วิชาค้นหาตัวตน 101 ของ พลอย พลอยไพลิน - Urban Creature

‘พลอย – พลอยไพลิน ตั้งประภาพร’ สาวน้อยตาโตวัย 22 ปีที่หลายคนอาจรู้จักเธอในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาท แต่อีกมุมหนึ่ง พลอยยังคงเป็นเพียงเด็กจบใหม่ ที่สับสนกับชีวิตหลังเรียนจบว่าจะเดินไปทางไหนดี พร้อมกับการถูกกดดันด้วยประโยคสั้นๆ อย่าง ‘เรียนจบแล้วจะทำอะไร ?’ จนท้ายที่สุด เธอตัดสินใจทำ gap year ปล่อยให้ระยะเวลาในช่องว่างระหว่างหนึ่งปี พาออกเดินทางค้นหาตัวตน ซึ่งการเดินทางของพลอยครั้งนี้ มีอุปกรณ์ไม่มากนัก

หนึ่งคือ ความตั้งใจ
สองคือ ลงมือลองทำ
และสามคือ เพจ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ ?’

เพจเฟซบุ๊กของเด็กจบใหม่ ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำถามตามชื่อเพจที่ตัวพลอยเองยังไม่มีคำตอบ เรากดไลก์ และติดตามมาตั้งแต่ช่วงแรก จนถึงคลิปวิดีโอท่องเที่ยว ‘ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย 39 วัน 8 ประเทศ จากจีนสู่ฝรั่งเศส’ ที่ทำให้ตัวเลขยอดไลก์เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ และเพจ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ ?’ ได้กลายเป็นกล่องแห่งแรงบันดาลใจ และ เคล็ดลับวิชาในการค้นหาตัวตนให้กับใครหลายคน

บทที่ 1 | จุดเริ่มของ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ ?’

พลอย : คำว่าพลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ มันเป็นคำถามที่เราเจอบ่อยๆ ตอนช่วงที่จะเรียนจบ เราเชื่อว่า ใครๆ ก็ต้องเคยเจอคำถามนี้ว่า เอ้ย เรียนจบแล้วทำอะไรต่อกันวะ หลายคนบอกกับเราว่า เราไม่ควรเอางานที่เรารักมาเป็นอาชีพ เพราะมันจะทำให้เราไม่ชอบ แต่หลายคนบอกว่าต้องทำงานที่รัก เรารู้สึกสับสนว่า จริงๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกกันแน่ ถึงแม้ว่าเราจะทำหลายอย่างได้ก็จริง แต่ไม่ได้เก่ง เหมือนเป็นเป็ดที่ไม่เก่งสักอย่าง

ทุกครั้งที่มีคนถามจะบอกไปว่า ไม่รู้เลยค่ะ
ซึ่งในเวลาที่เราตอบคำถามนั้น
รู้สึกว่าเราดูห่วยมาก ที่เรียนจบมาแล้วแต่ไม่รู้จะทำอะไร

เราก็เลยถามคนนู้นคนนี้ว่า ทำยังไงดี ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เรากลัวว่า จะไม่สามารถตอบไอ้คำถามที่ว่าจบแล้วทำอะไรต่อได้เลย เราไปถามรุ่นพี่คนอื่นๆ จนเขาน่าจะรำคาญเราแหละ แบบถามจังเลยไอ้คำถามที่ว่า ทำอะไรต่อ ? พี่ก็เลยบอกให้สร้างเพจแม่งเลย กวนๆ ไป (หัวเราะ) เหมือนเขาล้อเล่น แต่เราเอาจริง เราก็เลยมา ! อยากให้ทำเพจใช่ไหม ทำก็ได้ แล้วเพจจะชื่ออะไรดี พี่ก็เลยบอกว่า ก็คำถามที่ชอบถามไงว่า ‘จบแล้วทำอะไรต่อ ?’

