“มุมมองต่อ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ แบบเดิมๆ คืออะไร” ฉันที่อยู่ภาคกลางรอคำตอบจากเขาที่อยู่ภาคเหนือ
เขาว่า บางคนบอกว่าอิจฉาชีวิต Slow Life ของชาวเขาเพราะมีความสุขโดยไม่ต้องวุ่นวายเหมือนคนเมือง ตื่นเช้ามาไม่มีรถติด นอนกลางดิน กินกลางทราย แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตพวกเขาถึงดีกว่านี้ไม่ได้ ชาวบ้านบางคนไม่มีโอกาสเรียน ไม่มีโอกาสฝัน ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ ไม่มีโอกาสเข้าถึงความเจริญ ไม่รู้ความหมายของการมีชีวิต และไม่มีความสุขแบบที่บอกว่าพวกเขามีด้วยซ้ำ
เขาว่า คนชนชั้นกลางบอกว่าชอบวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงมาก เพราะมีชุดชนเผ่าเป็นเอกลักษณ์ และกะเหรี่ยงคอยาวก็น่ารัก แปลกตา อยากมาถ่ายรูปคู่ ทั้งๆ ที่คนกะเหรี่ยงไม่ใช่สัตว์ในกรงที่รอแขกมาเยี่ยม ชาวบ้านบางคนต้องขายวัฒนธรรมและวิญญาณเพื่อให้มีชีวิตรอด เพราะผู้มีอำนาจวางบทบาทให้เป็นสิ่งกระตุ้นการท่องเที่ยว
เขาว่า คนชนชั้นกลางหลายคนบริจาคเงินหรือสิ่งของ พร้อมบอกว่าอย่ารอให้ใครมาช่วย ประชาชนต้องช่วยกัน ถ้าถามผม การบริจาคเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้มองเห็นปรากฏการณ์ใต้พรมด้วยว่ากลุ่มชาติพันธุ์ถูกกดทับจากอำนาจใดอยู่ คุณจะรู้ว่า ‘ใคร’ ที่มีอำนาจมากพอในการออกกฎหมายให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชนที่ ‘ไม่เป็นอื่น’
ฉันสัญญากับ ‘เขา’ หรือ โอ-ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี หนุ่มปกาเกอะญอ วัย 28 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของเขาและชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้คนเมืองเข้าใจมากขึ้น เขาตอบฉันว่า “ต้าบลึ” หรือขอบคุณในภาษาพื้นเมือง ทว่าฉันกลับอยากขอบคุณเขามากกว่า เพราะ โพควา โปรดักชั่น สื่อออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนชีวิตคนชาติพันธุ์ที่เขาเขียน ถ่าย อัด ทำ ‘คนเดียว’ มันวิเศษและช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดให้คนนอกชนเผ่ามองเห็นชีวิตนอกมายาคติชุดเก่าที่สื่อหลักไม่นำเสนอได้มากขึ้น
5 บทต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องราวของเขาและเสียงกึกก้องจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยากให้คุณได้อ่าน
01 โอ๊ะหมีโชเป่อ แปลว่า สวัสดี
5 เมษายน พ.ศ. 2535 ‘โอ’ ลืมตาดูโลก
“สวัสดีครับ ผมชื่อโอ อายุยี่สิบแปดปี เป็นชาวปกาเกอะญอ เกิดที่ชายแดนไทย-พม่า บ้านสวนอ้อย ตำบลท่าสองยาง จังหวัดตาก เข้าโรงเรียนประจำหมู่บ้านตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมต้น มัธยมปลายเรียนโรงเรียนประจำอำเภอที่ห่างจากหมู่บ้านหกสิบกิโลฯ จบปริญญาตรีจากวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ตอนนี้เรียนปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
