อาบน้ำ 8 ขันต่อวัน ต้องเลือกจุดทำความสะอาดที่สำคัญ ขับถ่ายในห้องน้ำขนาดเล็กไม่มีประตู มองเห็นตั้งแต่หัวจรดเท้า นอนรวมกันในห้องขัง 30 – 40 คน หนึ่งในตัวอย่างชีวิตผู้ต้องขังที่เผชิญหลังกำแพงเรือนจำในประเทศไทย ความลำบากตั้งแต่ลืมตาตื่นยันหลับตานอนอาจไม่เกินจริงไปนัก
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขการติดโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทั้งยังมีประกาศตรวจพบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่กว่า 10,000 ราย กระจายอยู่ในเรือนจำกว่า 10 แห่งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
โดยสถานการณ์หนักสุดอยู่ที่เรือนจำและทัณฑสถานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือนจำขนาดใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งหลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป พาเอาหลายคนตกอกตกใจไปตามๆ กัน ในสื่อโซเชียลเริ่มมีการแชร์ภาพการเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่ต้องนอนเรียงราย บ้างก่ายกอดกันจนแทบไม่มีช่องว่างให้นึกถึง Social Distancing เลยด้วยซ้ำ
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจต้องย้อนกลับไปมองและคิดให้ถ้วนถี่ว่าแท้จริงแล้วการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำนั้นเหมาะสม และถูกสุขลักษณะหรือไม่
แต่ช้าก่อนอย่าเพิ่งคิดว่า ทำไมล่ะ นั่นเรือนจำนะ จะให้สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้านได้ยังไง คนทำความผิดจะต้องได้รับการดูแลอย่างดีงั้นเหรอ หยุดก่อน…เรากำลังพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับต่างหาก และยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศเรามีโรคระบาดหนักแบบนี้ พวกเขาควรได้รับการดูแลไม่ต่างกันกับคนที่อยู่ข้างนอก
สอดคล้องกับข้อมูลของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ที่ว่า เรือนจำในประเทศไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่กลับไม่ได้มาตรฐานสากลเลยสักที่ เพราะไม่ผ่านการประเมินตามหลักที่กำหนดไว้ เช่น ด้านสุขอนามัยไม่ดีเพียงพอ อาคารที่พักแออัด พื้นที่นอนคับแคบ อาหารแย่ น้ำดื่มไม่สะอาด และการรักษาพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ
โดยเฉพาะการดูแลผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ทั้งยังมีการเอาเปรียบด้านการใช้แรงงาน ถึงแม้จะมีกระบวนการยื่นเรื่องร้องเรียนได้ก็ตาม แต่ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่กล้าร้องเรียน เพราะกลัวจะถูกตอบโต้จากเจ้าหน้าที่เรือนจำ
เราจึงขอคลายความสงสัย สรุปหลักมาตรฐานสากลของเรือนจำที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังต้องได้รับ ตามที่สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กำหนดไว้คร่าวๆ ดังนี้
1. ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม
เมื่อทำผิด การต้องถูกคุมขังในเรือนจำและทำให้ขาดอิสระภาพเป็นการลงโทษหลักอยู่แล้ว ดังนั้น การนำตัวผู้ต้องขังมาลงโทษซ้ำอีกทั้งทางร่างกายหรือวาจาไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
ที่สำคัญ พวกเขามีสิทธิ์ติดต่อกับโลกภายนอกอย่างครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่สำคัญตามสมควร ทั้งต้องไม่ปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาและฝึกฝนอาชีพของผู้ต้องขัง และหากต้องฟ้องร้องและต่อสู้คดีก็ควรได้รับสิทธิ์เข้าถึงคำแนะนำทางกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
2. พื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ
แม้เรือนจำจะไม่ใช่บ้าน แต่สถานที่อยู่อาศัยที่จัดให้ผู้ต้องขังควรได้มาตรฐานทางสุขภาพ อาทิ ขนาดพื้นที่ไม่แออัดจนเกินไป อากาศถ่ายเทสะดวก แสงไฟเพียงพอ สุขาที่ถูกสุขลักษณะ นำ้ดื่มที่สะอาด อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 3 มื้อ ฯลฯ ซึ่งต้องมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เหมาะสมและปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ
3. สุขภาพที่ดีที่ไม่ควรถูกจำกัด
การดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังตามหลักแล้ว ควรอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับคนภายนอก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยตรง เช่น ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างคุมขัง หรืออาการทางใจที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดก็ไม่ควรละเลย เพราะการเพิกเฉยต่อการแก้ไขประเด็นปัญหาด้านสุขภาพในเรือนจำอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่นเดียวกับการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
แต่พอหันกลับมามองชีวิตของผู้ต้องขังบ้านเราแล้ว อาจต้องปรับปรุงและแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน ดังคำกล่าวของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ผู้ขับเคลื่อนนโยบายแบ่งแยกสีผิวในนาม สมัชชาแห่งชาติแอฟริกา ที่ว่า
“วิธีการที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของตนเองนั่นแหละสะท้อนลักษณะของสังคมนั้นที่ชัดเจนที่สุด เราจะคืนพวกเขาสู่สังคมและคาดหวังให้เขากลับมาเป็นคนดี เป็นคนที่ซื่อสัตย์ เป็นคนที่เคารพกฎหมายได้อย่างไร หากพวกเรายังคงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในวิธีการเดิมๆ ปฏิเสธศักดิ์ศรี กดขี่สิทธิของพวกเขาให้ต่ำลง นั่นไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับ”
Sources :
BBC | https://bbc.in/3tZr5VV
United Nations | https://bit.ly/3ymSGE0, https://bit.ly/3oz3Ot8