บทที่ 2 | ช่องว่างระหว่างหนึ่งปีสำหรับค้นหาตัวตน

พลอย : ตอนแรกเลยเราตัดสินใจที่จะเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำอะไรได้บ้าง คิดแค่ว่าก็เรียนไปให้มีคำตอบให้คนอื่น เลยไปปรึกษาอาจารย์ว่า เรียนโทแบบนี้ดีไหม เขาก็ถามมาว่า ต่อโทเพื่ออะไร มันเอาไปทำอะไรได้ ? เพราะเราไม่ได้คิดต่อโทที่ตรงกับสายอาชีพ คือเราจบนิเทศฯ มาแต่อยากต่อโทจิตวิทยา เขาเลยถามว่า ทำไมต้องเป็นคณะนี้ เราก็ตอบว่า แค่อยากเรียนให้มีอะไรทำ

อาจารย์เลยบอกว่า “เอ้า งั้นมันไม่จำเป็นเลยนะที่ต้องต่อโท เรียนมาตั้งเยอะแล้ว ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย 15 ปี ถ้ายังไม่รู้ตัวเอง ทำไมไม่ให้เวลาตัวเองอีกสักปีหนึ่ง ในการไปหาคำตอบว่าเราชอบอะไรจริงๆ ไม่ใช่ตามตำราเรียน เพราะมันไม่มีทางบอกได้อยู่แล้วว่าเราชอบอะไร” เราก็เลยโอเค เราจะทำ gap year หนึ่งปี เริ่มต้นช่วงกลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว คือทำอะไรก็ตามที่อยากลอง รวมถึงเพจ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ ?’ ด้วย อยากให้เพจนี้มันเล่าเรื่องราวปีที่ gap year ว่าเราทำอะไรไปบ้าง

บทที่ 3 | ทำอาหาร ครูบ้านนอก ภาษามือ

พลอย : ช่วงเริ่มทำ gap year เราเริ่มจาก ลองทำอาหาร ตอนแรกก็กินปกติ แต่พอเราได้ทำก็รู้ว่า อาหารมันคืองานศิลปะ มันคือความเค็มที่มากหรือน้อย หวานน้อยหวานมาก แค่ใส่ต่างกันนิดเดียวมันก็ต่างแล้ว เราได้เห็นมุมมองที่เราไม่ได้ลองทำในห้องเรียน

จากนั้นก็ลองไปเป็น ครูบ้านนอก เป็นโครงการที่ไป 3 – 4 วัน คนทำงานก็ไปได้ แล้วพอได้ไปครูบ้านนอก เราได้เจอสังคมคนละสายกับเรา ทั้งเภสัช พยาบาล นักกายภาพบำบัด หมอ สถาปัตย์ ดีไซเนอร์ คือทุกคน ทุกแขนงมารวมกันอยู่ที่ๆ เดียว ทำให้เราได้รู้จักคนใหม่ๆ แลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน อีกอย่างที่เราคิดว่า พวกเขาลำบาก จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ลำบากอย่างที่เราคิดเลย เขาก็มีความสุขในมุมของเขา หรือ การเรียนภาษามือ เราอาจคิดกันว่า เขาต้องลำบากมากแน่ๆ เลยที่ไม่ได้ยิน แต่พอเราเห็นเขา ไปเรียนกับเขา ได้สัมผัสและเห็นว่า เขาก็สามารถพูดคุยได้เหมือนคนปกติ แถมยังคุยเก่งกว่าเราอีกด้วยการใช้ภาษามือ

ตอนแรกเราวัดความสุขจากการประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง
แต่พอเราไปเจอคนที่ไม่ต้องการอะไรเลย แต่กลับมีความสุขได้พอๆ กัน
เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วความสุขไม่สามารถวัดกันได้
ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคนมากกว่า

บทที่ 4 | จากเด็กในกะลา สู่โลกกว้างที่ชื่อ ‘เดินทาง’

