ถูกข่มขืน ต้องกล้าพูด - Urban Creature

“ไปทำอะไรในที่มืดๆ ล่ะ ถึงโดนได้”

“แต่งตัวโป๊ ล่อตาล่อใจหรือเปล่า”

คำถามติดปากจากสังคมเมื่อมีเรื่องราวของการ ‘ข่มขืน’ เกิดขึ้น รวมถึงวัฒนธรรมเรื่องเพศที่มองว่า ผู้หญิงไม่ควรพูดถึงหรือเปิดเผยเรื่องเพศสู่ที่สาธารณะ เหล่านั้นคือวาทกรรมที่เชื่อมาตามๆ กันจนกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งกดทับให้ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ไม่คิดที่จะบอกคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งแจ้งความ นั่นเท่ากับว่าเป็นการปล่อยให้การข่มขืนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย จนองค์การอนามัยโลกออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ใน 1 วันจะมีผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและกระทำรุนแรงทางร่างกายถึง 7 คน

เรามีโอกาสได้คุยกับ ‘คุณอู๊ด-วราภรณ์ แช่มสนิท’ จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ถึงเรื่องราวของการข่มขืนที่เป็นความรุนแรงคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน และนับวันยิ่งจะเพิ่มความรุนแรงและความถี่มากขึ้น

จุดเสี่ยงถูกข่มขืน

จุดเสี่ยงหรือปัจจัยทางกายภาพที่ส่งเสริมให้เกิดภัยทางเพศ คือหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเวลากลางคืน คุณอู๊ดบอกว่า จุดเสี่ยงที่มีเหตุการณ์ข่มขืนเกิดขึ้นบ่อยครั้งคือบริเวณที่ไม่มีแสงสว่าง เปลี่ยว รกร้าง พื้นที่ที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องละเลย ไปจนถึงจุดที่บริการขนส่งสาธารณะเข้าไปไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 17.4 และมีจุดเสี่ยงมากถึง 217 จุด

ถูกข่มขืนเป็นเรื่องไม่กล้าพูด

“ทำไมถึงไม่กล้าพูด จริงๆ แล้วมันคือเรื่องที่ควรพูดอย่างยิ่ง” คือประโยคที่เธอบอกกับเรา เพราะจุดเสี่ยงคือปัจจัยทางด้านกายภาพ แต่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้การข่มขืนยังเกิดขึ้นคือ มิติทางสังคม หมายถึงว่า

“พอเป็นเรื่องภัยทางเพศ ก็จะมีวัฒนธรรมเรื่องเพศที่บอกว่า ผู้หญิงไม่ควรพูดเรื่องเพศ ไม่ควรเปิดเผย” 

เมื่อเกิดเหตุเลยกลายเป็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่รู้สึกอายที่จะเปิดเผยเรื่องราว รวมถึงบางครั้งที่ผู้ถูกกระทำออกมาเปิดเผยเรื่องราวก็จะได้รับการตอบสนองที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ บางคนโดนตั้งคำถามใส่ว่า แล้วคุณไปทำอะไรตอนกลางคืน หรือคุณแต่งตัวยังไง ทั้งที่ความจริงแล้วมันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะไปไหนมาไหนหรือแต่งตัวอย่างไรด้วยซ้ำ

ควรแก้ปัญหาอย่างไร

สำหรับทางออกของการข่มขืน คุณอู๊ดมองว่า จะทำเพียงทางใดทางหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องทำหลายทางประกอบกัน นั่นคือ หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรคิดว่าประเด็นการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันเป็นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งพวกเขาต้องให้ความสำคัญ ต้องรับผิดชอบ และต้องมีมาตรการออกมาให้ชัดเจน เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด ปรับพื้นที่ หรือการเพิ่มความเอาจริงในการติดตามผู้กระทำมารับโทษเมื่อมีการแจ้งเหตุ รวมถึงสื่อก็ควรช่วยกันเป็นกระบอกเสียงในการส่งต่อข้อมูล

ส่วนภาคประชาชนเองควรช่วยกันสอดส่องและให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติคนในสังคม เช่น แคมเปญ ปักหมุดจุดเผือก ที่ตอนนี้คุณอู๊ดและทีมที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานร่วมกับเครือข่ายเมืองปลอดภัย เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเห็นว่า ปัญหาคุกคามทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ ต้องช่วยกันแก้ไข และเป็นเรื่องที่พูดได้อย่างไม่ต้องอาย ไม่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว

โดยร่วมกันเป็น #ทีมเผือก เพื่อสำรวจจุดเสี่ยง และแจ้งผ่าน Line Official @Traffy Fondue ด้วยการพิมพ์ #ทีมเผือก ตามด้วยปัญหาภัยทางเพศที่พบหรือจุดเสี่ยงต่างๆ ที่เจอ พร้อมภาพถ่ายและแชร์โลเคชัน เพื่อให้ทีมงานเก็บข้อมูล เข้าไปตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขพื้นที่จุดเสี่ยง

ข่มขืน = ประหาร

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มโทษข้อหาข่มขืนหากเหยื่อถึงแก่ความตาย คือประหารชีวิตเท่านั้น และคดีกระทำชำเราเด็ก โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ทั้งยังเป็นความผิดต่อแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ ซึ่งในความคิดเห็นของคุณอู๊ด เธอมองว่า ไม่ว่าจะตั้งโทษไว้สูงแค่ไหน ปัญหาภัยทางเพศก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี

“เพราะไม่ใช่โทษไม่สูงพอ แต่การบังคับใช้กฎหมายต่างหากที่ไม่เข้มแข็ง”

หมายถึงว่า เมื่อเกิดเหตุแล้ว สังคมไม่ได้เอื้อให้ผู้ที่ประสบเหตุกล้าออกมาแจ้งความกับตำรวจ หรือถึงกล้าออกมาแจ้งความ แต่การเอาจริงเอาจังกับคดีทางเพศยังมีน้อย โดยเฉพาะเมื่อหลายสิบปีก่อนที่คดีข่มขืนเป็นเรื่องที่ยอมความได้ ทำให้บางทีเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหาวิธีไกล่เกลี่ยให้คดีจบไป ทั้งที่ควรเอาจริงเอาจังในข้อกฎหมาย ตามจับตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ดังนั้นโทษอาจไม่ต้องหนักถึงขั้นประหาร แต่ขอให้อัตราการตามจับสูงขึ้นบ้าง

“มีสถิติจากสหประชาชาติรวบรวมกรณีข่มขืนในหลายประเทศไว้ว่า จากหนึ่งร้อยกรณีการข่มขืน มีแค่สามเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการลงโทษผู้กระทำ ส่วนที่เหลือลอยนวล และอาจไม่มีการแจ้งความหรือแจ้งแล้วแต่คดีไม่คืบหน้า”

เมืองที่ปลอดภัย

เหตุการณ์ตรงจุดนี้เลยมองว่าปลอดภัยแล้ว แต่ต้องหมายถึงทุกวันที่เราออกไปใช้ชีวิต เราต้องรู้สึกปลอดภัย ฉะนั้นหากพูดแบบภาพรวม คำว่า ‘เมืองปลอดภัย’ ต้องเป็นเมืองที่คนรู้สึกปลอดภัยที่จะออกมาใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยมีปัจจัยที่สร้างความปลอดภัยในเมือง ทั้งด้านเชิงกายภาพ มาตรการทางสังคม การบังคับใช้กฎหมาย และช่วยกันสร้างความตระหนักว่า 

“การคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่เราไม่ยอมรับ” 

สุดท้ายแล้วคุณอู๊ดมองว่า เมืองที่ปลอดภัยต้องไม่ใช่แค่สำหรับผู้หญิงเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ ผู้ชายหรือกลุ่ม LGBTQI+ เองก็โดนลวนลามหรือข่มขืนเช่นกัน

เราฟังแล้วได้แต่นึกสงสัยว่า “มันต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่กันที่เราจะมีเมืองปลอดภัย” และได้แต่หวังให้มันถึงจุดปลอดภัยในเร็ววันเสียที ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันคือ การร่วมมือทำงานในทุกระดับ ทั้งภาครัฐ หน่วยงาน เครือข่าย สื่อ ชุมชน ไปจนถึงประชาชนทุกคน

_____________________________________________________________________________________

Sources :
workpointTODAY | bit.ly/2OqyUDf
ราชกิจจานุเบกษา | bit.ly/2wptBcK 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.