟังเรื่องราวของเด็กอาชีวะที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยหนึ่งในกิจกรรมของเด็กอาชีวะ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก คือการเข้าไปช่วยสอนคอมพิวเตอร์กับเด็กด้อยโอกาส เพราะสวัสดิการบ้านเราไม่เอื้อให้เด็กบนดอย และยังเข้าไปสันทนาการ ทำสื่อ สร้างห้องเรียน ทาสีโรงเรียน หรือประดิษฐ์ของเล่นให้พวกเขายิ้มได้บ้าง

นอกจากนี้ยังมีค่ายอาสาด้านธรรมชาติ ที่เด็กอาชีวะรวมตัวกันไปเก็บขยะตามทะเล เพื่อหวังให้ธรรมชาติน่าอยู่ หรือสาขาช่างยนต์และช่างก่อสร้างก็มีโครงการ Fix it Center ที่ลงไปช่วยเหลือประชาชนตามพื้นที่ชนบทเพื่อเปิดศูนย์รับซ่อม ไม่ว่าจะเป็นทีวี พัดลม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งการเช็คสภาพรถและซ่อมอะไหล่รถยนต์ให้ฟรีๆ ก็มีเหมือนกัน


04 | วิทยาลัยแห่งความเหลื่อมล้ำ

น้ำดื่มในแก้วถูกดื่มจนหมด หลังจากที่ชญานิศคุยกับฉันมาสักพัก เขาเหยียดแขนไปมาคลายความเมื่อย และตอบคำถาม “ความเหลื่อมล้ำที่คุณเจอมีอะไรบ้าง ?” ที่ฉันถาม ก่อนเขาตอบกลับมาว่า “จะเอาเรื่องไหนก่อนล่ะ”

กาลครั้งหนึ่ง ห้องเรียนอาชีวะของชญานิศเต็มไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้ผุพัง ฝุ่นเกาะ สกปรก เด็กอาชีวะต้องนั่งทำความสะอาดเองทั้งหมด คอมพิวเตอร์ที่ใช้ประกอบการเรียนต้องถอดชิ้นส่วนมาเช็คดูว่าใช้ได้หรือไม่ ที่สำคัญไม่พอต่อจำนวนนักเรียน ทำให้นักเรียนบางคนไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ จนต้องเสียเงินซื้อคอมพิวเตอร์เอง รวมไปถึงอุปกรณ์การเรียนอย่างหนังสือเรียน กระดาษ พู่กัน สี ต้องจ่ายเองทั้งหมด แม้บิลค่าเทอมจะแจ้งเก็บค่าอุปกรณ์การเรียนไปแล้ว (แล้วทำไมเด็กยังต้องจ่ายเพิ่มนะ ?)

กาลครั้งสอง ต่อเนื่องจากกาลครั้งหนึ่ง ว่าด้วยการแข่งขันทักษะวิชาชีพในการออกแบบแอนิเมชัน 3D ทางวิทยาลัยมีคอมพิวเตอร์ให้ไปแข่งแต่สเปคไม่สอดคล้องกับงานออกแบบแอนิเมชัน ทำให้ช้าและค้าง รอบระดับภาคยังพอกัดฟันสู้จนชญานิศได้รางวัลรองอันดับ 2 แต่ระดับชาติที่ต้องแข่งต่อเลยทันทีหลังจากได้รางวัล คอมพิวเตอร์กลับสลายร่าง พังกลางทาง ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้แข่งต่อ…หันไปมองเด็กมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมแข่งขันเก้าอี้ข้างๆ ได้ใช้คอมพิวเตอร์สเปคดี ก็แอบน้อยใจ

“ถ้าเรามีทรัพยากรที่ดี เราอาจจะไม่ตกรอบตอนแข่ง หรือถ้าตกรอบจริงๆ คงไม่รู้สึกเฟลเท่านี้ เพราะได้ทำเต็มที่จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว”


05 | ตัวสำรองในสนามแรงงาน

ความจริงวันนี้คือเด็กอาชีวะเงินเดือนน้อยกว่าคนเรียนจบป.ตรีถึงครึ่งหมื่นแต่ใช้งานหนักเหมือนเครื่องจักร แม้จะเป็นตำแหน่งเดียวกัน ภาระงานเหมือนกัน แต่กลับไม่เท่าเทียมเอาซะเลย บางครั้งหากเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทไม่มีกำลังจ้างวุฒิปริญญาตรี เขาจะมองหาเด็กอาชีวะมาทำงานแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ดั่ง ‘ตัวสำรองในสนามแรงงาน’

ชญานิศถอนหายใจเฮือกใหญ่ แล้วบอกฉันต่อว่าเขาถูกกดทับอยู่เรื่อยๆ ในสังคมที่ทำงาน บางคนพอรู้ว่าจบจากอาชีวศึกษาก็ไม่คุยด้วยเลย เวลาโยนงานด่วนให้ทำตอนนั้นเลย ก็จะให้ชญานิศทำแทนเด็กป.ตรี เพราะคิดว่าอาชีวะอะไรก็ได้ ต้องทำได้หมด ราวกับว่า “อาชีวะต้องพิสูจน์ตัวเอง”

“อาชีวะไม่ได้อยากพิสูจน์ตัวเองแต่สังคมบีบบังคับให้เขาต้องพิสูจน์”

การที่ชญานิศสอบเข้าไปทำงานเป็นพนักงานข้าราชการก็เพราะแม่ของเขาจะได้เอาไปบอกคนอื่นได้เต็มปากว่าลูกเก่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วชญานิศมีความเก่งในแบบของตัวเองโดยไม่ต้องพิสูจน์อะไร หรือนี่จะเป็นสิ่งที่คนยุคเก่ายึดติดอยู่กับคำว่าข้าราชการดีที่สุด จนไม่มองโลกมุมอื่นที่เปลี่ยนไปตั้งนานแล้ว


06 | อาชีวะก็คนว่ะ

ฉันชื่นชมในทุกความฝันของเด็กทุกคน ไม่ว่าเขาจะเรียนปริญญาตรีหรืออาชีวศึกษา เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขากล้าคิด กล้าฝัน และกล้าไปต่อในเส้นทางที่เลือกเอง

“ถ้าทุกคนในสังคมเปิดใจเลือกเสพมุมมองดีๆ ของอาชีวะ ความคิดคุณก็จะเปลี่ยนไป ได้รู้อะไรมากกว่าที่เคยรู้ ทัศนคติต่อโลกใบนี้ก็จะดีขึ้นด้วย” ชญานิศบอกฉันทิ้งท้าย

การเปิดโอกาสให้เด็กอาชีวะได้อยู่ในตลาดแรงงานอย่างเท่าเทียมเด็กปริญญาตรี ไม่กดทับพวกเขาให้เป็นเพียงแรงงานตัวสำรอง รวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติลบในสังคมจนนำไปสู่การให้ความสำคัญต่อการศึกษาในระบบอาชีวะมากขึ้น หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ฉันเชื่อว่าในอนาคตบ้านเราจะมีกำลังสำคัญคนเก่งๆ ที่ช่วยพัฒนาเมืองนี้ให้น่าอยู่มากขึ้นแน่นอน

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.