พลอย : ตอนแรกเราเป็นคนอยู่ในกะลามากๆ (หัวเราะ) ไม่ชอบเที่ยว แม่ชวนไปไหน ชลบุรี พัทยา เขาใหญ่เราก็ไม่ไปเลย เพราะเราค่อนข้างจะเป็นเด็กเนิร์ด อ่านการ์ตูน เล่นเกม คือชีวิตเราอยู่แต่ในบ้าน ไม่เคยฝันว่าอยากไปข้างนอก จนเข้ามหาวิทยาลัย วันหนึ่งเราไปดูหนังชื่อ “The Secret Life of Walter Mitty” ทำให้เรารู้สึกว่า เห้ย ! มันมีที่แบบนี้อยู่ด้วยหรอวะ มีภูเขาที่เป็นน้ำแข็ง หิมะ เวิ้งน้ำ หรือทางยาวขนาดนี้ด้วยหรอ ดูหนังจบปุ๊บ เราก็ไปเสิร์ชหาว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่ไหน เจอว่าเป็น กรีนแลนด์ กับ ไอซ์แลนด์ คือภาพมันเหมือนในหนังจริงๆ

เลยเริ่มหาข้อมูลว่าบนโลกนี้มันมีอะไรน่าค้นหาบ้าง จนพบที่หนึ่งในประเทศไทย คือ ‘ภูกระดึง’ ซึ่งเป็นทริปแรกที่ลองไปเที่ยวกับเพื่อนตอนปี 1 คือเราไม่เคยทำอะไรแบบนี้เลยนะ พอขึ้นไปถึงแล้วมันสวยมาก บวกกับเราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว เราเลยเริ่มชอบเที่ยว

บทที่ 5 | 39 วัน 8 ประเทศ ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย กับการรู้จักตัวเองมากขึ้น

พลอย : ทริปรถไฟทรานส์ไซบีเรีย จีน-ฝรั่งเศส เริ่มจากไปเจอใครสักคนแชร์มาหน้าเฟซบุ๊ก แล้วบอกว่าเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดในโลก เรารู้สึกว่าท้าทายดีจังเส้นทางนี้ มันเป็นเส้นทางจากมอสโกไปเมืองทางใต้ของรัสเซีย แต่ที่เราไปเป็นทางมองโกเลีย คือมันแปลกมากที่รถไฟสายเดียวไปได้ถึง 3 ประเทศ เราสามารถเห็นภูมิประเทศได้ตั้งแต่เอเชียถึงยุโรป ซึ่งเป็นการไปเที่ยวคนเดียวครั้งแรก ก็เลยลองเดินทางไปค้นหาตัวเองดู แบกกล้องโพราลอยด์ไปตัวหนึ่ง เพราะไม่อยากแค่เที่ยวให้มันผ่านไป แต่อยากเก็บภาพถ่ายเอาไว้เป็นที่ระลึก

มันจะสักแค่ไหนกันวะ กับไอ้คำว่า รู้จักตัวเอง

พอเราได้ไปคนเดียว เราได้รู้จักตัวเองว่าตัวเองเป็นยังไง ได้รู้ว่า จริงๆ เราก็เป็นคนเหงาคนหนึ่งเหมือนกัน ในขณะที่เมื่อก่อน เรามั่นใจว่า เราเป็นคนที่ค่อนข้างอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไปไหนหรือทำอะไรคนเดียวได้ แต่พอเราได้อยู่คนเดียวมากๆ กลับเข้าใจว่า ที่บอกว่า อยู่คนเดียวได้ เพราะรู้ว่าข้างหลังมีคนอยู่กับเราด้วยต่างหาก แต่พออยู่ข้างนอก มันไม่มีใครเลย สุดท้ายก็เหลือตัวคนเดียวอยู่ดี อย่างตอนก่อนเดินทาง 2-3 วัน เรานั่งคิดกับตัวเองว่า ถ้าเราทำพาสปอร์ตหายจะแก้ไขสถานการณ์ยังไง หรือถ้าหกล้มจนขาพลิกใครจะแบกไปโรงพยาบาล คือมันนึกไม่ออก ซึ่งเราไม่เคยคิดถึงมุมนี้เลย ตอนแรกกลัวมาก แต่มันก็ผ่านไปได้ในแต่ละวัน ทำให้เรารู้ว่า เราทำได้ว่ะ มันเหมือนเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่า เราไปถึงครึ่งโลกได้นะ