เสี้ยวหนึ่งจากประวัติคร่าวๆ ของโอ คุณอาจมองชายหนุ่มคนนี้เก่ง ฉลาด ชีวิตราบรื่น แต่เส้นทางชีวิตตลอด 28 ปีที่ผ่านมา เขาเดินบนถนนชำรุดตลอดทาง ซ้อมหนีตาย บังคับตัวเองให้เรียนเก่งเพื่อชิงทุน และฝันสูงสุดตอนเด็กคือการมีชีวิตรอด จนมาถึงวันที่เขารู้คำตอบว่า คุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดีได้กว่านี้ แต่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้ดี
“ตอนเด็กๆ ผมคิดว่าหมู่บ้านคือโลกทั้งใบ นึกว่าประชากรโลกมีอยู่แค่นี้ แล้วความลำบากคงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ เพราะคนในหมู่บ้านก็ลำบากกันหมด” โอพูดถึงความทรงจำวัยเด็ก ก่อนเล่าย้อนกลับไปว่าแท้จริงชีวิตเขาปูด้วยความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่ลืมตา
โอเกิดโดยการคลอดธรรมชาติกลางสวนลิ้นจี่ ไร้ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีเพียงหมอตำแย และเอกสารแจ้งเกิดที่แม่เคยเก็บไว้ตอนกรมอนามัยเข้ามาในหมู่บ้าน นั่นทำให้เขามีสัญชาติไทยตั้งแต่เด็ก แม้จะแจ้งเกิดช้ามาก เพราะการเดินทางเข้าอำเภอแสนยากลำบาก ทางเป็นหลุม และรถโดยสารไม่มี
โอเข้าเรียนอนุบาลท่ามกลางบริบทความขัดแย้งของกองกำลังกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่า ตรงข้ามโรงเรียนเห็นชัดแจ้งว่าคนกำลังถูกยิง เสียงปืนลั่นไกไม่ขาดสาย เด็กน้อยตัวแค่นั้นต้องซ้อมหลบภัยที่แทบจะเป็นหนึ่งวิชาเรียน ด้วยการทำอุโมงค์ท่อใหญ่ๆ มาต่อกัน แล้วเอาดินกลบด้านบน เป็นหลุมหลบภัย มิหนำซ้ำเพื่อนร่วมโรงเรียนยังถูกลูกหลงจนเสียชีวิต ไฟฟ้าก็ไม่มี ต้องฟังสัญญาณจากการตีระฆังแทนโทรโข่ง ว่าตอนไหนต้องรีบกินข้าว ตอนไหนต้องซ่อนตัว
“พ่อ-แม่ปลูกฝังผมว่ามันเป็นเวรกรรมที่ต้องเกิดมาหนีภัย ตอนนั้นเราก็เชื่อ เพราะไม่มีเด็กปกาเกอะญอคนไหนรู้ว่ารัฐบาลคืออะไร เขาจะช่วยเราได้ไหม มีคนบนโลกมากกว่าในหมู่บ้านอีกเหรอ นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้รับข้อมูล ข่าวสาร การสื่อสารจากที่อื่น สิ่งเหล่านี้คือกำแพงในการเข้าถึงโอกาสและสิทธิบางอย่างของเด็กหลายคนในฐานะพลเมือง”
ถ้า ‘ดู’ เป็นคนเมือง จะถูกยอมรับ
แนวคิดข้างต้นคือสิ่งที่เด็กชาติพันธุ์ถูกปลูกฝังมาผ่านวิชาเรียน โอเล่าว่า เขาเรียนวิชาบังคับ ได้แก่ ภาษาไทย กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) และ สร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.) โดยมีครูต่างถิ่นบางคน ‘สั่ง’ ให้พูดภาษาไทยให้ชัด อย่าหลงเหลือกลิ่นอายปกาเกอะญอที่ไม่มีตัวสะกดในภาษา ซึ่งเขาพยายามอย่างหนักที่จะเรียนรู้มัน แต่หลายครั้งก็ยังพูดไม่ชัด และมีเด็กหลายคนที่เจ็บปวด ต่อสู้กับความกลัว กลัวจะถูกล้อเลียน กลัวจะถูกทำให้เป็นอื่น เพราะครูต้องการให้เด็กชาติพันธุ์มีสำเนียงแบบกรุงเทพฯ รวมถึงเด็กหลายคนถอดใจ ไม่มาโรงเรียนกลางคัน แต่เด็กบางคนยังไปต่อแม้จะมีปมด้อยตั้งแต่อายุยังน้อย โอคือเด็กคนนั้น
“มันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการล่มสลายทางวัฒนธรรม ผู้ปกครองจะได้รับ ชุดความคิดว่าถ้าคุณเป็นชาติพันธุ์ แสดงว่าล้าหลัง ป่าเถื่อน ถ้าอยากให้ตัวเองหลุดพ้น ต้องนิยามตัวเองว่าเป็นคนเมือง ฉันไม่ใช่กะเหรี่ยง ฉันไม่ใช่ชาติพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่”
ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการจงใจพลิกอัตลักษณ์ให้ชาวบ้านแสดงตัวตนเพื่อการยอมรับ ใครพูดชัด คุณเจ๋ง ใครเป็นข้าราชการ เด็กปั๊ม หรือคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ได้ คือความหวังของครอบครัว และชีวิตต้อง ‘ดิ้นรน’ เอาตัวรอด เรียนให้เก่ง เพราะจะมีทุนเรียน มีเพื่อนเล่น ทำให้ตั้งแต่ประถมฯ ยันเข้ามหาวิทยาลัย โอเขียนเรียงความ สอบชิงทุน และกู้ กยศ. เพื่อให้มีน้ำมันหล่อลื่นชีวิตในอนาคตที่เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทว่าเขากลับเปิดโลกกว้างและตั้งคำถามครั้งแรกถึงชีวิตวัยเยาว์ และความฝันที่มากกว่าฝันตอนนอน เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย
02 เอาะเหม่เอาะที แปลว่า กินข้าวกินน้ำ
หาปลาในแม่น้ำเมย วิ่งเล่นกับเพื่อน เป็นนักดีดลูกแก้วที่เก่งที่สุดในโลก (หมู่บ้านที่โอคิดว่าเป็นโลกทั้งใบ) รับจ้างแบกหน่อไม้ได้ครั้งละ 7 บาท หรือการเป็นราชการคือทางลัดชีวิตดี เหล่านี้คือฝันที่โอเคยคิดว่าเป็นฝัน แต่จริงๆ แล้วไม่
“ตอนไปมหาวิทยาลัยครั้งแรก เหมือนผมหลุดออกจากกรอบที่คิดว่าถูกมาตลอดชีวิต แต่ปรากฏว่ามันผิด ผมไปถามเพื่อนคนเมืองว่ามันมีแบบนี้ด้วยเหรอ เพื่อนหาว่ากวนตีน (หัวเราะ) ไม่รู้ได้อย่างไร การเข้าสังคมก็เลยทำให้ผมเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม พบผู้คนจากหลายที่ และทำให้รู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็คือพลเมืองไทย”
โอเป็นนักศึกษาโควตากลุ่มชาติพันธุ์ชุดแรกของมหาวิทยาลัย ทำให้เขามีฝันแรกคือการเป็นช่างภาพ ก่อนขยับมาทำสารคดีเกี่ยวกับวิถีชาติพันธุ์ เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาและส่งเสียงช่วยเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายชีวิตที่ไม่มีโอกาส
“ผมมีโอกาสช่วยงานสำนักสื่อของมหาวิทยาลัย ทำให้ได้จับกล้อง ถ่ายนู่นนี่ และฝึกฝนในช่วงปีแรกๆ จนได้เรียนกับ ผศ. ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ อาจารย์ชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาวปกาเกอะญอคนแรก ที่ทำให้ผมมองเห็นชาติพันธุ์มากขึ้น มันมีมากกว่าหมู่บ้าน มีผู้คน มีความหลากหลาย มีปกาเกอะญอที่แม่แจ่ม ที่กัลยาณิวัฒนา และมีชาติพันธุ์อีกมากมายที่มีศักยภาพมากกว่าที่รู้ ขณะเดียวกันยังเจอปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิแบบเดียวกับบ้านผมเช่นกัน”
อาจารย์ชิพาโอขึ้นรถไปเจอผู้คน พาไปเล่นดนตรี เยี่ยมเยียนเครือข่ายชาติพันธุ์ ได้ออกพื้นที่นอกห้องเรียน สอนแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาและความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่แทบไม่มีในตำราเรียน เมื่อนั้นความฝันของเขาก็ค่อยซึมซับเข้ามาในจิตใจว่าเขาอยากทำสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อชีวิตคนชาติพันธุ์
ฝันแรกแย้มคือการได้ทำตามอุดมการณ์ แต่เมื่อเรียนรู้จนเข้าใจ ทำวิดีโอเล่าเรื่องชาติพันธุ์เยอะพอสมควร จึงรู้ว่าความฝันที่มีต้องหล่อเลี้ยงปากท้องตัวเองได้ด้วย โอจึงตัดสินใจเข้ารับการฝึกอบรมโครงการนักข่าวพลเมือง ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสร่วมกับเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network : IMN) เป็นผู้จัด ทำให้เขาได้ฝึกฝน และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสื่ออย่างจริงจัง
