ในยุคที่มีบาร์เปิดใหม่ทั่วทุกมุมเมือง คุณอาจสงสัยว่า ทำไมคอลัมน์ Urban Guide อยากชวนมา ‘ประชาบาร์’
เหตุผลแรก เพราะที่นี่เป็นทั้งบาร์และ Co-working Space ในที่เดียวกัน แถมยังเปิดตั้งแต่เย็นย่ำไปจนถึงดึกดื่น
เหตุผลที่สอง นี่คือบาร์ของ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่ง โดยเขาเปิดร่วมกับผองเพื่อนอย่าง ‘สิรินทร์ มุ่งเจริญ’ และมีผู้จัดการร้าน ‘วสิษฐ์พล ตังสถาพรพันธ์’ ดูแลอยู่ โดยมีร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อ ‘ประชาธิปไตยกินได้’ อยู่ด้านล่าง
เหตุผลที่สาม นอกจากมีโต๊ะให้นั่งทำงาน มีหนังสือให้อ่าน และมีคราฟต์เบียร์จากชุมชนในไทยให้จิบ ในโอกาสพิเศษ ที่นี่ยังจัดฉายหนังและเสวนาการเมืองที่ชวนผู้สนใจมาถกเถียงกันในบรรยากาศสุดชิล
เหตุผลสุดท้าย นี่คือสเปซที่ขับเน้นคอนเซปต์ประชาธิปไตยในความหมายการโอบรับทุกความหลากหลาย และอยากเป็นพื้นที่ที่คนมารู้สึกปลอดภัยมากพอจะสนทนาเรื่องการเมืองและทุกๆ เรื่องอย่างอิสระ
บาร์บ้านเพื่อน
Cozy และ Homey เหมือนอยู่บ้านเพื่อน คือไวบ์ที่เราสัมผัสได้หลังจากก้าวขาขึ้นมาบนชั้นสองของอาคาร
สิ่งแรกที่เราเจอคือโต๊ะตั้งเรียงรายซึ่งมีลูกค้าจับจองนั่งทำงานอยู่ประปราย มีชั้นหนังสือให้หยิบอ่านเล่มที่สนใจตั้งอยู่ฝั่งขวา ตู้แช่เครื่องดื่มเย็นๆ ตั้งอยู่ข้างประตูทางเข้าฝั่งซ้าย
ดนตรีฟังสบายกำลังบรรเลงขับกล่อม สิรินทร์กับวสิษฐ์พลผู้เป็นเจ้าบ้านชวนเรานั่ง ยกเฟรนช์ฟรายส์กับเครื่องดื่มสีสวยมาเสิร์ฟ ไม่ใช่ค็อกเทลหรือเบียร์ที่เราเห็นในบาร์ทั่วไป แต่เครื่องดื่มของพวกเขาล้วนเป็นคราฟต์เบียร์และสาโทของแบรนด์ไทยที่ผลิตโดยคนตัวเล็กในชุมชน
“ร้านเรามีไวบ์แบบชิลๆ เครื่องดื่มแต่ละอย่างที่เราเลือกมาจึงเน้นให้ดื่มง่าย” สิรินทร์บอก ก่อนที่วสิษฐ์พลจะเสริมต่อ
“ที่เราเลือกคราฟต์เบียร์และสาโทแบรนด์ไทยเหล่านี้มาขาย เพราะรู้สึกว่าด้วยกฎหมายและปัจจัยหลายๆ อย่าง เบียร์ไทยไม่ได้มีพื้นที่ขนาดนั้น เราอยากมอบพื้นที่ให้พวกเขา เช่นเดียวกับสินค้าของนักศึกษาที่อยากหารายได้พิเศษ เราก็เปิดพื้นที่ให้เขาฝากวางขายที่ร้านได้เช่นกัน”
ไม่ใช่พื้นที่นั่งทำงานและจิบเครื่องดื่มเพียงเท่านั้น ในโอกาสพิเศษ ประชาบาร์จะแปลงโฉมตัวเองเป็นโรงหนังเฉพาะกิจชั่วคราว ฉายภาพยนตร์เรื่องพิเศษบนโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่สุดปลายห้อง ครั้งหนึ่งจัดฉายหนังสารคดีเรื่อง ‘คนหมายเลขศูนย์ (Mr.Zero)’ ที่เล่าเรื่องผู้ต้องโทษคดี 112 พร้อมเชิญ ‘บัณฑิต อาร์ณีญาญ์’ เจ้าของเรื่องตัวจริงมานั่งคุยกันด้วย