พอกลับมาแล้วลงคลิป ปรากฏว่าคลิปมันกระจายไปไกลมาก ไวมาก คือเราไม่ได้คิดเลย ตอนแรกคิดว่าใครจะมาดูวะ แค่พันไลก์ก็ดีใจแล้ว แต่พอสองสามวันขึ้นแสนสองแสน เห้ย เกิดไรขึ้น ! แล้วคนก็อินบอกซ์มาว่า ขอบคุณนะคะที่ให้แรงบันดาลใจ มีทั้งแชร์ และคอมเมนต์ เลยรู้สึกว่า คลิปเรามันสร้างแรงบันดาลใจได้ มันไม่ใช่แค่เราที่ได้รู้จักตัวเอง ได้เรียนรู้คนอื่น แต่มันยังแบ่งปันให้คนอื่นได้เหมือนกัน เหมือนทริปจบ แต่เรื่องราวมันยังไม่จบ

บทที่ 6 | พลอยเรียนจบแล้วเขียนหนังสือ ‘วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน’

พลอย : จริงๆ การเขียนหนังสือไม่เคยอยู่ในความคิด ไม่เคยอยู่ในลิสต์สิ่งที่พลอยอยากทำเลยนะ เพราะด้วยความที่เรียนนานาชาติมา พลอยเลยตกภาษาไทย คือเพื่อนจะบอกว่า เราเขียนภาษาไทยห่วยมาก เมื่อก่อน ‘คะ,ค่ะ’ ยังเขียนผิดเลย หรือ ‘นี่,นี้’ ก็เป็น โดนด่ามาแล้ว (หัวเราะ) ไอ้การเขียนหนังสือมันเลยอยู่ไกลตัว

แต่พอได้เที่ยว มันเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่เราอยากแชร์ให้คนอื่นได้รับรู้ อย่างเราไปเที่ยวกับคนจีนวันหนึ่ง คนแปลกหน้าวันหนึ่ง หรือไปเจอคนแปลกๆ ที่ชีวิตนี้ไม่เคยได้สัมผัส เรารู้สึกว่า เรื่องที่เจอมันน่าเล่านะ มันเหมือนหนัง เลยเกิดความคิดว่า ถ้ากลับมาเขียนหนังสือน่าจะดี แต่คิดเล่นๆ นะคะตอนนั้น ไม่ได้คิดว่าจะเขียนได้ แล้ววันหนึ่ง ‘พี่หนุงหนิง จาก BUNBOOKS’ ติดต่อมาว่า สนใจเรื่องของน้องนะ อยากเขียนหนังสือไหม เรารู้สึกว่า นี่ก็คืออีกสิ่งที่เราอยากทำ จากที่เราต้องไปต่อแถวขอลายเซ็นนักเขียน กลายเป็นว่าตอนนี้มีคนมาต่อแถวขอลายเซ็นเรา ซึ่งเป็นความฝันที่เราไม่เคยคิด มันยังส่งต่อให้เราได้เจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้จบแค่ทางรถไฟอย่างเดียว แต่กลายเป็นหนังสือที่ชื่อว่า ‘วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน’

photo : Ploy

ซึ่งเราไม่ได้เขียนหนังสือ ‘วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน’ ให้เป็นไกด์บุ๊กว่าเที่ยวยังไง ต้องขึ้นรถไฟสายไหน คืออะไรแบบนี้มันคงเปิดในเน็ตดูได้ แต่สิ่งที่เราเขียนคือสิ่งที่เราเจอ เป็นความรู้สึกตอนนั้นจริงๆ คนที่อ่านหนังสือเรา ก็จะเหมือนได้อ่านไดอารี่ที่เราเขียนในเวลานั้น

บทที่ 7 | ส่งกำลังใจให้คนที่ยังหาตัวเองไม่เจอ

พลอย : สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะทำอะไร เราอยากให้เริ่มทำจากสิ่งที่ตัวเองสบายใจ คือไม่จำเป็นต้องเดินทางยาวเหมือนเราก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ชอบจริงๆ เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้ามันเป็นสิ่งที่ชอบมันจะเป็นไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ เหมือนเราจะพยายามปรับสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นเรา อย่างพลอยเป็นนักแสดง แต่ก็ชอบการถ่ายรูป เราก็จะหาผู้หญิงสวยๆ ในกองมาเป็นแบบถ่ายรูป มันมีสิ่งที่เราชอบอยู่ในทุกๆ โมเมนต์ บางคนอาจคิดว่า ก็พลอยมีเวลา ถึงได้ไปที่ไกลๆ ไปตามความฝัน แต่เราเชื่อว่า ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ตามกำลังที่มี มันให้อะไรเหมือนกัน อยากให้ลองทำดูก่อน