เริ่มจากการเป็นจิตอาสา พอขึ้นปี 4 โอได้รับการติดต่อจ้างงานทำสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ แน่นอน เขาตกลงทันที จึงได้เข้าไปทำงานในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นกระบวนการทำงานจริง เรียนรู้วิธีการวางโครงเรื่อง จนเกิดความรู้สึกว่า “โคตรชอบ” และสารคดีชุดนั้นก็ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ในปี 57 ด้วยชื่อ ‘เรือรับจ้าง’
03 โพควา โปรดักชั่น คืออุดมการณ์
อยากเล่าเรื่องชาติพันธุ์ อยากให้คนเข้าใจบ้านเกิด อยากให้สังคมรู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์อยู่กันอย่างไร เป็นอย่างไร ลำบากอย่างไร และอยากเน้นเรื่องศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะเป็นสิ่งที่น้อยสื่อนักจะพูดถึง
โอเรียกตัวเองว่า ‘นักสื่อสารมวลชน’ และสร้างเพจ ‘โพควา โปรดักชั่น’ สื่อออนไลน์ที่เล่าเบื้องหลังอีกมุมของเรื่องราวที่สื่อหลักไม่นำเสนอ และอยากเห็นสังคมเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายภายในสังคม เขาเปิดเพจครั้งแรกใน พ.ศ. 2558 ด้วยตัวคนเดียวและทำเองทุกขั้นตอน ทั้งเขียน ถ่ายภาพ ตัดวิดีโอ ทำกราฟิก และล่าสุดกับพอดแคสต์ ควบคู่กับการเรียนปริญญาโท ยิ่งไปกว่านั้น โอยังทำ ‘The North องศาเหนือ’ รายการกึ่งสารคดีจากไทยพีบีเอส ผลิตสื่อด้านสุขภาพร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำภาคเหนือ และรับฟรีแลนซ์ทำสารคดีเพื่อชุมชนชาติพันธุ์ตามโอกาส
“โพควา โปรดักชั่น ต่างจากสื่อทั่วไปอย่างไร” ฉันถามโอ
“โพควา โปรดักชั่น เป็นสื่อทางเลือกที่เล่าเรื่องของตัวเอง ผมเป็นคนชาติพันธุ์และเล่าเรื่องพี่-น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ในขณะที่คนอื่น เขาอาจจะเล่าในสิ่งที่เขาอยากเล่า ซึ่งบางครั้ง เขาไม่เล่าในด้านที่สังคมควรรู้”
ถ้าถามว่าคอนเทนต์ปกาเกอะญอในสื่อหลักไทยนำเสนอแบบไหน โออธิบายจากงานวิจัยภาพตัวแทนของชาติพันธุ์ผ่านสื่อจากสายตาคนนอกวัฒนธรรมที่เขาศึกษาว่าแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. คนผลิตนำเสนอภาพโจรป่าเถื่อน ล้าหลัง ที่ปรากฏในภาพยนตร์และละคร เนื่องจากไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับชาติพันธุ์
2. คนผลิตนำเสนอภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ติงเรื่องภาษา เช่น ภาพยนตร์เรื่องรักจัง นำตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นตัวประกอบการสร้างความสนุก และตลกเพราะพูดไม่ชัด
3. คนผลิตนำเสนอด้วยความเข้าใจและมีกลุ่มชาติพันธุ์ในการพัฒนาบท เช่น ภาพยนตร์เรื่องม้ง สงครามวีรบุรุษ ที่นำเสนอการต่อสู้และมุมมองเชิงบวกของกลุ่มชาติพันธุ์