ด้วยสเปซโล่งกว้างที่ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ วันดีคืนดีคุณอาจได้เห็นประชาบาร์กลายร่างเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ รวมถึงพื้นที่เสวนาการเมืองและประเด็นอื่นๆ ได้เช่นกัน
บาร์แห่งความหลากหลาย
อันที่จริง หากย้อนกลับไปในความตั้งใจแรกเริ่ม หุ้นส่วนทั้งหมดอยากให้ประชาบาร์เป็นพื้นที่สนทนาเรื่องสังคมประชาธิปไตยที่ไร้กรอบจำกัด
“ก่อนหน้านี้เคยมีร้านของแอ็กทิวิสต์บ้าง แต่คนที่ไปก็จะเป็นเพื่อนแอ็กทิวิสต์กันเอง เราอยากให้ประชาบาร์เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย ให้คนที่ไม่เคยสนใจในบางประเด็นได้เข้ามาพูดคุยเรื่องใหม่ๆ ที่เขาอาจไม่เคยสนใจมาก่อน” สิรินทร์บอก “พอเป็นบาร์ ส่วนตัวคิดว่ามันชิลกว่า เหมือนคนที่มาจิบเครื่องดื่มแล้วพูดได้เรื่อยๆ เพราะบาร์เอื้อให้เขานั่งได้นานขึ้น”
แม้จะเป็นคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่คนละขั้ว พวกเขาก็ออกปากว่ายินดีต้อนรับให้มาถกเถียงกัน ถึงอย่างนั้น ประชาบาร์ก็ออกตัวว่ามีบางประเด็นสนทนาที่พวกเขาคัดกรองออกไป นั่นคือ Hate Speech
“บางคนอ้างว่าเป็น Free Speech แต่ถ้ามาถึงแล้วเขาเหยียดเพศ เหยียดผิว หรือพูดเรื่องการใคร่เด็ก เราก็ไม่อยากเปิดพื้นที่ให้กับประเด็นเหล่านั้น” สิรินทร์ชี้ไปที่มุมหนึ่งของห้องที่มีธงไพรด์แขวนอยู่
“เราเป็นทั้งเฟมินิสต์และ LGBT+ ด้วย เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เฟมินิสต์ และ LGBT+ ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้คนที่มีอคติต่อพวกเขาเข้ามา กลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เราจึงต้องมีลิมิตของประเด็นพูดคุยอยู่บ้าง”
บาร์ที่อยากให้ทุกคนมาสนทนาแบบเจอหน้ากัน
เมื่อเราเอ่ยถามว่า พื้นที่ปลอดภัยที่คุยกันได้ทุกเรื่องนั้นสำคัญกับคนเมืองอย่างไร สิรินทร์ตอบอย่างหนักแน่นว่าสำคัญมาก
“การมี Physical Space ให้คนมาเจอกันสำคัญนะ เพราะถ้าเราคุยกันในกลุ่มเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ มันไม่เหมือนการมานั่งจิบเบียร์คุยกันต่อหน้า
“การมีพื้นที่แบบนี้ทำให้คนมาคอนเนกต์กัน เราได้เห็นความเป็นคนของกันและกันมากกว่า บางทีตอนเราคิดต่างกันในโลกอินเทอร์เน็ต เราจะด่ากันรุนแรงมาก อย่างเฟลอร์เองที่เป็นเฟมินิสต์และคุยเรื่องลักษณะนี้ในทวิตเตอร์บ่อยๆ ก็โดนกระแสโจมตีหลายครั้ง
“แต่บางทีเราคิดว่า ถ้าเป็นคนที่เจอกันแบบ Face to Face เขาจะยังพูดแบบนั้นกับเราอยู่ไหม บางทีเราอาจทำความเข้าใจกันได้มากกว่าการสื่อสารผ่านหน้าจอก็ได้”