ไม่ต้องไปคิดมากว่าจะต้องทำงานที่เราฝันไหม ให้ลองทำดูก่อน
เพราะถ้าเอาแต่คิด แต่ไม่เคยลอง มันก็เท่านั้น

บทที่ 8 | พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ ?

พลอย : มีเรื่องตลกอยู่อย่างหนึ่งว่า ก่อนเดินทางเราพยายามที่จะหาอย่างอื่นทำนอกจาก ‘การแสดง’ แต่พอกลับมาเราได้คำตอบว่า ไอ้งานแสดงเนี่ยแหละ คือสิ่งที่เราต้องทำ เพราะเรายังไม่สามารถรู้คำตอบจริงๆ ว่า เราอยากทำอะไร แต่เราต้องทำงานแสดงเพื่ออยู่ต่อ เลยรู้ว่า ไอ้คำตอบเดียวที่ว่า ต้องทำอย่างนี้นะ มันไม่จำเป็นเสมอไป เราสามารถทำอะไรควบคู่ไปด้วยได้ระหว่างหาคำตอบ แต่เราก็ต้องเต็มที่กับมันนะ ไม่ใช่แค่ทำให้ผ่านๆ ไป อย่างงานแสดง เรารู้สึกเคารพงานนี้ เพราะมันทำให้เราได้มีโอกาสไปตามหาความฝัน มันทำให้เรามีวันนี้ได้ คือเราเคยบอกว่าเราไม่ได้ชอบ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าเกลียดงานนี้

เราเข้าใจมากขึ้นว่า ไอ้งานที่เรารัก งานที่เราฝัน จริงๆ แล้วไม่ได้จำกัดว่า ทำแล้วจะมีความสุขเสมอไป แต่มันกลายเป็นว่าถ้าเราสบายใจกับจุดไหน ให้ทำสิ่งนั้นไปก็มีความสุขได้ เราเลยคิดว่าจะทำงานแสดงต่อ จนถึงจุดที่เราเจอสิ่งที่เราอยากทำมากกว่า ตอนนั้นเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยน แต่ไม่แน่เราอาจจะชอบงานแสดงไปเลยก็ได้

อีกอย่างพอเขียนหนังสือจบแล้ว ก็อยากจะทำเพจ ‘พลอยจบแล้วทำไรต่อ ?’ ให้ดำเนินไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นว่า สิ่งที่เราทำอยู่หลังจบแล้วจริงๆ ก็คือเพจนี้เนี่ยแหละ (หัวเราะ)

จากการได้นั่งคุยกับพลอยตลอดสามชั่วโมง เราเห็นภาพของเด็กสาวที่มีสายตาแห่งความมุ่งมั่น พลังบวก และความสดใส ทำให้รู้สึกไม่แปลกใจสักนิดที่สาวน้อยตาโตกับแว่นกรอบกลมคนนี้ ขีดเขียนเพจ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ ?’ และหนังสือ ‘วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน’ให้อบอวลไปด้วยเรื่องราวที่ดี มุมมองใหม่ๆ พร้อมถ้อยคำให้กำลังใจที่ส่งต่อไปยังคนอ่าน

หากใครที่อยากได้รับพลังบวก และกำลังมองหาแรงกระตุ้นในการออกค้นหาตัวเอง เราอยากให้ลองเปิดใจทำความรู้จัก ‘พลอย – พลอยไพลิน’ และ อ่านหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกัน สามารถซื้อหนังสือวิชาเดินทางหลังเลิกเรียนได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และ BUNBOOKS

ทริปทางรถไฟสายทรานไซบีเรีย | photo : Ploy
ทริปทางรถไฟสายทรานไซบีเรีย | photo : Ploy
ครูอาสา | photo : Ploy
ครูอาสา | photo : Ploy

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.