สำหรับสื่อแบบสำนักข่าว โอบอกว่า หลายสำนักมักเล่นกับรอยความคิดคน และสร้างค่านิยมเหมารวมภายในกลุ่มอยู่เสมอ เช่น ถ้าจับผู้ค้ายาเสพติดแล้วเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งๆ ที่คนเมืองก็มีคนทำสิ่งเลวร้าย แต่กลับไม่ถูกเหมารวม นั่นเป็นเพราะชุดความคิดเรื่องชาติพันธุ์เป็นอื่นมีมานาน หรือถ้าสำนักข่าวหนึ่งตั้งเฮดไลน์ว่า ชาวเขาทำลายป่า มันก็ง่ายที่คนในสังคมจะเห็นด้วย เพราะมุมมองนี้เป็นมุมมองที่อยู่ในสื่อหลักทุกแขนง ทั้งภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์
“ถ้าสื่อหลักจะทำเรื่องชาติพันธุ์ ปรากฏการณ์ของแต่ละสื่อก็ออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้สังคมเข้าใจแบบไหน มันเหมือนเป็นกระบวนการชักจูงความคิด ผมเลยมองว่ามันไม่ใช่แค่อยากส่งอะไรก็ส่ง ต้องตระหนักถึงจรรยาบรรณ ฟังความสองด้าน เคลื่อนสังคมไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจ
“โพควาจึงอยากเป็นพิราบที่มองเห็นปรากฏการณ์ เข้าใจโครงสร้างของการผลิตสื่อ ปรับกระบวนทัศน์บางอย่างที่สื่อสมัยก่อนนำเสนอ ให้เห็นอีกมุมหนึ่ง ใช้พื้นที่ ใช้โอกาสต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจของกลุ่มชาติพันธุ์ พอเข้าใจก็จะเกิดการยอมรับ และนำไปสู่การแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม”
รูปแบบการนำเสนอเรื่องชาติพันธุ์ในเวทีสื่อที่ดีมีเพียง 3 รูปแบบตามงานวิจัยที่โอศึกษา ได้แก่
1. การต่อรองความหมายกับสิ่งที่สื่อสารทางสังคม เช่น ชาวเขาทำลายป่า ใช่ เป็นชาวเขาจริง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำลายป่า มีคนจำนวนมากอยู่บนเขา และดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์แม้ผ่านมาร้อยปี
2. สื่อสารเพื่อแนวคิด ปรัชญาของชาติพันธุ์ ว่ามีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร
3. การรักษาอัตลักษณ์
และข้อที่ 4 ที่โอขอเติมเองคือ ‘การต่อสู้’ ในที่นี้หมายถึงการต่อสู้เชิงความคิดที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ สมมติถ้ามีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า สิ่งที่โอจะทำคือนำเสนอภาพชาวบ้านกำลังพยายามดับไฟป่า ต่อสู้กับสื่ออื่นที่บอกว่าพวกเขาทำให้เกิดไฟไหม้
04 กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินเขียดต้องรักษาผา คือความเชื่อที่ยึดมั่น
“กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินเขียดต้องรักษาผา” เป็นสุภาษิตที่ชาวกะเหรี่ยงสอนลูกหลานเสมอว่า อยู่กับสิ่งใด จงรักษาสิ่งนั้น และเป็นสิ่งที่โพควา โปรดักชั่น นำเสนออยู่หน้าเพจ
ฉันยกสถานการณ์ #Saveบางกลอย ที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลุ่มหนึ่งเดินเท้ากลับขึ้นไปยังหมู่บ้านกลางป่า อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังจากอพยพลงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และถูกเผาบ้านเมื่อ พ.ศ. 2554 มาคุยกับโอ ซึ่งโออธิบายว่า ชุมชนพื้นเมืองอยู่มาก่อนเขตป่าของรัฐ เป็นชุมชนชอบธรรมที่ควรมีสิทธิต่อที่ดิน แต่หลังการเข้ามาของอุทยานและเขตป่า ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่หมุนเวียน หาของป่าก็โดนจับ และถูกสั่งอพยพลงมา โดยรัฐให้สัญญาว่าจะหาที่ดินทำกินให้