ถึงตรงนี้วสิษฐ์พลเสริมว่า “สำหรับผม ที่นี่คือพื้นที่ Mixed-use ที่คนทุกชั้นชนเข้าถึงได้ คุณไม่ต้องซื้อเบียร์แพงๆ แต่แค่มาพูดคุยและเข้าร่วมกิจกรรมก็ได้ นอกจากนั้น เรายังอยากเปิดพื้นที่ให้นักกิจกรรมและคนที่สนใจประเด็นต่างๆ ที่เขาอาจไม่ได้มีทุนมากมาจัดกิจกรรมที่นี่ อย่างก่อนหน้านี้ก็มีคนทำละครเวทีติดต่อมาอยากใช้พื้นที่เป็นที่พูดคุยถึงปัญหาในวงการของเขา เราก็พร้อมต้อนรับ ถึงแม้จะไม่ใช่ประเด็นการเมืองก็ตาม”
บาร์ฟูมฟักประชาธิปไตย
มากกว่าบทสนทนารสอร่อยที่ได้จากประชาบาร์ สำหรับหุ้นส่วนและผู้ดูแลอย่างสิรินทร์และวสิษฐ์พล บาร์แห่งนี้มอบสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้นให้พวกเขา
“เป้าหมายสูงสุดของเราคือการเปลี่ยนแปลงสังคม ประชาบาร์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” สิรินทร์บอก
“บางทีเราอยู่กับเพื่อน เราอาจจะอยู่ใน Echo Chamber ของคนที่คิดเห็นในทางเดียวกัน แต่การที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมหรือประเทศ เราจำเป็นต้องพาตัวเองไปเจอกับคนที่คิดต่างจากเรา ต่างชนชั้น ต่างสถาบันการศึกษา และมีปูมหลังที่ต่างจากเรา การสร้างการเปลี่ยนแปลงเรียกร้องให้เราศึกษาความหลากหลายเหล่านี้ เพื่อดูว่าเขาคิดยังไง และเราควรจะมีวิธีไหนในการพูดกับเขา เพื่อให้เขาสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเรา
“ด้วยความเป็นเมือง มันแบ่งชนชั้นคนอยู่แล้ว เวลาคุณไปเดินห้างสรรพสินค้ากลางเมือง คุณอาจเจอแต่คนชนชั้นกลางหรือสูงในโซนนี้ แต่การมีพื้นที่แบบประชาบาร์อยู่ใจกลางเมือง จะทำให้เกิดการพบปะกันระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง และทำให้เรามีความเข้าใจที่มากขึ้น”
ในฐานะนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ผลักดันเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด ซึ่งประชาบาร์ก็ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราถามทั้งสองคนทิ้งท้ายว่า ยังมีความหวังกับประชาธิปไตยไทยอยู่ไหม
“มีนะคะ” สิรินทร์ตอบเร็ว “จากกระแสม็อบที่ผ่านมา เราเห็นว่าเกิดการจุดประกายบางอย่าง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้เขารู้ว่าสิทธิที่เขาควรได้รับคืออะไร และเขาเรียกร้องสิทธินั้นได้”
“ตอนนี้เราเพิ่งจบใหม่ก็ยังอาจจะไฟแรงอยู่” วสิษฐ์พลหัวเราะ “แต่เรารู้สึกว่าหากมีคนมาประชาบาร์สักร้อยคน แล้วจุดประกายเรื่องประชาธิปไตยให้พวกเขาได้สักคนสองคนก็ยังดี”
ประชาบาร์
เวลาทำการ : 17.00 – 23.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์
พิกัด : ถนนทรัพย์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
แผนที่ : maps.app.goo.gl/5f2G19crsJKw29bF8
ช่องทางติดต่อ : prachabarbkk