แต่ผ่านมาหลายปีจนถึงตอนนี้กลับไม่มีการเยียวยาเหมือนที่คุยกันไว้ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี เลยมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย จึงยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการชาติพันธุ์ ให้มีการตั้งไตรภาคี เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
“หลายครั้ง รัฐช่วงชิงคำศัพท์เล็กๆ เพื่อเปลี่ยนความเข้าใจในสังคมให้มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ป่าที่เป็นบ้านของเรา รัฐใช้คำว่าที่พักพิง ทั้งๆ ที่มันเป็นทั้งบ้าน ครัว ห้องนอน ไม่ใช่ที่อยู่ครั้งคราวแบบที่รัฐคิด เหมือนกับค่านิยมในสังคมต่อคนชาติพันธุ์ที่มองเราเป็นสินค้าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว”
ความสามารถที่ยิ่งใหญ่ของคนปกาเกอะญอคือการทำให้ธรรมชาติยังคงอยู่ได้ โอจึงตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า ถ้าลองคิดดูว่าก่อนจะมีกฎหมายป่าสงวน ชุมชนอยู่อย่างไร ดูแลอย่างไรที่ทำให้ป่ายังคงเป็นป่าในเวลา 100 ปี เช่น บ้านหินลาดใน ดูแลผืนป่ามา 200 ปี หรือ บ้านกลาง จ.ลำปาง ที่เคยถูกสัมปทานป่า แต่กลับมาฟื้นได้ นี่คือศักยภาพของชุมชน
“คนปกาเกอะญอกว่าห้าแสนคนมีวิธีการดูแลป่าที่พึงคิดเสมอว่า มนุษย์อาศัยธรรมชาติอยู่ ต้องทำพิธีขออนุญาตทุกครั้งก่อนทำไร่หมุนเวียนเจ็ดถึงสิบปีต่อครั้ง ถ้าทำพิธีแล้วเกิดฝันร้ายเราจะไม่ทำ และต้องทำความเข้าใจว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างไร ถ้าป่าดิบชื้นจะไม่เกิดไฟไหม้เพราะชื้นตลอดปี ชุมชนจะทำการ ‘บวช’ หรือการดูแลที่ไม่โค่นไม้ ทำลายป่า
“ถ้าเป็นป่าผลัดใบ ในอดีตไฟป่าก็จะมาเองในช่วงฤดูร้อน แต่ปัจจุบันชุมชนมีการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควัน รวมถึงภาวะโลกร้อน เรียกว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือแนวควันไฟ
“และยังมีวัฒนธรรมป่าสะดือ ที่เมื่อทารกปกาเกอะญอเกิดมา จะถูกเอารกไปผูกกับต้นไม้ โดยมีนัยว่าถ้าดูแลต้นไม้นี้ให้เติบโตอย่างดี มีผล มีร่มเงา ลูกเติบใหญ่จะเป็นคนดี พึ่งพาได้ ซึ่งเป็นกุศโลบายให้ชุมชนรักษ์ป่า”
05 กลุ่มชาติพันธุ์ คือคนเท่ากัน
“ความสุขของกลุ่มชาติพันธุ์คืออะไร” คำถามเรียบๆ ทิ้งท้ายจากฉันถึงปลายสาย
“การมีวิถีชีวิตที่เราออกแบบได้เอง ถ้าเราอยู่ในป่า เราก็มีสิทธิ์ที่จะดูแลและรักษามัน พวกเราอยากเห็นสังคมมีสุขได้ท่ามกลางความหลากหลาย เกิดการยอมรับกันและกัน มองคนเท่ากัน
“เราไม่ได้อยู่ในยุคที่จะทำให้คนเห็นต่างกลายเป็นอื่นได้ง่ายขนาดนั้นแล้ว การเปิดเวทีรับฟังเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าพวกเราต้องการอะไรกันแน่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งสัญชาติ สิทธิ์ในการอยู่กลางผืนป่า สิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษา ไฟฟ้า หรือความเจริญ สิ่งเหล่านี้ยั่งยืนกว่าการบอกให้คนเข้ามาบริจาคช่วยเหลือ แต่ต้นตอปัญหากลับไม่ได้ถูกแก้ไขอะไรเลย”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโพควา โปรดักชั่น และเสียงจากหัวใจชาวปกาเกอะญอที่ฉันอยากให้ทุกคนได้อ่านและเล่าต่อให้คนอื่นได้รู้